ข่าว
จับแล้ว "มือเผาบัส" เหตุป่วนรามฯ เผยเพื่อนชวนไปร่วมทุบทำลายทรัพย์-ส่วนคดียิง เร่งสืบสวนอยู่

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (สบ 10) แถลงข่าวร่วมกับนายตำรวจระดับสูง อาทิ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผบช.ภ.7 พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ รอง ผบช.ภ.7 ในคดีการเสียชีวิตที่มีผู้ถูกยิง 4 คดี กรณีพบศพถูกเผาในรถบัส 1 คดี และคดีอื่นๆ อีก 19 คดี อาทิ คดีพยายามฆ่า (ถูกยิง) 8 ราย ทำร้ายร่างกาย 8 ราย ทำให้เสียทรัพย์ 2 ราย และวางเพลิงเผาทรัพย์ 1 ราย

พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวว่า สำหรับคดีวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต คือนายสุรเดช คำแปงใจ อายุ 19 ปี เหตุเกิดวันที่ 30 พฤศจิกายน ต่อเนื่องวันที่ 1 ธันวาคม จากการสืบสวนมีภาพถ่ายกลุ่มชายฉกรรจ์มากกว่า 10 คน อยู่บริเวณรถบัสก่อนถูกเพลิงไหม้ และมีการขโมยทรัพย์สิน พบว่าบุคคลตามภาพมีนายเบนซ์ (ไม่ทราบชื่อและสกุลจริง) เป็นคนอุ้มโทรทัศน์ออกมา นายอดิสรณ์ สีจันทร์ผ่อง หรือตาร์ อายุ 29 ปี และนายเอ (นามสมมุติ) อายุ 15 ปี หิ้วเครื่องแอมป์ขยายเสียงและชุดไมโครโฟน

ต่อมาได้ตรวจค้นบ้านนายอดิสรณ์ในซอยรามคำแหง 39 หรือวัดเทพลีลา สามารถจับกุมนายอดิสรณ์พร้อมเครื่องแอมป์ และจับกุมนายเอพร้อมรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ข้างรถบัสปะปนกับกลุ่มชายฉกรรจ์ โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 คนรับสารภาพเพียงแต่ลักทรัพย์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและลักทรัพย์ นำส่งพนักงานสอบสวน สน.บางชันดำเนินคดีต่อไป

พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวต่อว่า จากการสอบสวนทราบว่า เวลา 13.00 น. วันที่ 1 ธันวาคม นายอดิสรณ์ชักชวนนายเอที่มีบ้านอยู่ใกล้กันซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ออกไปซื้อบุหรี่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และอยากไปดูเหตุชุมนุมด้วย โดยขี่รถไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม หลังกดเงินมีกลุ่มวัยรุ่นหลายคนน่าจะเป็นกลุ่มอาชีวะ ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมา และชวนไปร่วมทุบทำลายรถบัสซึ่งจอดอยู่ที่หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย

"ส่วนคดียิงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง การสืบสวนและสอบสวนมีความคืบหน้าพอสมควร มีการเก็บหลักฐาน มีการใช้อาวุธปืนถึง 16 กระบอกในการก่อเหตุ" พล.ต.อ.จรัมพรกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกลุ่มที่ก่อเหตุนั้นตามแนวทางการสืบสวนเจ้าหน้าที่ คาดว่าเป็นกลุ่มอาชีวะที่ต่อต้านเสื้อแดง

ปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวพ้นวิกฤติ

ประเทศไทยยังยากก้าวพ้นวิกฤติการเมือง เพราะสองฝ่ายไม่ลดราวาศอก ยึดมั่นในเหตุผลของฝ่ายตนเอง หรือพยายามถอยหลังคนละก้าว ฝ่ายหนึ่งมีมวลมหาประชาชนเป็นกำลังหนุน ส่วนฝ่ายรัฐบาลใช้ระบบประชาธิปไตยเป็นเสาค้ำจุน อีกทั้งมีมวลชนที่เทคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมากเป็นกลุ่มสนับสนุนเช่นกัน แต่ดูเสมือนว่าได้เกิดภาวะเดดล็อกหรือทางตันที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ การเสนอของ "ประชาภิวัฒน์" ต้องการสร้างระบบใหม่ในรูปแบบสภาประชาชน เนื่องจากไม่ไว้วางใจนักการเมืองตลอดจนพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมฉ้อฉล เอื้อประโยชน์พวกพ้อง แต่ตรงนี้ได้เกิดคำถามว่าจะทำได้อย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้งถือเป็นหัวใจสำคัญ และการก้าวไปสู่สภาประชาชนเป็นการทำในสิ่งที่ผิดหลักการหรือไม่

นักวิชาการชั้นนำ นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองต่อการชุมนุมของมวลมหาประชาชนว่าไม่ใช่ปัญหาว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และไม่ใช่เป็นการไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่เป็นทั้งการใช้สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการต่อต้านล้มล้างรัฐบาลที่ถูกมองว่าขาดความชอบธรรม ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พร้อมกับระบุว่า มวลมหาประชาชนเป็นเสมือนฐานราก ยังจำเป็นต้องมีส่วนอื่นๆ คือ เสา ฝา หลังคา รั้ว เพื่อประกอบเป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์ คือมีองค์กรแนวร่วม ที่ประกอบด้วยบุคคลที่เสมือนเป็นทุนทางสังคม ตลอดจนองค์กรภาคธุรกิจและต้องมีองค์ประกอบจากตัวแทนรากหญ้า ผู้นำปัญญาชนการเมืองท้องถิ่นทุกจังหวัดด้วย

ขณะที่นักวิชาการกว่า 155 คนจากหลายสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันก่อตั้งสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. พร้อมออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. ในการเสนอตั้งสภาประชาชน เพราะจะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีเดียวคือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ส่วนการเรียกร้องนายกฯ คนกลางเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงเห็นว่าทุกฝ่ายต้องเดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่การเลือกตั้ง และให้ทุกพรรคทำสัญญาประชาคมว่าจะให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังเตือนว่าความพยายามผลักดันให้ไปสู่ระบบที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและไม่เป็นประชาธิปไตย สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองและเกิดการนองเลือดได้ ดังนั้นควรที่ทุกฝ่ายยอมรับวิถีทางหลักและกลับมายึดระบบเพื่อความสันติ

เมื่อมองผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ "มหานกหวีด" เป็นการขับเคลื่อนมวลชนในสังคมที่หมดความอดทนต่อนักการเมืองและรัฐบาล ที่ได้กระทำการในหลายสิ่งมีผลทำลายความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ซึ่งมีอยู่น้อยอยู่แล้วในหมู่คนส่วนใหญ่ เห็นชัดที่สุดก็คือกรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย การไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. และการที่ไม่เคยรับฟังเสียงทักท้วงจากสังคมถึงนโยบายบริหารประเทศจนมวลชนต้องออกมาเดินบนถนน ดังนั้นทุกพรรคการเมืองต้องปรับเปลี่ยนจากภายในองค์กรของตัวเอง และรับฟังทุกภาคส่วน รวมทั้งเต็มใจปรับเปลี่ยนกติกาและร่วมปฏิรูปการเมืองไปกับสังคมโดยยึดระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก เพื่อก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้


“ผบ.เหล่าทัพ”โยน “ผบ.สส.”ตัดสินใจปมสุเทพขอถกทหาร

12 ธ.ค.56 แหล่งข่าวนายทหารระดับสูง เปิดเผยว่า หลังจากที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ระบุเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.56 ว่า จะมีการทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบกับ ผบ.เหล่าทัพนั้น ขณะนี้ ทางผบ.เหล่าทัพ ยังไม่ได้รับหนังสือของ นายสุเทพ ซึ่งในส่วนของผบ.เหล่าทัพยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากต้องรอ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ตัดสินใจว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะมีการนัด ผบ.เหล่าทัพหารือกันก่อนหรือไม่ เนื่องจากผบ.เหล่าทัพไม่มีอำนาจตัดสินเองได้ อย่างไรก็ตามผบ.เหล่าทัพไม่สามารถทำตามที่นายสุเทพขอได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องกระทำภายใต้กรอบกฎหมายและกติกา ยืนยันว่า จุดยืนของกองทัพจะต้องเป็นกองทัพของประเทศชาติ และปกป้องประชาชน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก กองทัพไม่สามารถที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ ไม่ว่า จะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ซึ่งการจะทำอะไรต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า จากการพูดคุยร่วมกันที่ผ่านมา ทั้งนายสุเทพ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า จะทำทุกอย่างตามกระบวนการกฎหมาย และจะไม่ละเมิดกฎหมาย รวมถึงจะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพราะเมื่อไรที่ความรุนแรงเกิดขึ้นจะหยุดไม่ได้ และจะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายซ้ำรอยอดีต ส่วนกระแสข่าวว่า ทหารจะออกมาทำการปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหานั้น ยืนยันว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่ทหารจะออกมาทำอะไร เพราะหากทหารออกมาจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย และจะทำให้ต่างชาติไม่ยอมรับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กองทัพยังมองว่า ปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ยังมีทางออกอยู่


ชะตากรรม "กฎหมาย"สำคัญ หลังรัฐบาล"ยุบสภา"

ก่อนที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จะนำทัพ "มวลมหาประชาชน" บุกทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา

"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชิง "ยุบสภา" และประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในช่วงเช้าก่อนที่ม็อบจะเคลื่อน ถึงเหตุผลในการยุบ

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ให้ยุบสภาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.เป็นต้นไปและระบุให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

