ข่าว
อุตุฯออกประกาศฉบับ 1 เตือน 16 จังหวัด รับมือฝนตกหนักน้ำท่วม

15 ก.ค.62 - กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง "ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16-21 กรกฎาคม 2562)" ฉบับที่ 1 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 16-21 กรกฎาคม 2562 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยภาคใต้และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซี่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบตามภาคต่าง ๆ ดังนี้

ในช่วงวันที่ 16-19 กรกฎาคม 2562 ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ฝั่งตะวันออก : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ในช่วงวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2562 ภาคตะวันออก : จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ฝั่งตะวันออก : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ภาคใต้ฝั่งตะวันตก : จังหวัดระนองและพังงา

สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้และภาคตะวันออกมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง

อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และจะเคลื่อนตัวผ่านหัวเกาะฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2562

เตือนไม่หยุด! พรุ่งนี้ฝนถล่ม 26 จังหวัด กทม.ไม่รอดโดนเต็มๆ-ระวังท่วมฉับพลัน

ฝนถล่ม / กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก และคลื่นลมแรง (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 19 ก.ค.2562)” ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 17 ก.ค.2562

ระบุว่าบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ด้วย ซี่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 21 ก.ค.2562 โดยจะมีผลกระทบตามภาคต่าง ๆ ดังนี้

ในช่วงวันที่ 17 ก.ค.2562

ภาคกลาง: มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร

ภาคตะวันออก: มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดสระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก: มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก: มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ในวันที่ 18-19 ก.ค.2562 มีฝนตกหนักบางแห่ง

ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง

อนึ่ง พายุโซนร้อน “ดานัส”บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนบนของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันนี้ (17 ก.ค. 62) และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งที่เกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 62 สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ในหลวง-พระราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต

วันที่ 17 ก.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูฝน ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


ครม. ประยุทธ์ 2/1 : หลังถวายสัตย์ นายกฯ สัญญาจะ “สร้างความรักความสามัคคีในประเทศชาติให้มากยิ่งขึ้นไป”

ครม.ประยุทธ์ 2/1 – พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานกำลังใจให้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดให้ทำงานได้ดีอย่างที่ตั้งใจไว้ หลังนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่

“ผมยินดีที่ทุกคนมาช่วยงาน แบบนี้ ผมยินดีจริง ๆ จะได้ไม่มีปัญหากันต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมามีปัญหากันอยู่บ้าง จะด้วยความเข้าใจหรือด้วยเจตนาดีก็ตาม แต่เราได้พิสูจน์แล้วว่าเราได้เดินหน้าประเทศมาถึงวันนี้ได้รัฐบาลใหม่อย่างสมบูรณ์” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังนำ ครม. ประยุทธ์ 2/1 เข้าเฝ้าฯ

นายกฯ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมทำความเข้าใจถึงการทำงานร่วมกัน ส่วนการหารือกันในวันนี้ คือ การเตรียมการเพื่อแถลงนโยบาย และการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณ เพื่อให้เดินหน้าไปสู่ความเรียบร้อย

“ประเทศชาติหยุดไม่ได้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม แต่เราต้องยุติปัญหาบางปัญหาที่ไม่จำเป็นออกไปให้ได้บ้าง และสร้างความรักความสามัคคีในประเทศชาติให้มากยิ่งขึ้นไป ซึ่งหลักชัยของเราคือชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ รวมถึงประชาชน”

หลังเข้าเฝ้าฯเสร็จ พล.อ. ประยุทธ์ ได้นำคณะรัฐมนตรี 35 คน จากพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 16 กรกฏาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ถ่ายภาพร่วมกันหน้าสนามหน้า ตึกไทยคู่ฟ้า ภายหลังเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยก่อนลงมาถ่ายภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นไปสักการะท้าวมหาพรหม บนตึกไทยคู่ฟ้า

