ข่าว
จับตาปม‘ถวายสัตย์’ หลังมติศาลรธน.

วันที่ 13 กันยายน 2562 - 10:40 น. ประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ทำให้มีคำถามว่าแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

การเดินหน้าพิจารณาญัตติซักฟอกของฝ่ายค้าน เพื่อหาข้อยุติในสภาจะเป็นไปได้แค่ไหน

บทสรุปของเรื่องนี้จะไปจบที่หน่วยงานใด

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

โดยหลักการแล้วเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องรับคำร้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา

การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม รวมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ส่วนตัวมองว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องดังกล่าวไปพิจารณาได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสาธารณะว่าเรื่องดังกล่าวกระทำได้หรือไม่ได้อย่างไร

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าว คำถามคือแล้วจะเหลือหน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้ นอกจากนี้ อาจเกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่าแล้วประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ ใครจะทำหน้าที่พิจารณา

ดังนั้น มองว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ควรต้องให้ข้อมูล หรือมี คำตอบที่ชัดเจนว่าหากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้อีก ประชาชนหรือภาคประชาสังคมจะต้องไปยื่นคำร้องกับหน่วยงานหรือองค์กรใด

ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหานี้ ก็เพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ และครม.ควรต้องกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ เพียงแค่แก้ไขให้ถูกต้อง

แต่เมื่อดูจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องนี้ เสมือนไม่ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา ทำให้หลายฝ่ายอาจตั้งคำถามได้ว่าจะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จะปล่อยให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายทหารจนเกิดการปฏิวัติอีกใช่หรือไม่ หรือจะส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ เพราะต้องไม่ลืมว่าการเข้ามาสู่อำนาจครั้งแรกของพล.อ.ประยุทธ์ ก็มาจากการรัฐประหาร

ขณะที่ฝ่ายค้านเองก็แสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก็เท่านั้น

แต่เมื่อท่าทีของรัฐบาลเป็นเช่นนี้สิ่งที่สภาจะดำเนินการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามมาตรา 152 นั้น ฝ่ายค้านต้องตั้งคำถามในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ก็เชื่อว่าคงจะไม่ได้คำตอบใดๆ จากรัฐบาล หรืออาจจะได้เห็นท่าทีหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบ

ซึ่งสามารถมองได้ 2 นัยยะ คือรัฐบาลไม่อยากตอบคำถามนี้จริงๆ หรือรัฐบาลคิดจะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าท้ายที่สุดเรื่องนี้ก็จะไม่มีคำตอบและจบไปแบบเงียบๆ

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.อุบลราชธานี

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ไม่รับคำร้องกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น อาจจะเป็นครั้งแรกที่องค์กรอิสระของไทยวินิจฉัย ไม่รับคำร้องในกรณีลักษณะนี้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดออกมาแล้วก็ถือว่าน่าจะเป็นข้อยุติ

จากนั้นเห็นว่าควรให้เป็นขั้นตอนของรัฐสภาได้ตรวจสอบต่อ และเห็นด้วยตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดโอกาสไว้ ให้สมาชิกรัฐสภาได้พิจารณาและอภิปราย แสดงความเห็น รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันตามที่มีข้อกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากคาดว่าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้เกิดการเทียบเคียง หากมีกรณี ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นการใช้ช่องทางของสภาอธิบายเรื่องนี้ ถือว่าถูกต้องแล้ว เมื่อช่องทางกฎหมายเปิดให้โดยใช้รัฐสภาก็ถือว่าน่าจะยุติกัน ที่สภา

และเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยังมีข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวได้ติดตามรับฟังไปพร้อมกันด้วย และที่สำคัญนายกรัฐมนตรี ควรใช้เวทีสภา แสดงความจริงใจที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่าง ชี้แจงข้อคลางแคลงใจของประชาชน

เรื่องดังกล่าวเมื่อสงสัยและส่งเรื่องสอบถามจากกระบวนการต้นทาง ที่น่าจะให้คำวินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็คิดว่าน่าจะสิ้นสุดได้แล้ว ส่วนบทบาทต่อไปอย่างที่บอกคือเป็นการตรวจสอบของรัฐสภา

ผู้บริหารประเทศควรเคารพข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและใช้เวทีของรัฐสภานี้ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง เพราะจะเป็นแบบอย่าง ในการบริหารประเทศ

ที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้บริหาร เมื่อมีการชี้แจงแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ควรที่จะรับฟัง

ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการ กกต.

