ข่าว
'ยิ่งลักษณ์'ขอคนไทย รักษาประชาธิปไตย

"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เผย รัฐบาลได้รับผิดชอบในแง่ของการทำงานแล้ว ถามกลับนายกฯ คนกลางเข้ามาทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญกฎข้อไหน ชี้เข้ามาได้เท่ากับฉีกรัฐธรรมนูญ...

วันที่ 7 ก.พ. 57 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatra ความว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ยุบสภาแล้ว เพราะในแง่ของการทำงานนั้น รัฐบาลได้แสดงความรับผิดชอบ โดยให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น หลังจากที่มีการยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องปฏิบัติ ที่ว่าจะหานายกฯ คนกลาง ก็ต้องถามว่านายกฯ คนกลางเข้ามาทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จะมีกฎข้อไหนในการทำ

อีกทั้งภายใต้การทำงานด้วย พ.ร.บ.ยุบสภานี้ก็ไม่มีอำนาจ ต่างจากที่ตนเข้ามาทำอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง แต่ว่าถ้าจะเข้ามามีอำนาจมากกว่านี้ ก็คงเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง วันนี้เราก็คงต้องช่วยกันรักษาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่นอกเหนือจากหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คือ การรักษาประชาธิปไตยที่ต้องช่วยกันประคับประคองให้ผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้ โดยเฉพาะการรักษากลไกให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นเดินไปได้.

'ปู' ฉีกรัฐธรรมนูญ หา'นายกฯคนกลาง'

'ยิ่งลักษณ์'ชี้ต้องฉีก'รธน.' หากหวัง'นายกฯคนกลาง' วอนทุกฝ่ายอย่านำปมจ่ายเงิน'จำนำข้าว'โยงการเมือง ทำชาวนาเดือดร้อน-กระบวนการทำงานช้า

เมื่อเวลา 15.20 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางปฏิบัติหน้าที่ ว่า คงต้องพูดคำเดิมว่า ความจริงแล้ว ขณะนี้รัฐบาลได้ยุบสภาแล้ว เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบในส่วนของรัฐบาล ซึ่งหลังจากการยุบสภาแล้วนั้น ถือว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุให้หานายกฯ คนกลางนั้น ก็ต้องถามกลับว่า แล้วนายกฯคนกลางที่จะมาทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีกฎ กติกา ข้อไหนในการทำงานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีการยุบสภาแล้ว เพราะไม่มีอำนาจที่จะต่างไปจากตนเองที่ทำงานอยู่ ณ วันนี้ นั่นหมายถึงการบริหารงานที่อยู่ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาและการเลือกตั้ง

"ถ้าจะให้เข้ามาทำงาน โดยมีอำนาจมากกว่านี้ นั่นก็คือ การฉีกรัฐธรรมนูญนั่นเอง วันนี้เราทุกคนต้องช่วยกันรักษาประชาธิปไตย ถือเป็นสิ่งสำคัญหลัก นอกเหนือจากหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยและสามารถผ่านวิกฤติต่าง ๆ โดยเฉพาะรักษากลไกให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถเดินต่อไปได้" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ากลุ่มที่ต้องการฉีกรัฐธรรมนูญจะทำสำเร็จหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ก็ต้องขึ้นอยู่กับทุกคน ถ้าทุกคนร่วมกันบอกว่า สิ่งที่เสนอมานั้นไม่ใช่ทางออกของประเทศ วันนี้ประเทศไทยต้องการความเป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการฉีกรัฐธรรมนูญก็ต้องช่วยกันแก้ไข ถือเป็นสิ่งสำคัญ ตนเองไม่อยู่ในภาวะที่จะบอกได้ ต้องให้คนส่วนใหญ่ร่วมกันบอกว่า เราต้องร่วมกันรักษาประชาธิปไตย อย่างน้อยเรื่องการเลือกตั้ง การที่มาถกเถียงกันว่าใครได้เสียงมากหรือน้อยไม่ใช่สิ่งที่เป็นการบ่งบอก แต่สิ่งที่บอกคือ อย่างน้อยคน 20 ล้านคนต้องการที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยและต้องการให้ประเทศเดินต่อไป

