ข่าว
'นิคเคอิ' ติดลบ ญี่ปุ่นรายงานดัชนีผู้บริโภคปรับขึ้น ส่วนราคาพลังงานพุ่ง

เมื่อวันที่ 21 ม.ค 64 ภาพรวมตลาดเอเชียแปซิฟิกโดยรวมติดลบ ดัชนีนิคเคอิติดลบ 0.78 เปอร์เซ็นต์ ปรับลง 218.29 จุด ไปอยู่ที่ 27,560.14 จุด ดัชนีฮั่งเส็งติดลบ 0.67 เปอร์เซ็นต์ ปรับลง 168.34 จุด ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตติดลบ 0.80 เปอร์เซ็นต์ ปรับลง 28.54 จุด ดัชนีคอสปิของเกาหลีใต้ติดลบ 1.08 เปอร์เซ็นต์ ปรับลง 31.11 จุด เมื่อเวลา 13.20 น.

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ปัจจัยฉุดตลาดญี่ปุ่นคือหุ้นบริษัทยานยนต์ที่ปรับตัวลง หุ้นโตโยต้าติดลบ 3 เปอร์เซ็นต์ หุ้นมาสด้าดิ่งเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นมิตซูบิชิติดลบ 4 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคปรับขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ในเดือน ธ.ค. 64 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เกิดจากการที่ราคาน้ำมันและวัตถุดิบปรับขึ้น บวกกับเงินเยนอ่อนค่า

ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคในญี่ปุ่นนั้นปรับตัวขึ้นสองเดือนติดต่อกัน และเป็นการพุ่งขึ้นเร็วที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี

ส่วนธนาคารญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน เนื่องจากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาผ่อนปรนนโยบายทางการเงิน ขณะที่ราคาขายส่งที่พุ่งสูงกระทบต่อผลกำไร นอกจากนี้ราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นจะทำให้ผู้บริโภครัดเข็มขัด ส่วนเดือน ธ.ค. 64 พบว่าราคาพลังงานในญี่ปุ่นปรับขึ้นมาถึง 16.4 เปอร์เซ็นต์

ที่มา: CNBC, Kyodo

กสญ.พบรองนายกเทศมนตรี LA

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 นายต่อศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ได้พบหารือกับเอกอัครราชทูต Nina L. Hachigian รองนายกเทศมนตรี นครลอสแอนเจลิส ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการพบหารือครั้งนี้ก็คือ การผลักดันความร่วมมือด้านธุรกิจดิจิทัลและยานยนต์ไฟฟ้ากับนครลอสแอนเจลิส ด้านรองนายกเทศมนตรีได้แสดงความยินดีกับกงสุลใหญ่ฯ ที่มารับตำแหน่งใหม่ และกล่าวชื่นชมชุมชนไทยว่า เป็นชุมชนชาวเอเชียที่มีพลังและกระตือรือร้น

ทั้งนี้กงสุลใหญ่ฯ ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในระดับรัฐบาลที่แน่นแฟ้นมายาวนาน กว่า 200 ปี โดยไทยเป็นหนึ่ง ในพันธมิตรหลักนอกนาโต้ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2546 และมีสถานะเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งชื่นชมบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะมิตรประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ไทยจำนวน 2.5 ล้านโดส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยต่อต้าน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย

และเนื่องจากนครลอสแอนเจลิสเป็นศูนย์กลางของธุรกิจสร้างสรรค์และธุรกิจดิจิทัล กงสุลใหญ่ฯ จึงเห็นว่า ไทยน่าจะสามารถเรียนรู้และร่วมมือกับนครลอสแอนเจลิสได้ และพร้อมจะผลักดันให้คนไทยมีโอกาสเข้ามาหาประสบการณ์และทำงานในสาขานี้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนและมีนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความเชี่ยวชาญ จึงประสงค์จะเชิญชวนให้บริษัทเหล่านี้ไปลงทุนที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น กรุงเทพฯ กับนครลอสแอนเจลิส น่าจะสามารถกลับมารื้อฟื้นการลงนามความตกลงเพื่อยกระดับสถานะ “เมืองมิตรภาพ” (Friendship City) ไปสู่ “เมืองพี่เมืองน้อง” (Sister City) ได้ในอนาคตอันใกล้

ในโอกาสเดียวกัน กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวขอบคุณนายกเทศมนตรี Garcetti และเอกอัครราชทูต Hachigian ที่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของสถานกงสุลใหญ่ฯ และชุมชนไทยอย่างดีเสมอมา พร้อมแจ้งว่า เดิมชุมชนไทยมีแผนจะจัดงาน Thai New Year Songkran Festival ในเดือนเมษายน 2565 นี้ ซึ่งเป็นงานประจำปีของชุมชนไทยนอกประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่เอื้ออำนวย จึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน

กงสุลใหญ่ฯ ได้หยิบยกสถานการณ์อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นซึ่งชุมชนไทยได้รับผลกระทบ และแจ้งว่า ได้หารือเรื่องการดูแลความปลอดภัยแก่ชุมชนไทยกับ LAPD Chief Michel Moore และ LASD Sheriff Alex Villanueva มาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งรองนายกเทศมนตรี Hachigian ย้ำนโยบายของนครลอสแอนเจลิสที่ให้้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของชุมชนชาวเอเชีย และต่อต้านการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังภายใต้แคมเปญ “LA for All”

นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ฯ ยังขอรับการสนับสนุนการฝึกงานของนักศึกษาไทยในหน่วยงานราชการสำคัญ ๆ ในนครลอสแอนเจลิส ซึ่งรองนายกเทศมนตรี Hachigian แสดงความพร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ยังได้แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือและยินดีสนับสนุนความร่วมมือกับไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมของสถานกงสุลใหญ่ฯ และชุมชนไทย พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมชุมชนไทยว่า เป็นชุมชนชาวเอเชียที่มีพลังและกระตือรือร้นอย่างมาก ในช่วงสุดท้ายของการหารือ รองนายกเทศมนตรี Hachigian ได้กล่าวถึงนโยบายการให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนครลอสแอนเจลิสอีกด้วย

แม้ว่าการพบปะหารือระหว่างกงสุลใหญ่ฯ กับรองนายกเทศมนตรี Hachigian ในครั้งนี้จะเป็นการประชุมออนไลน์ และเป็นการพบหารือกันครั้งแรก แต่บรรยากาศก็เต็มไปด้วยมิตรภาพและความชื่นมื่น และทั้งสองฝ่ายต่างก็แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

สหรัฐฯ ส่งเรือรบแล่นผ่านหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

สหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตซึ่งมีศักยภาพติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีเดินทางผ่านหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เพื่อแสดงการต่อต้านจีนที่อ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลดังกล่าว

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ร้อยโท มาร์ก แลงฟอร์ด โฆษกกองเรือรบที่ 7 ของกองทัพสรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า เรือพิฆาต ยูเอสเอส เบนโฟลด์ ซึ่งมีศักยภาพติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี เดินทางรอบหมู่เกาะพาราเซล หรือหมู่เกาะ ซีชา ตามที่จีนเรียก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ม.ค. 2564 โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเดินทะเลเสรี (FONOP) เพื่อแสดงการต่อต้านที่แดนมังกรอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้

หมู่เกาะพาราเซลประกอบด้วยเกาะปะการังน้อยใหญ่กว่า 130 เกาะ อยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลจีนใต้ โดยบนเกาะไม่มีชนพื้นเมืองอยู่อาศัย แต่อยู่ในการควบคุมของจีนมานานกว่า 46 ปีแล้ว และมีกองทหารรักษาการประจำการอยู่ประมาณ 1,400 คน

นอกจากจีนแล้ว เวียดนามกับไต้หวันก็อ้างความเป็นเจ้าของหมู่เกาะพาราเซลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า ปฏิบัติการ FONOP ของเรือเบนโฟลด์ครั้งนี้ยังถือเป็นการแสดงความท้าทายต่อการอ้างสิทธิ์ของเวียดนามกับไต้หวันด้วยเช่นกัน เนื่องจากการที่ทั้ง 3 กำหนดให้มีการขออนุญาตหรือแจ้งล่วงหน้าก่อนที่เรือรบจะเดินทางผ่านน่านน้ำดังกล่าวโดยสุจริต (innocent passage) ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ สิทธิ์การเดินทะเลเสรีคือการเดินเรือห่างจากชายฝั่งของประเทศใดๆ ที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายระหว่างประเทศภายในระยะใกล้ไม่เกิน 12 ไมล์ อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือสหรัฐฯ โจมตีจีนว่าพยายามลากเส้นเพียงเส้นเดียวครอบคลุมน่านน้ำและหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ทั้งที่กฎหมายระหว่างประเทศห้ามไม่ให้้ประเทศที่มีดินแดนบนทวีปลากเส้นเขตแดนคลุมเกาะที่กระจัดกระจายกันทั้งหมด


