ข่าว
พายุ “เอียน” ทวีกำลังกลับเป็นเฮอริเคน ไบเดนประกาศภาวะภัยพิบัติที่ฟลอริดา

พายุ “เอียน” ทวีกำลังกลับขึ้นเป็นเฮอริเคนอีกครั้ง ระหว่างเคลื่อนตัวจากรัฐฟลอริดาสู่รัฐเซาท์แคโรไลนา ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศให้รัฐฟลอริดาเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ว่า ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอชซี) รายงานว่า แม้เฮอริเคนเอียนอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน หลังขึ้นฝั่งที่รัฐฟลอริดา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่พายุกลับทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งเป็นครั้งที่สอง ที่รัฐเซาท์แคโรไลนา โดยความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่าเฮอริเคนระดับ 1 ตามมาตรวัดพายุซัฟเฟอร์/ซิมป์สัน

ขณะที่กลุ่มรัฐตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ไล่ตั้งแต่รัฐจอร์เจียไปจนถึงรัฐนอร์ทแคโรไลนา อยู่ภายใต้ประกาศเตือนภัยเฮอริเคนและสภาพอากาศแปรปรวน

ด้านทางการรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่เฮอริเคนเอียนขึ้นฝั่ง ด้วยความเร็วลมรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ยังไม่เปิดเผยความเสียหายอย่างเป็นทางการ แต่สื่อท้องถิ่นหลายแห่งรายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ เฉพาะในรัฐฟลอริดา อยู่ที่อย่างน้อย 10 ราย ส่วนซีเอ็นเอ็นรายงานสถิติผู้เสียชีวิตไว้ที่อย่างน้อย 19 ราย

นอกจากนี้ ประชาชนในมากกว่า 2.3 ล้านครัวเรือนของรัฐฟลอริดา ยังคงไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อแก้ไข

ในอีกด้านหนึ่ง ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศให้รัฐฟลอริดาเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการมอบความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย

เครดิตภาพ : REUTERS

ด่วน “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยังไม่ครบ 8 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย มีมติเสียงข้างมาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ชี้ ยังไม่ครบ 8 ปี เริ่มนับปี 2560

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 30 ก.ย. 2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ โดยหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปรึกษาหารือและลงมติ มีผลโดยสรุปเป็นดังนี้

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับวันที่ 6 เม.ย. 2560 ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันเริ่มรับตำแหน่ง ผู้ถูกร้อง “พล.อ.ประยุทธ์” จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 ผู้ถูกร้อง จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก จึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่”


ปูติน ทำพิธีลงนาม ผนวก 4 แคว้นยูเครน เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว

ปธน.ปูติน กล่าวสุนทรพจน์ และลงนามผนวก 4 แคว้นของยูเครน ได้แก่ ลูฮานสก์ โดเนตสก์ ซาปอริชเชีย และเคอร์ซอน เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ 30 ก.ย.2565 ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าวสุนทรพจน์ประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครน ได้แก่ แคว้นลูฮานสก์, โดเนตสก์ ทางภาคตะวันออก รวมทั้งแคว้นซาปอริชเชีย และเคอร์ซอน ทางภาคใต้ของยูเครน เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว หลังจากค่ำวันพฤหัสฯที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินได้เร่งลงนามในกฤษฎีการับรองแคว้นซาปอริชเชียและเคอร์ซอน เป็นรัฐอิสระ หลังมีการจัดทำประชามติสอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่และเสียงส่วนใหญ่ต้องการเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย

‘มี 4 แคว้นใหม่ของรัสเซีย’ ประธานาธิบดีปูตินกล่าวในพิธีที่จัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย หรือเรียกกันว่า วังเครมลิน ในกรุงมอสโก เพื่อประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย ขณะรัสเซียทำสงครามในยูเครนมาตั้งแต่ 24 ก.พ.2565

ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นเวลา 37 นาที วิพากษ์วิจารณ์โจมตีชาติตะวันตกที่สนับสนุนยูเครน โดยอ้างว่าชาติตะวันตกกำลังพยายามทำให้รัสเซียยอมคุกเข่าจำนนมาตั้งแต่อดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายแล้ว โดยผู้นำรัสเซียยังอ้างว่า ชาติตะวันตกต้องการเข้ามาครอบครองรัสเซีย ด้วยสกุลเงินใหม่และการพัฒนาทางเทคโนโลยี อีกทั้งกำลังพยายามล้มเลิกวัฒนธรรมของรัสเซีย

‘พวกเขาทั้งหลายร้อนใจที่ประเทศร่ำรวยประเทศหนึ่งยังคงอยู่’ ประธานาธิบดีปูตินชี้ถึงทรัพยากรธรรมชาติและแร่มหาศาลในรัสเซียที่ทำให้ชาติตะวันตกร้อนใจ

ภายหลังกล่าวสุนทรพจน์จบแล้ว ประธานาธิบดีปูตินและผู้นำจาก 4 แคว้นที่รัสเซียแต่งตั้ง ได้มีการร่วมลงนามในเอกสารอย่างเป็นทางการผนวก 4 แคว้นของยูเครน ได้แก่ ลูฮานสก์ โดเนตสก์ ซาปอริชเชีย และเคอร์ซอน เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย หลังจากเมื่อปี 2557 ประธานาธิบดีปูตินเคยกระทำแบบเดียวกันนี้ในการผนวกแคว้นไครเมีย เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาแล้ว

ที่มา : BBC

เจ้าชายโจอาคิม เสียพระทัย ควีนมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก ถอดพระยศ 4 พระนัดดา

เจ้าชายโจอาคิม แห่งเดนมาร์ก ทรงเผยว่ารู้สึกเสียพระทัย หลัง 4 โอรส-ธิดาของพระองค์ ทรงถูกสมเด็จพระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 พระมารดา ตัดสินพระทัยถอดพระยศเจ้าชายและเจ้าหญิง

เมื่อ 30 ก.ย. 2565 เดลี่เมล รายงานว่า เจ้าชายโจอาคิม พระราชโอรสองค์สุดท้องในสมเด็จพระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระชนมพรรษา 82 พรรษา ตรัสกับสื่อท้องถิ่นในเดนมาร์ก ภายหลังทรงรับทราบการตัดสินพระทัยของพระมารดา ที่ทรงถอดพระยศเจ้าชายและเจ้าหญิงของพระราชนัดดา (หลาน) 4 พระองค์ เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตของตนเอง และเป็นการปรับเปลี่ยนไปในทางเดียวกับราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรปที่ลดขนาดสมาชิกราชวงศ์ลงว่า “พวกเราทุกคนรู้สึกเสียใจ มันไม่เคยสนุกเลยที่เห็นลูกๆ ของคุณตกอยู่ในอันตราย พวกเขาถูกทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาไม่เข้าใจ”

เจ้าชายโจอาคิม พระชนมายุ 53 ชันษา ซึ่งเสกสมรสครั้งที่ 2 กับเจ้าหญิงมารี ยังทรงเปิดเผยว่า พระองค์ทรงได้รับหนังสือแจ้งการตัดสินพระทัยครั้งนี้ของพระมารดาเพียง 5 วัน ก่อนสำนักพระราชวังเดนมาร์กจะประกาศต่อสาธารณชนให้รับรู้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ซึ่งทรงฉลองครองราชย์ 50 ปีในปีนี้ จนนับเป็นสมเด็จพระราชินีที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในยุโรป ได้ทรงตัดสินพระทัยถอดพระยศเจ้าชาย-เจ้าหญิงพระราชนัดดา 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายนิโคไล ชันษา 23 ปี, เจ้าชายเฟลิกซ์ ชันษา 20 ปี, เจ้าชายเฮนริก ชันษา 13 ปี และเจ้าหญิงอะธีนา ชันษา 10 ปี โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 อย่างไรก็ตาม พระราชนัดดาทั้ง 4 พระองค์นี้ในสมเด็จพระราชินีนาถมาเกรเธอที่ 2 ยังคงมียศเคานต์และเคาน์เตสต่อไป

ด้าน เจ้าชายนิโคไล ตรัสว่า รู้สึกเสียพระทัย ตกใจและสับสน หลังรับทราบว่าถูกสมเด็จพระอัยยิกา (ย่า) ตัดสินพระทัยถอดพระยศเจ้าชาย เช่นเดียวกับที่พระอนุชาและพระขนิษฐาอีก 3 องค์ก็ถูกถอดพระยศเจ้าชายและเจ้าหญิง

ส่วนพระราชนัดดาอีก 4 พระองค์ ในเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก พระชนมายุ 54 พรรษา พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถมาเกรเธอที่ 2 กับเจ้าหญิงแมรี มกุฎราชกุมารี พระชายา ได้แก่ เจ้าชายคริสเตียน, เจ้าหญิงอิซาเบลลา, เจ้าชายวินเซนต์ และเจ้าหญิงโจเซฟิน ยังทรงดำรงพระยศเจ้าชายและเจ้าหญิงตามเดิม

ทั้งนี้ เจ้าชายโจอาคิม ได้เสกสมรส 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเสกสมรสกับ อเล็กซานดรา เคาน์เตสเฟรเดอริกสบอร์ก มีโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ ก่อนจะทรงหย่าร้างกัน คือ เจ้าชายนิโคไล และ เจ้าชายเฟลิกซ์ จากนั้นเจ้าชายโจอาคิม ได้เสกสมรสอีกครั้งกับ เจ้าหญิงมารี และมีโอรส-ธิดาด้วยกัน 2 พระองค์ คือ เจ้าชายเฮนริก และเจ้าหญิงอะธีนา


เซเลนสกี ขอเข้านาโต้แบบเร่งด่วน ลั่นเจรจากับประธานาธิบดีรัสเซีย “คนอื่น”

วันที่ 30 ก.ย. บีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า ตนกำลังขอสถานะสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) แบบเร่งด่วน หลังประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พยายามผนวก 4 แคว้นยูเครนที่รัสเซียยึดครอง ได้แก่ แคว้นลูฮันสค์และแคว้นโดเนตสค์ ทางตะวันออกของยูเครน และบางส่วนของแคว้นซาโปริฌเฌียและแคว้นเคอร์ซอน ทางใต้ของยูเครน

นายเซเลนสกี โพสต์ข้อความบนแอปพลิเคชั่นเทเลแกรมว่า เราพิสูจน์ความเข้ากันได้ของเรากับมาตรฐานของพันธมิตร (นาโต้) แล้ว เรากำลังดำเนินการอย่างเด็ดขาดโดยการลงนามใบสมัครของยูเครนสำหรับการเข้าร่วมนาโต้แบบเร่งด่วน

นอกจากนี้ นายเซเลนสกีกล่าวหลังการประชุมฉุกเฉินของสภาความมั่นคงและกลาโหมของยูเครนว่า ฟินแลนด์และสวีเดนเริ่มกระบวนการดังกล่าวเพื่อเข้าร่วมนาโต้โดยปราศจากการเข้าร่วมแผนการได้รับสถานะสมาชิกอย่างเป็นทางการ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม ยูเครนต้องได้สิทธิดังกล่าวเช่นกัน

นายเซเลนสกียังอ้างถึงการเรียกร้องการฟื้นฟูการเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียว่า ประเทศของเราพยายามตลอดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในเงื่อนไขอย่างเท่าเทียมกัน เที่ยงตรง มีเกียรติ และยุติธรรม และชี้ว่า การเจรจาสันติภาพกับนายปูตินเป็นไปไม่ได้

“เขาไม่รู้ว่าศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์คืออะไร นั่นเป็นเหตุผลที่เราพร้อมสำหรับการเจรจากับรัสเซีย แต่พร้อมกับประธานาธิบดีรัสเซียคนอื่น” นายเซเลนสกี ระบุ