ขณะที่บรรยากาศการถ่ายภาพ ครม.ใหม่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มายืนรอเป็นคนแรก ก่อนที่ ครม.คนอื่นๆจะตามมา ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเซลฟี่ตัวเอง พร้อมถ่ายภาพสื่อมวลชนเพื่อเป็นที่ระลึกด้วย ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ทักทาย ครม.ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โดยปฏิเสธตอบคำถามใดๆต่อ สื่อมวลชน โดยใช้นิ้วแตะที่ริมฝีปาก เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่ายังไม่ขอพูด

5 ปี คสช. : พล.อ. ประยุทธ์ อ้างผลงาน ฟื้นฟูเกียรติคุณ-ความสงบให้แก่ประเทศ

ตรวจชื่อ-พลิกประวัติฉบับย่อ ครม. โควต้าพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนการเข้าถวายสัตย์ฯ ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก เป็นการแจ้งแนวทางปฏฺิบัติของรัฐมนตรีในการทำหน้าที่และการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การผลัดเวรเข้าเฝ้าฯ และส่งเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ในการประชุม ครม. จะมีการนำร่างร่างนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านการยกร่างจากตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เข้าสู่การพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำส่งตีพิมพ์และนำส่งให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลา 3-4 วัน

ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุม ครม. ประยุทธ์ 2/1 นัดแรก โดยกล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีต่อรัฐมนตรีทุกคนที่ได้เข้ามาร่วมงานกัน การถวายสัตย์ ถือเป็นมงคลแก่คณะรัฐมนตรีทุกคน และประกาศว่า จะเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ

“วันนี้มีทั้งรัฐมนตรีเก่าและใหม่ ก็ขอให้ทุกคนเดินหน้าในการทำงานร่วมกัน ด้วยความรักความสามัคคี ไม่แบ่งแยก และ ดูแลทุกอย่างตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไว้”


จบแล้ว! “พลังประชารัฐ” โร่แจง “ผู้ว่าฯหมูป่า” หมดสิทธิ์ ลงเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.”

พปชร. เตรียมถกส่งคนลงชิง “ผู้ว่า กทม. – นายก อบจ.” หลังจบแถลงนโยบาย ตามคาด “พุทธิพงษ์” คุมศึกสนามเมืองหลวง ด้านผู้ว่าฯณรงค์ ขาดคุณสมบัติ อยู่กทม.ไม่ถึงเกณฑ์

18 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับความเคลื่อนไหว ถึงกระแสข่าวทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมทาบทาม นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.พะเยา ผู้ที่สร้างผลงานช่วยเหลือ 13 หมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ลงชิงผู้ว่า กทม.ในนามพรรคนั้น ล่าสุด อาจไม่มีการทาบทามนายณรงค์ศักดิ์ ให้มาลงชิงผู้ว่า กทม. เนื่องจากอาจขาดคุณสมบัติในการลงสมัครผู้ว่า กทม.ในรอบนี้

เนื่องจากในการจาก การไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป ใน วันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นายณรงค์ศักดิ์ ได้เดินทางมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 11 ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งที่ 1 ของ จ.พะเยา

จากกรณีนี้ ทำให้นายณรงค์ศักดิ์ ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ใน ข้อ 3 ที่ระบุว่า

“ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

หรือได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง”

รายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ แจ้งว่า สำหรับการพิจารณาคัดสรรบุคคลของพรรคเพื่อลงชิงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)โดยเฉพาะตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะเกิดขึ้นหลัง ตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป ภายหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายเสร็จแล้ว จะตั้งคณะทำงานและกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของการเลือกตั้ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะให้ประธานยุทธศาสตร์ ในแต่ละภาค ไปพิจารณาคัดสรรบุคคลที่พรรคจะส่งลงสมัคร

โดยกรณีเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จะมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงการเลือกตั้งในพื้นที่กทม.ทำหน้าที่เป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก่อนที่จะนำรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อทั้งหมดมาให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณาคัดสรรตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พิจารณา และส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรค พปชร.พิจารณา เพื่อออกเป็นมติพรรคต่อไป


ศูนย์ทนายฯร่อนแถลงการณ์ 5 ปีคสช. ผลพวงการรัฐประหารที่ยังไม่สิ้นสุด

16 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้เข้ารับหน้าที่ ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดอำนาจการปกครองประเทศมาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น หมดหน้าที่และอำนาจลง อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 5 ปีกว่าที่ คสช.ปกครองประเทศได้ทำลายหลักนิติรัฐหรือหลักการปกครองโดยกฎหมายลงอย่างสิ้นเชิง กลไกต่าง ๆ ในประเทศไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลและทำให้เกิดความรับผิด รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญอย่างซับซ้อนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ คสช. และพวกได้ปกครองประเทศต่อไป (อ่านรายละเอียดใน 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นว่าผลพวงซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจภายใต้ห้วงเวลาดังกล่าวของ คสช. จะยังดำรงอยู่ทั้งในองค์กร คือ หน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ ในรูปแบบประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช., กฎหมายซึ่งผ่านการตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงฉบับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1.ประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. และกฎหมายซึ่งผ่านการตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั้นยังดำรงอยู่จนกว่าจะมีกฎหมายออกมาแก้ไขหรือยกเลิก

คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. 214 ฉบับ, ประกาศ คสช. 132 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. 211 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 557 ฉบับ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านพระราชบัญญัติกว่า 444 ฉบับ โดยที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 นั้น ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช.เพียง 70 ฉบับ ทำให้ประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. หรือพระราชบัญญัติที่ผ่านโดย สนช.นั้นจะมีผลต่อไป แม้ คสช.จะหมดอำนาจ กล่าวคือจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขหรือยกเลิก เว้นแต่เป็นประกาศหรือคำสั่งซึ่งสามารถยกเลิกได้โดยอำนาจบริหาร

ประกาศ คำสั่ง และพระราชบัญญัติซึ่งออกมาจำนวนมากนั้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน แต่ออกโดยกลุ่มคนที่ยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชนและพิจารณาในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมาตรา 279 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นได้ยกเว้นความรับผิดใด ๆ และรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ ประกาศและคำสั่งคสช.จึงไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยการกระทำหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามกลไกปกติได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ประกาศ คำสั่ง และพระราชบัญญัติทั้งหมดควรถูกทบทวนโดยสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน เพราะหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ สิ่งแปลกปลอมดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบยาวนานต่อระบบกฎหมายไทย

2.กลไกที่ยังดำรงอยู่ในรูปหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ นอกจากประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ดำรงอยู่แล้ว คสช.ยังมีส่วนในการแต่งตั้งบุคลากรไว้ในหน่วยงานรัฐ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสมาชิกวุฒิสภา 250 ราย และองค์กรอิสระต่าง ๆ อาทิเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งกลไกต่าง ๆ เหล่านี้ยังจะคอยสนับสนุนกกลุ่มบุคคลที่เคยเป็น คสช. ซึ่งยังคงอำนาจฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คสช.ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ งบประมาณ เพิ่มโครงสร้างระดับภาคและระดับจังหวัด ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอรมน.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ซึ่งกลไกดังกล่าวยังจะเป็นกลไกสำคัญในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึง “การปรับทัศนคติ” ต่อไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า นอกจากการทบทวนกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมถึงการทบทวนที่มา อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยแล้ว ประชาชนยังมีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานและองค์กรอิสระว่าได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และสอดคล้องกับการปกครองในประชาธิปไตยหรือไม่

3.อำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนยังอยู่ที่ทหาร แม้ว่าตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งเป็นฐานที่มาของอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. จะกำหนดให้โครงสร้างของ กอ.รมน. ส่วนหนึ่งประกอบด้วยพลเรือน และไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไว้ก็ตาม แต่ก็มีหน่วยงานความมั่นคงรวมถึงทหารเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญภายหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม “อำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนไม่เกิน 7 วัน” นั้นยังคงอยู่ที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ซึ่งไม่ได้ถูกยกเลิกไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับสุดท้ายแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ทหารยังคงอำนาจควบคุมตัวพลเรือน : ข้อสังเกตต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น) หากอำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนไม่จำเป็น คสช.ก็ย่อมต้องให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 มีผลในการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ไปพร้อมกันกับฉบับอื่น ๆ ด้วย การคงอยู่ของคำสั่งดังกล่าวนั้นจึงแสดงถึงเจตนาในการควบคุมประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ ความซ้อนทับของบุคลากร ทั้ง กอ.รมน. และเจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ย่อมทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอนชัดเจนแก่ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และกฎอัยการศึกร่วมกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ต้องดำเนินการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 โดยทันที กรณีเกิดการกระทำความผิด หรือเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่จำเป็นต้องคงอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ไว้ และหากเจ้าหน้าที่ทหารซึ่ง คสช. แต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็สามารถตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจากองค์กรซึ่งให้อำนาจนั้นไม่ได้ดำรงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่กล่าวเป็นเพียงผลพวงบางส่วนจากการรัฐประหารซึ่งจะดำรงอยู่ แม้ คสช.จะหมดอำนาจหน้าที่ลงแล้ว แต่ในทางปฏิบัติผู้กุมอำนาจการปกครองยังเป็นกลุ่มเดิม ยังมีบุคลากรทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระสนับสนุน รวมถึงกฎหมายที่ให้อำนาจและรัฐธรรมนูญที่ยกเว้นความรับผิดไว้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรและประชาชนร่วมกันตรวจสอบ ผลักดันการแก้ไขกฎหมาย และจัดการผลพวงดังกล่าว เพื่อให้ประเทศกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง

"สงครามการค้า" ฟ้าสว่างหรือทางมืด? ร้อยปียังไม่สาย "จีน" ทวงแชมป์คืน

ว่ากันว่า เวที G20 จะเป็นเวทีหย่าศึก "จีน-สหรัฐฯ" หลายฝ่ายลุ้นตัวโก่ง ขอให้สงครามการค้าจบสิ้นสักที เพราะแค่ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็หนักหนาเอาการแล้ว ขณะที่ ไทยเองก็โดนหนักไม่ใช่น้อย!! ต้องปาดเหงื่อฝ่าฟันกันแบบ

เลือดตาแทบกระเด็น ไม่รู้ว่าหลังจากปิดฉากการประชุมจะ "ฟ้าสว่าง" หรือ "ทางมืด"

"สงครามการค้า" เริ่มแผลงฤทธิ์รุนแรง ... แม้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 จะเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยมีภาพการหารือของประธานาธิบดีจีน "สี จิ้นผิง" และประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น จับมือยิ้มสู้กล้อง ยอม "หย่าศึกชั่วคราว" แต่อยู่ภายใต้ข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยื่นให้กัน

ช่วงบ่ายวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้เข้าร่วมงานเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "สงครามการค้า จีน-อเมริกา ฟ้าสว่างหรือทางมืด หลังเวที G20" จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมาให้ข้อคิดเห็นในการสรุปบทส่งท้ายการประชุม G20 ว่าจะเป็นไปทิศทางใด

"จีน-สหรัฐฯ" ดารานำหลักบนเวที G20

"เวที G20 ในปีนี้ ให้ความสำคัญในบริบทของการค้าและเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ แต่จริงๆ แล้ว เบื้องหลังเป็นเรื่องการเมือง..."

นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เริ่มต้นอธิบายถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศมหาอำนาจโลก "จีน-สหรัฐฯ" บนเวที G20 ที่เปรียบดั่ง "ดารานำหลัก" ว่า ปี 2562 นี้ ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งระดับความสัมพันธ์ที่ผ่านมาจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ว่าผู้นำประเทศจะเป็นใคร มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นระหว่างรัฐต่อรัฐสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งการหารือด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ จะเห็นได้ว่า กรอบการหารือทุกมิติจะเกี่ยวข้องกับการหารือด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของประชาชนกับประชาชน

ภาพรวมขณะนี้ สหรัฐฯ ยังขาดดุลการค้ากับจีนอยู่มาก ปี 2561 สูงถึง 4.19 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 13 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 3.76 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 12 ล้านล้านบาท) ในส่วนของการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจกับจีนนั้น ทางสหรัฐฯ ทยอยขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าต่างๆ ถึง 3 รอบ สำหรับสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 7.7 ล้านล้านบาท) หรือเทียบเท่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าจากจีน

ในทางกลับกันจีนตอบโต้กลับสหรัฐฯ อย่างไร?