วอนทุกฝ่ายอย่านำปมจ่ายเงิน"จำนำข้าว"โยงการเมือง ทำชาวนาเดือดร้อน-กระบวนการทำงานช้า

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการดำเนินการช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่รัฐบาลจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวล่าช้าว่า ขอชี้แจงว่าในส่วนของชาวนาที่มีใบประทวนก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าเป็นรัฐบาลชุดไหนก็ต้องมีหน้าที่ชำระและจ่ายเงินให้กับชาวนาอยู่แล้ว แต่เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ มีข้อจำกัดหลายอย่าง หลายกระบวนการ ต้องยอมรับว่า รัฐบาลทำงานยากลำบากจริงๆ เรื่องนี้ต้องขอความเห็นใจ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะละทิ้งประชาชน ไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่จะทิ้งความเดือดร้อนและละทิ้งประชาชน โดยไม่สนใจเหลียวแล แต่หลายอย่างต้องยอมรับว่า มีข้อจำกัดจริง ๆ ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามจึงอยากขอความเห็นใจจากประชาชน ยืนยันว่าได้เน้นย้ำให้กระทรวงต่างๆ เร่งทำงาน โดยสั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด ทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็หวังว่าจะสามารถเร่งหาทางออกให้กับประชาชนได้

"ขอความเห็นใจจากชาวนาทุกคน ไม่ว่าจะอย่างไร รัฐบาลจะพยายามหาทุกวิถีทางในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า แต่ขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามได้หยิบเอาความล่าช้าในการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวไปเป็นประเด็นการเมืองจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า ใช่ ตนเองไม่อยากให้นำเอาประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง จะทำให้กระบวนการแก้ปัญหารวนกันไปหมด เพราะถ้ามองเป็นประเด็นทางการเมืองก็จะมองไปต่างๆ นานา กลไกในการแก้ปัญหาก็จะเกิดความกังวล เพราะทุกกระบวนการในการแก้ปัญหาไม่ใช่ว่าจะต้องทำเพียงคนเดียว ต้องมีการขอความร่วมมือ ถ้าติดประเด็นการเมืองก็จะทำให้เกิดความยากลำบาก สุดท้ายชาวนาก็จะได้รับความเดือดร้อนแทนที่จะได้รับเงินเร็วก็จะเกิดความล่าช้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า รัฐบาลจ่ายเงินชาวนาล่าช้ามากว่า 6 เดือนแล้ว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงไปแล้วบางส่วนอาจจะมีรายละเอียดของกฎ กติกา กระทรวงพาณิชย์ก็กำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว และมีจำนวนไม่มากก็จะเร่งดำเนินการโดยเร็ว

เมื่อถามว่า ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รอการชี้แจงจากนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวมีความกังวลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขออนุญาตยังไม่ตอบในเรื่องนี้ เพราะยังมีขั้นตอนและระยะเวลาในการทำงาน

ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนว่า รัฐบาลจะสามารถจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวให้ชาวนาได้เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องขอให้หน่วยงานที่กำลังดำเนินการได้ทำหน้าที่ก่อน เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะมีการจ่ายที่แตกต่างกัน ผู้ที่เข้ามาก่อนก็จะได้รับเงินเร็ว

"เมื่อมีใบประทวนและข้าวก็อยู่ในคลังของรัฐแล้ว ทุกรัฐบาลก็ต้องมาจ่าย เหมือนเช่นรัฐบาลชุดนี้ เมื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ นโยบาย สัญญาต่างๆ หรืองานของรัฐบาลชุดก่อนที่มีต่อประชาชนก็เป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องจ่ายไม่ว่าจะอย่างไร ประชาชนก็ต้องได้รับเงินอย่างแน่นอน" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า หมายความว่าถ้ายังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงานก็ไม่สามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ขณะนี้ มีกลไกและขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานกันอยู่ ซึ่งอาจจะไม่คล่องตัวเหมือนเมื่อครั้งเป็นรัฐบาลก่อนการยุบสภา เพราะขณะนั้นสามารถปฏิบัติงานได้ ยืนยันว่า ทุกฝ่ายได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้วจริงๆ จึงอยากขอความกรุณา เพราะการดูแลชาวนามีขั้นตอนในการทำงาน อย่ามองเป็นประเด็นการเมือง อย่าใช้ประเด็นการเมืองมาทำให้ชาวนาเดือดร้อนและทำให้กระบวนการในการทำงานช้าลง


