ข่าว
ครั้งแรกของโลก ! เด็กอิตาลี “ปลูกถ่ายหัวใจ” จากผู้บริจาคป่วยโควิด-19

วันศุกร์ ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564 : สำนักข่าวซินหัวรายงาน โรงพยาบาลแบมบิโน เกซู ในกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี ประกาศการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 สำเร็จครั้งแรกของโลก

แถลงการณ์จากโรงพยาบาลฯ ระบุว่าเด็กชาย วัย 15 ปี ซึ่งอยู่ในรายชื่อผู้รอรับหัวใจใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ฟื้นตัวแล้วหลังรับหัวใจจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อไวรัสฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยเด็กชายมีภาวะหัวใจโต (dilated cardiomyopathy) ซึ่งส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ปกติ ภาวะนี้พบได้ยากในประชากรวัยเด็ก โดยมีอัตราส่วนราว 1 รายต่อเด็ก 190,000 คน

ผู้ป่วยเด็กได้รับหัวใจเทียมชนิดโลหะเพื่อต่อชีวิตขณะรอหัวใจที่เข้าคู่กันได้ ทว่าโรงพยาบาลตัดสินใจร้องขอและได้รับอนุญาตจากศูนย์ปลูกถ่ายแห่งชาติและสำนักงานกำกับดูแลยาของอิตาลี ให้ทำการปลูกถ่ายโดยใช้หัวใจของผู้บริจาคที่ติดเชื้อไวรัสฯ หลังจากอาการของเขาทรุดลง

“ในสาขากุมารเวชศาสตร์ การหาหัวใจที่เข้ากันได้สำหรับการปลูกถ่ายนั้นยากกว่าผู้ใหญ่” อันโตนิโอ

อโมเดโอ หนึ่งในคณะแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดระบุในแถลงการณ์ “นั่นคือเหตุผลที่เราตัดสินใจทำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กคนนี้ได้อวัยวะที่เขารอคอย มันคือทางเลือกระหว่างความเป็นกับความตาย”

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2021 คณะแพทย์จากโรงพยาบาลซานต์ออร์โซลาในเมืองโบโลญญาของอิตาลี ทำการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาควัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสฯ ให้ผู้รับวัยผู้ใหญ่ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสฯ ทว่าขั้นตอนดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการปลูกถ่ายหัวใจในผู้ป่วยวัย 15 ปีรายข้างต้น โดยการปลูกถ่ายทั้งสองกรณีเป็นการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อไวรัสฯ ให้ผู้รับที่ไม่ติดเชื้อไวรัสฯ ครั้งแรก

EU ออกคำแนะนำ ไม่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา กับคนเป็นโรคเลือดออกหายาก

องค์การยายุโรปออกคำแนะนำใหม่ไม่ควรฉีดวัคซีนต้านโควิดของแอสตราเซเนกาให้แก่คนที่เป็นโรคเลือดออกหายาก พร้อมทั้งกำลังตรวจสอบเคสกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ โมเดอร์นา

11 มิ.ย. 64 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน คณะกรรมาธิการความปลอดภัยขององค์การยายุโรป (The European Medicines Agency ) หรือ EMA ออกคำแนะนำ ไม่ควรฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา ให้แก่ประชาชนที่มีประวัติเป็นโรคเลือดออกที่หายาก คือ capillary leak syndrome หรือกลุ่มอาการของโรคเส้นเลือดฝอยรั่ว

คณะกรรมาธิการความปลอดภัยขององค์การยายุโรปซึ่งประเมินในเรื่องนี้ ระบุว่าอาการโรคเส้นเลือดฝอยรั่ว (capillary leak syndrome) ต้องถูกระบุในอาการข้างเคียงใหม่ของวัคซีนต้านโควิดของแอสตราเซเนกาสำหรับอาการโรคเสันเลือดฝอยรั่วคืออาการที่มีเลือดรั่วไหลออกจากรูเล็กๆ ของเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กล้ามเนื้อ และช่องว่างของร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวม และความดันโลหิตตก

ทั้งนี้ องค์การยายุโรปได้เริ่มติดตามเคสผู้ป่วยที่เกิดอาการบวมและความดันโลหิตตก หลังจากได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา ในช่วงเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งความเป็นไปได้ที่วัคซีนแอสตราเซเนกาอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการลิ่มเลือดที่หายาก

ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2564 องค์การยายุโรปได้ออกคำแนะนำไม่ให้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 แก่ประชาชนที่มีภาวะลิ่มเลือด นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการความปลอดภัยขององค์การยายุโรปยังได้ขยายการตรวจสอบเพิ่มเติมในเคสของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดของแอสตราเซเนกา รวมทั้งวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ด้วย


ยานจูโนเผชิญหน้าดวงจันทร์แกนีมีดใกล้ชิด ในรอบ 20 ปี

ดวงจันทร์แกนีมีด (Ganymede) เป็นหนึ่งในดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีที่อยู่ในความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธและเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีสนามแม่เหล็กของตัวเอง ดังนั้น เมื่อองค์การนาซาส่งยานอวกาศจูโนไปโคจรสำรวจรอบดาวพฤหัสบดี ยานก็เก็บรวบข้อมูลของดาวบริวารดวงนี้มาเช่นกัน

ล่าสุด นักวิจัยหลักของยานจูโน จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ ในเมืองซาน อันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เผยว่า ยานจูโนได้เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดกับดวงจันทร์แกนีมีดในรอบ 20 ปี ในระยะทาง 1,038 กิโลเมตร จากพื้นผิวของดวงจันทร์เมื่อ 7 มิ.ย. นักวิจัยระบุว่ายานอวกาศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ลำนี้ จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบของแกนีมีด, ชั้นบรรยากาศที่เป็นไอออนเนื่องจากการแผ่รังสีสุริยะอย่างไอโอโนสเฟียร์, สนามแม่เหล็ก และเปลือกน้ำแข็งของดวงจันทร์ที่มีทั้งบริเวณสว่างและมืดมิด ซึ่งบ่งชี้ว่าบางพื้นที่อาจจเป็นน้ำแข็งบริสุทธิ์ ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ มีน้ำแข็งที่ปนเปื้อน

เครื่องวัดรังสีไมโครเวฟบนยานจูโนจะตรวจสอบในเชิงลึกเป็นครั้งแรกว่าองค์ประกอบและโครงสร้างของน้ำแข็งแปรผันตามความลึก เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าเปลือกน้ำแข็งก่อตัวอย่างไรและกระบวนการต่อเนื่ององที่พื้นผิวน้ำแข็งกลับคืนสู่สภาพเดิมเมื่อเวลาผ่านไปเป็นเช่นไร อีกทั้งการวัดสภาพแวดล้อมการแผ่รังสีใกล้ดวงงจันทร์แกนีมีด จะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจวิจัยดาวเคราะห์ที่เหมือนดาวพฤหัสบดีในอนาคต

Credit : USGS Astrogeology Science Center/Wheaton/NASA/JPL-Caltech


ระทึก สาวอังกฤษสุดกล้า ชกจมูกจระเข้ ช่วยน้องฝาแฝดโดนไอ้เข้ลากลงใต้น้ำ

11 มิ.ย.64 : เว็บไซต์เดอะ ซัน รายงานเหตุการณ์ จอร์เจีย ลอรี หญิงสาวชาวอังกฤษวัย 28 ปี เล่านาทีสุดระทึก ช่วยชีวิตน้องสาวฝาแฝด เมลิสซา ลอรี ที่กำลังถูกจระเข้ลากลงไปใต้น้ำต่อหน้าต่อตา ขณะลงไปว่ายน้ำในทะเลสาบที่เม็กซิโก โดย จอร์เจีย ซึ่งขณะนั้นกำลังกินข้าวกลางวันกับเพื่อนที่มาด้วยกัน ได้แสดงความกล้าหาญ ตัดสินใจกระโดดลงไปช่วยชีวิตน้องอย่างไม่รีรอ และเธอได้ปล่อยหมัดใส่จมูกจระเข้อย่างแรง เพื่อให้คายคมเขี้ยวปล่อยตัวน้องสาว เมลิสซา

