"จตุพร" บอก นายกฯ ไม่มีใครเลือก แต่อาสามาเอง หากทำไม่ไหวก็ควรหยุด เตือน ยิ่งเดินต่อยิ่งทรมานประเทศ-ปชช. ย้ำไม่ได้ปลุกระดมคว่ำ รธน. แค่แสดงจุดยืนตัวเอง
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 59 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกลผ่านยูทูบว่า การที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ฝากขอโทษสื่อมวลชนและประชาชนที่แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ไม่เหมาะสม และขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ไม่นำเสนอความเห็นจากฝ่ายตรงข้ามนั้น ตนเห็นว่าตั้งแต่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมา แบบฉบับนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ มีอยู่คนเดียวเท่านั้น การไม่ให้สื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้าม โดยหมายถึงพวกตน แล้วจะทำให้นายกรัฐมนตรีดีขึ้น พล.ต.สรรเสริญ อธิบายแบบนี้ ยิ่งทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ได้ดูดีขึ้นเลย เพราะเท่ากับบอกให้ประชาชนได้ปรับตัว เปลี่ยนความคิดเข้าหานายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำนั้น เป็นมาตรฐานสร้างสรรค์แล้วหรือ
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ส่วนการมาบอกว่านายกรัฐมนตรีอ้างว้างเดียวดาย แบกรับปัญหาบนบ่าอยู่คนเดียวนั้น พวกแม่น้ำ 5 สาย ไปอยู่ไหนหมด ผู้นำ คสช.ไม่ช่วยหรือ อย่างไรก็ตาม หากคิดแต่ว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละแล้ว จึงเป็นทุกข์อยู่คนเดียว จนต้องการให้คนอื่นมาเห็นใจเพื่อจะได้หายทุกข์ ทั้งๆ ที่ประชาชนแบกความทุกข์ยิ่งกว่า แล้วประชาชนจะหายทุกข์ได้อย่างไร
"ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นทุกข์ที่สุดของประเทศนี้ แล้วประชาชนล่ะ ท่านอยู่ในอำนาจไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ยังมีความทุกข์เลย จึงสะท้อนว่าอำนาจอาจทำอะไรทุกอย่างได้ แต่อำนาจหรือมาตรา 44 ไม่สามารถสั่งให้นายกรัฐมนตรีอารมณ์ดีได้ หรือให้นายกรัฐมนตรีไม่กลายเป็นคนเดียวดายอ้างว้าง ใครๆ ไม่คบเลยหรือ ชายชาติทหารต้องยืนหยัดอย่างทรนง และท่านต้องรู้อย่างหนึ่งว่า ท่านมาเอง ท่านอาสาเอง พวกผมไม่ได้เลือกให้ท่านมา ดังนั้นถ้าทำไม่ได้ ไม่ไหวก็หยุด เพราะยิ่งเดิน ยิ่งทรมานตัวเอง และเป็นการทรมานประเทศชาติและประชาชน" นายจตุพรกล่าว และย้ำว่า ที่ตนประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงจุดยืนของตัวเอง ไม่ได้ปลุกระดมคนอื่น แต่ปลุกตัวเองเท่านั้นว่า จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ใครจะคว่ำหรือไม่ก็ตาม" ประธาน นปช.กล่าว.