"ต้นเหตุ" ของปัญหาทางการเมืองรอบนี้เกิดจากสภาลักหลับผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับ "สุดซอย-เหมาเข่ง" จนต้องประกาศถอย ด้วยการให้วุฒิสภาตีตกในวาระ 1 ก่อนลงสัตยาบันว่า จะไม่หยิบยกขึ้นมายืนยันในสภาผู้แทนฯอีก

จากนั้น ยังต้องยอมถอนร่างฯกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันทั้งหมดออกจากระเบียบวาระการประชุม

ผลจากการยุบสภา ทำให้ร่างฯกฎหมายสำคัญตกค้างในกระบวนการอีกหลายฉบับ

อาทิ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่... ) พุทธศักราช ... หรือ ร่างฯแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดช่องทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างฯดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างฯใหม่ทั้งฉบับจะต้องผ่านการทำประชามติก่อน แต่พรรครัฐบาลจดๆ จ้องๆ ว่า จะนำกลับเข้ารัฐสภา เพื่อโหวตวาระ 3 สุดท้ายก็ยุบสภาก่อน

อีกฉบับ คือร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 ว่า ด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญและมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 และ 3

อีก 2 ฉบับ เสร็จสิ้นกระบวนการทางนิติบัญญัติแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงยังไม่สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ คือ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 ว่าด้วยลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

และร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่าน 2 สภาแล้ว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลได้ชะลอการทูลเกล้าฯไปแล้ว

หลังจาก "นายกฯปู" ตัดสินใจยุบสภา เกิดคำถามว่า กฎหมายค้างการพิจารณาเหล่านี้ มีสถานภาพใด "ตกไป" หรือ "ยังค้างอยู่ที่สภา"

รัฐธรรมนูญ มาตรา 153 บัญญัติว่า "ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือบรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้เป็นอันตกไป เว้นเสียแต่รัฐบาลชุดใหม่หลังจากการเลือกตั้งจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภาภายใน 60 วันเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณากฎหมายนั้นต่อไป"

นั่นก็หมายความว่า หากร่างกฎหมายฉบับใดค้างอยู่ในขั้นตอนไหนของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา คณะรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารงานหลังจากนั้น สามารถขอให้มีมติเดินหน้าต่อในกระบวนการที่ค้างอยู่ได้ แต่ต้องอยู่ในภายกำหนด 60 วันนั้นเอง

จึงเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าใน "สนามเลือกตั้ง" จะมีการเสนอนโยบายจากพรรคเพื่อไทย จะเดินหน้าผลักดันการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" เป็นนโยบายในการเลือกตั้งหนนี้

เพื่อเปลี่ยนเสียงเลือกตั้งให้เป็นเสียงประชามติ ช่วงชิงความชอบธรรมในการผลักดันหรือแก้ไข ร่างกฎหมายสำคัญ

"ยิ่งลักษณ์" มั่นใจเลือกตั้งเป็นทางออกประเทศ แทงกั๊กขึ้นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 เพื่อไทย

"ยิ่งลักษณ์" มั่นใจเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ ลั่นไม่มีรัฐสภาออก พ.ร.ก.สภาประชาชนไม่ได้ อุบตอบปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 เพื่อไทย

เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 11 ธันวาคม ที่ฝูงบินกองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้ตอบคำถามสื่อมวลชนก่อนขึ้นเครื่องบินกองทัพไทยเดินทางไปจ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานการประชุมส่วนราชการแก้ปัญหาหมอกควัน ในวันที่ 12 ธ.ค. ถึงความมั่นใจในการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ว่า ขณะนี้ได้มีการลงราชกฤษฎีกาซึ่งต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ทั้งนี้พรรคการเมืองหลายพรรคก็ได้ตอบรับแล้วว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกของประเทศ ก็น่าจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้น

เมื่อถามว่าเหมือนว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อาจมีแนวทางเปิดแนวทางจัดตั้งสภาประชาชนได้โดยให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่แน่ใจต้องปรึกษากับฝ่ายกฏหมายก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าตอนนี้ทางรัฐสภาจะกระทำได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ไม่มีรัฐสภาแล้ว เหลือเพียงวุฒิสภาเท่านั้น จึงไม่แน่ใจว่าจะออกพระราชกำหนดสภาประชาชนได้หรือไม่

เมื่อถามว่าตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส.จะขอพบผู้บัญชาเหล่าทัพอย่างเป็นทางการนั้น นายกฯ มีมุมมองอย่างไรหรืออยากให้กองทัพมีท่าทีอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบแทนกองทัพได้

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าในฐานะรมว.กลาโหม กองทัพจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือหน่ววยงานใดก็ตาม ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบของข้อราชการอยู่แล้วตามการให้สัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมาด้วยความซื่อสัตย์สุดจริต ทั้งนี้ทุกอย่างต้องมีกฏกติการะเบียบของตนเองอยู่แล้ว ก็เชื่อว่าข้าราชการจะปฏิบัติตาม

เมื่อถามนายกฯ จะลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้ยังเหลือเวลาถึงวันที่ 23 ธ.ค.ที่จะตัดสินใจ