หนึ่งคือ ระงับสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรของสินค้าสหรัฐฯ 128 รายการ รวมมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ฯ (ราว 8.95 หมื่นล้านบาท)

สองคือ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 2 ครั้ง มูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) หรือประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ

ตลอดที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายพยายามหาข้อยุติทางการค้า จนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม 2561 มีการระงับมาตรการโต้ตอบทางการค้าระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ที่แม้ว่าจะมีการตกลงว่า จีนจะซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมถึงปรับมาตรการการค้าการลงทุนของต่างประเทศใหม่ แต่ก็ยังไม่คืบหน้าไปไหนเท่าไร มีการเจรจาการค้ากันอีก 4 รอบ หวังกำหนดแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม เกิดผลต่างตอบแทนที่สร้างความสมดุลทางการค้าระหว่างกัน

หลายคนที่ได้ยินประโยคนี้ต่างต้องแคะหูแล้วแคะหูอีก แทบไม่อยากเชื่อคำเอ่ยนี้เท่าใดนัก เพราะภาพที่เห็นมาตลอดกว่า 2 ปี มีแต่จะฟาดฟันกันแบบที่ไม่มีใครยอมใคร สวนทางกับภาพที่เห็นบนเวที G20 ซะเหลือเกิน

ซึ่งนางสาวบุษฎีมองท่าทีของสองดารานำหลักบนเวที G20 เป็น "สิ่งสำคัญ" ที่แม้แต่ทั่วโลกเองต่างก็เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยนั้น นางสาวบุษฎีหยิบยกมา 4 ข้อหลักที่น่าสนใจ คือ

1. สหรัฐฯ จะยังไม่เก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากจีน มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 9 ล้านล้านบาท)

2. บริษัทของสหรัฐฯ สามารถขายอุปกรณ์โทรคมนาคมให้ บริษัท หัวเว่ยฯ ได้ ตราบใดที่อุปกรณ์เหล่านั้นไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการถอนชื่อ บริษัท หัวเว่ยฯ ออกจากบัญชี Entity List ถึงแม้ว่าจะมีข่าวออกมาว่าจะมีการปรับ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง

3. จีนกับสหรัฐฯ ยังเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันได้ โดยทรัมป์เองเห็นว่า สหรัฐฯ มีการเปิดเสรีให้กับจีน แต่กลับกัน จีนเองยังไม่ได้เปิดเสรีให้กับสหรัฐฯ

4. ทรัมป์บอกว่า สี จิ้นผิง สัญญาว่าจะสั่งซื้อสินค้าเกษตรจำนวนมากจากสหรัฐฯ เพื่อลดการขาดดุลการค้า แต่ ณ ขณะนี้ ยังรอรายชื่อสินค้าอยู่

ท้ายที่สุด ทรัมป์ก็ออกมาบอกว่า ตนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีจีนอยู่ มองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องการสื่อถึง ไม่ว่าในบริบทของการพูดคุยอย่างเป็นทางการ การปฏิสัมพันธ์ที่เห็นได้จากการถ่ายรูป การจับมือ ล้วนเป็นท่าทีและท่าทางที่ส่งสัญญาณว่ายังมีคงมีการพูดคุยกันต่อ คิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่มาจากเวที G20

"หลายประเทศมีการวางกรอบที่ต้องการตีกันจีนออกไป แต่สำหรับไทยกับอาเซียน ไม่ได้มองแบบนั้น แต่ต้องทำให้กรอบต่างๆ เดินหน้าไปด้วยกันให้เกิดความสมดุล ถามถึงการเลือกข้าง ... มันก็จะกลับมาที่ความสมดุลของการดำเนินความสัมพันธ์ ซึ่งไทยเป็นมิตรกับจีน เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และผู้เล่นอื่นๆ ในเวทีโลกด้วย เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและรับมือกับความท้าทายได้ดี"