กกต.จัดเลือกตั้งใหม่หน่วยที่มีปัญหา กำหนด 7 จังหวัด 671 หน่วยก่อน

กกต.ถกเครียด 6 ชม. มติเอกฉันท์จัดเลือกตั้งใหม่หน่วยที่มีปัญหา เบื้องต้นกำหนด 7 จว. 671 หน่วยก่อน จ่อทำหนังสือชงรัฐออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตไร้ผู้สมัคร ย้ำให้ความสำคัญ 2 ล้านคนที่ลงทะเบียน

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ศูนย์รังสิต นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุมกกต. ว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเอกฉันท์ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ต้องประกาศงดการลงคะแนนไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยมีหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 10,284 หน่วยใน 18จังหวัด ที่ไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้เพราะมีการขัดขวางการจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ไม่สามารถหาได้ครบและขาดอุปกรณ์จัดการเลือกตั้ง ทำให้หน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ซึ่งกรณีนี้ กกต.จะดำเนินการตามมาตรา 78 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. สั่งให้มีการลงคะแนนใหม่ ซึ่งขณะนี้มี 7 จังหวัด 671 หน่วยซึ่งอยู่ในข่ายที่มีความพร้อม คือ จ.ระยอง 27หน่วย จ. ยะลา 46 หน่วย จ. ปัตตานี 1 หน่วย จ.นราธิวาส 1 หน่วย จ.เพชรบุรี 74 หน่วย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 222 หน่วย และจ. สตูล 300หน่วย

นายสมชัย กล่าวว่า ทั้ง 7 จังหวัด กกต.ได้ดูสถานการณ์แล้วคิดว่าน่าจะสงบเรียบร้อยเป็นเหตุให้จัดการลงคะแนนใหม่ได้ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ นี้ กกต.จะเชิญประธาน กกต.จังหวัด และ กกต.จว. 7 จังหวัดมาประชุมปรึกษาหารือกัน รวมทั้งเชิญประธาน กกต.จังหวัด และกกต.จว.จังหวัดอื่นในภาคใต้มาประชุมร่วมกัน หากประเมินแล้วจังหวัดต่าง ๆ พร้อมจัดการเลือกตั้ง กกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว โดยจังหวัดใดจัดได้ก็จะจัดพร้อมกัน

“กรณี 5 จังหวัดแรกมั่นใจสูงว่าจะจัดการลงคะแนนใหม่ได้ ส่วนอีก 2 จังหวัดหลังคือ จ. ประจวบคีรีขันธ์ และจ.สตูล ยังก้ำกึ่ง เนื่องจากมีหน่วยเลือกตั้งมาก อาจมีปัญหารุนแรงเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามจะให้ กกต.จังหวัดประเมินอีกครั้งในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งอาจจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่า 7 จังหวัดก็ได้ ”นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่เสียไปจำนวน 83 เขต นั้น กกต.มีมติให้จัดการลงคะแนนใหม่ แต่จะต้องปรึกษาหารือเจ้าของพื้นที่ คือ ประธาน กกต.จังหวัดและ กกต.จังหวัด ในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาโดยจะเชิญมาพูดคุยในช่วงบ่ายวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ว่าพื้นที่เลือกตั้งกลางจังหวัดใดมีความพร้อมในการลงคะแนนก็จะจัดโดยเร็วต่อไป

