- กองทัพพม่าประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวตลอดเดือนเมษายน แต่กองทัพชาติพันธุ์บอกผ่านสื่อว่า ในเมื่อกองทัพพม่าไม่ได้หยุดปฏิบัติการปราบปรามผู้ประท้วง พวกเขาก็จำเป็นต้องเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายรัฐบาล
- ด้วยความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ ข้อเรียกร้องประการสำคัญของกำลังชาติพันธุ์ไปถึงกองทัพพม่าคือ ต้องการให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบสหพันธรัฐ
- ตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ กองทัพพม่าถือว่าการปราบปรามชนกลุ่มน้อยเพื่อความเป็นเอกภาพของสหภาพพม่า เป็นอุดมการณ์หลักของทหาร และเป็นข้ออ้างสำคัญที่จะควบคุมการเมือง
กองทัพพม่า เปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มหมู่บ้านกะเหรี่ยงในฐานที่มั่นของสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (The Karen National Union: KNU) เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามติดด้วยการถล่มเหมืองทอง ส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต และอีกเกือบ 3,000 คน ต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมายังฝั่งไทย ก่อนถูกผลักดันกลับไป เป็นเสมือนการจุดไฟสงครามกลางเมืองของพม่าให้คุโชนออกมาอีกครั้ง ทำลายความหวังที่จะเห็นสันติภาพถาวรในพม่าไปจนหมดสิ้น การปะทะกันในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังดำเนินต่อไป ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น และคาดว่าจะเกิดขึ้นในรัฐฉานเร็วๆ นี้
แม้ล่าสุดกองทัพพม่าจะประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวตลอดเดือนเมษายน แต่กองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Army: KIA) บอกกับสำนักข่าว Myanmar Now ว่า ในเมื่อกองทัพพม่าไม่ได้หยุดปฏิบัติการปราบปรามผู้ประท้วง พวกเขาก็จำเป็นต้องเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเพื่อเป็นการตอบโต้
กองทัพพม่า หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ตัตมาดอว์’ (Tatmadaw) ตัดสินใจเปิดศึกกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้เข้าร่วมขบวนประท้วงต่อต้านรัฐประหารกับประชาชนชาวพม่าตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา และได้เรียกร้องในสิ่งที่ตัตมาดอว์คัดค้านอย่างแข็งขันมาโดยตลอด นั่นคือ ‘การปกครองแบบสหพันธรัฐ’
พม่า เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ จับอาวุธต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองมานานกว่า 70 ปี นับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ ตัตมาดอว์เองก็ถือว่าการปราบปรามชนกลุ่มน้อยเพื่อความเป็นเอกภาพของสหภาพพม่าเป็นอุดมการณ์หลักของทหาร และเป็นข้ออ้างสำคัญที่จะควบคุมการเมืองเสมอมา
ตัตมาดอว์ และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้และเจรจาหย่าศึกกันเรื่อยมานับแต่ทหารภายใต้การนำของ พลเอกตาน ฉ่วย เข้าควบคุมการเมืองหลังการลุกฮือโค่นล้ม นายพลเน วิน ในปี 1988 โดยกลุ่มแรกที่ได้ลงนามหยุดยิงคือ กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA) ในปี 1989 ตามด้วยองค์กรคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Organization: KIO) ปี 1994 และพรรคมอญใหม่ (New Mon State Party: NMSP) ของชาวมอญในปี 1995 ถัดจากนั้นก็มีชาวไทใหญ่หลากหลายกลุ่มทำสัญญาสงบศึกกับกองทัพพม่า
แต่สัญญาสงบศึกกันคราวนั้นก็ล่มสลายไปเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพราะหลายกลุ่มปฏิเสธคำสั่งตัตมาดอว์ที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังป้องกันชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 2008 ที่กองทัพเป็นคนร่างขึ้น คะฉิ่นเป็นกลุ่มแรกที่ตัดสินใจฉีกสัญญาสงบศึก และจับอาวุธต่อสู้อีกรอบใหม่ในปี 2011 รัฐบาลของ พลเอกเต็ง เส่ง ที่กองทัพให้การหนุนหลัง จึงริเริ่มสัญญาสงบศึกรอบใหม่ขึ้นในปี 2013 และเจรจาจนกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ 8 จาก 15 กลุ่มยอมลงนามด้วยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015
พัฒนาการสำคัญของสัญญาสงบศึกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ออง ซาน ซูจี เพราะไม่เพียงมีอีก 2 กลุ่มคือ พรรคมอญใหม่ และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union: LDU) เข้าร่วมในสัญญาสงบศึกในปี 2018 แต่ ออง ซาน ซูจี ได้เปิดประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 และเชิญกองกำลังชาติพันธุ์ในส่วนที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาสงบศึกเข้าร่วมด้วย อีกทั้งยังมีผู้สังเกตการณ์ระดับโลกอย่าง บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติในเวลานั้นมาเป็นสักขีพยาน
