ข่าว
'สหรัฐฯ'พบกวางติดโอมิครอน หวั่นเกิดสายพันธุ์ใหม่

9 ก.พ.65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตท ซึ่งยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิชญพิจารณ์ รวบรวมตัวอย่างจากเลือดและสารคัดหลั่งในโพรงจมูกของกวางหางขาว 131 ตัว ในเขตสแตเทน ไอส์แลนด์ ของนครนิวยอร์ก ปรากฏว่า 15% ของกวาง มีแอนติบอดี หรือภูมิต้านทานต่อโรคโควิด-19 จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

สุเรช คูจีปูดี นักสัตวแพทย์จุลชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตทระบุว่า เมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างสมบูรณ์ เชื้อไวรัสจะสามารถหลบหลีกการป้องกันจากวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนวัคซีนกันอีกครั้ง

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกที่พบเชื้อโอมิครอนในสัตว์ป่า ท่ามกลางการระบาดระลอกใหญ่และรวดเร็วของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในมนุษย์ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์สามารถแพร่เชื้อไวรัสมาสู่คนได้ แต่พบหลายเคสที่สัตว์ติดเชื้อโควิด-19 จากการใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อโควิด-19

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่า พบเคสของกวางป่าที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเคสแรกของโลกในรัฐโอไฮโอ ทำให้กวางมาอยู่ในรายชื่อสัตว์อีกประเภทที่ติดเชื้อโควิด-19 นอกเหนือจาก สุนัข แมว เสือ สิงโต เสือดาวหิมะ นาก กอริลลา และมิงค์

‘มาดามเดียร์’ข้องใจ!ถามส.ส.มีไว้ทำไมวิจารณ์รมต.ภท.ไม่ได้

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี” ถึงกรณี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ออกมาระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรีสังกัดภูมิใจไทย ที่บอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ใช่หน้าที่ ส.ส. ว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนอำนาจฝ่ายบริหาร ถูกตรวจสอบและวิจารณ์โดย ส.ส. ที่เป็นผู้แทนประชาชนไม่ได้แล้ว จะมีผู้แทนราษฎรไว้ทำไม

นอกจากนี้ น.ส.วทันยา ยังโพสต์ลิงค์ข่าว “ศาลปกครอง วินิจฉัย รฟม.แก้เกณฑ์ประมูล “สายสีส้ม” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมข้อความระบุว่า นี่คือข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากวันนั้น ที่ตนได้ต่อสู้ด้วยการใช้หน้าที่และเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการงดออกเสียงอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปลี่ยนแปลงทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมติดแฮชแทค หนทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คน


ตร.เรียกสอบเครียด หนุ่มคนใกล้ชิดสาวถูกฆ่าหั่นศพลอยเจ้าพระยา

9 ก.พ.65 ความคืบหน้าคดีพบชิ้นส่วนท่อนบนและศีรษะมนุษย์บริเวณใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ โดยล่าสุดทางญาติได้เดินทางมาขอดูชิ้นส่วนศพ ก่อนระบุว่า ชิ้นส่วนศพดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น น.ส.มณีรัตน์ เนื่องจากรอยสักบนแผ่นหลังและช่วงแขนเหมือนกัน

ล่าสุดมีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. พนักงานสอบสวนได้เชิญตัวเพื่อนชายคนสนิทของผู้ตาย มาสอบปากคำที่ สน.บางกอกน้อย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงถึงห้วงเวลาก่อนเกิดเหตุ รวมทั้งปูมหลังและการใช้ชีวิตร่วมกันของทั้งคู่ รวมทั้งประเด็นว่าผู้ตายมีความขัดแย้งกับใครหรือไม่ เนื่องจากพฤติกรรมในการก่อเหตุครั้งนี้ค่อนข้างโหดเหี้ยม

