เมื่อเวลา 20.30 น.วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 นายสุทธิชัย หยุ่น ไลฟ์สดต่อสายตรงไปกรุงโตเกียวเพื่อสัมภาษณ์นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยพบว่า บนเรือสำราญ Diamond Princess ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่เมืองโยโกฮามา มีคนไทยอยู่ด้วย 25 คน และพบว่าในจำนวนนี้ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 คน
สำหรับรายละเอียดการติดเชื้อนั้น นายสิงห์ทอง ให้ข้อมูลว่า ในจำนวนคนไทยทั่้ง 25 คนนั้น เป็นผู้โดยสาร 2 คน และลูกเรือ 23 คน โดยพบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน คือเป็นผู้โดยสาร 1 คน และลูกเรือ 2 คน ทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวแล้ว ทั้งนี้ในส่วนของผู้โดยสาร 1 คนนั้น ครบเวลากักตัวดูอาการ 14 วันแล้ว จึงได้ออกจากเรือไปแล้ว ซึ่งทางสถานทูตได้จัดรถไปรับคนไทยคนนี้แล้ว ส่วนลูกเรือคนไทยอีก 21 คน ยังไม่สามารถออกจากเรือได้เพราะลูกเรือจะต้องเป็นกลุ่มที่ออกจากเรือเป็นกลุ่มสุดท้าย และมีการตรวจอย่างเข้มข้นกว่าทุกส่วน
เมื่อเวลา 08.20 น.วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านขอเวลาในการอภิปราย 50 กว่าชั่วโมง ว่า ตกลงในหลักการไว้ในวันที่ 24 -27 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเดิมจะจบวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ฝ่ายรัฐบาลขอเลื่อนไปเริ่มในช่วงบ่าย ฝ่ายค้านจึงขอขยายเวลาออกไปวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ครึ่งวัน แต่ยังไม่แน่อาจจะมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้นก็อยู่ที่จำนวนผู้อภิปรายและอยู่ที่การอภิปรายว่าใช้เวลาเท่าไร ซึ่งยังไม่ได้ตกลงกันว่าเขาจะใช้วิธีคิดเวลาหรือจำนวนคน
ส่วนการการอภิปรายรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะอภิปรายรวมทั้งหมดหรือจะอภิปรายที่ละคน ทั้งนี้ก่อนวันอภิปรายก็จะต้องให้ทั้ง2 ฝ่ายหารือกันเมื่อได้ข้อยุติอย่างไรก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น
เมื่อถามว่าในกรณี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ หากพรรคถูกยุบ ส.ส.มีสิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เรื่องคำวินิจฉัยเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณี ส.ส.ไม่สังกัดพรรค โดยหลักการสามารถอภิปรายได้ ในสภาฯใครอภิปรายก็ได้ และไม่ได้มีอะไรห้าม เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล
20 กุมภาพันธ์ 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ผู้บัญชาการทหารบก ( ผบ.ทบ. )มีคำสั่งให้ทหารเกษียณทุกคน ออกจากบ้านหลวงหรือพื้นที่หลวงในส่วนของกองทัพบก ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่กลับเลือกปฏิบัติโดยมีการยกเว้นให้นายทหารที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจหรือมีรายได้สูงกว่าทหารเกษียณรายอื่นๆ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้นั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกวา ล่าสุด รอง ผบ.ทบ.