ออง ซาน ซูจี พยายามทำให้ที่ประชุมปางโหลงเป็นจุดเปลี่ยนให้สัญญาสงบศึก กลายเป็นสัญญาสันติภาพถาวรในพม่า แต่น่าเสียดายตลอดระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาลซูจี มีการประชุมปางโหลงเพียง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2020 ก็เป็นแค่การพยายามสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และปูพื้นไปสู่การเจรจาเรื่องสหพันธรัฐ กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มก็มีความหวังว่าหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 เพื่อโอกาสสานต่อการประชุมให้ไปสู่กระบวนการสันติภาพในที่สุด
แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว ตัตมาดอว์กลายเป็นผู้คุมเกมทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว โอกาสที่จะได้หารือกันในทางการเมืองเรื่องสหพันธรัฐก็เลือนรางเต็มทน มาถึงวันนี้กองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่มต่างประกาศว่าพร้อมที่จะต่อสู้กับกองทัพพม่าอีกครั้ง เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนของพวกเขา กองทัพอาระกัน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง (ปะหล่อง) และกองทัพพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (โกกั้ง) ประกาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคมว่า พร้อมที่จะร่วมมือกับกองกำลังของชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ทำสงครามกับกองทัพพม่า
ปัจจุบันมีกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ประมาณ 25 กลุ่ม มีกำลังตั้งแต่ 100 คนไปจนถึง 30,000 คน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงประเมินว่า กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดอาจมีกำลังรวมกันตั้งแต่ 70,000-100,000 คน
แต่ต่อให้กองกำลังทั้งหมดสามารถรวมกันได้ ก็ยังไม่อาจจะเทียบกองทัพพม่าที่มีกำลังพลอยู่ถึง 400,000 คน อีกทั้งยังมีพลเรือนติดอาวุธหรือกองกำลังอาสาสมัครที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของกองทัพอีกกว่า 100,000 คน ภายใต้สายการบังคับบัญชาที่เข้มแข็ง และมีระเบียบวินัย พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน โอกาสที่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์จะเอาชนะกองทัพพม่าได้แทบจะไม่มี
เมื่อทั้งสองฝ่ายเปิดศึกกันแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากนี้คือสงครามกลางเมืองที่จะดำเนินต่อไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน อันจะนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม การสูญเสียและพลัดพรากอย่างเหลือคณานับ
รัฐบาลอิตาลีออกกฎห้ามเรือสำราญขนาดใหญ่และเรือบรรทุกสินค้าผ่านเข้าไปใกล้ศูนย์กลางของเวนิส เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมบริเวณทะเลสาบเวนิส และจะเริ่มกระบวนการหารือกับประชาชนเพื่อสร้างท่าเรือใหม่นอกทะเลสาบ เพื่อรองรับเรือขนาด 40,000 ตันและเรือบรรทุกสินค้า
ดาริโอ ฟรานเซสชินี รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมทวีตถึงการตัดสินใจเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 ของรัฐบาลว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และหลายคนรอคอยมานานหลายปี คนที่มาเยือนเวนิสในช่วงไม่กี่ปีมานี้ต่างตกใจกับเรือขนาดหลายร้อยเมตร สูงเท่าอพาร์ตเมนต์ แล่นผ่านพื้นที่ซึ่งเปราะบาง รัฐบาลแถลงว่า ต้องการฟื้นฟูมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของเวนิส รวมทั้งทะเลสาบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของเรือสำราญและการจราจร
ก่อนวิกฤติโควิด-19 เวนิสมีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละ 25 ล้านคน ชาวเวนิสเรียกร้องให้รัฐบาลออกคำสั่งห้ามเรือขนาดใหญ่แล่นผ่านทะเลสาบมานานหลายปีแล้ว ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยออกคำสั่งแก้ไขปัญหานี้มาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ผลนัก ในปี 2013 ห้ามเรือที่มีขนาดเกิน 96,000 ตันข้ามคลอง จูเดกกา (Giudecca) แต่ศาลท้องถิ่นถอนคำสั่ง ต่อมาปี 2017 รัฐบาลพยายามแจ้งให้เรือขนาดใหญ่ไปจอดที่ท่าเรือมาเกรา แต่เรือต่างๆ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม
จนเมื่อปี 2019 เรือสำราญชนกับท่าเทียบเรือและเรือท่องเที่ยวลำหนึ่ง ขณะแล่นเข้าไปยังท่าเรือ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน นายกเทศมนตรีเมืองเวนิสเรียกร้องให้ทางการเร่งหาวิธีแก้ปัญหาเรือสำราญ และให้ไปใช้ท่าเรืออื่นแทน