ขณะเดียวกันทางชุดสืบสวนได้แบ่งงานกันลงพื้นที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในละแวกใกล้เคียงกับจุดที่พบศพทั้ง 3 จุด เพื่อหาร่องรอยของคนร้าย ขณะนี้การสอบปากคำเป็นไปอย่างเคร่งเครียด


‘เลขาฯส.ป.ก.’เปิดผลสอบที่ดินอ้างของ‘ทิดสมปอง’ ไล่บี้เช็คชื่อผู้ถือครอง

8 กุมภาพันธ์ 2565 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีมีข่าวว่าอดีตพระมหาสมปอง ตาลปุตโต หรือนายสมปอง นครไธสง กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ในท้องที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่า 300 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา หรือให้ญาติถือครองที่ดินแทน ว่า เจ้าหน้าที่กำลังลงไปตรวจสอบที่ดินตามที่อยู่ของนายสมปอง ทั้งในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และนครราชสีมา แล้ว ซึ่งมีรายงานจาก ส.ป.ก.ชัยภูมิ ที่เข้าไปตรวจสอบทุกแปลงที่ที่เปิดเผยอยู่ในสังคมออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่อยู่นอกเขต ส.ป.ก. แต่มีบางแปลงที่อยู่ในเขต ส.ป.ก. พื้นที่ดังกล่าวมีการทำประโยชน์เป็นสวนมะพร้าว สวนหมาก ซึ่งเป็นการทำกินของเกษตรกรตามจุดประสงค์ของ ส.ป.ก. แต่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไปตรวจสอบการถือครองด้วยว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ หรือเป็นไปตามที่ข่าวเสนอว่าเป็นที่ดินของนายสมปอง

“เราตรวจพบว่าเป็นสวนมะพร้าวกับสวนหมากมีประมาณ 6 ไร่ ไม่เยอะ ถ้าอยู่ใน ส.ป.ก. เรามีทะเบียนอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นอะไร เราจะเข้าไปตรวจสอบ แต่เราพบว่าแปลงนี้เป็นแปลงที่เกษตรกรเขาทำกิน ต้องตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ด้วย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ในส่วนของที่ดินนอกเขต ส.ป.ก. มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูอยู่แล้ว ผมให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูอยู่ และจะดำเนินการในอำนาจหน้าที่ ส่วนเรื่องของการทำกิน ตรงนี้เป็นเขตป่าสงวนเดิม คิดว่ามีชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทำมาหากินยังชีพอยู่” นายวิณะโรจน์ กล่าว


แซวแรง! 'ผู้นำรัฐเปรัก'บอกคนไทยทำงานมาเลเซีย เอาเฉพาะต้มยำไปอย่าพาโควิดมา

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าว Bernama ของมาเลเซีย เสนอข่าว Just bring in tom yam , not COVID-19 , Perak MB tells Thai workers อ้างคำกล่าวของ ดาโต๊ะ เสรี ซารานี โมฮาหมัด (Datuk Seri Saarani Mohamad) หัวหน้าคณะรัฐบาลท้องถิ่นรัฐเปรัก หนึ่งในรัฐของมาเลเซีย ที่บอกกับชาวไทยที่จะเดินทางเข้าไปทำงานในมาเลเซีย ว่าให้นำไปเฉพาะต้มยำ หมายถึงซุปร้อนและเปรี้ยว อันเป็นอาหารขึ้นชื่อของไทยเท่านั้น อย่านำเชื้อโควิด-19 เข้าไปด้วย

สืบเนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป มาเลเซียจะกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ชาวต่างชาติทุกประเภทที่เดินทางเข้ามาเลเซียจะไม่ถูกกักตัวอีกต่อไป โดยเป็นมติจากสภาฟื้นฟูแห่งชาติ (MPN) เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 แต่ ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน (Tan Sri Muhyiddin Yassin) ประธานสภาฯ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองโควิด-19 ยังต้องทำตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข โดยตรวจทั้งก่อนออกจากประเทศต้นทางและเมื่อมาถึงมาเลเซีย