นายกฯ โอดเครียดปัญหาเยอะ วุ่นวาย "เตรียมเลือกตั้ง-ประชามติ-ร่าง รธน." ขออย่ามอง รธน.เป็นยาวิเศษแก้ได้ทุกโรค หากคนไทยยังขัดแย้งแบบสุดโต่ง ขอประชาชนพิจารณาร่าง รธน.อย่างละเอียด อย่าฟังพวกไม่ได้ร่างทำสับสน บอกเห็นใจ กรธ.เหน็ดเหนื่อยร่าง รธน.เพื่อแก้ปัญหาคนโกง
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ปัญหาของประเทศเราวันนี้วุ่นวายพอสมควร ในขั้นการเตรียมการเลือกตั้ง การทำประชามติ หรือร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องแก้ไขวางพื้นฐานให้ได้โดยเร็วเป็นประชาธิปไตยยั่งยืน ต้องเร่งแก้ 1.ปัญหาการเมือง และประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ความเหลื่อมล้ำ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ ผู้บริหาร ที่ไม่คำนึงถึงประชาชนส่วนใหญ่ คิดถึงแต่พวกพ้อง ไม่ยอมรับคำตัดสิน ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อ้างสิทธิมนุษยชน ไม่ดูว่าปัญหาล้วนแต่เกิดจากการกระทำตัวเอง ถ้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างถึงจะสงบ ซึ่งความร่วมมือต้องมากกว่าความขัดแย้ง เพราะว่าเราเห็นต่างกันมากในปัจจุบัน ทุกคนเคารพความเห็นต่าง แต่ต้องหาทางรวมกันให้ได้ หากยังเห็นต่างกัน แล้วสุดโต่งกันไปทั้งคู่นี่ มันไปไม่ได้ทั้งหมด
นายกฯ กล่าวต่อว่า ถ้าเราไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพกฎกติกากันเลย มันก็จะเกิดการทุจริต การสมยอมกัน เจ้าหน้าที่ก็เดือดร้อน ประชาชนก็เดือดร้อน ท้ายสุดก็ไปเดือดร้อนกับศาล กับกระบวนการยุติธรรมโน่น แล้วก็ทำอะไรกันไม่ได้ ท้ายสุดประชาชนที่ยากไร้ก็ต้องทำผิดกฎหมาย ถูกตัดสิน ดำเนินคดี อะไรก็แล้วแต่ เพราะงั้นวันนี้เราต้องมีการบูรณาการกัน หลายปีที่เราขัดแย้งกันมาก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งประชาชน ใช้ความรุนแรงต่อกัน มีการบิดเบือน ปลุกปั่น สุดโต่ง จากผู้ที่ไม่หวังดี หวังผลประโยชน์ทางการเมือง มีนักวิชาการที่สุดโต่ง ที่มุ่งเน้นในเรื่องประชาธิปไตย โดยไม่ได้สอนให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งสื่อบางสื่อ ที่มีจรรยาบรรณไม่เพียงพอ ตลอดจนโซเชียลมีเดีย สร้างความเกลียดชังอยู่ทั่วไป ต้องขจัดออกไปให้ได้ ทำระบบประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับวิถีไทย
"เรื่องรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกฉบับ ถ้าเรามองว่าคือยาวิเศษแล้วแก้ไขได้ทุกอย่าง ไปทบทวนดูจะแก้ไขได้ทั้งหมดไหมความขัดแย้ง ปัญหายิ่งแรง ความขัดแย้งก็สูงขึ้น ถ้าไม่เข้มแข็งพอก็มีปัญหาอีก คิดว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำเต็มที่แล้ว ตนเห็นเหน็ดเหนื่อย เครียดเหมือนกัน เพราะว่าเราจะต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ให้เกิดขึ้นนี่ ทุกอย่างลำบากหมด ในเรื่องของการแก้ไขความขัดแย้ง แก้ไขการทุจริต ความรุนแรง ความไม่เข้มแข็ง ความไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เหล่านี้จะทำยังไงนะครับ แล้วถ้าเราสามารถผ่านประชามติไปได้ เราจะต้องเข้าไปสู่การเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งได้ ก็ไปตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ วุ่นวายกันอีก มีการทำร้ายกัน หรือใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใส่กันอีก เหมือนเดิม ก็ไปไม่ได้อีกเหมือนเดิมนะ เพราะงั้นเราต้องช่วยกันคิดนะครับ เราจะหยุดเรื่องเหล่านี้อย่างไร อย่าพูดว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไร วันนี้ก็เห็นสงบเงียบเรียบร้อยดี" นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า แล้วหลังเลือกตั้งมาแล้ว