ชาวรัสเซียแห่ออกนอกประเทศแล้ว 200,000 คน

30 กันยายน พ.ศ. 2565: มอสโก/ทบิลิซี (เอพี/รอยเตอร์ส) - ข้อมูลจากรัฐบาลคาซัคสถาน จอร์เจีย และสหภาพยุโรป หรืออียู ระบุว่า มีชาวรัสเซียเดินทางออกนอกประเทศแล้วอย่างน้อย 200,000 คน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ปูติน ของรัสเซีย สั่งระดมพลรัสเซียครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

รัฐบาลคาซัคสถานรายงานว่าจนถึงวันอังคารที่ผ่านมา มีชาวรัสเซีย 98,000 คนเดินทางเข้าประเทศ เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของจอร์เจียระบุว่า มีชาวรัสเซียกว่า 53,000 คน เดินทางจากรัสเซียเข้ามายังจอร์เจียนับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีปูตินสั่งระดมพล ส่วนฟรอนเท็กซ์ (Frontex) สำนักงานกิจการพรมแดนของอียู เผยว่า มีชาวรัสเซียเกือบ 66,000 คน เดินทางเข้ามาในประเทศสมาชิกอียูในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานับถึงวันอาทิตย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของสัปดาห์ก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ New York Times ของสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องยากที่จะทราบตัวเลขที่แท้จริงของชาวรัสเซียที่เดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากรัสเซียมีพรมแดนติด 14 ประเทศตั้งแต่จีน เกาหลีเหนือ ไปจนถึงประเทศในแถบทะเลบอลติก และรัฐบาลของบางประเทศก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลชาวรัสเซียที่เดินทางเข้าประเทศ

ขณะเดียวกัน ชาวจอร์เจียจำนวนมากเดินทางไปรวมตัวที่จุดผ่านแดน ลาร์ซี พรมแดนติดกับรัสเซีย เพื่อประท้วงต่อต้านชายฉกรรจ์ชาวรัสเซีย ที่หลั่งไหลเข้าไปในประเทศเพื่อเลี่ยงการถูกส่งไปรบในยูเครนด้วยการต่อแถวยาวกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อข้ามแดน ชาวจอร์เจียเหล่านี้มองว่า การเปิดรับชาวรัสเซียให้เข้าไปหลบซ่อนเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคง เศรษฐกิจและเสถียรภาพโดยรวมของจอร์เจีย บางคนถึงกับเชื่อว่าอาจมีสายลับหรือทหารปะปนเข้ามาด้วย

ส่วนสาธารณรัฐนอร์ทออสซีเชีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ได้ประกาศใช้มาตรการจำกัดจำนวนรถยนต์ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นของรัสเซียเมื่อวันพุธ หลังจากที่มีชาวรัสเซียราว 20,000 คนเดินทางเข้ามาในช่วง 2 วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียอาจกำลังพิจารณาใช้มาตรการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศในอนาคต ทั้งนี้ บางประเทศสมาชิกของอียูได้ประกาศใช้มาตรการจำกัดพรมแดนกับรัสเซียไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานวุฒิสภารัสเซีย เผยว่า อาจจะพิจารณาเรื่องผนวกแคว้นทั้ง 4 แห่งในยูเครน คือ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริซเซีย และเคอร์ซอน ที่ถูกรัสเซียยึดครองบางส่วน ในวันที่ 4 ตุลาคม หรือ 3 วันก่อนที่ประธานาธิบดีปูตินจะมีอายุครบ 70 ปี ด้านฝ่ายบริหารที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียใน 4 แคว้นได้ยื่นคำขออย่างเป็นทางการให้ปูตินผนวกรวมกับรัสเซีย ตามที่เจ้าหน้าที่รัสเซียแนะนำว่าเป็นขั้นตอนที่ควรทำ การผนวก 4 แคว้นที่มีดินแดนคิดเป็นร้อยละ 15 ของยูเครนจะต้องมีการทำสนธิสัญญาและต้องได้รับสัตยาบันจากรัฐสภารัสเซียที่ควบคุมโดยพันธมิตรของปูติน จากนั้นทั้ง 4 แคว้นจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และอยู่ภายใต้อำนาจการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียตามที่ปูตินเคยประกาศว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ปกป้องดินแดนรัสเซียจากการถูกโจมตี