วันที่ 6 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการปฏิรูปประเทศว่า การปฏิรูปก็คือการเอาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นปัญหามาทำใหม่ หรือมาแก้ไขให้มันดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะต้องใช้วิธีการใหม่ๆ หรือใช้กฎหมายใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนมันต้องมีผลกระทบกับสิ่งเดิมๆ ที่เคยมีมา แต่ต้องมาดูว่าจะปฏิรูปเพื่ออะไร นโยบายของรัฐบาล คสช.เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ความเป็นธรรม เป็นการเฉลี่ยความสุขให้ทุกคน เพราะฉะนั้นแน่นอนมันต้องมีคนได้มากได้น้อย แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม ไม่ใช่หวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นอย่าบิดเบือนถ้าบิดเบือนไปมากๆ มันก็ไปไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปมี 31 วาระ 37 เรื่อง ทั้งหมดร่วมกันเป็นยุทธศาสตร์ 20 ปีข้างหน้า เราต้องการความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้ประเทศไทย รัฐบาล และคสช.กำลังเลือกว่าสิ่งใดทำได้เลยเราทำเลย สิ่งใดที่จะเริ่มต้นได้เราก็จะเริ่มต้นในช่วงนี้ถึงปี 60 ให้ได้ อย่างน้อยก็เป็นแนวทางนำร่อง อะไรแก้จบได้ก็จบไปเลย อันไหนจบไม่ได้ก็ไปต่อระยะหน้า ซึ่งก็ไม่ใช้หน้าที่ของตนแล้ว การปฏิรูปตอนนี้อยู่ในประยะที่ 1 ตั้งแต่พ.ค. 57 แก้ไขความขัดแย้ง แก้ไขปัญหาที่สำคัญ จัดระเบียบบ้านเมืองให้ทุกคนมาอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ถือว่าบ้านเมืองสงบ ส่วนในขณะนี้ก็มีเฉพาะในสื่อในโซเชียลเท่านั้น ส่วนคนที่ออกมาพูดจาทำให้บ้านเมืองเสียหาย ขอฝากผู้ที่รับผิดชอบด้านนี้ดูแลอย่าให้เกิดขึ้นอีก
“วันนี้ทุกคนคาดหวังว่าจะให้ปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1-2 ปี แต่ผมคิดว่าไม่มีทางเสร็จ เพราะหลายประเทศเขาเป็นร้อยปียังไม่เสร็จเลย ประเทศไทยยังไม่เริ่มปฏิรูปสักที มาเริ่มปฏิรูปตั้งแต่ ปี 57 วันนี้ต้องปฏิรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ข้าราชการ ประชาชน ต้องปฏิรูปตัวเอง ผมก็ต้องปฏิรูปตัวเองเสมอ ผมก็อดทนพยายามที่จะพูดให้มันไพเราะ ผมเป็นทหาร เวลาโมโหก็โมโหเร็วหน่อย เพราะว่ามันทั้งชีวิต ผมก็พยายามจะปรับตัวเองอยู่ ให้เป็นนายกฯ ที่น่ารัก ขอให้เห็นใจผมบ้าง เพราะงานมันเต็มไปหมดทุกวันทุกคืน ผมไม่ได้คิดเรื่องอื่น คิดแต่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร และทุกอย่างที่ทำมาวันนี้มันจะต้องแก้ตรงไหน ผมจะต้องเข้าไปหมดนะ ขอบคุณคณะกรรมาธิการทุกคนทั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทุกคนทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ สื่อก็ต้องช่วยกันด้วย รัฐบาลรับฟังทุกข้อเสนอ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเสรีภาพสื่อมวลชนนั้น ตนอดทนมากและได้อธิบายขอร้องไปไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่เขาก็ขอตนเรื่องเสรีภาพสื่อ ตนก็บอกว่าเสรีภาพวันนี้ตนให้ทุกอย่างแล้ว เพียงแต่เขาเขียนคำสั่งไว้ ดังนั้นก็อย่าทำความผิด อย่าบิดเบือนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นสื่อเลือกข้าง ตนก็เป็นมนุษย์ก็มีจิตใจเหมือนกัน และอดทนอย่างที่สุด แต่บางอย่างก็ต้องขอร้อง บางอย่างก็บังคับบ้าง แต่บังคับด้วยกฎหมาย ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อขจัดผู้ที่เห็นต่าง ถ้าเห็นต่างแล้ว เจตนาบริสุทธิ์ตนก็รับฟังหมด แต่หากเห็นต่างเพื่อจะล้มล้างทุกอย่างที่ตนทำไปแล้ว ตนรับไม่ได้ เพราะตนทำเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า
วันนี้หลายอย่างทำไม่ได้เพราะขาดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ประชาชนก็ไม่ไว้ใจรัฐ ไม่ไว้ใจข้าราชการ บางคนยังไม่ไว้ใจตนเลย ตนเข้ามาอย่างนี้ยังไม่ไว้ใจอีก ก็ไม่รู้ว่าจะไว้ใจใครแล้วในตอนนี้ ถ้าใครทำผิดก็ต้องยอมรับกลไกกระบวนการความยุติธรรม การใช้มาตรา 44 เพื่อไปควบคุมตัวนั้นเพราะว่าชอบหนีกันอย่างเร็ว และมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าจึงต้องมีมาตรา 44 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าไปนำตัวไปสอบสวน เมื่อเจอความผิดชัดเจนก็ส่งกระบวนการยุติธรรม ก็มีแค่ภายใน 7 วัน ถ้าวันเดียวเสร็จก็ส่งศาลก็ดำเนินการตามคดีกันต่อไป
“ผมไม่ได้มาตรา 44 ไปกำจัดผู้ที่ขัดแย้ง เพราะไม่ได้ไปขัดแย้งกับใคร เขาขัดแย้งกฎหมาย มันต้องทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ที่ผ่านมาบางที่ปล่อยปละละเลยกัน มันก็นำไปสู่การทุจริตผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์ การคอร์รัปชั่น เรื่องของการดึงคดีโน้นคดีนี้ เสียเบี้ยบ้ายรายทาง ดังนั้นรัฐต้องดูแล เราไม่มองใครเป็นศัตรู วันนี้ใครจะว่าอะไรผมก็ว่าไป ผมไม่มองใครเป็นศัตรู เพราะใช้กฎหมายดำเนินการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะศาลทหาร หรือศาลใดมีกลไกทางกฎหมายทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว.“
โฆษก รบ.สวนนักวิชาการที่ร้อง UN ยันไม่มีเหตุจับมาซ้อม ทรมาน ละเมิดสิทธิฯ จี้พิสูจน์ด้วยหลักฐาน อย่าชักศึกเข้าบ้าน นำประเด็นต่างๆ มาปนกัน รับไม่กังวลชี้แจง ตปท. เผยนายกฯ ฝากให้กำลังใจ จนท.ดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง ให้ ปชช.นำเป็นบทเรียนระวัง และดูแลสุขภาพ เล็งใช้ฝนเทียมดับ
วันนี้ (6 พ.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยื่นเรื่องต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ตรวจสอบและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล และ คสช.ว่า เป้าหมายของรัฐบาลและ คสช.คือการรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ โดยยืนยันว่านับตั้งแต่เข้ามาบริหารบ้านเมืองไม่เคยมีเหตุการณ์จับกุม ซ้อม ทรมานประชาชนหรือกลุ่มผู้เห็นต่างตามที่เครือข่ายอาจารย์นำมากล่าวอ้าง
“ผู้กระทำผิดกฎหมายทุกคนจะถูกควบคุมตัวและปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย แม้แต่คนที่กระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่เคยถูกกระทำรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น อยากให้เครือข่ายอาจารย์พิสูจน์ให้เห็นด้วยหลักฐาน ไม่ควรเชื่อข้อมูลจากการฟังตามกันมา หรืออ่านเพียงข้อมูลจาก social media โดยขาดการตรวจทาน ผิดวิสัยนักวิชาการหรือปัญญาชนที่มีคุณภาพ”
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า การเรียกร้องให้ยูเอ็นเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในประเทศไทยของเครือข่ายอาจารย์นั้น เปรียบเหมือนการชักศึกเข้าบ้าน โดยนำประเด็นต่างกรรมต่างวาระมาผสมปนเปกัน เช่น การนำคำสั่ง คสช.ที่ 13/2559 มาเขียนรวมกับ พ.ร.บ.การลงประชามติ ว่าเป็นการใช้กฎหมายควบคุมผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน คำสั่ง 13/2559 เป็นกฎหมายเพื่อกวาดล้างมาเฟียเพื่อปกป้องสุจริตชน ขณะที่ พ.ร.บ.ประชามติมีขึ้นเพื่อป้องกันการชี้นำ การบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อเท็จจริง มิใช่ข้อมูลที่แต่งแต้มสีสัน
การออกมาเรียกร้องด้วยข้อมูลที่ปราศจากความจริง และอ้างอิงอย่างมีนัย ผูกรวมเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และละเลยการอธิบายที่มาที่ไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ถือเป็นพฤติกรรมที่น่าละอาย
“รัฐบาลและ คสช.ไม่กังวลในการทำความเข้าใจกับองค์กรระหว่างประเทศ เนื่องจากท่านนายกฯ และ กต. ได้สื่อสารอธิบายความก้าวหน้าของแนวทางการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด และหากองค์กรใดต้องการข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย เชื่อว่าสามารถติดต่อได้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะ กต.ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าการรับฟังข้อมูลจากกลุ่มคนหรือหน่วยงานอื่นที่อาจมีข้อมูลไม่ถูกต้องหรือบิดเบือน”
พล.ต.สรรเสริญยังเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์ไฟไหม้ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส อย่างใกล้ชิด และฝากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติการดับไฟให้ทุกคนปลอดภัย และผนึกกำลังร่วมใจกันเพื่อคลี่คลายปัญหาให้สำเร็จลงได้โดยเร็ว
“ท่านนายกฯ ขอให้ประชาชนทั่วประเทศนำเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญ โดยจะต้องไม่จุดหรือก่อกองไฟในพื้นที่ป่า ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจ เช่น เข้าป่าเพื่อล่าสัตว์หรือหาของป่า หรือจากความประมาทสะเพร่า สูบบุหรี่และจุดไฟเล่น เพราะเพียงสะเก็ดไฟเล็กๆ อาจเป็นชนวนให้เกิดไฟไหม้ สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางได้”
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า รัฐบาลได้รับรายงานว่าขณะนี้ไฟไหม้ป่าครอบคลุมพื้นที่ 300 ไร่ โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนพรุเสม็ด อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ห่างจากป่าพรุโต๊ะแดง 2 กม.ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. และเกิดเพิ่มอีกในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งขณะนี้ ผวจ.นราธิวาส ร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 ได้เร่งระดมสรรพกำลังควบคุมและดับไฟทุกจุดอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งติดตามตรวจสอบสภาพความชื้นในอากาศ หากมีความเหมาะสมจะปฏิบัติการทำฝนเทียมทันที
“ท่านนายกฯ ยังเป็นห่วงเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ใน อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโก-ลก และบริเวณใกล้เคียงเป็นพิเศษ เนื่องจากเริ่มได้รับผลกระทบจากควันไฟป่าแล้ว จึงได้กำชับให้ จนท.สาธารณสุขลงพื้นที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือประชาชน เช่น ขอความร่วมมือ ไม่ให้ออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น หรือแจกจ่ายหน้ากากอนามัย และยารักษาโรคอย่างเพียงพอ เป็นต้น”
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.59 ที่ศาลทหารกรุงเทพ พ.ต.ท.สัณห์เพชร หนูทอง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองกำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เดินทางมาขอหมายจับ น.ส.พัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ มารดา ของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต่อมาศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นควรอนุมัติออกหมายจับ ข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
รายงานข่าวเปิดเผยว่า กรณีที่ทางพนักงานสอบสวน ปอท. ขออุมัติออกหมายจับ น.ส.พัฒน์นรี เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้พิจารณาพยานหลักฐานอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า น.ส.พัฒน์นรี ได้ร่วมกับ นายบุรินทร์ อินติน กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ด้าน นางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. หลังมีการนำเสนอข่าว ว่าศาลทหารได้ออกหมายจับ นางสาวพัฒน์นรี มารดา ของนายสิรวิชญ์ หรือ “จ่านิว” ในข้อหาร่วมกันหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ และหากมีการออกหมายจับจริง ก็จะพูดคุยกับ นางสาวพัฒน์นรี ทั้งการแต่งตั้งทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และการดำเนินการต่อไป
ขณะที่ นายสิรวิชญ์ ระบุว่า ตัวเองอยู่ที่ต่างจังหวัด ยังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว
29 เม.ย. 59 เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง เจ้าของสำนวน หมายเลขดำ อม.2/2558 และผู้พิพากษาองค์คณะ รวม 9 คน นัดไต่สวนพยานโจทก์นัดที่ 2 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบการสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 รัฐบาลนายสมชาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา โดยมิชอบตามหลักสากลกระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย
อย่างไรก็ดีเมื่อถึงเวลาไต่สวน ทนายความ ป.ป.ช. แถลงต่อศาลว่า พยานทั้ง 5 ปากประกอบด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. , พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีต ผบช.สตม. , พล.ต.ต.ลือชัย สุดยอด รอง ผบช.ภ.3 , พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวน อดีต รอง ผบช.น. และ พล.ต.ท.อนันต์ ศรีหิรัญ ผช.ผบ.ตร. เนื่องจากติดภารกิจและบางคนติดต่อไม่ได้ โดย ป.ป.ช.โจทก์ ไม่ติดใจจะไต่สวนพยาน 5 ปากนี้อีกต่อไป แต่จะยื่นเป็นคำให้การของพยานดังกล่าวที่ให้ไว้ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.ต่อศาลแทน ขณะที่ศาลสอบถามฝ่ายจำเลยแล้ว ทนายความจำเลย แถลงว่า ฝ่ายจำเลยยังติดใจไต่สวนพยานทั้ง 5 ปากตามบัญชีพยานที่เคยยื่นไว้ต่อศาล
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยยังติดใจจะไต่สวนพยานดังกล่าว จึงให้มีการไต่สวนพยานทั้งห้าเป็นพยานจำเลยต่อไปพร้อมกับ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต อดีต รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ อดีต รอง ผบ.ตร.
โดยศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ที่เหลือ ต่อไปในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ขณะที่ศาลกำชับให้ ป.ป.ช.โจทก์ ขอหมายเรียกพยานและติดตามพยานมาไต่สวนให้ได้ตามกำหนดนัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ มีมวลชนเสื้อแดง ประมาณ 20 คน มาถ่ายรูปและมอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจนายสมชาย อดีตนายกฯ ขณะที่มีมวลชนกลุ่ม พธม.กว่า 20 คน มาติดตามความคืบหน้าคดีด้วย
ภายหลังศาลเลื่อนการไต่สวน นายสมชาย อดีตนายกฯ ได้เลี่ยงมวลชนเดินทางกลับทันที
ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ปฏิเสธตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีมีกระแสข่าว ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อกฎหมายจะถอนฟ้องคดี ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ยิ้มพร้อมกล่าวเพียงสั้นๆ เป็นภาษาอีสานว่า “ บ่ฮู้ บ่เห็น บ่หัน ”
4 พ.ค. เจอร์รี่ บราวน์ ผู้ว่าราชการแคลิฟอร์เนีย (Governor Jerry Brown) ได้ลงนามอนุมัติร่างกฎหมายที่จะเพิ่มอายุผู้สูบบุหรี่ในรัฐแคลิฟอร์เนียจากเดิม 18ปี เป็น 21ปี และจำกัดการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในสถานที่สาธารณะ และขยายบริเวณปลอดบุหรี่ในพื้นที่โรงเรียนของรัฐ
อย่างไรก็ตามบราวน์คัดค้านร่างกฎหมายที่จะอนุญาต ให้มณฑลสามารถขออนุมัติในการที่จะใช้ภาษียาสูบเพื่อใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากยาสูบ
ร่างกฎหมายได้รับการขนานนามว่าเป็นความพยายามที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในรัฐแคลิฟอร์เนียใน กว่าทศวรรษที่ผ่านมาร่างกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในกลุ่มทางการแพทย์รวมทั้ง สมาคมหัวใจอเมริกัน สมาคมปอดอเมริกัน สมาคมโรคมะเร็งอเมริกัน และสมาคมการแพทย์แคลิฟอร์เนีย
วุฒิสภาชิกเอ็ด เฮอร์นานเดซ (Senator Ed Hernandez) ได้ร่างกฎหมายนี้ขึ้นในความพยายามที่จะลดจำนวนของคนหนุ่มสาวที่เริ่มสูบบุหรี่ แต่หลังจากที่ฝ่ายนิติบัญญัติบางคนคัดค้านว่าคนอายุ 18 ปี สามารถเข้าร่วมทหารได้แต่จะถูกห้ามจากการสูบบุหรี่หรือ ร่างกฎหมายจึงถูกเปลี่ยนที่จะยกเว้นคนรับราชการทหาร
ภายใต้ของกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการแคลิฟอร์เนีย จะถือบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบและไม่สามารถนำไปใช้ในร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ บาร์และสถานที่อื่น ๆ ที่มีการห้ามสูบบุหรี่
ลายเซ็นของบราวน์ทำให้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่สองในสหรัฐที่เพิ่มอายุผู้สูบยาสูบเป็น 21 ปี รองมาจากฮาวาย