“จะสู้หรือจะหนี” สาวอังกฤษคือฮีโร่ โดดลงไปช่วยน้องสาวฝาแฝดถูกจระเข้ลากลงใต้น้ำขณะไป เที่ยวทะเลสาบที่เม็กซิโก ปล่อยหมัดชกจมูกจระเข้อย่างแรงจนมันยอมคายร่าง จอร์เจีย เปิดใจกับนักข่าวบีบีซี เล่านาทีที่เธอตัดสินใจช่วยน้องสาวฝาแฝด พร้อมกล่าวว่า “คุณต้องสู้เพื่อคนที่คุณรัก”

จอร์เจียและเมลิสซา ซึ่งเกิดที่มณฑลเบิร์กเชียร์ ในอังกฤษ ได้นั่งเรือนำเที่ยวไปเที่ยวทะเลสาบ มาเนียเทเปค ในเม็กซิโก ตามคำแนะนำของเจ้าของโฮสเทล ที่พักที่เธอน้องสาวและเพื่อนๆ พักอยู่ โดยมีไกด์ท้องถิ่นนำทาง

จอร์เจีย บอกว่า เธอยังได้พูดคุยกับไกด์ว่า บริเวณนี้ดูเหมือนเป็นถิ่นที่อยู่ของจระเข้ ถึงแม้เขาจะบอกว่าบริเวณนี้ปลอดภัยสำหรับการลงไปว่ายน้ำ แต่แล้ว ในขณะที่จอร์เจียและเพื่อนๆ กำลังกินอาหารกลางวันในช่วงบ่ายนั้น เมลิสซา ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ ได้ลงไปว่ายน้ำและเธอได้ถูกจระเข้ตัวหนึ่งลากลงไปใต้น้ำ

เหวี่ยงร่างจนมองดูเหมือนกับเป็นตุ๊กตาผ้า

จอร์เจีย บอกว่า นาทีนั้นมันน่ากลัวจริงๆ เธอได้ตัดสินใจกระโดดลงไปช่วยน้องสาวฝาแฝด ต่อยที่จมูกของจระเข้จนมันยอมคายปาก และจอร์เจียได้รีบว่ายน้ำพร้อมกับลากน้องสาวที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกัดกลับ มาขึ้นเรือ

ส่วนเพื่อนคนหนึ่งได้รีบไปตะโกนขอความช่วยเหลือ โชคดีที่มีเรือนำเที่ยวอีกลำหนึ่งอยู่บริเวณนั้น และได้รีบมาช่วยทันที อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ เมลิสซาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกจระเข้กัดเข้าที่ท้องและขา โดยขณะนี้เกิดอาการภาวะติดเชื้อ อาการโคม่า

ด้าน ฮานา ลอรี พี่สาววัย 33 เคยบอกกับบีบีซีว่ามีน้ำปริมาณมาก เศษหญ้าและอื่นๆ เข้าไปในปอดของเมลิสซา ขณะที่เธอถูกจระเข้ลากลงไปใต้น้ำด้วย


อังกฤษบริจาควัคซีน 100 ล้านโดสให้ประเทศขาดแคลน

ชาติอุตสาหกรรมประกาศเตรียมบริจาควัคซีนโควิดให้ประเทศขาดแคลน หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเตรียมบริจาควัคซีนโควิด 500 ล้านโดส ไปก่อนหน้านี้

11 มิ.ย. 2564 : BBC : นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุก่อนหน้าการประชุม จี-7 หรือการประชุมประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพว่า อังกฤษเตรียมบริจาควัคซีนต้าน โควิด จำนวน 100 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยบริจาคไปจนถึงปีหน้า โดยจะเริ่มบริจาค 5 ล้านโดสแรกในเดือนกันยายน และอีก 25 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้

นายจอห์นสัน ระบุว่า สืบเนื่องจากความสำเร็จจากโครงการฉีดวัคซีนของประเทศ ทำให้ขณะนี้อังกฤษสามารถบริจาควัคซีนส่วนเกินให้แก่ผู้ที่ต้องการวัคซีนได้ โดยคาดว่าประชาชนวัยผู้ใหญ่ในอังกฤษจะได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกครบทุกคนภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะที่ก่อนหน้านี้อังกฤษได้บริจาคเงินจำนวน 500 ล้านปอนด์ หรือราว 22,000 ล้านบาท ให้แก่โครงการโคแวกซ์เพื่อกระจายวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยนายจอห์สัน หวังว่าผู้นำที่จะเข้าร่วมการประชุม จี-7 นั้น จะร่วมบริจาควัคซีนเช่นกันซึ่งจะทำให้ทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้

การบริจาควัคซีนของอังกฤษเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตรียมบริจาควัคซีนต้านโรคโควิด-19 จากบริษัท จากไฟเซอร์ ให้แก่โครงการโคแวกซ์จำนวน 500 ล้านโดส

ที่มา: BBC


จี 7 เล็งบริจาคชาติยากจนทั่วโลก วัคซีนโควิด 1,000 ล้านโดส

จี 7 – วันที่ 11 มิ.ย. รอยเตอร์ รายงานการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือจี 7 ที่เมืองคาร์บิสเบย์ เทศมณฑลคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำอังกฤษ ขอร้องให้บรรดาผู้นำจี 7 จะบริจาควัคซีนโควิด-19 จำนวน 1,000 ล้านโดส แก่บรรดาประเทศยากจนเช่นกัน ภายในช่วงสิ้นปี 2565 เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนทั่วโลก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประกาศบริจาควัคซีนไฟเซอร์ 500 ล้านโดส แก่ชาติยากจน

สำหรับปฏิกิริยาจากสมาชิกจี 7 อังกฤษจะมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 100 ล้านโดส ในจำนวนนี้ 80 ล้านโดส จะส่งมอบแก่โครงโคแว็กซ์ขององค์การอนามัยโลก อีก 20 ล้านโดส จะแบ่งปันโดยตรงกับประเทศที่ต้องการ

ขณะที่สหภาพยุโรปจะบริจาควัคซีนอย่างน้อย 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 ในจำนวนนี้เป็นของฝรั่งเศสและเยอรมนี ประเทศละอย่างน้อย 30 ล้านโดส และอิตาลีอย่างน้อย 15 ล้านโดส ขณะที่ญี่ปุ่นจะบริจาคอย่างน้อย 30 ล้านโดส ส่วนแคนาดายังเปิดเผยจำนวนที่ไม่แน่ชัด

ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษเผยแพร่ถ้อยแถลงบางส่วนที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันเตรียมปราศรัยว่า “ผลจากความสำเร็จในโครงการวัคซีนของอังกฤษ ตอนนี้เราอยู่ในสถานะที่สามารถแบ่งปันวัคซีนส่วนเกินบางส่วนแก่คนต้องการได้ เพราะฉะนั้น เราจะใช้ก้าวย่างสำคัญในการมุ่งหน้าสู่การเอาชนะโรคระบาดใหญ่นี้ไปตลอดกาล”

ด้านกลุ่มวัน (ONE) กลุ่มรณรงค์ต่อต้านความยากจน ประณามแผนดังกล่าวเป็นแค่ “หยดน้ำในมมหาสมุทร”

นายหลุยส์ วัลเลซ รักษาการหัวหน้าผู้บริหารกลุ่มวัน กล่าวว่า “เป้าหมายของจี 7 ในการส่งมอบวัคซีน 1,000 ล้านโดส ควรพิจารณาความสำคัญต่ำสุด และกรอบเวลาจำเป็นต้องเร่งเร็วขึ้น” และว่า “เรากำลังแข่งขันกับไวรัส การรอคอยเนิ่นนานเท่าใดยิ่งนำความเสี่ยงเจอไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ๆ และอันตรายกว่าเดิม อาจบั่นทำลายความก้าวหน้าของโลกในการต่อสู้กับไวรัส”


รำลึก ครบรอบ 2 ปีแห่งการจากไป ของนักเขียนอัจฉริยะ ผอ.วิรัช โรจจนปัญญา

“สายน้ำไม่ค่อยท่า วันเวลาไม่คอยใคร” รำลึกครบรอบ 2 ปี ในวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ของการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ วิรัช โรจนปัญญา หรือ มังตรา ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “ไทยแอล.เอ.” ที่จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ขณะที่มีอายุครบ 75 ปี โดยบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน เพราะวันเกิดของ ผอ.วิรัช คือ 15 มิถุนายน 2486 “ขอให้ท่านไปสู่สุคติ สัมปรายภพที่เปี่ยมด้วยบรมสุขชั่วนิรันดร์นั้นเทอญ”….. จากทีมงาน นสพ.ไทยแอลเอ

