ข่าว
'อิสราเอล'วิจัยพบ‘ไวรัสโควิด-19’ทำร้ายระบบภูมิคุ้มกัน!

22 ธันวาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน มหาวิทยาลัยเบนกูเรียน (BGU) ทางตอนใต้ของอิสราเอล เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยอิสราเอลพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ซึ่งก่อโรคโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

ผลการศึกษาด้านพันธุกรรมที่ตีพิมพ์ในวารสารไอไซแอนซ์ (iScience) ระบุว่าคณะนักวิจัยพยายามค้นหาสาเหตุที่ก่ออาการ “รุนแรง” ของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อไวรัสฯ มีปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงตามไปด้วย

คณะนักวิจัยทำการวิเคราะห์เป็นเวลาหนึ่งปี โดยใช้ความรู้ด้านชีววิทยาเชิงคำนวณ และการแสดงออกของยีนในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ว่าไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตพลังงาน ได้รับความเสียหายหรือไม่ระหว่างการป่วยโรคโควิด-19 และส่งผลให้ร่างกายมีการทำงานผิดปกติ

นักวิจัยพบความเสียหายในไมโตคอนเดรียของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันมากกว่าไมโตคอนเดรียของเซลล์ปอด โดยความเสียหายของไมโตคอนเดรียในเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันช่วยอธิบายปรากฏการณ์ “พายุไซโตไคน์” (cytokine storm) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ของระบบภูมิคุ้มกันที่ปรากฏพร้อมกับอาการต่างๆ เช่น เป็นไข้ อาการบวม และอาการเหนื่อยล้ารุนแรง

“จากผลการศึกษา มีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันพุ่งเป้าไปยังไมโตครอนเดรีย และรักษาอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19” คณะนักวิจัยสรุป

หัวอกเดียวกัน!‘ปารีณา’มาแล้ว ส่งกำลังใจถึง‘สิระ’หลังพ้นสส.

22 ธันวาคม 2564 น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความสั้นๆผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “ส่งกำลังใจให้ พี่สิระ” โดยมีการแท็กไปที่เฟซบุ๊กของ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ซึ่งเป็นภรรยาของนายสิระ เจนจาคะ ด้วย ซึ่งนางสรัลรัศมิ์ ได้เข้ามาแสดงความขอบคุณ ว่า “ขอบคุณนะคะน้องเอ๋”

สำหรับโพสต์ดังกล่าวของ น.ส.ปารีณา มีขึ้นภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสิระ พ้นจาก ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ สำหรับ น.ส.ปารีณา ทำงานในสภาฯควบคู่มากับนายสิระโดยตลอด ก่อนถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.


ผวาก่อคลัสเตอร์!เร่งติดตามผู้ใกล้ชิด‘หนุ่มอิสราเอล’ติดโควิดหนีจากโรงแรม

22 ธันวาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสถานทูตอิสราเอล ประสานและจับกุมได้แล้ว หลังชายชาวอิสราเอลที่เดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบ Test & Go ตรวจคัดกรองแบบ RT-PCR พบว่า ติดเชื้อโควิด-19 แต่ปฏิเสธการเข้ารับการรักษา หลบหนีออกจากสถานที่กักตัวในกรุงเทพมหานคร และไปยังพัทยา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้ได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ขณะนี้ได้ถูกนำตัวเข้าสู่ระบบขั้นตอนการรักษาที่โรงพยาบาลเกาะสมุย เรียบร้อยแล้ว

“นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งติดตามกลุ่มเสี่ยงที่อาจสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายดังกล่าว นำตัวสืบสวนโรคด้วย ATK ในเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ รวมทั้งให้มีการขยายผลเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย” นายธนกร กล่าว

นายธนกร กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มบุคคลต่างๆ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด นายกรัฐมนตรี ย้ำให้ทุกคนมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อส่วนร่วม เพราะยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องอาศัยทุกคนร่วมมือกัน


กทม.หารือเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี ย้ำตามสมัครใจ-ผู้ปกครองยินยอม