ออกมาแถลงว่ายังมีนายพล-พันเอกพิเศษ ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูง ยังไม่คืนบ้านพักอีกเกือบ 100 คน ซึ่งเชื่อว่าหากรวมทหารเกษียณทั้งกระทรวงกลาโหมทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองทัพไทยแล้วจะมีมากกว่านี้หลายเท่า ทั้ง ๆ ที่เกษียณอายุการรับราชการไปแล้ว แต่กลับยังรับสวัสดิการต่างๆ มีกำลังพลรับใช้ มียานพาหนะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟรี ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทซึ่งขัดต่อ พรป.ป.ป.ช.2561 ม.128 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ 2543 ที่บัญญัติห้ามไว้ และถึงแม้จะคืนบ้านพักในเดือน ก.พ.หรือ มี.ค.นี้แล้วก็ยังถือว่ามีความผิด เพราะ”ความผิดสำเร็จแล้ว”
ทั้งนี้ แม้จะอ้างว่ามีระเบียบว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารสวัสดิการกองบัญชาการกองทัพไทย พ.ศ.2556 ระเบียบสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2555 หรือระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ.2553 ฯลฯ รองรับอยู่สามารถทำได้นั้น เห็นว่าระเบียบดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ามิได้ โดยเฉพาะนายพลทั้งหลายที่มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ 2560 ม.184(3) ประกอบ ม.186 กำหนดข้อห้ามในเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์อยู่ด้วย
“ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวนและวินิจฉัยนายพลที่เกษียณอายุไปแล้ว อาทิ พี่น้อง 3 ป. และนายพลต่างๆ ที่เป็นนักการเมืองอยู่ในขณะนี้ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ว่ามีพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ป.ป.ช.ข้างต้นหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.63 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี” นายศรีสุวรรณ กล่าว
17 ก.พ.63 นายแอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ กล่าวว่า การถอนเชฟโรเลตออกจากตลาดรถยนต์ประเทศไทยนั้นเป็นการตัดสินใจของจีเอ็ม หลังจากที่มีการขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ใน จ.ระยองให้แก่ เกรท วอล มอเตอร์ส
เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ส่งจดหมายแจ้งสื่อมวลชนไทยวันนี้ ว่า จะยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลต (Chevrolet) ในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563
การถอน Chevrolet ออกจากตลาดรถยนต์ประเทศไทยนั้นเป็นการตัดสินใจของ GM หลังจากที่มีการขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยอง ให้แก่ เกรท วอล มอเตอร์ส ซึ่งสองบริษัทคาดว่า การซื้อขายและส่งมอบศูนย์การผลิตทั้งสองจะเสร็จสิ้นในปลายปี 2563
"GM ได้ประเมินทางเลือกหลายทางในการรักษา Chevrolet ไว้ในตลาดประเทศไทย แต่ความเป็นจริงก็คือ หากไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว เชฟโรเลตก็ไม่อาจที่จะแข่งขันในตลาดรถยนต์ประเทศไทยได้เลย" แอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย GM International Operations กล่าว
ด้านนายเฮกตอร์ บีจาเรียล ประธานกรรมการ จีเอ็ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัทให้คำมั่นสัญญาที่จะดูแลช่วยเหลือพนักงานและลูกค้า และจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานต่างๆ สำหรับลูกค้า พนักงาน ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตและผู้จัดหาวัตถุดิบหรือบริการให้สำเร็จเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย
"เราจะให้ความช่วยเหลือและมอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตจะได้รับการเสนอโปรแกรมการช่วยเหลือพิเศษในการปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างเหมาะสมหลังจากที่ร่วมเป็นคู่ค้ากับเรามาอย่างยาวนาน รวมถึงโอกาสในการเปลี่ยนธุรกิจของตนให้เป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลต
เราให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลและให้บริการลูกค้าของเราต่อไป ท่านเจ้าของรถยนต์เชฟโรเลตมั่นใจได้ว่าเราจะยังคงปฏิบัติตามการรับประกันคุณภาพรถยนต์ทุกคันและให้บริการหลังการขายผ่านเครือข่ายของเราในประเทศไทย เชฟโรเลตจะร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายของเราอย่างใกล้ชิด โดยเราจะเสนอโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้แก่ผู้จัดจำหน่าย ให้เปลี่ยนเป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลต"
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มสายการผลิตในปี 2543 ศูนย์การผลิตจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยองได้ผลิตรถกระบะและรถอเนกประสงค์กว่า 1.4 ล้านคัน สำหรับตลาดประเทศไทยและตลาดส่งออก ในฐานะศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคสำหรับรถกระบะขนาดกลาง รถอเนกประสงค์ และเครื่องยนต์ดีเซล
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 จากกรณีที่ เชฟโรเลต ประเทศไทย ได้มีการประกาศปิดโรงงานในไทยในปี 2563 นี้ นอกจากจะส่งผลกระทบไปยังพนักงานของเชฟฯ และดีลเลอร์ผู้แทนขายแล้ว ยังได้ส่งผลกระทบต่อเต้นรถมือสองในจังหวัดกระบี่เป็นอย่างมาก โดยนายธีระศักดิ์ สุดดวง ผู้จัดการเด่นยนตรการ ซึ่งจำหน่ายและจัดซื้อรถมือสองรายใหญ่ในจังหวัดกระบี่ เผยว่า หลังจากที่เชฟได้มีการประกาศปิดตัวนั้น ก็ได้มีการสอบถามไปยังไฟแนนซ์ต่าง ๆ ปรากฏว่าทุกไฟล์แนนซ์ไม่รับจัดสินเชื่อรถทุกรุ่นของเชฟฯแล้ว โดยให้เหตุผลว่าทางบริษัทใหญ่สั่งการมา
นายธีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเต้นรถของตนมีอยู่ 3 คัน รวมยอดที่ซื้อมาล้านกว่าบาท ก็ยอมรับสภาพว่าขาดทุนก็จำเป็นที่จะต้องลดราคาลงและขายเงินสดเท่านั้น แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีผู้มาซื้อหรือไม่ ส่วนรถรุ่นต่าง ๆ ของเชฟฯนั้น หากมีผู้เข้ามาขายก็ไม่สามารถรับซื้อได้ ต้องหยุดซื้อเช่นกัน เพราะซื้อมาแล้วก็ไม่รู้จะขายใคร เนื่องจากไม่มีไฟแนนซ์รับจัดสินเชื่อให้ผู้ซื้อ สิ่งที่จะกระทบหลังจากนี้ก็คงจะเป็นผู้ที่ใช้รถอยู่ หากจะขายก็ขายไม่ได้ และนานไปก็คืออะไหล่ที่จะกระทบขึ้นราคาแน่นอน เพราะหยุดการผลิตหาของยาก
เรื่องราวความรักของสามีที่ดูแลภรรยาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) มานานกว่า 14 ปีแล้ว ทั้งคู่อยู่เคียงกันมาตั้งแต่ภรรยายังแข็งแรงดี จนเมื่อถึงวันที่โรคร้ายแทรกแซงเข้ามาในชีวิตแสนสุข ชายผู้นี้ก็ไม่ห่างไปไหน ยังคงคอยป้อนน้ำป้อนอาหาร พาหญิงผู้เป็นที่รักแบกขึ้นบ่า ขึ้นรถเข็นไปไหนต่อไหนเสมอ
14 ปีก่อน ฝานหนานซิง เกษตรกรในหมู่บ้านเจี้ยหยวน ตำบลต้าเฉียว อำเภอซิวสุ่ย มณฑลเจียงซี ได้รู้เป็นครั้งแรกว่าภรรยาของเขาป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหาย “ตอนที่รู้ว่าเธอป่วยเป็นโรคนี้ ตอนนั้นปี 2005 เพื่อจะช่วยรักษาโรคร้ายของเธอ ผมจึงไปหางานขับรถทำในเมือง แล้วให้เธอมานั่งข้างคนขับ เพื่อจะได้ดูแลเธอทั้งวัน”