นักวิจัยจีนเผย พบไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่ในค้างคาว พันธุกรรมใกล้เคียงโควิด-19

11 มิถุนายน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า คณะนักวิจัยจีนพบกลุ่มไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาว ซึ่งหนึ่งในไวรัสที่ค้นพบนี้มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19

การค้นพบนี้ของคณะนักวิจัยจีนตีพิมพ์ลงในวารสาร Cell เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ระบุว่า ค้นพบกลุ่มไวรัสโคโรนาในพื้นที่ป่าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีไวรัสโคโรนาในค้างคาวกี่ชนิดและมีศักยภาพในการแพร่เชื้อสู่คนได้มากเพียงใด

สือ เว่ยเฟิง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชานตงและคณะ ได้รวบรวมเก็บตัวอย่างจากกลุ่มค้างคาวในป่าระหว่างเดือนพฤษภาคมปี 2019-เดือนพฤศจิกายนปี 2020 โดยนำปัสสาวะและมูลค้างคาวมาทำการทดสอบ รวมถึงการทำสวอบเก็บตัวอย่างเชื้อในน้ำลายจากปากค้างคาวด้วย

“เรารวบรวมข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาได้ทั้งหมด 24 ชุดจากค้างคาวสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงไวรัสโคโรนา 4 ตัวที่คล้ายมากกับไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2” รายงานของทีมวิจัยจีนระบุ โดยมีไวรัสโคโรนาตัวหนึ่งที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายกันอย่างมากกับไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นตัวอย่างไวรัสที่เรียกว่า RpYN06 ที่ได้จากค้างคาวเกือกม้าที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinolophus pusillus พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 แตกต่างกันแค่โปรตีนในหนามโปรตีนบริเวณเปลือกนอกของไวรัสเท่านั้น

“เมื่อนำผลวิจัยนี้ไปรวมกับการค้นพบไวรัสที่มีความเชื่อมโยงกับ SARS-CoV-2 ซึ่งเก็บรวบรวมได้จากประเทศไทยในเดือนมิถุนายนปี 2020 ผลลัพท์ที่ได้นี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีโคโรนาไวรัสที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกับ SARS-CoV-2 ยังคงแพร่กระจายอยู่ในหมู่ค้างคาวเยอะมาก” นักวิจัยจีนระบุ

ทีมนักวิจัยจีนพยายามที่จะศึกษาหาต้นตอที่มาของไวรัส SARS-CoV-2 โดยแม้ว่าอาจมีต้นตอมาจากค้างคาว แต่ก็มีความเป็นไปที่เชื้อไวรัสโคโรนาอาจแพร่มาจากสัตว์ที่เป็นสื่อกลาง เช่น ไวรัสโรค SARS ที่เกิดการระบาดในปี 2002-2004 ถูกพบว่ามีต้นตอมาจากชะมด

“เป็นที่รู้กันดีว่าค้างคาวเป็นแหล่งอาศัยของเชื้อไวรัสหลากหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงในมนุษย์และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสต่างๆ เช่น ไวรัสอีโบลา นอกเหนือจากค้างคาวและมนุษย์แล้ว ไวรัสโคโรนายังแพร่เชื้อระบาดในหมู่สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า อย่างหมู วัว หนู แมว สุนัข ไก่ และ กวาง อีกด้วย” นักวิจัยจีนระบุ

รายงานระบุอีกว่า กลุ่มตัวอย่างไวรัสส่วนใหญ่มาจากค้างคาวเกือกม้า ที่ในปี 2017 ทีมนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างมาจากถ้ำในยูนนาน ที่ยังพบไวรัสที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับไวรัส SARS อยู่ในค้างคาวเกือกม้า การศึกษาของเราเน้นย้ำให้เห็นถึงความหลากหลายที่สำคัญของไวรัสโคโรนาในค้างคาว ซึ่งรวมถึงไวรัสที่มีความมเกี่ยวพันกับไวรัส SARS-CoV-2 and SARS-CoV โดยค้างคาวพันธุ์ต่างๆ ที่นักวิจัยเก็บตัวอย่างมาพบได้ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เวียดนาม ลาว และที่อื่นๆ