โสมแดงยิงมิสไซล์อีก 2 ลูก ยันสิทธิปกป้องตนเอง ไม่สนสหรัฐฯ คว่ำบาตรเพิ่ม

โสมแดงยิงมิสไซล์อีก 2 ลูก – วันที่ 14 ม.ค. เอเอฟพี รายงานว่า คณะเสนาธิการทหารร่วมของเกาหลีใต้ระบุว่า ตรวจพบขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้จำนวน 2 ลูก ที่ยิงมาจากจังหวัดพย็องอันของเกาหลีเหนือ เมื่อ 14.41 น. และ 14.52 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยขีปนาวุธเดินทางระยะทาง 430 กิโลเมตร และที่ระดับความสูง 36 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลจำเพาะ

ส่วนนายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนนตรีกลาโหมญี่ปุ่น กล่าวว่า อาวุธดังกล่าวตกด้านนอกน่านน้ำญี่ปุ่น และะเสริมว่า การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือซ้ำแล้วซ้ำเล่าชี้ว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือตั้งเป้าที่จะปรับปรุงุงเทคโนโลยีการยิงขีปนาวุธ

การทดสอบอาวุธครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่สามในเวลาเพียงสัปดาห์เดียวของปีนี้ของเกาหลีเหนือ หลังเพิ่งทดสอบขีปนาวุธที่อ้างว่าเป็นความเร็วเหนือเสียง (ไฮเปอร์โซนิก) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. และ 11 ม.ค ที่ผ่านมา และเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกาหลีเหนือเตือนตอบโต้อย่าง “แข็งกร้าวและแน่นอน” ต่อมาตรการคว่ำบาตรรใหม่ของสหรัฐอเมริกาต่อบุคคลเกาหลีเหนือ 5 คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการขีปนาวุธของประเทศ

ก่อนหน้านี้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือนั่งลงเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวว่าไม่มีเจตนาเป็นศัตรูต่อระบอบการปกครองของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ และว่าเกาหลีเหนือดูจะพยายามดึงดูดความสนใจด้วยการยิงขีปนาวุธ

ส่วนวันนี้ กระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือให้คำมั่นจะไม่ละทิ้งสิทธิในการป้องกันตัวเอง และกล่าวหาสหรัฐฯ จงใจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น “หากสหรัฐฯ ใช้ท่าทีเผชิญหน้าเช่นนี้ เกาหลีเหนือจะถูกบีบให้ต้องเข้มแข็งขึ้นและมีปฏิกิริยาตอบโต้บางอย่างต่อประเด็นนี้”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วันเดียวกันนี้เกาหลีเหนือได้ทำการยิงขีปนาวุธนำวิถีอีกอย่างน้อย 2 ลูก ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบ 2 สัปดาห์ ที่เกาหลีเหนือยิงโชว์ทดสอบอาวุธ ซึ่งมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือออกโรงแถลงปกป้องการทดสอบอาวุธของตนเองว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมในการป้องกันตนเอง พร้อมซัดกลับสหรัฐอเมริกาว่ามีเจตนาทำให้สถานการณ์บานปลายด้วยการคว่ำบาตรใหม่ต่อ

เกาหลีเหนือ

เสนาธิการทหารร่วมของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ตรวจจับได้ว่ามีการยิงอาวุธที่น่าจะเป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ (เอสอาร์บีเอ็ม) จำนวน 2 ลูก ซึ่งถูกยิงมาจากทิศตะวันออกจากจังหวัดพย็องกันเหนือทางชายฝั่งตะวันตกของเกาหลีเหนือ

ด้านสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคอ้างเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น เปิดเผยว่า หน่วยยามฝั่งรายงานว่าเกาหลีเหนือได้ยิงสิ่งที่อาจเป็นขีปนาวุธนำวิถี ไปตกลงในทะเลนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (อีอีซี) ของญี่ปุ่น