ตอนที่เธอป่วย ลูกสาวคนโตของฝานหนานซิงอายุ 5 ขวบ ส่วนลูกสาวคนเล็กอายุ 1 ขวบ ภาระหน้าที่ทั้งการทำงาน การไปโรงพยาบาล การดูแลภรรยา จึงตกอยู่บนบ่าอันหนักอึ้งของฝานหนานซิง
“มีหลายคนบอกกับผมเหมือนกันว่า คนส่วนใหญ่รับภาระหนักขนาดนี้ไม่ไหวหรอก ชีวิตพังแน่ แต่ผมยอมให้มันพังไม่ได้ บ้านนี้ต้องพึ่งผม” เขากล่าว “ผมต้องมองโลกในแง่ดี ต้องทำให้เธอรู้สึกว่าชีวิตยังมีความหวังให้ได้”
หลายปีมานี้ ค่ารักษาพยาบาลของภรรยาสูงถึง 3 แสนกว่าหยวน (ราว 1.31 ล้านบาท) ทำให้ครอบครัวนี้มีสถานะผันเปลี่ยนไปเป็นยาจก เพื่อให้ภรรยาไม่ทอดทิ้งความหวังในชีวิต ทุกวันฝานหนานซิงจะพาเธอนั่งรถเข็นไปยังทุ่งนา ให้เขาได้เห็นเธอระหว่างทำงานเผื่อเกิดอะไรจะได้ช่วยเหลือเธอทัน และให้เธอได้เห็นเขาเหมือนช่วยควบคุมการทำงานของเขาด้วย “เพราะว่าเราตกลงกันแล้ว ว่าปีนี้เราจะหลุดพ้นจากความยากไร้ให้ได้” ฝานกล่าว
ฝานทำข้อตกลงยืมที่ดิน 22 หมู่ (ราว 9 ไร่) กับชาวบ้าน 18 ครัวเรือน โดยปีนี้เขาได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดปลูกต้นหม่อน หรือ มัลเบอร์รี “หลังจากครอบครัวผมมีสถานะยากจน ก็มีกลุ่มคนที่หยิบยื่นความช่วยเหลือและมอบความเมตตามาให้ แต่ผมก็รู้ว่าชีวิตคนเราต้องพึ่งพาตัวเอง ภรรยาไม่สบายก็เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องดูแล นำพาครอบครัวหลุดพ้นจากทุกข์ยากก็เป็นความรับผิดชอบของผม จะสลัดความจนได้ต้องใช้ทั้งสองมือ จิตใจต้องแกร่งกล้า ความจนไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น”
“ตอนนี้ผมมีแปลงปลูกหม่อนถึง 20 หมู่แล้ว ทั้งยังเลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะด้วย ถ้าเพาะปลูกแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ปีนี้ต้องเลิกจนได้แน่นอน” ฝานกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
19 ก.พ.63 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เผยว่า ผู้โดยสารราว 500 คน บนเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส ซึ่งถูกกักกันโรคอยู่ที่ท่าเรือโยโกฮามา ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งได้แล้วในวันนี้ หลังครบกำหนดกักกันโรคเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผู้โดยสารเหล่านี้ได้รับการตรวจคัดกรองแล้ว และได้ผลเป็นลบ รวมทั้งไม่แสดงอาการป่วยใดๆ
ขณะที่การตรวจคัดกรองตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 542 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนที่มากที่สุด คาดว่าการปล่อยตัวผู้โดยสารขึ้นฝั่งจะเสร็จสิ้นลงในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีผลตรวจเป็นลบ แต่ใช้ห้องพักในเรือร่วมกับผู้ติดเชื้อ จะต้องถูกกักบนเรือ 14 วัน หลังแยกจากผู้ติดเชื้อ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สรุปผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ "โควิด-19" ของผู้โดยสาร 2,666 คน และเจ้าหน้าที่บนเรือ 1,045 คน หลังผู้โดยสารชายชาวฮ่องกงอายุ 80 ปี ซึ่งลงจากเรือไปก่อนที่ฮ่องกง เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 542 คน และได้มีการนำตัวผู้ป่วยทั้งหมดไปเข้ารบการรักษาตัวตามโรงพยาบาลหลายแห่งในญี่ปุ่น
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012