เมื่อเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วและศาลก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง นั่นคือเรื่องนี้ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอันยุติแล้ว ไม่มีมูลที่จะไต่สวนคดี ต่อไป ซึ่งศาลอธิบายคำวินิจฉัยไว้ในส่วนของศาลไว้แล้ว

แต่ถ้ามองในด้านการเมืองเป็นการ ยื่นญัตติเพื่อขออภิปรายตามอำนาจในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการอภิปรายโดยไม่ลงมติ เชื่อว่าขั้นตอนนี้ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามที่มีการนัดหมายอภิปรายไว้แล้วในวันที่ 18 ก.ย. ตามหลักที่ได้บรรจุวาระไว้แล้วโดยประธานสภา จากนั้นก็อภิปรายตามวาระได้ปกติ

ส่วนประเด็นระหว่างการอภิปรายนั้นเข้าใจว่าทางฝ่ายรัฐบาลคงยึกยัก มีการยกมือขึ้นแล้วอ้างว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้ามองแล้วถือว่าเป็นคนละประเด็นกัน

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องพิจารณาตามคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่น ส่วนกรณีในรัฐสภานั้นเป็นอำนาจคนละส่วน และอำนาจตามรัฐธรรมนูญก็มีระบุอยู่แล้วว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นต้องครบถ้วน ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการถวายสัตย์ของนายกฯ และครม.นั้นมีสคลิปและวิดีโอบันทึกไว้ถือว่าเป็นหลักฐานได้ว่ากระทำถูกหรือไม่

แต่แม้นายกฯจะถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนก็ตาม ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดว่าจะมีความผิดอะไร และที่มีการอภิปรายในสภาครั้งนี้ก็ไม่ได้มีผลความผิดอะไรกับ นายกฯ แต่อย่างไรก็ควรดำเนินการอภิปรายต่อไปตามวาระข้อบังคับของที่ประชุม สภา

เรื่องนี้ไม่มีองค์กรใดตรวจสอบได้แล้ว แม้แต่ในสภาที่จะอภิปรายกันแล้วก็ไม่มีผลอะไร เป็นการอภิปรายแล้วก็จบกันไปเอง แต่จะเป็นเรื่องทางสังคมที่จะคุ้ยแคะกันเอง หรืออาจรวมถึงการกดดันทวงถามความรับผิดชอบโดยการให้ลาออก แต่ เชื่อว่ารัฐบาลก็จะอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจทำผิด หรืออ้างว่าการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนไม่ได้มีผลทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายอะไร ก็แล้วๆ กันไป

เรื่องนี้จะต้องไปยุติที่รัฐสภาคือให้มีการอภิปรายทั้งสองฝ่ายแล้ว เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้วไม่มีข้อมูลใดที่จะยกมาอภิปรายประธานสภาก็จะสั่งยุติอภิปราย

แต่ถ้ามีกรณีใดกรณีหนึ่งที่มีฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นมาว่าให้นับองค์ประชุมแล้วไม่ครบ การอภิปรายก็ไม่สมบูรณ์ ถือเป็นการเล่นทางกลยุทธ์ หรือแม้แต่องค์ประชุมครบ สุดท้ายเมื่อครบตามกำหนดเวลาให้อภิปรายคือ 24.00 น. เรื่องนี้ก็ยุติไป เรื่องก็จบ

ยุทธพร อิสรชัย

รศ.ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

การอภิปรายที่จะเกิดขึ้นวันที่ 18 ก.ย. เชื่อว่าดำเนินต่อไปได้ เพราะในแง่การทำงานของสภาจะยุติการอภิปรายต้องขอมติที่ประชุมหรือให้ฝ่ายค้านที่เสนอเป็นผู้ถอนญัตติ

แต่เชื่อว่าฝ่ายค้านต้องพยายามรักษาพื้นที่การทำงานในสภา เพราะพื้นที่การทำงานของฝ่ายค้านมีพื้นที่เดียวคือในสภา ขณะที่รัฐบาลทำงานได้ทั้งในสภา ในฐานะฝ่ายบริหาร ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

กระบวนการหลังจากนี้ก็ต้องไปดูในวันที่ 18 ก.ย.ว่าหากมีผู้หยิบยกประเด็นขึ้นมาว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็ถือว่าเป็นข้อยุติ และคำวินิจฉัยศาลก็บอกว่าไม่มีองค์กรไหนที่จะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ด้วย

ดังนั้นจะมีข้อยุติหรือไม่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับมติของสภาในวันนั้นว่าจะมีอย่างไร แต่เชื่อว่าจะมีผู้ที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาในการประชุมในวันที่ 18 ก.ย.นั้นด้วย

การที่ประธานสภาให้เดินหน้าพิจารณาญัตตินี้ต่อไปถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะโดยอำนาจของประธานสภาเองไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้ยุติการประชุม สั่งปิดประชุมหรือสั่งให้ถอนญัตติได้โดยลำพังประธานสภาเท่านั้น เพราะการถอนต้องเป็นการถอนโดยเจ้าของญัตติหรือผู้เสนอญัตติ ซึ่งคือฝ่ายค้าน

ส่วนการจะยุติหรือการปิดประชุมต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นต้องดำเนินการเปิดสภาในวันที่ 18 ก.ย.แล้วไปว่ากันในสภาต่อ

ถามว่าแล้วเรื่องนี้จะไปยุติที่ไหนในเมื่อไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบได้ ส่วนตัวคิดว่าในเชิงข้อกฎหมายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็มีข้อยุติอยู่แล้ว คือศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าศาลไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบนอกกรอบอำนาจศาล และไม่มีองค์กรไหนที่จะวินิจฉัยได้

นั่นก็คือคำตอบอยู่แล้วว่าเรื่องนี้ในทางกฎหมายจึงเป็นที่ยุติแล้ว ก็จะส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นเพราะอย่างน้อยที่สุดป้อมเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณก็ถือว่ามีข้อยุติของกฎหมายแล้ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ผูกพันทุกบอร์ดให้ต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้นในตอนนี้เหลือเพียงเรื่องประเด็นทางการเมืองเท่านั้น โดยการอภิปรายในสภาฝ่ายค้านต้องระมัดระวังการพูดประเด็นต่างๆ และในแง่ของข้อกฎหมายก็มีบทบัญญัติที่ต้องระมัดระวังในการอภิปรายในสภา

และมีความเป็นไปได้ถ้าสถานการณ์จำเป็นอาจจะมีการประชุมลับ ดังนั้นคอการเมืองอาจจะได้เห็นความเข้มข้นที่น้อยลง และแน่นอนว่าในระยะสั้นไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมหรือแรงสะเทือนในทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะเมื่ออธิบายจบก็ปิดสมัยประชุมพอดี สมัยประชุมสามัญก็ยุติลง

งานราตรีชาวใต้

เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2019 สมาคมไทยปักษใต้ จัดงานราตรีขาวใต้ ประจำปี 2562 โดยคุณจุฑาภรณ์ ไชยรัตน์ติเวช นายกสมาคมไทยปักษ์ใต้ กล่าวรายงานเชิญกงสุลกนกพร ควรคิด กล่าวเปิดงาน

รายได้นำมาช่วยกันสนับสนุนรายได้ซื้ออุปกรณ์การเรียน คอมพิวเตอร์ให้น้องๆ 14 จังหวัดภาคใต้ พิธีกรคุณภานุพล รักแต่งาม และคุณเปิ้ล อนะมาน ดำเนินรายการ ร้องเพลงการกุศลบริจาค

พิธีกรช่วงประกวดนางงามชาวใต้ รุจิลาภา พัฑฒนะ คุณต้อยตีวิด รางวัลขวัญใจชาวใต้ ปี 2019 คุณ “ไอด้า” ยุพินพักตร์ เตโชภาส รางวัลแต่งกายงามชาวใต้ ยุพดี เข็มทอง, โสภารัตน์ พอลลาร์ด, ณัฐนรี ธีรธนานนท์ และนางงามมิตรภาพ(จำหน่ายสลากได้มากสุด) ปี 2019 รัชนี สังขมี ……(เครดิตภาพ: ดอน เจริญสุดใจ)


‘บิ๊กตู่’ควง‘เทพเทือก’เปิดงานสมุยเฟสติวัล อดีตกปปส.แห่ร่วมคึกคัก โวมีแต่คนรัก

เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 13 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “เทศกาลท่องเที่ยวเกาะสมุย ครั้งที่ 4 : Samui Festival 2019” บริเวณลานพรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมทั้งอดีตแกนนำ กปปส. ร่วมชมอย่างพร้อมเพรียง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนชอบมาภาคใต้เพราะชอบรอยยิ้มของที่มีเสน่ห์ของทุกคน เราจะมัวมาคิดแบบเดิมไม่ได้ จะต้องทำแบบใหม่ ต้องตัดเสื้อเฉพาะตัวให้ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคน ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนและฟังรัฐบาล

“ในเรื่องการเป็นประชาธิปไตยเรา จะต้องอยู่ให้ได้ อย่างสันติสุข ดังนั้นจะต้องไม่มีใครมาทำให้แปลกแยก สิ่งสำคัญคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอยืนยันรัฐบาลพร้อมทำงานเต็มที่ และทำให้กับประชาชนทุกคนโดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง งบประมาณต่างๆก็เริ่มทยอยลงมาแต่จะให้ทีเดียวคงไม่ไหว

ถ้าทุกคนร่วมมือกันคงไม่มีใครหยุดยั้งประเทศได้ ดังนั้นขอวิงวอนว่าจะต้องลดความขัดแย้งลง และขอให้เห็นใจกันบ้างเรากำลังเดินหน้าประเทศ แล้วทำไมเราจะมัวมาทะเลาะกันเองอีก โทษกันไปโทษกันมา ก็คงไม่มีใครทำได้รัฐบาลก็ทำไม่ได้”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน วันนี้เรามีนายกฯคนเดิมที่มีทั้งคนรักและคนเกลียด แต่ที่สมุยมีแต่คนรักนายกฯทุกคน และถ้ารักผมก็ขอให้รักรัฐมนตรีของผมทุกคน รักรัฐบาล ดูแลรัฐบาล วันนี้ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปข้างหน้า

“อย่าให้ถอยหลังกลับมาอยู่ที่เดิม เราเดินมาตั้งเยอะแล้ว ถ้ามีใครดึงขากลับไปอีกแล้วเราตามเขากลับไปมันก็เหมือนเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น วันนี้เราทุกคนทำงานเพื่ออนาคตของลูกหลาน ทุกคนต้องเสียสละ รัฐบาลจะทำงานฝ่ายเดี๋ยวไม่ได้ รัฐบาลต้องดูแลคนทั้งประเทศ”


‘เทือก’ ยันหนุน ‘บิ๊กตู่’ เชื่อพาประเทศรอด ชี้ฝ่ายค้านต้องมีศีลธรรม ไม่สร้างเรื่องใส่ร้าย

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารวิทยาลัย กล่าวภายหลังตรวจความเรียบร้อยของสถานที่ในการต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ

โดยระบุว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด และจากสถานการณ์ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในขณะนี้ หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ รัฐบาลผสมไม่ใช่ของใหม่ สิ่งสำคัญคือ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ต้องระมัดระวังในการทำงานร่วมกันเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาที่อยู่ไม่ได้ เพราะทะเลาะกันเอง ตีกันเอง พรรคนั้นทะเลาะกับพรรคนี้ คนเป็นนายกฯ จะลำบาก เพราะเรามีภาระหน้าที่ที่ต้องพาประเทศชาติฝ่าฟันวิกฤติไปให้ได้ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้นเสียงปริ่มน้ำไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าทุกคนที่เป็นส.ส.มีความรับผิดชอบ ไปประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงก็จะอยู่ได้

“ผมไม่ค่อยกังวลใจเท่าไหร่ เพราะผมเชื่อว่า วันนี้คนไทยทุกคนไม่ว่านักการเมือง สื่อมวลชน พ่อค้าและนักธุรกิจ ล้วนผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาด้วยกันอย่างโชกโชน ทุกคนต้องมองเห็นแล้วว่าเราต่างมีภาระหน้าที่ ต้องช่วยประคับประคองบ้านเมือง”

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนการทำงานของฝ่ายค้านนั้น เราจะไปโกรธเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่เป็นกระจก เราก็คอยชำเลืองมองดูจะได้เห็น เขาจะใช้วิธีอะไรก็ไม่เป็นปัญหา สุดท้ายก็จะได้รับการสั่งสอนจากประชาชนเอง ว่าคุณจะต้องอยู่ในศีลธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่ไปสร้างเรื่องมากล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสีเขา อย่างนั้นคนจะไม่ยอม ซึ่งคิดว่าคงอีกสักพักหนึ่ง ตอนนี้เพิ่งเลือกตั้งมาใหม่ๆ ก็จะร้อนวิชากัน

เมื่อถามถึงกรณีมีรัฐมนตรีบางคนที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอยู่ในขณะนี้ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านที่ตรวจสอบ แต่วันนี้สังคมและประชาชนก็ตรวจสอบ ถ้าใครไม่ผ่านก็จะหลุดไปตามระบบ แต่ในภาพรวมรัฐบาลก็ต้องขับเคลื่อนกันต่อไป ขณะที่คนเป็นนายกฯ ของประเทศไทย เป็นผู้นำรัฐบาล ต้องมีความอดทนเป็นพิเศษ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่จำเป็น

นอกจากนี้ ต้องพร้อมจะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง และพูดคุยกับประชาชนด้วยความจริงในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือเป็นการเจอกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างตนกับพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เขาทำรัฐประหารมาก็ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับเขา โดยก่อนหน้านี้หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ได้เจอกันบ้างประปรายตามงานศพหรืองานแต่งงาน

“ผมเชียร์พล.อ.ประยุทธ์มาโดยตลอด เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนที่เราพอจะพึ่งพิงได้ ประคับประคองประเทศได้ ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้จะอยู่คนละพรรค ผมก็ปราศรัยเชียร์พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนเรื่องจะอยู่ถึง 8 ปีนั้น เป็นเรื่องที่คนก็พูดไป แต่ตอนนี้ขอเชียร์ให้นำพาประเทศไปให้รอดแล้วกัน” นายสุเทพกล่าว


แก้ไฟใต้ ไม่ถูกทาง ‘ธนาธร’ชี้กฎหมายพิเศษ-ซิมอัตลักษณ์ ช่วยไม่ได้ ละเมิดสิทธิ์

วันที่ 13 ก.ย. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางเยี่ยมชมตลาดน้ำชุมชนยะกัง อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อพบปะประชาชนและรับทราบปัญหาในพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งประชาชนได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงยื่นหนังสือขอให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่เรื่องความเป็นธรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ พืชเกษตรที่ตกต่ำ ปัญหาปากท้อง และการสร้างงานในพื้นที่

ซึ่งได้รับการต้อนรับจากกลุ่มเยาวชนและประชาชนทุกสาขาอาชีพ ในบรรยากาศเป็นกันเอง และพากันถ่ายเซฟพี่กับนายธนาธร พร้อมตะโกนเชียร์ขอให้นายธนาธร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต

นายธนาธร ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากภาครัฐแก้ปัญหาไม่ถูกทาง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความไม่สงบ การให้อำนาจหรือใช้กฎหมายพิเศษ อาทิ กฎอัยการศึกที่ใช้ในภาวะสงคราม หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าดำเนินการกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้หมายศาลในการดำเนินการ ทำให้หลายเรื่องสร้างปัญหา เข้าค่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรมี และรัฐต้องให้การคุ้มครอง

อีกทั้งกรณีให้ประชาชน 3 จังหวัดใต้ ที่ใช้โทรศัพท์ต้องลงทะเบียนซิมการ์ด “2 แชะ อัตลักษณ์” ทำให้รู้เรื่องส่วนตัวบุคคลทุกเรื่อง กรณีนี้จะรักษาความลับบุคคลได้ดีมากน้อยแค่ไหน ประชาชนข้องใจและไม่เชื่อมั่นในเรื่องเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้

กรณีเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายพิเศษคุมตัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยอ้างเป็นผู้ต้องสงสัย จนที่สุดนายอับดุลเลาะ เสียชีวิต ปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้เลยว่าตกลงผู้ตายผิดอะไร ผิดข้อไหน เป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบจริงหรือไม่ ตายเพราะอะไร ยังไม่มีใครตอบได้

ฉะนั้นการแก้ปัญหาโดยใช้ฏหมายพิเศษควรยกเลิกใช้ได้แล้ว ที่รัฐบาลต้องทำคือ ดูแลเรื่องเศรษฐกิจพื้นที่ให้ดีขึ้น เพราะเรื่องปากท้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ และคืนความเป็นธรรมพื้นที่และประชาชน จะแก้ปัญหาได้ต้องดึงประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม การพัฒนาและแก้ปัญหาให้มากที่สุด ดื้อและดันทุรันไม่เกิดผลในทางที่ดีต่อการแก้ปัญหา

อย่าลืมว่าที่ใดมีการข่มขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ ที่ใดไม่มีความเป็นธรรมที่นั่นไม่มีสันติภาพ


‘วิษณุ’ ชี้วุฒิป.เอกของจริงหรือไม่ ไม่กระทบคุณสมบัติรัฐมนตรี ‘ธรรมนัส’

เหตุจบโรงเรียนนายร้อยฯ เทียบเท่าป.ตรี แนะต้องเคลียร์ตัวเองให้คนเชื่อให้ได้ ยืนยันคำเดิม “สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง”

วันที่ 13 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตวุฒิการศึกษาปริญญาเอกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นของปลอม ซึ่งระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ ได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ ว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรีเพียงแค่ว่า ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่ได้บอกว่าต้องจบปริญญาอื่น

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า โดยในส่วนของปริญญาตรี สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ตรวจสอบแล้ว และร.อ.ธรรมนัส เมื่อเขาจบโรงเรียนนายร้อยก็ถือเป็นปริญญาตรี เข้าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนปริญญาโท ปริญญาเอกจะเป็นของจริงหรือของปลอม หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรองหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้จบการศึกษาปริญญาตรีก็ตรวจสอบแค่นั้น เขาไม่อยากรู้ว่าจบปริญญาโท ปริญญาเอกที่ไหน รู้แค่จบปริญญาตรีก็พอแล้ว เหมือนเวลาคุณไปสมัครงาน เขากำหนดว่าต้องจบปริญญาตรีถึงจะสมัครได้ คุณจะไปแสดงปริญญาเอก เขาก็ไม่อยากรู้ อยากรู้แค่ว่าคุณจบปริญญาตรี” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้จะไม่กระทบกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี แต่หากสุดท้ายพบว่าปริญญาเอกเป็นของปลอม ถือว่าเป็นการกรอกคุณสมบัติเท็จหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตนไม่ตอบในส่วนนี้ อย่าเอาสองสามเรื่องมาปนกัน ถ้าตั้งต้นด้วยเรื่องคุณสมบัติ ก็ต้องพูดเรื่องคุณสมบัติตามกฎหมาย ครบคือครบ เรื่องจบปริญญาตรีมันไม่ต้องแปล แต่หากใครมาบอกคุณไม่มีมาตรฐานจริยธรรม หรือไม่ได้สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อันนั้นต้องพิสูจน์กันยาว ซึ่งต้องยอมรับว่านั่นเป็นคุณสมบัติและลักษะต้องห้ามอย่างหนึ่ง

เมื่อถามว่า ขณะนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังดำรงตำแหน่งต่อไปได้ใช่หรือไม่ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สง่างาม นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่เห็นจะต้องตอบอะไรเป็นอย่างอื่น สื่อรู้คำตอบอยู่แล้ว

ถามอีกว่า การจะจบเรื่องนี้ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตอบไม่ถูก และไม่ทราบ ต่อข้อถามว่า การให้ ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงเพียงอย่างเดียว เรื่องอาจจะไม่จบ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าไม่ให้ ร.อ.ธรรมนัสชี้แจงแล้วจะให้ใครชี้แจง ส่วนชี้แจงแล้วจะเชื่อกันหรือไม่ จะทำอย่างไรต่อ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถามว่า ร.อ.ธรรมนัส ต้องชี้แจงเพื่อให้คนอื่นเชื่อให้ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ เพราะคนอื่นชี้แจงใครจะไปเชื่อได้ ยังยืนยันคำเดิม “สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง”

เมื่อถามว่า เมื่อมีข่าวอย่างนี้ออกมาบ่อย ๆ มองว่าเป็นการจงใจดิสเครดิตรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มอง ส่วนที่ฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้รับทราบคุณสมบัติรัฐมนตรีก่อนจะแต่งตั้งนั้น นายกฯได้ตอบไปแล้ว

สภาฯ ไฟเขียวชงตั้งกรรมาธิการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ เป็นญัตติด่วนสมัยประชุมหน้า

“สมพงษ์” ผู้นำฝ่ายค้าน ชงญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นวาระแรกในสมัยประชุมหน้า มติที่ประชุมเห็นด้วย 436 ต่อ 0 เสียง

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 13 ก.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติตกค้างจำนวนมาก โดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่ง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ขอใช้สิทธิ์เสนอให้เลื่อนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่อยู่ในวาระท้ายๆ ขึ้นมาพิจารณาต่อท้ายเรื่องเร่งด่วนลำดับที่ 6 เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44

ต่อมา นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ คัดค้านและขอเสนอญัตติให้พิจารณาไปตามวาระปกติ ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ช่วยอภิปรายเสริมว่า สิ่งที่ นายสมพงษ์ เสนอได้พูดคุยระหว่างวิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้านเรียบร้อยแล้ว โดยญัตติการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านเสนอนั้น ขอให้มาต่อท้ายเรื่องด่วนที่ 6 เพื่อให้ได้คิวมีการเปิดประชุมสภาในสมัยหน้า ไม่ได้มุ่งหวังให้พิจารณาตั้งกรรมาธิการทันที เพราะดูจากวาระแล้วคงพิจารณาไม่ทันในวันที่ 13 ก.ย. ที่จะปิดประชุมในเวลา 18.00 น. ในที่สุด นายวีระกร จึงยินยอมถอนญัตติ

จากนั้น นายชวน ได้ขอให้ที่ประชุมลงมติจะให้เลื่อนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นด้วยให้เลื่อนขึ้นมา ด้วยคะแนน 436 ต่อ 0 เสียง ตามที่นายสมพงษ์เสนอ.