นอกจากนี้ เรือสำราญขนาดใหญ่ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นักวิจารณ์ระบุว่า คลื่นจากเรือลำใหญ่ส่งผลต่อทะเลสาบที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ รุกล้ำพื้นใต้ทะเล จนทำให้ทะเลสาบเป็นสาขาหนึ่งของงทะเลเอเดรียติก และทำให้สถานที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอย่าง เซนต์มาร์ก สแควร์ อยู่ใต้น้ำ
เดือนที่แล้ว กลุ่มนักเคลื่อนไหว โน กรานดิ เนวี (No Grandi Navi) เพิ่งถูกปรับ 23,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการปิดกั้นทางออกของเรือสำราญ 3 ลำเมื่อปี 2017 มีประชาชนระดมทุนจ่ายค่าปรับให้ รวมทั้งบริจาคเงินด้วย เช่น นักแสดงสาว เอมมา ทอมป์สัน ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่เวนิสด้วย
ที่มา : CNN, Reuters, DW
2 เมษายน 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน สถานีโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐฯ รายงานว่า คนงานของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ในโรงงานผลิตวัคซีนที่ตั้งอยู่ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐฯ ได้นำส่วนประกอบของวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จำนวน 2 ชนิด มาผสมกันอย่างผิดพลาด ส่งผลให้ต้องทำลายวัคซีนของบริษัทมากถึง 15 ล้านโดส
นี่คือ “ความผิดพลาดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้” แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับซีบีเอส พร้อมกล่าวว่าระบบตรวจสอบและควบคุมได้ค้นพบข้อผิดพลาดดังกล่าว จึงไม่มีวัคซีนที่ผิดพลาดใดๆ จากโรงงานนี้ถูกฉีดให้กับใครทั้งสิ้น
เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า เหล่าคนงานในโรงงานผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สองตัวในเมืองบัลติมอร์แห่งนี้ เผลอทำให้ส่วนประกอบดังกล่าวปะปนกันเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันมากถึง 15 ล้านโดสเกิดการปนเปื้อน และทำให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต้องชะลอการอนุมัติสายการผลิตของโรงงานแห่งนี้ออกไป
โรงงานแห่งนี้ดำเนินการโดยอีเมอร์เจนต์ ไบโอโซลูชันส์ (Emergent BioSolutions) ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการผลิตของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) โดยบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลส่วนกลางระบุว่าข้อผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์
บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันแถลงว่า “กระบวนการควบคุมคุณภาพพบวัตถุดิบตัวยาสำคัญ (drug substance) ชุดหนึ่งที่ไม่ตรงตามมาตรฐานคุณภาพ ที่โรงงานของอีเมอร์เจนต์ ไบโอโซลูชันส์ ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุดิบตัวยาสำคัญสำหรับวัคซีนโควิด-19 ของเรา ซึ่งวัตถุดิบตัวยาสำคัญชุดนี้ยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุและขั้นตอนท้ายๆ ในกระบวนการผลิตของเรา”
เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ข้อผิดพลาดดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่อยู่ระหว่างการจัดส่งและการใช้งานทั่วประเทศ รวมถึงการจัดส่งให้หลายๆ ประเทศในสัปดาห์หน้า โดยวัคซีนเหล่านั้นผลิตขึ้นในเนเธอร์แลนด์ซึ่งผ่านการรับรองแล้ว
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้การจัดส่งวัคซีนล็อตต่อไปของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในสหรัฐฯ ที่จะผลิตโดยโรงงานในบัลติมอร์แห่งนี้ต้องถูกเลื่อนออกไป
จอห์นสันแอนด์จอห์นสันระบุว่า ทางบริษัทกำลังจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต งานเทคนิค และคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อให้เข้ามากำกับดูแล สั่งการ และสนับสนุนกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่โรงงานของอีเมอร์เจนต์
“เราได้ดำเนินขั้นตอนเหล่านี้ โดยประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจัดส่งวัคซีนแบบฉีดโดสเดียวอีก 24 ล้านโดสได้อย่างปลอดภัยตลอดเดือนเมษายน” บริษัทกล่าว
วันศุกร์ ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564 : นิวยอร์ก (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) – ตำรวจนิวยอร์กของสหรัฐฯ จับกุมตัวชายผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายสตรีสูงวัยชาวเอเชียในนครนิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ ที่ปรากฏคลิปฉาวแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ และตั้งข้อหากระทำผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยมีมูลเหตุมาจากความเกลียดชังเชื้อชาติ