ต่างฝ่ายต่างจะยอมรับในผลการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่อย่างนั้นก็กลับมาเดือดร้อนเจ้าหน้าที่อีก ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้ทุกคนยอมรับกัน เราต้องยอมรับกติกาสังคม เลือกตั้งแล้วผลยังไงอีกฝ่ายก็ต้องรับ และถ้าเกิดปัญหาอีกเช่นที่ผ่านมาแก้ไม่ได้จริงๆ แล้วใครจะเป็นคนหยุดสถานการณ์ได้ วันนี้เขาก็มีวิธีการแก้ไขให้อยู่แล้ว ก็ไม่เห็นด้วยอีก เพิ่มอำนาจคนโน้นคนนี้มาก แล้วใครจะทำละ เรื่องของกฎหมายการปกครอง การบริหาร กฎหมายลูกต่าง ๆ บทเฉพาะกาล ต่างๆ เหล่านี้มีความแตกต่างกันทั้งสิ้น บางอย่างก็ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญ บางอย่างอยู่ในกฎหมายลูก บางอย่างอาจจะต้องอยู่ในบทเฉพาะกาล ไม่งั้นตีกันไปหมด
นายกฯ กล่าวต่อว่า เรื่องต่อไปคือเรื่องการเมืองไทยที่ผ่านมานั้น เรามักจะเน้นในเรืองพลังอำนาจของประชาชน เลือกผู้แทน ลงประชามติ เลือก ส.ส. ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว แต่ได้รัฐบาลมาดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ขอให้เราย้อนมองกลับไปกลับมา
"ผมเองค่อนข้างเครียดเหมือนกันนะ ในช่วงนี้ก็ทั้งปัญหา ทั้งเตรียมการปฏิรูป ทั้งเตรียมการประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ อะไรก็แล้วแต่ มันหลายเรืองด้วยกัน แม่น้ำ 5 สาย แล้วก็ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็เยอะแยะ มากมาย" นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้เราควรจะต้องพิจารณากันแล้วว่าเราจะต้องมีกลไกอะไรหรือไม่ ที่จะทำให้ประเทศเราผ่านช่วงนี้ไปได้ นั่นแหละคือเหตุผลที่มีความแตกต่าง สำหรับปัญหาของพี่น้องชาวนา รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในความยากลำบาก วันนี้ตนให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อจัดทำ แผนข้าวครบวงจรที่ต้องการให้มีการปลูกข้าว ให้สมดุลกับความต้องการ ได้รับรายงานว่าคณะกรรมการว่า ได้ประมาณการความต้องการข้าวของประเทศอยู่ที่ประมาณ 25 ล้านตันข้าวเปลือก ข้อเสนอสมาคมชาวนา มาตรการช่วยเหลือแบบยั่งยืน ให้คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ซึ่งจะเร่งสรุปโดยเร็ว ขออย่าใจร้อน ซึ่งรู้ว่าร้อนเพราะไม่มีสตางค์ แต่ถ้าแก้ไขอะไรด่วนเกินไป ปัญหาก็กลับมาที่เดิม รัฐบาลเป็นห่วงรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร รวมความไปถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระด้วย พอเศรษฐกิจแย่ รายได้จากธุรกิจเชื่อมโยงก็ลดลงหมด แต่ถ้าทุกคนสู้ ช่วยกันสู้ ช่วยกันทำขึ้นมาหลายๆ ทางก็จะดีขึ้น ถ้ารอการช่วยเหลืออย่างเดียวก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ รัฐบาลก็เต็มกลืนเหมือนกัน ปัญหามันเยอะนะ
"สุวพันธุ์" เผยมติวิป 3 ฝ่าย "ครม.-สนช.-สปท." หนุนบรรจุเรื่องปฏิรูป เป็นหมวดใน รธน.กำหนดให้รัฐบาลหน้าต้องสานงานต่อ ปัดถ่วงตั้ง "สมเด็จช่วง" เป็นสังฆราชองค์ใหม่ ส่วนคดี "ธัมมชโย" ระบุทำตามข้อเท็จจริง ไม่เกรงกลัวอิทธิพลมืด
เมื่อวันที่ 3 ก.พ.59 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้หารือกันถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก พบว่า ในบทเฉพาะกาลมีประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปตำรวจเอาไว้ และยังเว้นให้สามารถใส่ประเด็นปฏิรูปเพิ่มเติมเข้าไปได้อีก ซึ่งขณะนี้เรื่องปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปตำรวจ ทางสปท.ยังไม่ได้ส่งข้อเสนอมายังรัฐบาล จึงต้องรอข้อเสนอของ สปท. แต่ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาล ที่ดำเนินการทั้งสองเรื่องมาก่อนหน้านี้แล้วยังเดินต่อไป สามารถทำควบคู่กันได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้เห็นชอบข้อเสนอด้านการปฏิรูป 3 เรื่อง ประกอบด้วย การปฏิรูปภาคเกษตร การปฏิรูปเรื่องการประเมินระบบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปเรื่องขยะชุมชน หลังจากนี้จะทำความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบให้ส่วนราชการรับไปขับเคลื่อน
นายสุวพันธุ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ต่อนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้รอรายงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อยู่ ยังไม่ทราบว่าจะเสร็จเมื่อใด ซึ่งการที่ตนจะเสนอเรื่องให้นายกฯได้นั้น ต้องรวบรวมทุกเรื่องที่นายกฯจำเป็นต้องทราบ ต้องตอบคำถามของนายกฯได้ แต่ขณะนี้ตนยังไม่สามารถตอบคำถามต่างๆของนายกฯได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถเสนอเรื่องให้นายกฯได้ในตอนนี้ อย่างไรก็ตามกระบวนการเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับตน เพราะขั้นตอนนี้เป็นความรับผิดชอบของตน หากจะตำหนิต้องตำหนิตนว่าไม่ผลักดันให้มีความคืบหน้า แต่คนที่ทำเรื่องนี้อยู่ต่างรู้ดีว่าเรากำลังทำอะไร มีเรื่องใดที่น่าเป็นห่วง และหวังจะได้เห็นอะไรเกิดขึ้นในสังคม เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจดีว่ารัฐบาลคิดเห็นอย่างไร ยืนยันว่า ไม่ได้ถ่วงดึงหรืออะไรเลย
เมื่อถามถึงคืบหน้าคดีของ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จะสามารถเสร็จสิ้นได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า "ถ้าสำเร็จได้ก็สำเร็จ แต่ต้องอยู่บนข้อเท็จจริง" เมื่อถามว่า ที่เรื่องยังช้าอยู่ เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของวัดพระธรรมกายหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวเพียงว่า "ผมทำตามหน้าที่ ทำตามข้อเท็จจริง
เพลิงนรกเผาอาคารสูง 10 ชั้น เพนท์เฮาส์ที่พักหรูของ “วิกรม อัยศิริ” อดีต ส.ว.ระนอง ต้นเพลิงจากชั้น 3 ลุกไหม้ถึงชั้น 10 ภรรยา หนีตายน่าเวทนา ร้องขอความช่วยเหลือตลอดเวลา แต่รถกระเช้าเข้าไปไม่ถึงอาคารเกิดเหตุเนื่องจากเป็นซอยแคบ หลังควบคุมเพลิง 3 ชั่วโมงจึงสงบ พบกลายเป็นศพเสียชีวิตคาระเบียงชั้น 6 ร่างถูกไฟไหม้บริเวณแผ่นหลัง สันนิษฐานต้นเพลิงเกิดที่ชั้น 3 อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุที่แน่ชัด หลังเพลิงสงบ ตำรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทุกคน พบนาฬิกาหรู “ปาเต็ก ฟิลลิปป์ เจนีวา” ของคนตาย ในถุงมือขวาของอาสาดับเพลิงวัดบวรนิเวศ ให้การปฏิเสธไม่รู้มาอยู่ได้ยังไง ตำรวจแจ้งข้อหาลักทรัพย์ดำเนินคดี
เหตุเพลิงไหม้อาคารที่พักอาศัยของอดีต ส.ว.ระนอง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 ก.พ. ร.ต.อ.วัชระ แสงเพชร พนักงานสอบสวน สน.บางโพงพาง รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้อาคารที่พักอาศัยสูง 10 ชั้น ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 18 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. จึงประสานรถดับเพลิงและรถกระเช้ากว่า 10 คันจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ไประงับเหตุ และรายงานผู้บังคับบัญชาร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ ประกอบด้วย พ.ต.อ.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ ผกก.สน.บางโพงพาง และนายสุทัศน์ รุจิณรงค์ ผอ.เขตยานนาวา