22 ธันวาคม 2564 ที่ห้องประชุม ชั้น 15 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (รองปลัด กทม.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับสำนักการศึกษาและสำนักอนามัย เพื่อหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนแบบ On-Site ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ภาคเรียนที่ 2/2564 และการฉีดวัคซีนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา โดยมี นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ในที่ประชุมได้หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนแบบ On-Site ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ภาคเรียนที่ 2/2564 โดยกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) การปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) การปฏิบัติตามข้อกำหนด 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) รวมถึง 7 มาตรการเข้ม สำหรับสถานศึกษา ดังนี้

1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน TSC+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID

2.ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble จัดนักเรียนเว้นระยะห่างในห้องเรียนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน

3.จัดระบบการให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ

4.จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

5.จัดให้มี School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีข้อซักซ้อมอย่างเคร่งครัด

6.ควบคุมดูแลการเดินทางเข้าและออกจากสถานศึกษา (Seal Route) ทั้งกรณีรถรับ - ส่ง นักเรียน รถส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ

7.จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ให้สำนักอนามัยดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขยายขอบเขตข้อบ่งใช้ของวัคซีน สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี จากเดิมที่ให้มีการฉีดได้ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แก่เด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อและลดปริมาณวัคซีนลงเหลือ 10 ไมโครกรัม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนที่ฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยเว้นระยะห่าง 21 วัน จากเข็มที่ 1 เพื่อฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครองต้องให้การยินยอม


เช็คล่าสุด! ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานแล้ว กระทบ 69 พื้นที่กทม.

22 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ช่วงเวลา 10.00-12.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้51-82 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 63.9 มคก./ลบ.ม. โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 69 พื้นที่


อ่วมหนัก! โอมิครอนจ่อยึดสหรัฐฯ ติดเชื้อพุ่งกว่า 70% แซงทุกสายพันธุ์

21 ธ.ค.64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานโดยอ้างข้อมูลศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐหรือซีดีซี (CDC) เผยว่า ขณะนี้ยอดติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน พุ่งแซงทุกสายพันธุ์ขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐแล้ว เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสายพันธุ์โอไมครอนถึงร้อยละ 73 โดยสัดส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 650,000 คน ทั้งที่เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 99.5 ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนน

ขณะที่ พญ.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี ระบุว่า สถานการณ์ในสหรัฐไม่ต่างจากหลายประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ซีดีซียังไม่ได้ประเมินว่า มีผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตเพราะสายพันธุ์โอมิครอนมากน้อยเพียงใด

ด้านเว็บไซต์สำนักข่าว ซินหัว รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า สื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ รายงานว่าชายคนหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19และอาศัยอยู่ในเทศมณฑลแฮร์ริสของรัฐเท็กซัส อาจเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน รายแรกของสหรัฐฯ

ลีนา ไฮดัลโก ผู้พิพากษาประจำเทศมณฑลแฮร์ริส เผยผ่านทวิตเตอร์ว่า “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องรายงานกรณีผู้เสียชีวิตในท้องถิ่นรายแรกจากเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นชายวัย 50 ปีกว่าที่ยังไม่ได้รับวัคซีน” พร้อมเสริมว่าผู้เสียชีวิตรายนี้มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว

รายงานจากสำนักข่าวเอบีซี นิวส์ (ABC News) และฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) ระบุว่า การเสียชีวิตกรณีนี้ถือเป็นการตรวจพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอมิครอน ครั้งแรกในสหรัฐฯ

สื่อท้องถิ่น'เมียนมา'ชี้ประเทศไม่พร้อมรับมือโควิด หวั่นโอมิครอนมายิ่งหนัก

22 ธ.ค. 2564 สำนักข่าว Mizzima ของเมียนมา เสนอรายงานพิเศษ Can Myanmar handle the Omicron variant under the current leadership ว่าด้วยสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ณ ปัจจุบัน กับการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์สายโอมิครอนที่เพิ่งค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า เมียนมากลายเป็นดินแดนที่ล้มเหลวในการรับมือโรคร้ายดังกล่าวไปเสียแล้ว