สำนักงานตำรวจนิวยอร์ก หรือ NYPD แถลงว่า ชายผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวชื่อ นายแบรนดอน เอลเลียต วัย 38 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันพุธ และถูกตั้งข้อหากระทำผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยมีมูลเหตุมาจากความเกลียดชังเชื้อชาติ พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า เขาได้รับโทษทัณฑ์บนตลอดชีวิตจากข้อหาฆาตกรรมมารดาของตัวเองก่อนหน้านี้ กองกำลังอาชญากรรมจากความเกลียดชังของสำนักงานตำรวจนิวยอร์กได้ออกตามหาผู้ก่อเหตุตั้งแต่ช่วงบ่ายวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น
หลังผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวก่อเหตุถีบสตรีเชื้อสายเอเชียวัย 65 ปีจนล้มกองบนพื้น จากนั้นกระทืบศีรษะของเธออย่างน้อย 3 ครั้ง นอกจากนี้ เขายังประกาศว่าเป็นพวกต่อต้านชาวเอเชีย คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่า ผู้เห็นเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุไม่ได้พยายามที่จะเข้าไปปกป้องสตรีสูงวัย และมีชายคนหนึ่งปิดประตูอาคารใกล้กับที่เกิดเหตุใส่เธอ ในขณะที่ผู้ก่อเหตุเดินจากไปอย่างไม่ไยดี
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนถนนแห่งหนึ่งในย่านใจกลางย่านแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นเขตการปกครองท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก และถือเป็นหนึ่งในเหตุอาชญากรรมความเกลียดชังชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่ขณะนี้มีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่งระบุว่า อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 149 ในปี 2020 เมื่อเทียบกับในปี 2019
ข้อมูลของ Center for the Study of hate and Extremism (California State University) ถึงอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชียใน 15 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ปี 2020 สูงถึง 149% จากปี 2019 แม้ภาพรวมอาชญากรรมจากความเกลียดชังจะลดลงจาก 1,845 ครั้ง เป็น 1,717 ครั้ง
ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Population Review รายงานว่า ประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 5.6% ของประชากรทั้งหมด โดยประชากรเอเชียในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 72% ระหว่างปี 2543 - 2558 เพิ่มขึ้น 11.9 ล้านคน
“โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประชุมกับคณะรัฐมนตรีทั้งหมดครั้งแรก และร่วมกันถ่ายรูปที่ทำเนียบขาว พร้อมทั้งมอบหมายให้รัฐมนตรี 5 ตำแหน่ง ช่วยเหลือการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ “อเมริกา จอบส์ แพลน”
วันที่ 2 เมษายน 2564 สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประชุมกับคณะรัฐมนตรี หลังสมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติรับรองตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงบริหารทั้งหมด 15 ตำแหน่งครบแล้ว พร้อมกับร่วมกันถ่ายรูปรวม
ทั้งนี้ ไบเดนได้ร่วมถ่ายรูปกับ “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ หัวหน้ากระทรวงบริหาร รวมถึงข้าราชการระดับรัฐมนตรีที่ทำเนียบขาว
และได้โพสต์รูปภาพนี้บนเพจเฟซบุ๊ก “President Joe Biden” ซึ่งเป็นเพจทางการของประธานาธิบดี พร้อมกับใช้คำใต้ภาพว่า “A Cabinet that looks like America” หรือ “คณะรัฐมนตรีที่ดูเหมือนอเมริกา” ซึ่งต้องการแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ และเพศ ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้
ขณะเดียวกัน ภายในการประชุม ไบเดนได้มอบหมายให้รัฐมนตรี 5 ตำแหน่ง เป็นตัวแทนสำหรับการช่วยอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ “อเมริกา จอบส์ แพลน” (America Jobs Plan) ผ่านสภาคองเกรส รวมถึงประชาสัมพันธ์ถึงแผนฟื้นฟูนี้ให้กับสาธารณชน และช่วยกำกับดูแลรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูนี้ด้วย
โดยคณะรัฐมนตรีทั้ง 5 คนได้แก่ “พีต บูติเจิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “มาร์เซีย ฟัดจ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมือง “จีนา ไรมอนโด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “มาร์ตี วอลช์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ “อเมริกา จอบส์ แพลน” ซึ่งวงเงินสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะประกอบไปด้วยการลงทุนฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม พลังงาน และผังเมืองของประเทศ
นอกจากนี้ ไบเดนยังระบุกับทางคณะรัฐมนตรีว่า อยากให้ทุกคนคอยดูแลงบประมาณการใช้จ่ายด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเงินภาษีของประชาชน กลับมาช่วยเหลือประชาชนและชาวอเมริกันอย่างแท้จริง