ขณะที่กองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของกองทัพสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ขณะที่ประเมินว่าการยิงอาวุธดังกล่าวไม่ได้ก่อภัยคุกคามในทันทีต่อสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเน้นย้ำให้เห็นผลกระทบ

ที่สร้างความปั่นป่วนของโครงการอาวุธผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ

การยิงขีปนาวุธล่าสุดนี้ของเกาหลีเหนือนับเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เข้าสู่ศักราชใหม่ ที่เป็นการทดสอบขีปนาวุธอานุภาพสูง โดยในการทดสอบ 2 ครั้งก่อนหน้านี้เป็นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง

อย่างไรก็ดีการยิงทดสอบอาวุธในวันนี้ เป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ ที่นายคิม ดง ยอป อดีตนาวิกโยธินเกาหลีใต้ที่ขณะนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคยองนัม ในกรุงโซล วิเคราะห์ว่า เกาหลีเหนืออาจยิงขีปนาวุธที่นำมาประจำการก่อนหน้าเป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้อย่าง เคเอ็น-23 หรือ เคเอ็น-24 ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ซ้อมรบในฤดูหนาว ขณะที่ยังเป็นการส่งสารต่อสหรัฐฯ ผ่านการทดสอบอาวุธดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมงสำนักข่าวเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) สื่อทางการ อ้างโฆษกกระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือแถลงว่า การพัฒนาอาวุธชนิดใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามปรับปรุงความสามารถในการป้องกันตนเองของเกาหลีเหนือและไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่ประเทศใด หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติเพื่อนบ้าน การกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่มีต่อการใช้สิทธิอันชอบธรรมในการป้องกันตนเองของเกาหลีเหนือนั้น ถือเป็นการยั่วยุอย่างชัดเจนและเป็นตรรกของพวกอันธพาล

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อวันพุธ (12 ม.ค.) ที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ โดยกล่าวหาว่าเกาหลีเหนือละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ห้ามเกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์


‘ไบเดน’ เชื่อ ‘ปูติน’ สั่งทหารบุกยูเครนแน่

วอชิงตัน/มอสโก (เอพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) - ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย จะสั่งเคลื่อนกำลังทหารบุกยูเครนในเร็วๆ นี้แน่ แต่คงไม่ใช่การทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อความตั้งใจของปูตินเกี่ยวกับยูเครน คือต้องการทดสอบผู้นำประเทศตะวันตกและองค์การนาโต

ประธานาธิบดีไบเดนตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นภัยคุกคามจากการรุกรานของรัสเซียว่า เขาคิดว่าประธานาธิบดีปูตินจะสั่งเคลื่อนกำลังทหารบุกยูเครน และต้องทำอะไรบางอย่างเป็นแน่ พร้อมทั้งกล่าวเตือนผู้นำรัสเซียว่าจะต้องชดใช้อย่างหนักจากการลองดีกับชาติตะวันตก อย่างไรก็ดีรัฐบาลรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธเกี่ยวกับแผนการจู่โจมหรือบุกรุกว่าไม่เป็นความจริง แต่ยอมรับว่าได้วางกำลังทหารราว 100,000 นายไว้ที่พรมแดนของยูเครน

ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงจุดยืนของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา หลังมีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งถามประธานาธิบดีไบเดน ว่า สหรัฐฯ จะยอมให้เกิดการบุกรุกขนาดเล็กในยูเครนหรือไม่ เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ดังกล่าวที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อช่วงค่ำวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า หากกองกำลังงทหารรัสเซียเคลื่อนพลข้ามพรมแดนของยูเครน ก็ถือเป็นการบุกรุก และจะต้องเผชิญกับการตอบโต้อย่างรวดเร็ว รุนแรง และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เตรียมพร้อมมาตรการคว่ำ บาตรรัสเซียอย่างกว้างๆ เอาไว้แล้ว และยังเตรียมมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอีกหลายอย่าง หากรัสเซียรุกรานยูเครน

ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลชาติตะวันตกไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ และว่ากิจกรรมทางทหารเพื่อป้องกันประเทศของกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวควรถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกเท่านั้น ขณะที่การเจรจาระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียประสบความล้มเหลวในการหาทางออกร่วมกันเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยที่ข้อเรียกร้องบางส่วนของรัสเซียถูกปัดตกไป


'อนามัยโลก'แนะยกเลิก-ผ่อนปรนกฎห้ามเดินทางระหว่างประเทศ

21 มกราคม 2565 สำนักข่าวซินหัวรายงาน องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอแนะประเทศสมาชิกยกเลิกหรือผ่อนปรนคำสั่งห้ามเดินทางระหว่างประเทศ แม้ยังมองว่าการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นข้อวิตกกังวลใหญ่ก็ตาม

คณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การฯ เสนอคำแนะนำบางส่วนต่อทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ ซึ่งตัดสินใจว่าการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC)

คณะกรรมการฯ กล่าวว่าหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ควรเป็นเงื่อนไขเดียวสำหรับการอนุญาตเดินทางระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากการเข้าถึงและการกระจายวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมทั่วโลก

นานาประเทศควรดำเนินการตรวจสอบทางระบาดวิทยาต่อกรณีการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ รวมถึงกำหนดเป้าหมายเฝ้าระวังแนวโน้มการแพร่เชื้อของโฮสต์ที่เป็นสัตว์และโฮสต์กักตุน (reservoir host)

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เรียกร้องการเฝ้าติดตามและแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์ในประเด็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การแพร่ระบาด และวิวัฒนาการในสัตว์ ซึ่งจะมีบทบาทสนับสนุนการทำความเข้าใจ การตรวจพบเชื้อไวรัสฯ อย่างทันท่วงที และการประเมินความเสี่ยงด้านสาธารณสุข

ทำไมอินโดนีเซียย้ายเมืองหลวง จากจาการ์ตาสู่ป่าบนเกาะบอร์เนียว

ในที่สุด แผนการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียก็มีความคืบหน้าแล้ว หลังจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ม.ค. 2565) รัฐสภาแดนอิเหนาผ่านร่างกฎหมายวางกรอบการทำงานเพื่อย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา บนเกาะชวา ไปยังป่าใน บนเกาะบอร์เนียว หลังจากประกาศแผนมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่กระบวนการต้องหยุดชะงักเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19

การย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงจาการ์ตาเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีหลายคนของอินโดนีเซียพยายามเสนอมานานแล้ว จากปัญหามากมายซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เมืองแห่งนี้กำลังจะจม โดยตามแผนงานล่าสุด พวกเขาจะใช้งบประมาณ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในการสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ซึ่งห่างจากจุดเดิมกว่า 2,000 กม.

รัฐบาลอินโดนีเซียให้คำมั่นว่า เมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของประเทศ แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะกังวลว่า การย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์บนเกาะบอร์เนียว อาจสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศบนเกาะอันเขียวชอุ่มแห่งนี้ได้

ทำไมอินโดนีเซียย้ายเมืองหลวง ?

กรุงจาการ์ตาทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียนับตั้งแต่พวกเขาได้รับอิสรภาพในปี 2492 แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรในจาการ์ตาเพิ่มสูงขึ้นจนเกินกว่า 10 ล้านคน ทำให้เกิดปัญหาแออัดการจราจรติดขัด ตรงข้ามกับจังหวัดกาลีมันตันตะวันออกที่มีพื้นที่มากว่าจาการ์ตาถึง 4 เท่า แต่กลับมีประชากรเพียง 3.7 ล้านคนเท่านั้น

นอกจากนั้น จาการ์ตา ยังถูกจัดเป็นหนึ่งในเมืองที่พื้นดินทรุดตัวเร็วที่สุดในโลก โดยเฉพาะทางตอนเหนือของเมือง ทรุดลงถึง 25 ซม.ต่อปี และอาจจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2593 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากเมืองวางท่อลำเลียงน้ำดื่มไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประชาชนยังต้องพึ่งพาน้ำบาดาลอย่างหนัก ทำให้ด้านบนทรุดตัวส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ขณะที่ค่าคุณภาพอากาศของเมืองหลวงแห่งนี้มีสภาพย่ำแย่ย่ด้วย

เมืองหลวงใหม่จะตั้งอยู่ตรงไหน ?

เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ได้รับการตั้งชื่อว่า ‘นูซันตารา’ เป็นภาษาชวาโบราณแปลว่า หมู่เกาะ จุดถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขต ปานาแจม ปาเซร์ เหนือ (North Penajam Paser) และเขตกูไต การ์ตาเนการา ในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก โดยในเบื้องต้นจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56,180 เฮกตาร์ หรือราว 561.8 ตร.กม. แต่มีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้ถึง 256,142 เฮกตาร์ หรือราว 2,561.42 ตร.กม. เผื่อสำหรับการขยายเมืองในอนาคต

เดิมทีนั้น การสร้างเมืองหลวงใหม่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน 2562 และมีกำหนดเสร็จสิ้นในปี 2563 แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แผนการล่าช้าออกไปจนถึงตอนนี้ ซึ่งภายใต้แผนงานใหม่ ทางการจะให้ความสำคัญกับการสร้างถนน, ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เป็นอันดับแรก โดยจะเริ่มในปีนี้จนถึงปี 2567 ขณะที่โครงการบางส่วนจะสร้างโดยหุ้นส่วนเอกชน

ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด กล่าวก่อนการลงมติเมื่อวันอังคารว่า เมืองหลวงใหม่นี้ จะเป็นสถานที่ที่ผู้คนใกล้ชิดกับทุกจุดหมายปลายทาง พวกเขาสามารถเดินหรือปั่นจักรยานไปได้ทุกทีเนื่องจากไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเมืองแห่งนี้จะไม่ใช่แค่ที่ตั้งสำนักงานรัฐบาลเท่านั้น แต่จะสร้างเป็นมหานครอัจฉริยะ ที่สามารถดึงดูดผู้มีความสามารถจากทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมใหม่ๆ

ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียระบุในแถลงการณ์ว่า เมืองหลวงแห่งใหม่จะทำให้อินโดนีเซียมีจุดยืนทางยุทธศาสตร์มากขึ้นในด้านเส้นทางการค้าโลก, การลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งพวกเขาหวังว่า เมืองแห่งนี้จะกลายเป็นบ้านของประชาชนชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นซุปเปอร์ ฮับ ของทั้งเทคโนโลยี, สุขภาพ และเภสัชกรรม

เสียงคัดค้านและความกังวล

นักวิจารณ์หลายคนออกมาแสดงความกังวลว่าการย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะบอร์เนียวอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกาลีมันตันเป็นแหล่งการทำเหมืองขนาดใหญ่ รวมถึงมีป่าฝน และเป็นเพียงไม่กี่จุดบนโลกที่มีลิงอุรังอุตังใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ

รัฐบาลสัญญาว่า พวกเขาจะไม่ไปยุ่งกับป่าที่ได้รับความคุ้มครอง และจะช่วยอนุรักษ์มันเอาไว้ แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ยังกังวลว่า การที่มีประชาชนไปอาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียวมากขึ้นอาจทำเกิดความเสียหายโดยปริยาย ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมหลายคนเตือนว่า แผนย้ายเมืองหลวงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการหนีจากพื้นที่ระบบนิเวศเสียหายที่หนึ่ง เพื่อไปสร้างความเสียหายอีกที่หนึ่งแทน

อินโดนีเซียไม่ใช่ชาติแรกที่ย้ายเมืองหลวง

อินโดนีเซียกำลังจะกลายเป็นประเทศแรกๆ ที่ย้ายเมืองหลวงของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในอดีตก็เคยมีหลายประเทศที่ตัดสินใจเปลี่ยนเมืองหลวงเช่นกัน ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดคือเมียนมา ที่ย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปยังกรุงเนปิดอว์ เมื่อปี 2549 หรือมาเลเซีย ที่ย้ายสำนักงานรัฐบาลจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังนครปุตราจายา ในปี 2546

ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ของโลก บราซิลก็ย้ายเมืองหลวงจากนครรีโอ เด จาเนโร ไปเป็นกรุงบราซิเลีย ซึ่งอยู่ใจกลางประเทศมากกว่า ในปี 2503 ขณะที่ไนจีเรียก็เปลี่ยนเมืองหลวงจากเมืองลากอสไปเป็นกรุงอาบูจาในปี 2534 หรือที่คาซัคสถาน พวกเขาย้ายเมืองหลวงจากเมืองอัลมาตี ไปที่กรุง นูร์-สุลต่าน ในปี 2540 แต่เมืองอัลมาตีก็ยังเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : firstpost, dw, the guardian