“มีการถกเถียงกันมากว่าถ้าหากจัดการลงคะแนนหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะเป็นประเด็นคนทักท้วงว่ามาจัดภายหลังไม่ใช่การเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรต่าง ๆ ที่ต้องส่งมาถึงเขตที่ทำการนับคะแนนก่อนเวลา 15.00 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์นั้น กกต.เห็นว่า ประเด็นสิทธิของประชาชนจำนวน 2 ล้านคนที่ลงทะเบียนสำคัญกว่าเพราะเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่กระบวนการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ต้องส่งมาถึงเขตเป็นระดับกฎหมาย และระเบียบซึ่งต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ กกต.ไม่ต้องการให้ 2ล้านเสียงหายไปเราจึงรักษาเจตนารมณ์ของกฎหมายใหญ่คือรัฐธรรมนูญไว้ ส่วนจะขัดกับระเบียบ หรือไปผิดกฎหมายย่อยบางอย่างเป็นประเด็นที่ชี้แจงได้ “นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครส.ส.นั้น กกต.เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกพระราชกฤษฎีกา ( พ.ร.ฎ.)กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะ กกต.ไม่มีอำนาจออกประกาศ กกต. ดังนั้น กกต.จะทำจดหมายแจ้งเจตนารมณ์ไปถึงรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร และประเด็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคมและวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ กรณีใช้สิทธิไปแล้ว แต่หลังจากนั้นหน่วยเลือกตั้งได้ประกาศปิดหรืองดลงคะแนน มีคำถามว่าคะแนนดังกล่าว กกต.จะนำมานับหรือไม่ กกต.มีมติให้นำคะแนนดังกล่าวมานับรวมกับการลงคะแนนที่จะจัดขึ้นใหม่ ดังนั้นผู้ใช้สิทธิไปแล้วไม่ต้องมาเลือกตั้งใหม่อีก

เมื่อถามว่า ทางฝ่ายรัฐบาล ระบุว่า ไม่สามารถออก พ.ร.ฎ.ได้อีกเพราะ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งยังมีผลบังคับใช้อยู่ นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้คนที่ให้สัมภาษณ์ไม่รู้ว่าเป็นใครในรัฐบาล เป็นเพียงความคิดเห็นของบางคนเท่านั้น ดังนั้น กกต.จะทำจดหมายเป็นทางการถามไป ส่วนที่มองว่าหากเห็นแย้งจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น นายสมชัย กล่าวว่า ถ้า นายสมชัย กล่าวต่อว่า ภายหลังวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ หากกกต.ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องแล้ว กกต.จะพิจารณาว่าควรจะกำหนดวันลงคะแนนทดแทนการเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคมและวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นวันใด สำหรับบัตรเลือกตั้งนั้นต้องจัดพิมพ์ใหม่ สีใหม่ สำหรับโรงพิมพ์ที่จะจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งขอเป็นความลับ

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สำหรับหนังสือที่ กกต.จะส่งไปถึงรัฐบาลว่า ใน 28 เขตเลือกตั้งนั้นต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง คาดว่าจะมีการนำเสนอให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมของกกต.เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้นั้น ทางกกต.ได้ใช้เวลาในการหารือร่วมกันคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายและฝ่ายสำนักกฎหมายและคดีของสำนักงานฯนานกว่า 6 ชั่วโมง

‘ชูวิทย์’ บัญชีธรรมศาสตร์ สอน ‘มาร์ค ออกซฟอร์ด’

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กล่าสุดว่า

ไม่มีครั้งไหนใช้สิทธิ์ 100%

ผมได้ฟังคุณอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ Jonathan Head สำนักข่าว BBC แกตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า "ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 50% แสดงให้เห็นว่าประชาชนคิดอย่างไร"

ผมเข้าใจว่าคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพเป็นนักการเมืองผู้เชี่ยวชาญ แต่สงสัยทั้งสองคนคงตกวิชาคณิตศาสตร์ ผมจบบัญชีธรรมศาสตร์ ยุ่งเกี่ยวกับตัวเลข คณิตศาสตร์ของผมเก่งกว่าทั้งสองท่านมากอยู่ ขออธิบายให้ฟังดังนี้