"จีน" กลับมาทวงเก้าอี้แชมป์คืน

อีกมุมมองหนึ่งจาก ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน ที่ขอเปลี่ยนจากคำว่า "สงครามการค้า" เป็น "ข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐฯ" แทน เหตุว่า จีนกับสหรัฐฯ ไม่ได้มีปัญหากันแค่เรื่องภาษีการค้าอย่างเดียว แต่ยังมีด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีก

จีนเสียแชมป์ให้สหรัฐฯ มา 200 ปี หมายความว่า ตั้งแต่ราชวงศ์ถังขึ้นมา จีนมีจีดีพีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ก่อนที่หลังจากนั้นจะเสียให้กับภูมิภาคทางตะวันตก เพราะฉะนั้น จีนจึงมาทวงเก้าอี้ของตัวเองที่เสียแชมป์ไป

ในกรณีการเลือกข้างของไทยท่ามกลางสมรภูมิสงครามการค้า "จีน-สหรัฐฯ" ดร.ธารากร มีความเห็นที่ไปทิศทางเดียวกับ นางสาวบุษฎี ว่า สหรัฐฯ กับยุโรปให้ไทยเลือกข้างแน่นอน ว่า ไทยจะอยู่ข้างไหน แต่การจะเลือกข้าง ไทยเลือกข้างไม่ได้ เพราะไทยต้องคบค้าสมาคมกับทุกๆ คนที่เป็นมิตร ส่วนเทอมหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นประธานาธิบดีอีกหรือไม่ คิดว่า เขาเจอศึกหนักภายใน ภายนอกเขาไม่กลัว ศึกหนักภายในยิ่งใหญ่กว่า

หลัง G20 "สงครามการค้า" ฟ้าสว่างหรือทางมืด?

ล่าสุด ไอเอ็มเอฟ (IMF) มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจก่อนที่จะมีการประกาศสงครามการค้ารอบที่ 3 (รอบที่ 1 ก.ค.-ส.ค., รอบที่ 2 ก.ย. 61 และรอบที่ 3 พ.ค.-มิ.ย. 62) จาก 3.5 เหลือ 3.3 ในปีนี้ ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ 3.6

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่เติบโตมากกว่า 3% แต่ปีนี้ปรับลดลงมาเหลือ 2.3% (ปี 61 สหรัฐฯ ขยายตัว 2.9%) และคาดว่าปีหน้าจะเหลือแค่ 1.9% สิ่งนี้เป็นก่อนที่จะเกิดสงครามการค้า รอบที่ 3 ด้วยซ้ำ ขณะที่ จีนมีการเติบโตปีที่แล้ว 6.6% แต่ปีนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะโตที่ 6.3% ปีหน้าจะลดเหลือ 6.1% เห็นได้ว่า เศรษฐกิจประเทศแกนหลักของโลกมีการชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามการค้า

เมื่อประเทศที่มีกำลังซื้อสูงสุด เริ่มชะลอตัวลง ทำให้สินค้าที่ขายในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่กล้าซื้อของ เพราะไม่มีเงินมากพอ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โตในช่วงหนึ่งไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจดี แต่เพราะมีการขายอาวุธสงคราม มันไม่ได้เกิดจากการกระจายไปทุกภาคส่วน

และไม่ว่าสหรัฐฯ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ไม่มีทางจะได้ดุล ไม่ใช่แค่กับจีน แต่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเยอะมาก เพราะแม้ไม่ได้ซื้อจากจีน ก็ต้องซื้อจากประเทศอื่น ซึ่งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขาดดุล 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ด้านจีนได้ดุลการค้า 4.16 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 13 ล้านล้านบาท)

บทสรุปการประชุม G20 ผู้ทรงคุณวุฒิภายในงานสัมมนาฯ ต่างลงความเห็นกันแล้วว่า ทิศทางของสงครามการค้า "จีน-สหรัฐฯ" เป็นได้แค่ "ฟ้าสลัว" ที่ยังไม่ถึงกับสว่างและยังไม่มืดซะทีเดียว.