บรรยากาศในเมียนมาเต็มไปด้วยการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ในขณะที่รัฐบาลเองก็ปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงเช่นกัน เสียงปืนดังราวกับอยู่ในสนามรบไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กหรือใหญ่ บรรยากาศข้างต้นนี้เมื่อมองไป พบชาวเมียนมาจำนวนมากไม่สวมหน้ากากปิดปาก-จมูก เพื่อป้องกันโรคระบาด จนดูเหมือนว่าชาวเมียนมาจะกลัวภัยจากเผด็จการเสียยิ่งกว่าภัยจากโรคร้าย

ในช่วงที่เมียนมายังปกครองด้วยรัฐบาลพลเรือน มีการออกประกาศบังคับสวมหน้ากากปิดปาก-จมูกโดยมีโทษปรับ 200 จ๊าด และประชาชนเองก็ให้ความร่วมมือทั้งการสวมหน้ากากและล้างมือ แต่ในยุคเผด็จการทหาร คนสวมหน้ากากอาจถูกตบหน้าได้ แต่การก่อวินาศกรรมต่างๆ ก็ยังดำเนินต่อไป ขณะที่บุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารทำให้ถูกจับกุมดำเนินคดี ยิ่งทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศนี้อ่อนแอลง รัฐบาลทหารไม่สามารถดูแลประชาชนได้ ภายใต้กฎอัยการศึก ประชาชนยังต้องต่อแถวเติมถังออกซิเจน และดูแลตนเองที่บ้าน

ในการระบาดระลอกที่ 3 รถของอาสากู้ภัยต้องบรรทุกร่างผู้เสียชีวิตรายแล้วรายเล่า แต่ร่างไร้วิญญาณเหล่านั้นก็ยังต้องต่อคิวในการทำพิธีศพ และแม้จะมีเงิน แต่หลายครอบครัวก็ต้องสูญเสียสมาชิกอันเป็นที่รักไปเพราะไม่มีแพทย์มาทำการรักษา ซึ่งบอกได้เลยว่า หากรัฐบาลทหารไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์และรับประกันว่าระบบสาธารณสุขจะกลับมาทำงานได้ เมื่อไวรัสสายโอมิครอนมาถึง มันจะยิ่งส่งผลกระทบกับชาวเมียนมายิ่งกว่าการระบาดระลอกนี้

สถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายแห่งเมียนมา (ISP Myanmar) รายงานว่า ไวรัสโอมิครอนกลายพันธุ์ถึง 50 จุดเมื่อเทียบกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม อีกทั้งมีโปรตีนหนาม 30 จุดที่สามารถเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ จึงเอื้อต่อการระบาดได้มากขึ้น ประชากรอายุน้อยที่เคยมีสถิติติดเชื้อโควิด-19 ต่ำในอดีตพบเป็นผู้ติดเชื้อสายโอมิครอน ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงอยู่ระหว่างดำเนินการ และกำลังยกระดับวัคซีนในประเทศอื่นๆ รายงานยังระบุด้วยว่า การติดเชื้อโควิดและไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในเมียนมาไม่ลดลง ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนก็ยังต่ำกว่าร้อยละ 50

ย้อนไปเมื่อปลายปี 2563 การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายเดลตาได้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศอินเดีย กระทั่งขณะนี้สถานการณ์การระบาดได้เบาลง แต่ประชาคมโลกกำลังกังวลว่า โอมิครอนกำลังจะกลายเป็นการระบาดระลอกต่อไป ในวันที่ 7 ธ.ค. 2564 โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาได้กล่าวกับสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ ว่ายังไม่พบไวรัสสายโอมิครอนในเมียนมา

รายงานข่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลทหารกำลังพยายามให้กิจการบางส่วนกลับมาเปิดทำการอีกครั้งแม้ยังไม่มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม อาทิ มีแผนจะให้มหาวิทยาลัยกลับมาจัดการเรียนการสอนได้ในเดือน ม.ค. 2565 และยังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใน 4 เดือนแรกของปี 2565