1. คุณอภิสิทธิ์บอกว่าผู้มาใช้สิทธิ์ 47.72% แสดงว่ามาใช้สิทธิ์ "ไม่ถึงครึ่ง" ของผู้มีสิทธิ์ ทั้งหมด ตรงนี้คุณอภิสิทธิ์ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า "ไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหน ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ 100% เต็ม" การเลือกตั้งเมื่อปี 54 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 74.85% แสดงว่าอีก 25.15% ที่ไม่ได้มา เป็นผู้ที่ไม่มีความปรารถนาทางการเมือง หรือไม่สนใจการเลือกตั้งอยู่แล้ว

ดังนั้น คุณอภิสิทธิ์จะไปยึดว่า 47.72% หมายความว่ามีประชาชนมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งของ 100% ไม่ได้ เพราะไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 100% เต็มอยู่แล้ว

2. การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้คัดค้านขัดขวาง กระทำการทุกอย่างที่ละเมิด ลิดรอนผู้มาใช้สิทธิ์ ทั้งมีเหตุการณ์รุนแรง ดังนั้น คนไม่มาใช้สิทธิ์ เพราะไม่กล้าเสี่ยงออกมา อีกทั้งมีข่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะ จึงนอนอยู่บ้านเฉยๆดีกว่า

3. หากยึดเอาเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 54 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 74.85% ครึ่งหนึ่งคือ 37.43%

ครั้งนี้มา 47.72% ถือว่าเกินครึ่งของครั้งที่แล้วเสียด้วยซ้ำ ในสถานการณ์แบบนี้ถือว่ามากแล้วครับ

มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถิติ (Statistic) คุณอภิสิทธิ์คงไม่รู้เรื่องมากนัก ตอนเรียนหนังสือผมสอบวิชาสถิติได้ A ตลอด

คุณอภิสิทธิ์ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า ตัวแกกับคุณสุเทพมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลให้คุณสุเทพลาออกจากพรรคมาต่อสู้ก่อม็อบปิดถนน

แต่ผมว่า คุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ โดดลงไปในเรือลำเดียวกันแถมช่วยกันพายอีกต่างหาก เพราะทั้งสองปฏิเสธกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยใช้ข้ออ้างเรื่อง "ปฏิรูป" มาบังหน้า บอกว่า "ใครลงเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นผู้ต่ออายุให้ระบอบทักษิณ"

คุณอภิสิทธิ์ไม่ดีใจหรือครับ ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 20.53 ล้านคน? ไปกล่าวหาเขาว่า ทั้งหมดเป็นผู้สนับสนุนระบอบทักษิณได้อย่างไร? ส่วนพวกโหวตโนและโนโหวต จะมาเหมาเอาเป็นคะแนนของตัวเองไม่ได้ เพราะเขาอุตส่าห์ฟันฝ่ามาเลือกตั้ง เพื่อรักษากติกาประชาธิปไตยไว้ พวกเขาอาจต่อต้านระบอบทักษิณ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะชอบระบอบอภิสิทธิ์หรือสุเทพ

เรื่องแบบนี้ฝรั่งเขาไม่เข้าใจหรอกครับ ว่าทำไมคุณอภิสิทธิ์ถึงได้พูดจาเอาแต่ได้ แล้วยังโมโหโกรธาขนาดจะไปฟ้องผู้สื่อข่าวต่างประเทศอีก

เพราะแม้แต่ เลขาธิการสหประชาชาติ นายบันคีมูน ยังบอกว่า "Any action that undermines democratic processes and hinder the democratic right of the Thai people cannot be condoned.”

ผมแปลเป็นภาษาไทยแบบชาวบ้านง่ายๆว่า "การกระทำใดๆที่เป็นการขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของคนไทย ไม่สามารถให้อภัยได้"

คุณอภิสิทธิ์จบอ็อกซ์ฟอร์ด เก่งภาษาอังกฤษกว่าผม เรื่องนี้ผมยอมแพ้ครับ เพราะผมไม่รู้จะแปลเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร?