ข่าว
อย่างเทพ! สื่อมะกันชม ‘โอบามา’ โชว์ทักษะเล่นไคท์เซิร์ฟในวันพักผ่อน

เว็บไซต์ชิคาโกทริบูนรายงานว่า บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และมิเชล ภรรยา ใช้เวลาในการพักผ่อนอย่างเต็มที่หลังพ้นจากตำแหน่งในทำเนียบขาว โดยล่าสุด ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งเวอร์จินกรุ๊ป โพสต์ภาพถ่ายและวิดีโอในบล็อกส่วนตัวขณะที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมทางน้ำ “ไคท์เซิร์ฟ” อยู่นอกชายฝั่งเกาะส่วนตัวของแบรนสันในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน

แบรนสันเขียนระบุในบล็อกว่า โอบามาที่เป็นชาวฮาวาย บอกว่าเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นกีฬาประเภทนี้ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

แบรนสันเล่าว่า หลังจากใช้เวลา 2 วันในการเรียนรู้วิธีเล่นไคท์เซิร์ฟ โอบามาซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีความสามารถยอดเยี่ยมในการเล่นบาสเกตบอล สามารถเอาชนะแบรนสันซึ่งเล่นไคท์เซิร์ฟมานานกว่ามากในการเล่นกีฬาชนิดนี้ได้สำเร็จ โดยวอชิงตันโพสต์ถึงกับพาดหัวข่าวชื่นชมว่า โอบามาทำให้พวกเราทุกคนดูแย่ด้วยการแสดงออกถึงทักษะการเล่นกีฬาที่เยี่ยมยอดแบบไม่ต้องพยายามมากนัก

“ยูเอ็น”ถวายตำแหน่ง “พระองค์ภาฯ” ทูตสันถวไมตรีหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคอาเซียน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า สำนักป้องกันยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ได้ถวายตำแหน่งทูตสันทวไมตรีด้านหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้กับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเดียวกันนี้

รายงานอ้างนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะทรงช่วยส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงในเรือนจำ โดยพระองค์จะทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มิได้ทรงมองว่าพระองค์อยู่เหนือกฎหมาย ทั้งยังทรงมีความสนพระทัยในการช่วยผลักดันการปฏิรูประบบยุติธรรม” นายดักลาส ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ประจำคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และเอกอัครราชทูตไทยประจำออสเตรียด้วย


“ทักษิณ” ส่งทนายแจ้งความคนหมิ่นตัดต่อภาพคู่ “ไซซะนะ”

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่มีการตัดต่อภาพ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใส่แทนบุคคลอื่นในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนายไซซะนะ ในคดียาเสพติดที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้เผยแพร่ภาพ นายทักษิณ คู่กับนายไซซะนะในโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า นายทักษิณ มีความสนิทสนมกับนายไซซะนะ รวมทั้งยังใส่ร้าย ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง นายทักษิณ ซึ่งเป็นกระบวนการใส่ร้ายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีระเบิดที่ราชประสงค์ หรือกรณีระเบิดที่ภาคใต้เป็นต้น ซึ่งปรากฎแล้วว่าเป็นการใช้ความเท็จใส่ร้ายป้ายสี นายทักษิณ อย่างไร้คุณธรรม ที่ผ่านมา นายทักษิณ ก็พยายามอดทน อดกลั้นและให้อภัยมาโดยตลอด แต่ขบวนการทำลายก็มิได้หยุดหย่อน ในครั้งนี้ นายทักษิณ จึงได้มอบหมายให้ทนายความไปแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้บิดเบือนตัดต่อภาพ และโพสต์ข้อความใส่ร้ายทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์ภาพต่อ ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

“ขอเรียกร้องให้ยุติการแชร์ภาพตัดต่อ ตนเชื่อว่าการปรองดองจะสำเร็จนั้นไม่ใช่เฉพาะในหมู่นักการเมืองเท่านั้น คนบางกลุ่มที่ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายต้องร่วมมือด้วย เริ่มจากการเอาความเกลียดชังออกจากใจตนเอง เคารพสิทธิของคนอื่นและไม่นำความเท็จมาใส่ร้ายกันเพราะประเทศบอบช้ำจากการใส่ร้ายป้ายสีและวาทกรรมสร้างความเกลียดชังมามากแล้ว” นายนพดล กล่าว


กรณ์ เชื่อ เงินคงคลังน้อยไม่มีปัญหา เมื่อมีรายได้-กู้เพิ่ม ยอดจะกลับมาเหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังถังแตกเพราะเงินคงคลังเหลือน้อยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ว่าเงินคงคลังของรัฐบาลเหลือน้อย จะไม่ส่งผลต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องการบริหารเงินสด ซึ่งบางช่วงที่มีการเบิกจ่ายมากก็ทำให้เงินสดที่เก็บในลิ้นชักน้อยลง เมื่อมีรายได้เข้ามาหรือ สามารถกู้ยืมเพิ่มเติมได้ ก็จะทำให้เงินคงคลังกลับมาอยู่ที่ 400,000 กว่าล้านบาทเหมือนเดิม ดังนั้น ตนจึงไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหา แต่ที่น่าติดตามคือการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ขาดดุลงบประมาณค่อนข้างมากและมีงบประมาณกลางปีด้วยต้องมีความระมัดระวัง จึงต้องจับตาดูว่าการใช้เม็ดเงินนี้ส่งผลต่อประเทศระยะยาวและทำอย่างระมัดระวังหรือไม่ ซึ่งตนคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็คงตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว


วิษณุ แพลม เลือกตั้งไม่เกิดเร็วๆนี้ อย่างน้อยใช้เวลาอีกปี

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูปกฎหมาย บริบทประเทศไทยบนเวทีโลก” ตอนหนึ่งว่า ร่างรัฐธรรมนูญ เวลานี้มีการขอทูลเกล้าฯขอกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อปรับแก้ไม่กี่มาตรา ซึ่งคงจะทูลเกล้าถวายก่อน 18 กุมภาพันธ์ แน่นอน เพราะเกือบเสร็จแล้ว ซึ่งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง คือจะต้องทำเรื่องนั้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการเลือกตั้งนั้นคงจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ อย่างน้อยก็ใช้เวลาอีกหนึ่งปี และมาตรา 77 กำหนดว่าทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในทุกขั้นตอนหากไม่ทำจะมีความผิด อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 44 ไม่ใช่มาตรการที่ยั่งยืน ทุกครั้งที่ใช้จะให้แต่ละหน่วยงานเสนอกฎหมายเข้าสภา เพราะสภามีหลายหูหลายตาช่วยให้รอบคอบ มาตรา 44 เป็นแค่กาปฐมพยาบาล แต่ถ้าคุณจะผ่าตัดต้องเข้าโรงพยาบาลคือสภา แต่ถ้าไม่ทันอย่างนั้น วันที่คสช.กลับบ้าน เขาจะออกมาตรา 44 ให่ม่เลิกคำสั่งคสช.ทั้งหมด และมาตรการจะหายไปทั้งหมดถ้าไม่มีมาตรการอะไรมารองรับ ซึ่งส่วนราชการเข้าใจและตกลงกันทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการปฏิรูป


รายงานใหม่ “แอมเนสตี้” ชี้ไทยคุกคามทางกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิฯ

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่าทางการไทยพยายามเอาผิดทางอาญาและลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเห็นต่างจากรัฐ โดยพุ่งเป้าไปที่ภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “พวกเขาไม่สามารถทำให้เราเงียบได้”: เมื่อนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่นในประเทศไทยโดนเอาผิดทางอาญา” ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาต่อภาคประชาสังคม 64 คน ทั้งที่เป็นนักกิจกรรม นักศึกษา นักเคลื่อนไหวระดับชุมชน และนักปกป้องสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงนักวิจัย นักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว และนักวิชาการ กฎหมายและคำสั่งหลายฉบับถูกนำมาใช้เพื่อสอบสวน จับกุม และดำเนินคดีต่อพวกเขา เพียงเพราะการใช้สิทธิเพื่อแสดงความเห็นโดยปราศจากความรุนแรง การทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ และการทำหน้าที่ของพวกเขาในฐานะสื่อหรือนักกฎหมาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่านักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนที่ยาวนานในศาลทหาร ซึ่งเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยหากศาลตัดสินว่ามีความผิด หลายคนอาจได้รับโทษจำคุกรวมกันหลายสิบปี เช่น กรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีอาญาถึงห้าคดีและถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษจังหวัดขอนแก่น โดยถูกศาลเพิกถอนประกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาเชิงบวกขึ้นเล็กน้อย เมื่ออัยการสั่งไม่ดำเนินคดีต่อนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หรือ “เมย์” ที่โดนกองทัพฟ้องร้อง หลังออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชายของตน ซึ่งเป็นพลทหารที่ถูกทรมานจนเสียชีวิตระหว่างการฝึก

สหรัฐเล็งขอพาสเวิร์ดโซเชียลมีเดียตรวจสอบประวัติการใช้เน็ต คัดกรอง 7 ชาติมุสลิมขอวีซ่า

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายจอห์น เคลลี รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ว่า สถานทูตสหรัฐอาจจะสอบถามพาสเวิร์ดหรือรหัสผ่านบัญชีเว็บไซต์เครือข่ายสังคมหรือโซเชียลมีเดียของผู้ยื่นคำร้องขอทำวีซ่า เป็นมาตรการตรวจสอบคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศในอนาคต

นายเคลลีกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังสหรัฐที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในอนาคตเพื่อป้องกันผู้ที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง โดยระบุว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 7 ชาติมุสลิมซึ่งมีระบบคัดกรองของตนเองอยู่ในระดับอ่อนแอ ประกอบไปด้วยอิหร่าน อิรัก ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรียและเยเมน

“เรากำลังหาวิธีปรับปรุงการคัดกรองให้ดียิ่งขึ้น” นายเคลลีเปิดเผยกับกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และว่า “เราอาจจำเป็นต้องขอพาสเวิร์ดโซเชียลมีเดียของพวกเขาเพื่อเข้าไปตรวจสอบ”

“เป็นเรื่องยากที่จะคัดกรองคนจากทั้ง 7 ประเทศนี้ แต่หากพวกเขาต้องการเดินทางเข้าสหรัฐ เราคงต้องสอบถามว่าพวกเขาเข้าเว็บไซต์ไหนบ้าง และขอให้บอกรหัสผ่านกับเรา เพื่อเราจะได้เข้าไปดูกิจกรรมบนอินเตอร์เน็ตของพวกเขาได้” นายเคลลีกล่าว และว่า “หากพวกเขาไม่ต้องการให้ความร่วมมือ ก็จะไม่ได้เข้าสหรัฐ” นายเคลลีกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเคลลีย้ำว่า ยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ระบุว่า จะมีระบบคัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตแม้ว่าจะหมายถึงการต้องใช้เวลานานมากกว่าเดิมในการที่สหรัฐจะพิจารณาออกวีซาให้นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ 7 ชาติมุสลิมดังกล่าวคือประเทศที่ถูกห้ามเข้าสหรัฐในคำสั่งผู้บริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม

ด้านซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ค่ำวันเดียวกัน ผู้พิพาษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐเปิดฉากไต่สวนทีมทนายความของกระทรวงยุติธรรมและรัฐวอชิงตันที่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินให้มีการระงับคำสั่งผู้บริหารของนายทรัมป์ที่ห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐของพลเมือง 7 ชาติมุสลิมดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีคำพิพากษาเรื่องนี้ภายในสัปดาห์นี้