ที่เกิดเหตุเป็นอาคารที่พักอาศัยส่วนตัวสูง 10 ชั้น เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่รั้วรอบขอบชิดของนายวิกรม อัยศิริ อดีต ส.ว.ระนอง พบกลุ่มควันดำและแสงเพลิงที่ชั้น 3 ลุกลามขึ้นไปสู่ชั้นบนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่เกิดเหตุเป็นอาคารสูง ซอยเกิดเหตุแคบและเป็นซอยตัน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถปฏิบัติงานได้สะดวก ทำได้เพียงต่อสายฉีดน้ำสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลามไปบ้านเรือนใกล้เคียง อีกส่วนเจ้าหน้าที่นำรถกระเช้าเข้าไปทางซอยจันทน์ 11 และ 13 ที่อยู่ติดกัน ฉีดน้ำเข้ามาจากทางด้านหลังอาคาร เบื้องได้รับรายงานว่า มีผู้ติดอยู่ภายในอาคารหลายราย รวมทั้งนางอังคณา อัยศิริ อายุ 65 ปีภรรยาของนายวิกรม ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่เห็นผู้หญิงร้องขอความช่วยเหลือจากระเบียงชั้น 3 แล้วหายเข้าไปในตัวอาคาร จากนั้นก็ไปโผล่ขอความช่วยเหลือที่ระเบียงชั้น 7
จากการตรวจสอบภายในตัวอาคารเบื้องต้น ภายในตกแต่งอย่างหรูหรา ผนังอาคารและเฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้สัก มีลิฟต์ขึ้นถึงชั้น 9 ความเสียหายเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 10 ถูกเพลิงไหม้ทั้งหมด บริเวณระเบียงชั้น 6 พบศพนางอังคณา สวมชุดกระโปรงลายดอก สภาพเอนตัวนั่ง มือพาดอยู่กับราวระเบียง ที่แผ่นหลังมีร่องรอยถูกไฟไหม้ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีทั้งหมด 5 คน เป็นผู้หญิง 1 คนและผู้ชาย 4 คนเกิดจากการสำลักควันและถูกไฟไหม้ นำส่ง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.จุฬาฯ และ รพ.เลิดสิน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย ทั้งจากถูกวัสดุจากตัวอาคารหล่นใส่ ขาดอากาศ ส่วนรถยนต์ที่จอดอยู่ 9 คันจอดอยู่ในบ้านไม่ได้รับความเสียหาย และสุนัขพันธุ์ต่างประเทศอีก 7 ตัวปลอดภัย
นายทวัชศักดิ์ ขจรไกร อายุ 54 ปี ชาวบ้านในซอยจันทน์ 11 เผยว่า ช่วงเกิดเหตุเห็นนางอังคณาขอความช่วยเหลืออยู่บริเวณระเบียง แต่กระเช้าขึ้นไม่ถึง กระทั่งกลุ่มควันไฟสีดำพวยพุ่งออกมาตลอดเวลา และมีเปลวไฟโหมท่วมริมระเบียง 2 ครั้ง นางอังคณาพยายามขอความช่วยเหลือโบกมือร้องให้ช่วยเหลือตรงระเบียง เท่าที่รู้อาคารดังกล่าวสร้างมาแล้วกว่า 30 ปี ราคาตอนนั้นกว่า 300 ล้านบาท ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยไม้สักราคา 40 ล้านบาท อยู่กันเป็นครอบครัว และมีคนงานอยู่ราวๆ 20 คน
ประวัตินายวิกรม อัยศิริ อายุ 68 ปี สมรสกับนางอังคณา อภิวันทนาพร มีบุตรธิดา 4 คน จบการศึกษาปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าของโครงการโรงแรมดุสิต รีสอร์ต ที่ จ.เชียงราย ต่อมาเอาดีทางด้านการทำสัมปทานป่าไม้ที่ประเทศเมียนมา เมื่อปี 2533-2534 ถือว่าเป็นผู้มีสายสัมพันธ์กว้างขวางกับทหารระดับผู้นำของเมียนมา วางรากฐานจากการค้าไม้ ทำอุตสาหกรรมเหมืองพลอยและโรงงานผลิตอัญมณีในพม่า พร้อมกันนั้น ขอสัมปทานเช่าพื้นที่เกาะสน ตรงข้าม จ.ระนอง จากรัฐบาลเมียนมาลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท สร้างบ่อนกาสิโน โรงแรมขนาด 250 ห้อง ท่าเทียบเรือขนาดกว้าง 150 เมตร เรือบริการท่องเที่ยว 20 ลำ พร้อมขอเปิดด่านถาวรบริเวณท่าเทียบเรือให้บริการนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเจ้าของโรงแรมอันดามัน คลับเมียนมา และประธานกรรมการบริษัท เวส กรุ๊ป จำกัด เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา จ.ระนอง เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2544 เคยเป็นกรรมาธิการการคมนาคม เป็นคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน และเป็นกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ ให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นแบบ คอคัส ในรัฐไอโอวา ตามหลัง นายเท็ด ครูซ ผู้แทนฝั่งรีพับลิกัน...
การเลือกตั้งขั้นต้น แบบ ‘คอคัส’ ที่รัฐไอโอวา ทางตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรัฐแรกจบลงแล้ว โดยผลสรุปว่า นายเท็ด ครูซ วุฒิสมาชิก (ส.ว.) รัฐเทกซัส ผู้ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พลิกล็อกชนะคู่แข่งที่มีผลสำรวจความคิดเห็นนำมาตลอดอย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีชาวนิวยอร์กไปได้ ด้วยคะแนนเสียง 26% ต่อ 23% ได้ตัวแทนผู้ลงคะแนน (Delegate) ไปร่วมประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค (Party National Convention) ในเดือน มิ.ย. จำนวน 8 คน และ 7 คนตามลำดับ
ขณะที่ นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมเครต ชนะคู่แข่งอย่างนายเบอร์นี แซนเดอร์ส ส.ว.รัฐเวอร์มอนต์ โดยมีคะแนนมากกว่าไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ ที่ 49.8% ต่อ 49.6% ได้ผู้ลงคะแนน จำนวน 22 คนและ 21 คนตามลำดับ
ทั้งนี้ การหยั่งเสียงหรือการเลือกตั้งขั้นต้นครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ในวันที่ 9 ก.พ. โดยจะเป็นการหยั่งเสียงแบบ 'ไพรมารี' ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สมาชิกของพรรคการเมืองทุกคน ได้คัดเลือกผู้แทนพรรคที่เห็นว่าเหมาะสมเข้าร่วมประชุมใหญ่แห่งชาติโดยตรง โดยจัดให้มีการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งพร้อมกันทั่วรัฐ ต่างจากแบบคอคัสที่ใช้การประชุมกลุ่มย่อยของผู้สนับสนุนหรือสมาชิกพรรคในแต่ละระดับตั้งแต่หน่วยเล็กสุดให้ได้ผู้แทนระดับ เคาน์ตี ไปประชุมระดับรัฐเพื่อเสนอชื่อผู้แทนพรรค (Delegate) อีกที
ในส่วนของพรรครีพับลิกัน การหยั่งเสียงที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ถูกมองว่าจะสร้างความยากลำบากให้กับนายครูซมากกว่าที่ไอโอวา เนื่องจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมีความเป็นกลางในประเด็นทางศาสนามากกว่า ขณะที่นายทรัมป์น่าจะมีผลงานที่ดีกว่าเดิม ด้านพรรคเดโมแครต นายแซนเดอร์ส ถูกมองว่าได้เปรียบนางฮิลลารี คลินตัน เนื่องจากเขาเป็นส.ว.รัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งอยู่ติดกัน
อนึ่ง ตัวแทนผู้ลงคะแนน (Delegate) ของแต่ละพรรคที่ได้รับเลือกมาจากแต่ละรัฐจะเข้าไปโหวตเสียงเลือกตัวแทนพรรคเพื่อลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค (Party National Convention) ในเดือน มิ.ย.