มหาวิทยาลัยฮ่องกง รื้อ 'เสาแห่งความอัปยศ' ประติมากรรมรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินแล้ว หลังยืนหยัดมานานนับ 24 ปี
เมื่อ 23 ธ.ค. 64 รอยเตอร์ และบีบีซีรายงาน มหาวิทยาลัยฮ่องกงย้ายประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่ถูกเรียกว่า 'เสาแห่งความอัปยศ' (Pillar of Shame) รำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งแล้ว หลังจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้มีคำสั่งย้าย 'เสาแห่งความอัปยศ' เมื่อตุลาคม ที่ผ่านมา
แถลงการณ์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุเหตุผลในการตัดสินใจย้ายประติมากรรมชิ้นนี้ ว่า ตามคำแนะนำจากนักกฎหมายภายนอก และการประเมินความเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัย อีกทั้งมหาวิทยาลัยฮ่องกงก็มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความปลอดภัย เนื่องจากประติมากรรมนี้ มีความเปราะบาง
สำหรับประติมากรรม เสาแห่งความอัปยศ มีความสูงกว่า 8 เมตร หล่อด้วยทองแดงเป็นรูปใบหน้าและร่างกายที่ถูกทรมานของคน 50 คน โดยเป็นผลงานของนายเยนส์ เกลชุท ศิลปินชาวเดนมาร์ก เพื่อรำลึกถึงเหยื่อในเหตุนองเลือด การปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี 2532
บีบีซี รายงานว่า ความเคลื่อนไหวในการย้ายเสาแห่งความอัปยศ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อเย็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงได้ใช้แผ่นพลาสติกปิดล้อมบริเวณที่ตั้งประติมากรรม จากนั้น ในช่วงกลางคืน คนงานได้เข้ามารื้อเพื่อขนย้ายเสาแห่งความอัปยศออกไป ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ห้ามนักข่าวเข้ามาในบริเวณนี้เพื่อถ่ายรูป
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยฮ่องกงมีความภาคภูมิใจที่มหาวิทยาลัยเป็นเพียงแห่งเดียวในดินแดนของจีนที่ไม่ลืมเหตุนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเสาแห่งความอัปยศ ได้ยืนหยัดตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงมานานนับ 24 ปี ก่อนจะถูกรื้อออกไปในที่สุด
ทีมกู้ภัยพม่ากู้ร่างผู้เคราะห์ร้ายออกมาได้อีก 2 ศพ จากเหตุเหมืองหยกถล่ม ที่รัฐคะฉิ่น ขณะที่คาดว่าผู้สูญหายอีกราว 70 ศพ เสียชีวิตหมดแล้ว
23 ธ.ค. 64 ความคืบหน้าเหตุเหมืองหยกที่เมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น ในเมียนมาถล่ม เมื่อวันพุธที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ทีมกู้ภัยสามารถกู้ร่างชาวบ้านเคราะห์ร้ายออกมาได้เพิ่มอีก 2 ศพ ในวันนี้ (23 ธ.ค.) ที่บริเวณใกล้ทะเลสาบ หลังจากพบศพผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ 1 ศพ ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุเหมืองหยกถล่ม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3 ศพแล้ว
เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ คาดว่า ผู้สูญหายจากเหตุเหมืองหยกถล่ม อีกอย่างน้อย 70 รายเสียชีวิตแล้ว และขณะนี้ เจ้าหน้าที่พยายามยืนยันตัวเลขผู้สูญหายที่แน่นอน ขณะที่ทีมกู้ภัยพยายามเร่งค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้กองดินในเหมืองที่ถล่มลงมา แต่ต้องหยุดพักการค้นหา เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา มีฝนตกและหมอกลงจัด
ทั้งนี้ เหตุเหมืองหยกในเมียนมาถล่ม นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเหมืองที่ไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งเหตุสลดที่เกิดขึ้นที่เหมืองหยกถล่มในครั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านที่มาจากทั่วประเทศได้มาคุ้ยเขี่ยกองดินของเสียจากการทำเหมือง เพื่อหวังจะเจอเศษหยกที่อาจปะปนอยู่ในกองดิน แม้จะรู้ดีว่ามีความเสี่ยงที่กองดินจะถล่มลงมาก็ตาม
ที่มา : Channelnewsasia
สหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ พุ่งทะลุหลักแสนรายต่อวันเป็นครั้งแรก ขณะที่ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ มีถึง 6.4 แสนราย
รอยเตอร์รายงาน รัฐบาลสหราชอาณาจักร (UK) แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เมื่อวันพุธที่ 22 ธ.ค. ทะลุหลักแสนครั้งแรก อยู่ที่ 106,122 ราย เมื่อเทียบกับวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 90,629 ราย
ขณะที่ตามข้อมูลของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน (Omicron) ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิดในสหราชอาณาจักรพุ่งทะยาน รวมเป็น 643,219 ราย หรือเพิ่มขึ้น 59%
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษ ได้ประกาศลดจำนวนระยะเวลาในการกักกันตัวตามมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 จาก 10 วัน เหลือ 7 วัน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยังตัดสินใจที่จะไม่ออกมาตรการใหม่ๆ ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลในขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัดเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อโควิดโอมิครอน และอัตราผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่ทำให้ป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีจอหน์สันก็ไม่ตัดความเป็นไปได้ในการออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น หลังจากผ่านพ้นวันหยุดในช่วงเทศกาลคริสต์มาสไปแล้ว และสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 เลวร้ายลงกว่านี้
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามหุ้นเทคโนโลยี ท่ามกลางสัญญาณการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ของทางการจีน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค 64 หุ้นเอเชียแปซิฟิกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีนิคเคอิบวก 0.45 เปอร์เซ็นต์ ปรับขึ้น 128.55 จุด ไปอยู่ที่ 28,689.99 จุด ดัชนีฮั่งเส็งบวก 0.16 เปอร์เซ็นต์ ปรับขึ้น 37.95 จุด ไปอยู่ที่ 23,140.28 ก่อนพักเที่ยง ส่วนดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตบวก 0.13 เปอร์เซ็นต์ ปรับขึ้น 4.57 ไปอยู่ที่ 3,627.19 จุด เมื่อเวลา 11.50 น. ขณะที่หุ้นบริษัทเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่
ด้านสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า นอกจากหุ้นเทคโนโลยีของจีนที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง อีกปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ตลาดเอเชียซื้อขายในแดนบวก คือ สัญญาณการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้จีนได้ประกาศเตรียมอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดมาแล้ว ขณะที่สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า ในปีหน้าทางการจีนจะให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
23 ธันวาคม 2564 : ผลการวิจัยเบื้องต้น 2 ฉบับชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนักหรือเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธ์ุเดลต้า
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผลการวิจัยเบื้องต้นซึ่งยังไม่ผ่านการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญคนอื่น (peer-review) ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสหราชอาณาจักร ชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน มีความเสี่ยงทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยลงกว่า 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ทำการศึกษาข้อมูลผู้ติดเชื้อโอมิครอนในสกอตแลนด์จำนวน 23,840 ราย กับผู้ติดเชื้อเดลต้า 126,511 ราย ในช่วงวันที่ 1 พ.ย. ถึง 19 ธ.ค. พบว่า มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 15 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อเดลต้าเข้าโรงพยาบาลถึง 856 ราย
อย่างไรก็ตาม ศ.เจมส์ เนสมิธ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งไม่ได้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ เตือนว่า แม้โอกาสป่วยหนักจะลดลง 2 ใน 3 แต่โอมิครอนสามารถทำให้ผู้ฉีดวัคซีน 2 โดสป่วยหนักได้ ซึ่งถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกๆ 2-3 วันแบบนี้ จำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสจะมากกว่าเดลต้า
นักวิจัยยังพบด้วยว่า อัตราส่วนของผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว มีมากกว่าเดลต้าถึง 10 เท่า ขณะที่การรับวัคซีนเข็ม 3 ลดความเสี่ยงติดเชื้อโอมิครอนได้ 57% เมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้วอย่างน้อย 25 สัปดาห์
ส่วนงานวิจัยเบื้องต้นอีกฉบับ ซึ่งทำการศึกษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 161,328 รายในแอฟริกา ช่วงวันที่ 1 ต.ค. ถึง 6 ธ.ค. ชี้ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีโอกาสป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง 80% เมื่อเทียบกับการติดเชื้อเดลต้า แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้ว ความเสี่ยงป่วยหนักของเชื้อทั้งสองสายพันธ์ุแทบไม่ต่างกัน
ด้านผลการศึกษาผู้ติดเชื้อในอังกฤษระหว่างวันที่ 1-14 ธ.ค. ซึ่งเผยแพร่โดย ทีมตอบสนองโควิด-19 ของราชวิทยาลัยลอนดอน พบว่า ความเสี่ยงที่ผู้ติดโอมิครอนในอังกฤษจะเข้าโรงพยาบาล ลดลง 40% ถึง 45% เมื่อเทียบกับการติดเชื้อเดลต้า แต่การศึกษานี้ยังพบด้วยว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน 2 โดสและจากการติดเชื้อก่อนหน้านั้น มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับโอมิครอน
23 ธ.ค. 2564: – เดลีเมล รายงานว่า พนักงานร้านค้าจุดไฟเผาซูเปอร์สโตร์ “เลนตา” ที่ตัวเองทำงานในเมืองตอมส์ ประเทศรัสเซีย หลังถูกเจ้านายตำหนิที่ติดป้ายราคาบนสินค้าสับกัน
รายงานระบุว่า นายอเล็กซานเดอร์ ชไนเดอร์ อายุ 33 ปี กำลังเปลี่ยนป้ายราคาบนสินค้า แต่ถูกผู้จัดการตำหนิจนเจ้าตัวเบื่อ จึงราดแอลกอฮอล์ลงบนกล่องดอกไม้ไฟ จากนั้นจุดไฟ ก่อนออกไปจากซูเปอร์ สโตร์
ไลฟ์ ช็อต รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวตำรวจว่า นายชไนเดอร์ทำงานในการเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แต่สับกันตลอดเวลาและติดป้ายราคาสินค้าบางชิ้นผิด จึงถูกผู้จัดการตำหนิบ่อยๆ และสั่งทำใหม่ จนนายชไนเดอร์เบื่อและโกรธผู้จัดการ ความแค้นส่วนตัวกับผู้จัดการ
นายชไนเดอร์สารภาพกับตำรวจว่า “มีวิญญานสีขาวบนเคาน์เตอร์ ผมใช้สเปรย์ฉีดและจุดไฟเคาน์เตอร์ทั้งหมด ทันทีที่ไฟเผาผลาญ ผมเห็นรปภ.วิ่นขึ้นไปดับเพลิง มีเสียงกรีดร้อง ความตื่นตระหนก และผมแค่หันหลัง สวมโค้ต และเดินกลับบ้าน
ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดเผยขณะที่นายชไนเดอร์จุดไฟกับดอกไม้ไฟในซูเปอร์สโตร์ ซึ่งวางจำหน่ายสำหรับเฉลิมฉลองปีใหม่ ซูเปอร์สโตร์ถูกทำลายในเปลวไฟลุกโชน มูลค่าความเสียหายราวสิบล้านรูเบิล (ราว 4.5 ล้านบาท) เรียกเสียงกรีดร้อง และความตื่นตระหนก ในหมู่ผู้จับจ่ายใช้สอยช่วงคริสต์มาส
ส่วนราว 200 คน ที่เป็นลูกค้าและพนักงานซูเปอร์สโตร์ อพยพออกมาอย่างปลอดภัย แต่ตำรวจระบุว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่ไม่มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงต้องใช้เวลา 11 ชั่วโมง ในการดับไฟไหม้ที่มีควันหนาทับและแผดเผาซูเปอร์สโตร์
ลูกจ้างคนหนึ่งเผยภายหลังว่า “ต้นเพลิงมาจากแผนกดอกไม้ไฟ นี่เป็นการวางเพลิง หลายคนเห็นพนักงาน (นายชไนเดอร์) ราดอะไรบางอย่างลงบนดอกไม้ไฟ และจุดไฟ จากนั้นเหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มขึ้น เราทำงานในส่วนที่มีเบเกอรี่และโรงครัว เราได้ยินเสียงเหมือนยิงปืน เราเห็นดอกไม้ไฟกระจายไปทุกทิศทาง”
ส่วนแม่ของนายชไนเดอร์กล่าวว่า ลูกชายไม่สามารถอธิบายการกระทำของตัวเองได้
23 ธันวาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติการใช้งานแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ยารับประทานแบบเม็ดสำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของไฟเซอร์ ซึ่งนับเป็นยาเม็ดตัวแรกที่ได้รับอนุมัติสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ในประเทศ
สำนักงานฯ อนุมัติการใช้ยาแพกซ์โลวิดในผู้ใหญ่และผู้ป่วยเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีผลตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) โดยตรงเป็นบวก และผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยโรคโควิด-19 โดยมีอาการรุนแรง ซึ่งรวมถึงการส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะได้รับยาแพกซ์โลวิดตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น และควรรับประทานทันทีที่ทราบผลการวินิจฉัยโรคโควิด-19 และหลังเริ่มแสดงอาการภายใน 5 วัน
ทั้งนี้ มติดังกล่าวมีขึ้นขณะสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้ป่วยเสียชีวิต พุ่งทะยานทั่วประเทศในช่วงฤดูหนาว