องค์การอนามัยโลกแสดงความกังวล หลังแอฟริกายังขาดวัคซีนโควิดอีก 470 ล้านโดส เนื่องจากพันธมิตรโคแวกซ์งดส่งวัคซีน ซึ่งอาจส่งผลให้ทั่วโลกต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
ทวีปแอฟริกายังคงเป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดของโลก ในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 หลังจากยังเผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีนต้านโควิด เนื่องจากประเทศพันธมิตรในโครงการโคแวกซ์ยังไม่สามารถส่งวัคซีนให้ครบถ้วนตามกำหนด สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังคงต้องการวัคซีนจำนวนมาก และมีการสั่งห้ามการส่งออกวัคซีนในเวลานี้
โดยทวีปแอฟริกายังคงขาดวัคซีนอีกจำนวนกว่า 470 ล้านโดส ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์ตัวใหม่ที่อาจจะรุนแรงกว่าเดิม และอาจจะทำให้ทั่วโลกต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการรับมือกับการระบาดของไวรัสมรณะนี้อีกครั้ง โดยมีการประมาณการว่าจะมีประชากรเพียง 17 เปอร์เซ็นต์จากทั้งทวีปที่ได้รับวัคซีนแล้วภายในสิ้นปีนี้ เปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยองค์การอนามัยโลกที่ 40 เปอร์เซ็นต์
สถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนของทวีปแอฟริกา เกิดขึ้นในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุด โดยมีรายงานผู้ติดเชื้อทะลุ 8 ล้านรายในสัปดาห์นี้ และตราบใดที่ประเทศร่ำรวยยังคงกักตุนวัคซีนไม่ให้มาถึงโครง การโคแวกซ์ แอฟริกาก็จะไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ เดิมทีทวีปแอฟริกา จะต้องได้รับวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ในเดือนกันยายนนี้ 95 ล้านโดส และถึงแม้จะสามารถส่งมอบได้ตามกำหนดเดิม แอฟริกาก็จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ราว 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 3.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย
วันที่ 17 ก.ย. บีบีซี รายงานว่า นักบินอวกาศจีน 3 นาย ได้แก่ เนี่ย ไห่เซิง, หลิว โป๋หมิง, และทัง หงปัว เดินทางกลับสู่โลก หลังเสร็จสิ้นภารกิจอวกาศ 90 วัน ที่ยาวนานที่สุดของประเทศ ที่ยานโมดูลเทียนเหอ บนสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 380 กิโลเมตร
นักบินอวกาศ 3 นาย เดินทางออกจากสถานีอวกาศด้วยยานอวกาศเสินโจ-12 เมื่อวันที่16 ก.ย. กลับสู่พื้นโลกลงที่ทะเลทรายโกบี ในเขตมองโกเลียใน เมื่อ13.35 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภารกิจแห่งความสำเร็จครั้งล่าสุดเป็นอีกการแสดงถึงความมั่นใจและความสามารถเพิ่มขึ้นของจีนในอวกาศ
ทั้งนี้ นักบินอวกาศ 3 นาย เดินทางไปอวกาศเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. จากฐานปล่อยที่ทะเลทรายแห่งเดียวกัน ขณะอยู่ในอวกาศ เสร็จสิ้นงานหลายอย่าง รวมถึงการทดลองส่งข้อมูลกลับมาสู่โลก และการเดินในอวกาศเป็นเวลานานหลายชั่วโมง
ส่วนยานโมดูลเทียนเหอ โมดูลหลักของสถานีอวกาศที่นักบินอวกาศ 3นาย อาศัยอยู่ มีพื้นที่อยู่อาศัยแยกสำหรับนักบินอวกาศแต่ละคน และห้องออกกำลังกายในอวกาศที่มีลู่วิ่งและจักรยานที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
แคปซูลส่งกลับของยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-12 (Shenzhou-12) ซึ่งบรรทุกเนี่ยไห่เซิ่ง หลิวโป๋หมิง และทังหงโป ลงจอดเรียบร้อยแล้วที่ฐานลงจอดตงเฟิง ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน โดยนักบินอวกาศทั้งสามออกจากแคปซูลส่งกลับแล้ว และทั้งหมดมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี
อย่างไรก็ดี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ฐานลงจอดตงเฟิงในการค้นหาและกู้ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ยานอวกาศเสินโจว-12 ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนและเชื่อมต่อกับโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. โดยหลังจากเชื่อมต่อเสร็จสิ้น นักบินอวกาศทั้งสามก็เข้าสู่โมดูลหลักและเริ่มปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลานาน 3 เดือน
ทั้งนี้ นักบินอวกาศปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศรวม 2 ครั้ง และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอวกาศมากมาย โดยพวกเขาได้ทดสอบเทคโนโลยีหลักสำหรับการก่อสร้างและการดำเนินงานของสถานีอวกาศ ด้านการอาศัยอยู่ในอวกาศเป็นเวลานานของนักบินอวกาศ ระบบรีไซเคิลและระบบช่วยชีวิตให้สามารถอยู่รอดในอวกาศ รวมไปถึงการจัดหาวัสดุในอวกาศ การปฏิบัติกิจกรรมและงานต่างๆ นอกยาน ตลอดจนการบำรุงรักษาในวงโคจร
ภารกิจครั้งนี้มีอะไรบ้าง
เป้าหมายสำคัญของผู้บัญชาการ เนี่ย ไห่เซิ่ง และลูกทีม ในภารกิจเสินโจว-12 คือการทำให้โมดูลเทียนเหอ น้ำหนัก 22.5 ตัน ซึ่งเป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศพร้อมสำหรับการใช้งาน
เนี่ย ไห่เซิ่ง กล่าวก่อนออกเดินทางว่า “เราต้องจัดเตรียมบ้านหลังใหม่ในอวกาศของพวกเรา และทดสอบเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ ดังนั้นภารกิจนี้จึงยากและท้าทายมาก ผมเชื่อว่าการที่เรา 3 คนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และทำภารกิจต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและแม่นยำ เราก็จะสามารถเอาชนะความท้าทายไปได้ เรามีความมั่นใจว่าจะทำภารกิจนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”
จีนวางแผนจะดำเนินภารกิจเพิ่มอีก 6 รายการ ซึ่งรวมถึงการส่งโมดูลเวิ่นเทียน (Wentian) และเมิ่งเทียน (Mengtian) ที่จะใช้เป็นห้องแล็บวิทยาศาสตร์ รวมทั้งยานขนส่งสัมภาระ 2 ลำ และยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมอีก 2 ลำ ในปี 2022 เพื่อก่อสร้างสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จ
วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ เมื่อคนธรรมดาๆ (ที่รวยมาก) ก็สามารถตีตั๋วบินไปเที่ยวอวกาศได้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน เวลา 20.03 น.ตามเวลาท้องถิ่น จรวดฟอลคอล 9 ของสเปซเอ็กซ์ถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อย 39เอ ก่อนพระอาทิตย์ตกดินเล็กน้อยที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ในเมืองเคปคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา นี่เป็นครั้งแรกที่ส่งจรวดที่มีแต่คนธรรมดาโดยสารขึ้นไปสู่วงโคจรโลก
การขึ้นไปอวกาศในครั้งนี้เป็นภารกิจที่ชื่อว่า Inspiration4 โดยมีผู้โดยสาร 4 คน นายจาเรด ไอแซกแมน มหาเศรษฐีชาวอเมริกันวัย 38 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Shift4 Payment โดยเขาเป็นผู้ออกค่าตั๋วเดินทางทั้งหมดมูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 7,000 ล้านบาท) อ้างอิงจากข้อมูลในนิตยสารไทม์ ส่วนผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่ถูกเลือก ได้แก่ เฮย์ลีย์ อาร์เซโนซ์ หญิงชาวอเมริกันวัย 29 ปี เซียน พรอคเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาวัย 51 ปีและคริส เซมโบรสกี วิศวกรข้อมูลวัย 42 ปี
พวกเขาทั้ง 4 คนก้าวเข้าไปในห้องโดยสารที่มีแรงดันของแคปซูลจรวดสเปซเอ็กซ์ครูวดรากอนสีขาวแวววาวซึ่งมีชื่อว่า Resilience ขณะสวมชุดนักบินพร้อมหมวกสีขาวดำ ต่อมาแคปซูลพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าที่มืดมิดและใช้เวลาในการไปถึงวงโคจรเกือบ 10 นาที
ตัวบูสเตอร์ส่วนแรกของจรวดบินกลับมายังโลกและลงสู่พื้นอย่างปลอดภัยบนแท่นลงจอดที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกบนเรือโดรนชื่อ Just Read the instructions หลังจากแยกออกจากครึ่งบนของยานอวกาศ
ท่ามกลางเสียงโห่ร้องในศูนย์ควบคุมภารกิจของ SpaceX ขณะที่จรวดขึ้นไปเหนือพื้นโลกเกือบ 200 กม. นายไอแซคแมนอ่านคำแถลงขอบคุณผู้ที่ทำให้เกิดการเดินทางนี้
ด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมง แคปซูลได้ไปถึงระดับความสูงสุดท้ายของวงโคจร ซึ่งสูงกว่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล 585 กม. ด้วยความสูงนี้ยานครูวดรากอนวนรอบโลก 1 รอบทุก 90 นาที ด้วยความเร็ว 27,360 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือเร็วกว่าความเร็วแสง 22 เท่า
เที่ยวบินดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่โคจรรอบโลกโดยไม่มีนักบินอวกาศอาชีพเลย โดยเที่ยวบินนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการเดินทาง 3 วันนับจากการปล่อยขึ้นสู่อวกาศไปจนถึงการกลับสู่โลกด้วยการลงจอดบนมหาสมุทรแอตแลนติก
นอกจากนี้เที่ยวบินนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศของสเปซเอ็กซ์อีกด้วย
มติชน: วันที่ 17 กันยายน 2564 โยนาส การ์ สเตอร์ หัวหน้าพรรคแรงงานนอร์เวย์ ที่คว้าเก้าอี้ในสภานอร์เวย์ได้มากเป็นอันดับที่ 1 กำลังจะต้องเจรจากับพรรคร่วมเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และกำลังจะกลายเป็นนายกรัฐนตรีนอร์เวย์
สเตอร์ ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองที่มีความขัดแย้งในตัวเอง ในฐานะเป็นผู้นำพรรคแรงงาน ที่ต้องเป็นตัวแทนของประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลางถึงล่าง รณรงค์หาเสียงเรียกร้องถึง “ความเท่าเทียม” แต่ตัวของสเตอร์เอง กลับเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินหลัก 500 ล้านบาท และมักจะถูกโจมตีว่าเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดซีกขวา
สเตอร์ ในวัย 61 ปี มีภรรยา มีลูก 3 คน มีฐานะร่ำรวยที่เป็นมรดกตกทอดจากธุรกิจครอบครัว
สเตอร์ เดินตามรอย “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและครูทางการเมือง โดย สเตอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค หลังจากสโตลเทนเบิร์ก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการใหญ่องค์การนาโต ในปี 2014
สเตอร์ มีการศึกษาในระดับสูงที่ “ซิยอง โป” สถาบันรัฐศาสตร์ ชั้นนำในกรุงปารีส ได้เรียนช่วงสั้นๆ ที่ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิคส์ ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ช่วงเวลาสั้นๆ และได้เป็นนักวิจัยที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกาด้วย
ด้วยฐานะทางครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงประวัติการศึกษา เรียกได้ว่าเป็นประชากรในระดับ อีลิท ที่นักวิเคราะห์การเมืองมองกันว่า สเตอร์ อาจจะต้องปีนบันไดทางสังคมแบบ “กลับหัว” ในเส้นทางการเมืองของตัวเอง
แม้จะเจอกับเสียงวิจารณ์ โดยเฉพาะจากสมาชิกปีกซ้ายภายในพรรคแรงงาน แต่ สเตอร์ ก็ทำได้ดีในการหาเสียง สามารถคว้าเก้าอี้ได้มากที่สุด และได้รับการคาดหมายว่าจะสามารถรวมเสียงกับพรรคเล็กตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด
สเตอร์ มีประสบการณ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2005-2012 และรัฐมนตรีสาธารณสุข ในปี 2012-2013 ในยุคนายกฯสโตลเทนเบิร์ก
สเตอร์ มีผลงานเด่นในการสร้างสัมพันธุ์อันดีกับรัสเซีย แก้ปัญหาความขัดแย้งทางทะเลหลายกรณี จนได้รับฉายา “ซุปเปอร์โยนาส”
ผลงานดังกล่าว ทำให้เซร์เก ลาฟลอฟ์ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียถึงกับพูดติดตลกว่าตน “เจอหน้าสเตอร์มากกว่าเจอหน้าภรรยา” เสียอีก
รายงานของสำนักข่าวเอพีระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาระบบใหม่เพื่อควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นไปได้ว่าระบบใหม่นี้จะมาพร้อมกับการติดตามการสัมผัส (contract tracing) และข้อบังคับเรื่องการฉีดวัดซีน ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อมาตรการที่ห้ามให้ไม่ให้นักท่องเที่ยวจากบางประเทศเข้าสหรัฐฯ ถูกยกเลิกไป
เจฟฟรีย์ ไซเอนต์ เจ้าหน้าทำเนียบขาวที่ประสานงานการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสอธิบายว่า โควิดสายพันธุ์เดลตาและจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นในตอนนี้ ก่อให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการนำระบบใหม่มาใช้ โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องมาตรการติดตามการสัมผัสของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งห้ามไม่ให้สายการบินเก็บข้อมูลการติดตามการสัมผัสของผู้โดยสารจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
เจฟฟรีย์ ไซเอนต์ กล่าวว่า ชาวอเมริกันจะต้องเชื่อมั่นในระบบใหม่ที่จะออกมาเพื่อควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่าเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในแก่คนในประเทศมากขึ้น ซึ่งเมื่อมาถึงจุดที่มาตรการที่ห้ามให้ไม่ให้นักท่องเที่ยวจากบางประเทศเข้าสหรัฐฯ ถูกยกเลิกไป นักท่องเที่ยวจำนวนมากจะต้องเดินทางเข้าประเทศอย่างแน่นอน
ขณะนี้ สหรัฐฯ ได้ห้ามคนที่ไม่ใช่พลเมืองชาวอเมริกันที่เดินทางเข้าประเทศ หากเคยไปจีน อินเดีย สหราชอาณาจักร รวมถึงหลายประเทศยุโรป บราซิล และอิหร่านในช่วง 14 วันก่อนหน้าอเมริกา ซึ่งกฎดังกล่าวได้ถูกบังคับใช้ตั้งแต่ตอนที่การระบาดของโควิดนั้นมีความรุนแรงมากให้หลายประเทศ
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิดได้เปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ประเทศ ควบคู่กับการที่ประชากรจำนวนมากของประเทศต่างๆ ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว สายการบินและบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ จึงอยากให้ข้อบังคับข้างต้นนั้นถูกยกเลิกไป
นอกจากนี้ รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจเรื่องข้อบังคับว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทุกคนนั้นควรจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดมาก่อนหรือไม่ ซึ่งนายแพทย์แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่าเขาสนับสนุนข้อบังคับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก่อนเดินทางสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางในประเทศ
จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งแถลงข่าวควบคู่กับ เจฟฟรีย์ ไซเอนต์ ในวันพุธตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ บอกว่า ทางรัฐบาลต้องการใช้ระบบใหม่เพื่อควบคุมการระบาด แต่ก่อนที่จะสามารถย้ายไปใช้ระบบใหม่ได้ สหรัฐฯ จะต้องจัดการกับสถานการณ์การระบาดในประเทศให้ได้ดีก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายข้างต้นนั้นมาจากความร่วมมือที่ทุกคนจะต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสายการบินได้ออกมาคัดค้านข้อเสนอเรื่องวัคซีนสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการบินภายในประเทศของนายแพทย์แอนโธนี เฟาชี โดยธุรกิจการบินให้เหตุผลว่าอาจจะก่อให้เกิดความล่าช้าเวลาเช็คอินและความยากลำบากในภาคปฏิบัติ
สุดท้ายนี้ ภาคธุรกิจดังกล่าวยังบอกอีกด้วยว่า ข้อบังคับดังกล่าวนั้นไม่ยุติธรรมสำหรับผู้โดยสารทางการบิน เพราะมันไม่ได้มีผลบังคับกับการขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ทางรถไฟ รถประจำทาง หรือรถยนต์
(ที่มา สำนักข่าวรอยเตอร์และสำนักข่าวเอพี)