ซารานี หวังว่า การดำเนินการตามขั้นตอนมาตรฐาน (SOP) จะรัดกุมขึ้นเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ตนไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องเปิดประเทศ เพราะเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีข้อร้องเรียนกรณีร้านอาหารต้มยำในมาเลเซียต้องปิดตัวลงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยสำหรับเปรัก จะเปิดพรมแดนที่เมืองเป็งกาลัน ฮูลู (Pengkalan Hulu) ซึ่งติดกับประเทศไทย และที่อำเภอเกริค (Gerik) เท่านั้น และตนขอให้มาตรการเป็นไปอย่างเคร่งครัด เพราะไม่อยากให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวเปรัก ตกเป็นเหยื่อของโควิด-19

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ซารานี ยังได้เปิดตัวแผนยุทธศาสตร์สภาเทศบาลเมืองอิโปห์ เมืองเอกของรัฐเปรัก ตลอดจนโครงการเมืองคาร์บอนต่ำและเมืองเดินได้เดินดี ตั้งเป้าในปี 2573 ด้วย โดยมี ดาโต๊ะ รูไมซี บาฮารี (Datuk Rumaizi Bahari) นายกเทศมนตรีเมืองอิโปห์ ร่วมนำเสนอด้วย

จีนผลิตชุดตรวจโควิด รู้ผลทันทีภายใน4นาที ฮ่องกงแย่งซื้อผักสด

ทั่วโลกติดโควิดกว่า 398 ล้านรายตายทะลุ 5.7 ล้านศพ สหรัฐฯผู้ติดเชื้อนำโด่ง ส่วนฮ่องกง ประสบปัญหาผักขาดแคลน

อ้างโควิดระบาดส่งผลให้ผักจากจีนส่งมาลดลง ขณะที่ WHO เผยโควิดทำบริการสาธารณสุขประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า90% ประสบปัญหาชะงักงัน ชี้เป็นความท้าทายในการแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ว่ามีผู้ติดเชื้อรวม 398,093,224 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 5,768,797 รายและรักษาหายแล้วรวม317,637,345รายสำหรับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ส่วนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในทวีปเอเชีย ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 30

ด้านนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ระบุในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่าการส่งผักจากประเทศจีนมายังฮ่องกงเกิดปัญหาขัดข้อง เนื่องจากมีคนขับรถบรรทุกติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ นางแคร์รี หล่ำเน้นย้ำว่า ฮ่องกงจะยังเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นศูนย์ตามนโยบายของรัฐบาลจีนต่อไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สภาพชั้นวางผักในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งของฮ่องกงเต็มไปด้วยความว่างเปล่า ขณะที่ชาวฮ่องกงต่างพากันแห่ไปที่ตลาดสดเพื่อแย่งกันซื้อผักที่เหลืออยู่ไม่มาก แต่อาหารประเภทอื่นๆ ยังคงมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนบรรยากาศช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่ตลาดแห่งหนึ่งในเขตหว่านไจ๋ของฮ่องกงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย พนักงานของร้านขายผักต้องตะโกนห้ามชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่ให้เข้ามาในร้าน เนื่องจากไม่มีผักเหลือแล้ว ทั้งยังระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนสนามรบ นอกจากนี้ยังมีร้านขายผักและผลไม้จากประเทศจีนหลายร้านที่ปิดบริการ และมีบางร้านที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาขายผักผลไม้แพงกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัวจากราคาปกติ

ศูนย์ที่ทำให้ฮ่องกงต้องปิดพรมแดนกับทั่วโลกนั้นไม่มีความยั่งยืน ทั้งที่ประเทศต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปใช้แนวทางการอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 กันแล้ว ขณะที่แพทย์หลายรายระบุว่าการใช้มาตรการเข้มงวดทำให้ประชาชนเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อยหรือเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์จากบ้าน

ทั้งนี้ ทางการฮ่องกงรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่อย่างน้อย 380 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 16,000ราย และผู้เสียชีวิต 213 ราย

ด้านคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในนครเซี่ยงไฮ้เผยแพร่บทความที่มีการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วลงในวารสารเนเจอร์ไบโอเมดิคัลเอนจิเนียริ่งเมื่อวันจันทร์ว่า ได้ใส่ตัวตรวจจับชีวภาพที่เป็นเครื่องกลไฟฟ้าไว้ในอุปกรณ์ต้นแบบที่พกพาได้ เพื่อวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสจากตัวอย่างสารคัดหลั่ง พบว่าสามารถพบตรวจเชื้อได้ภายในเวลาไม่ถึง 4 นาที เป็นการทดสอบกับผู้ติดเชื้อ 33ตัวอย่าง ควบคู่ไปกับการทดสอบด้วยวิธีแบบพีซีอาร์ ได้ผลแม่นยำเทียบเท่ากัน แต่ใช้เวลาน้อยกว่า ง่ายกว่าและพกพาได้สะดวกกว่า ขณะที่วิธีแบบพีซีอาร์ใช้เวลาหลายชั่วโมง และต้องทำในห้องทดลองปฏิบัติการเท่านั้น ทำให้ตรวจได้ในจำนวนจำกัด คณะนักวิจัยยังได้นำวิธีใหม่ไปตรวจ 54 ตัวอย่างที่มีทั้งคนสุขภาพแข็งแรงและผู้ติดเชื้ออื่นที่ไม่ใช่โควิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ ผลตรวจไม่พบผลบวกปลอมเลยแม้แต่รายเดียว

คณะนักวิจัยจีนระบุว่า ทันทีที่พัฒนาแล้วเสร็จ อุปกรณ์นี้จะสามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็วในหลากหลายสถานที่ รวมถึงบ้านเรือนประชาชน ส่วนการใช้ชุดตรวจแอนติเจนแบบรวดเร็วหรือเอทีเค (ATK) ที่แพร่หลายในหลายประเทศมักมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกชุดตรวจโควิดรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ข้อมูลศุลกากรจีนระบุว่า เดือนธันวาคม 2564 จีนส่งออกชุดตรวจมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 52,750 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 เท่าจากเดือนพฤศจิกายน.

อีกด้านหนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสรุปว่าได้ทำให้เกิดการชะงักงันในการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน อาทิ โครงการฉีดวัคซีนและการรักษาโรคเอดส์ถึง 92% จาก 129 ประเทศทั่วโลก โดยการสำรวจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนที่จัดขึ้นในต้นช่วงปี 2564 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะสรุปว่าการให้บริการด้านสาธารณสุขต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย

องค์การอนามัยโลกระบุอีกว่า ผลสำรวจครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับความท้าทายของระบบสาธารณสุขที่มีความสำคัญยิ่ง ฟื้นฟูการให้บริการ และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลสำรวจชี้ว่าการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการให้บริการของรถพยาบาลและการดูแลคนไข้ในหอพักผู้ป่วยหนักแย่ลงถึง 36% ในประเทศที่มีรายงานว่าระบบสาธารณสุขประสบปัญหาชะงักงัน เมื่อเทียบกับต้นปี 2564อยู่ที่ 29% และ 21% ในประเทศที่มีการสำรวจทั้งหมด การผ่าตัดทางเลือก อาทิ การเปลี่ยนสะโพกและข้อเท้าประสบปัญหาที่ 59% ขณะที่การดูแลฟื้นฟูและการดูแลแบบประคับประคองที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเกิดช่องว่างขึ้นถึงครึ่งหนึ่ง

องค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่า ขนาดของปัญหายิ่งทำให้เกิดภาวะชะงักงันกับระบบสาธารณสุขที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งทำให้เกิดการลดลงของความต้องการในการให้การดูแลด้านสาธารณสุข แต่ไม่มีการให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม การสำรวจในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้โรงพยาบาลต้องรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว