ข่าว
ไทยรั้งอันดับ 2 โลก!ประเทศนอกอิสลามแต่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมุสลิมที่สุด

9 พ.ค.61 เว็บไซต์ นสพ. The Straits Times ของสิงคโปร์ รายงานว่า “โอไอซี” องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC) ร่วมกับมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) บริษัทบัตรเครดิตชื่อดัง จัดอันดับให้ไทยอยู่ในอันดับ 2 ของประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมแต่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่สุด ประจำปี 2561 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นกับไต้หวันขึ้นมาติด 1 ใน 5 เป็นครั้งแรก โดยญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 4 และไต้หวันอยู่ในอันดับ 5 ส่วนอันดับ 3 เป็นของอังกฤษ (สหราชอาณาจักร)

รายงานข่าวระบุว่า ความสำเร็จของไทยมาจากการทำงานอย่างแข็งขันของผู้เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับร้านอาหารฮาลาล (Halal : เครื่องหมายรับรองอาหารที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามสามารถรับประทานได้) รวมถึงการจัดการท่องเที่ยวที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากโลกมุสลิม แต่หากไม่แยกระหว่างประเทศที่เป็นหรือไม่เป็นมุสลิม มาเลเซียจะอยู่ในอันดับ 1 จาก 130 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมจัดอันดับ ขณะที่อินโดนีเซียตามมาเป็นอันดับ 2 ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 16 และสิงคโปร์อยู่อันดับ 15

หลายประเทศในทวีปเอเชียที่อันดับดีขึ้นชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านั้นยังมีจุดบกพร่องด้านดิจิตอลที่ยังไม่แข็งแกร่งเท่าใดนัก อนึ่ง อินโดนีเซียวางเป้าหมายว่ามูลค่าตลาดการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมจะต้องโตไปถึง 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7.04 ล้านล้านบาท ในปี 2563 และไปให้ถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 9.6 ล้านล้านบาท ในปี 2569

ส่วนประเทศไทย ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเดินทางเข้ามาประเทศไทย 3.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาเยือนไทยในปีดังกล่าว ขณะที่ โดนัลด์ ออง (Donald Ong) ผู้จัดการมาสเตอร์การ์ดประจำประเทศไทยและเมียนมา (พม่า) กล่าวว่า ไทยกำลังถูกจับตามองไปที่แผนการส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “อี-เปย์เมนท์” (E-Payment) อาทิ “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) อันจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกสะดวกสบายและปลอดภัย

รายงานของ The Straits Times กล่าวปิดท้ายว่า เกณฑ์การจัดอันดับนั้นดูจากสาธารณูปโภคที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร สภาพแวดล้อมและการบริการ โดยตัวชี้วัดทั้งหมดจะถูกนำมาคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักเพื่อสรุปเป็นคะแนนโดยรวม

'แม้ว'โหน'มหาธีร์' โพสต์ยินดีชนะเลือกตั้งมาเลย์ถล่มทลาย

10 พ.ค. 61 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ทวิตเตอร์ และเฟสบุ๊ค "Thaksin Shinawatra" มีใจความว่า ขอแสดงความยินดีจากใจจริงแก่ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด ต่อการกลับมาอย่างสง่างามอีกครั้ง พลังของประชาชนชาวมาเลเซียได้ออกเสียงอย่างชัดเจนแล้วว่า พวกเขายังคงจดจำตำนานที่ยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้นำของท่านยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของพวกเขาไม่เสื่อมคลาย


ลากยาวสอบ 'นาฬิกาหรู' ปปช.ยื้ออีก3เดือน อ้างทายาทเพื่อน'ป้อม'แจงแล้ว แต่รอหลักฐานเพิ่ม

10 พ.ค.61 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยความคืบหน้าคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบการเป็นเจ้าของนาฬิกาที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากนาฬิกาแต่ละเรือนมีหมายเลขกำกับ โดยสามารถตรวจสอบกับตัวแทนจำหน่ายได้ แต่อาจต้องใช้เวลาเนื่องจากมีนาฬิกากว่า 20 เรือน

“ส่วนการสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ขณะนี้สอบครบถ้วนแล้ว รวมทั้งทายาทของนายปัทวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนของ พล.อ.ประวิตร ก็ได้ชี้แจงมาแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ว่ามีการยืนยันการเป็นเจ้าของนาฬิกาหรือไม่ ส่วนการจะเรียกสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องรอดูผลการชี้แจงของตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาอีกครั้งหนึ่งก่อน” นายวรวิทย์ กล่าว

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช. ไม่ได้ชะงัก แต่การตรวจสอบจะต้องรอพยานหลักฐาน จึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ยอมรับว่าอาจเสร็จไม่ทันภายในเดือน พ.ค.นี้ และอาจจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับการชี้แจงของตัวแทนจำหน่ายนาฬิกา


จิตวิญญาณคนข่าว!กองบก.สื่อดังกัมพูชาลาออกประท้วงเจ้าของใหม่ห้ามพาดพิง'ฮุนเซน'

8 พ.ค.61 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ รายงานว่า นักข่าวอาวุโสในสังกัด นสพ.พนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post) หนังสือพิมพ์ชื่อดังของกัมพูชา ทยอยลาออกหลังเจ้าของกิจการคนใหม่มีคำสั่งไล่ออก กาย กิมสง (Kay Kimsong) บรรณาธิการที่ปล่อยให้ตีพิมพ์รายงานข่าวการขายกิจการหนังสือพิมพ์ให้กับ ศิวกุมาร เอส. คณาพาธี (Sivakumar S Ganapathy) นักธุรกิจชาวมาเลเซีย โดยเชื่อมโยงว่านักธุรกิจผู้นี้มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลมาเลเซีย และสมเด็จฮุน เซน (Hun Sen) นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

นักข่าวทั้งอดีตและปัจจุบันประจำกอง บก.พนมเปญโพสต์ กว่า 20 คน ลงนามในแถลงการณ์รับไม่ได้กับกรณีที่ตัวแทนของเจ้าของ นสพ.คนใหม่ สั่งให้ลบบทความดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ทางการของ นสพ.ทำให้นักข่าวอาวุโส บรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการโต๊ะข่าวออนไลน์ รวม 4 คน ประท้วงทันทีด้วยการลาออก ขณะที่ กิมสง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด และกล่าวว่าเจ้าของหนังสือพิมพ์อนุญาตให้กอง บก.ตีพิมพ์เรื่องราวการซื้อขายกิจการ นสพ.ที่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ทั้งของ นสพ.และเจ้าของแล้ว

ด้าน อีริน แฮนด์ลีย์ (Erin Handley) นักข่าวคนหนึ่งของ นสพ.พนมเปญโพสต์ กล่าวว่า การเข้ามาของเจ้าของคนใหม่ดูเหมือนจะทำให้เสรีภาพในการทำงานของกอง บก.ลดลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการให้คำมั่นว่าจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งทางกอง บก. กังวลในการทำข่าวการเลือกตั้งในกัมพูชาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านรวมถึงสื่อมวลชนจำนวนมากถูกทำให้สลายตัวหรืออ่อนแรง จึงเหลือเพียง นสพ.พนมเปญโพสต์ เท่านั้นที่ยังได้รับการคาดหวังจากสังคมกัมพูชาว่าจะเป็นกระบอกเสียง "ที่มั่นสุดท้าย" แห่งเสรีภาพ

รายงานของอัลจาซีรา ระบุว่า บิล เคลาจ์ (Bill Clough) เจ้าของเดิมของ นสพ.พนมเปญโพสต์ ประกาศขายกิจการให้กับ คณาพาธี เมื่อ 5 พ.ค.61 ด้วยสาเหตุที่ส่วนแบ่งการตลาดของสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ทั้งนี้ เคลาจ์ กล่าวว่า นสพ.พนมเปญโพสต์ เป็นสื่ออิสระที่ยังหลงเหลืออยู่ในกัมพูชา ส่วนมูลค่าการซื้อขายกิจการนั้นไม่เป็นที่เปิดเผย ส่วน ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอตซ์ (Human Rights Watch) ที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การมาของ คณาพาธี กลายเป็นหายนะของเสรีภาพสื่อในกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า ทางการกัมพูชาที่นำโดยนายกฯ ฮุน เซน เดินหน้าควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนอย่างหนัก อาทิ เมื่อเดือน ก.ย.60 นสพ.กัมพูชา เดลี (Cambodia Daily) หนังสือพิมพ์ชื่อดังอีกเจ้าหนึ่ง ประกาศปิดกิจการหลังถูกรัฐบาลเรียกเก็บภาษีกว่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหาร นสพ.เชื่อว่ามีเหตุมาจากการเมือง รวมถึงการสั่งปิดสถานีวิทยุ 32 แห่ง


ทรัมป์ประกาศถอนตัว ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับอิหร่าน

วอชิงตัน/ปารีส/เตหะราน (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศว่า สหรัฐจะถอนตัวออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายในการควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากประเทศพันธมิตรในยุโรป แต่ฝรั่งเศสยืนยันข้อตกลงกับอิหร่านยังไม่ตาย แม้สหรัฐจะถอนตัว

ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวปราศรัยทางโทรทัศน์จากทำเนียบขาวว่า เขาจะนำมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านกลับมาใช้ พร้อมกับระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่เป็นประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านฉบับปี 2558 นี้ มีสหรัฐและอีก 5 ชาติมหาอำนาจและอิหร่านเป็นผู้ร่วมเจรจา โดยตามข้อตกลงนี้จะยกเลิกมาตรการลงโทษอิหร่านเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่อิหร่านจะจำกัดโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งข้อตกลงฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะป้องกันมิให้อิหร่านครอบครองระเบิดนิวเคลียร์ แต่นายทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งเป็นผลงานด้านต่างประเทศชิ้นเอกของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐคนก่อน แต่นายทรัมป์กล่าวว่า ข้อตกลงไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน กิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านหลังปี 2025 และบทบาทของอิหร่านในความขัดแย้งในเยเมนและซีเรีย การตัดสินใจของนายทรัมป์ในครั้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์กับชาติยุโรปตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากผู้นำยุโรปหลายประเทศเดินทางมาเยือนสหรัฐและย้ำคำเรียกร้องให้สหรัฐอย่าถอนตัวจากข้อตกลงนี้ รัฐบาลของนายทรัมป์เปิดทางให้มีการเจรจาสำหรับข้อตกลงฉบับใหม่ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า ประเทศพันธมิตรในยุโรปจะเห็นด้วยหรือไม่และจะสามารถโน้มน้าวให้อิหร่านยอมรับข้อตกลงใหม่ได้หรือไม่

ด้านนายฌอง-อีฟส์ เลอ ดริยง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุในประเทศ ระบุว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 ยังคงอยู่ แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงนี้แล้วก็ตาม โดยฝรั่งเศสและหลายประเทศล้วนตระหนักว่าอิหร่านยังมีเรื่องน่ากังวลอีกหลายเรื่องนอกเหนือไปจากศักยภาพนิวเคลียร์ เช่น โครงการขีปนาวุธนำวิถี แต่เรื่องเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องละทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส จะสนทนากับประธานาธิบดีฮัสซัน โรว์ฮานี ของอิหร่านในวันพุธตามเวลาท้องถิ่น และจะมีการประชุมระหว่างอิหร่าน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนีในสัปดาห์หน้า โดยอาจจะเป็นวันจันทร์ รวมทั้งจะมีการหารือกันระหว่างธุรกิจใหญ่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจในภูมิภาคด้วย ด้านนายบรูโน เลอ มารี รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า ผู้นำสหรัฐตัดสินใจผิดเรื่องอิหร่าน และไม่ควรคิดว่าสหรัฐเป็นตำรวจเศรษฐกิจโลก

การประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านของทรัมป์ ยังทำให้ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นมาสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่ง ในวันพุธ ขณะนี้คาดกันว่าการที่สหรัฐรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านอีกครั้ง จะส่งผลกระทบกับบริษัทหลายแห่งที่ทำข้อตกลงกับอิหร่านไว้ ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้ยังถือว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วระหว่างอิหร่านกับกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาค

'คุกลับ'ในไทยพ่นพิษ! 'จีนา ฮาสเพล'ส่อวืดเก้าอี้ผอ.ซีไอเอ หลังถูกถล่มหนักทรมานนักโทษ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ออกมาแสดงความไม่พอใจ ภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า จีนา ฮาสเพล (Gina Haspel) ที่เขาเสนอชื่อให้เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) คนใหม่ อาจถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ดังกล่าว ภายหลังเธอถูกโจมตีอย่างหนักเกี่ยวกับนโยบายอันแข็งกร้าวกับผู้ก่อการร้าย และการปฏิบัติกับผู้ต้องหาในสมัยที่เธอเคยเป็นผู้บริหาร “คุกลับ” ในประเทศไทย

โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความระบุว่า “ในช่วงเวลาอันตรายเช่นนี้ เรากำลังจะมีผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุด และเป็นผู้หญิง มาดำรงตำแหน่ง ผอ.ซีไอเอ แต่พรรคเดโมแครตไม่ต้องการให้เธอเป็น เพราะเธอมีนโยบายที่แข็งกร้าวเกินไปกับผู้ก่อการร้าย”

ทั้งนี้ จีนา ฮาสเพล มีกำหนดขึ้นตอบคำถามต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 9 พฤษภาคมนี้ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งหากเธอได้รับการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เธอจะเป็นสตรีคนแรกที่รับหน้าที่ผู้อำนวยซีไอเอ

จีนา ฮาสเพล เคยทำงานในโครงการลับของซีไอเอ และเป็นเจ้าหน้าที่บริหารที่สำนักงานกรุงลอนดอน นอกจากนั้นยังรับผิดชอบงานข่าวกรองช่วงการสิ้นสุดสงครามเย็น และการปราบปรามการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ.2001 หรือเหตุการณ์ “911”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เธอถูกวิจารณ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการบริหารคุกลับในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งใน “black sites” ที่ซีไอเอใช้เป็นสถานที่บีบเค้นข้อมูลจากผู้ต้องสงสัย โดยนักวิจารณ์หลายคนระบุว่า เธอไม่ควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการซีไอเอ เนื่องจากเธอเคยใช้วิธีทรมานผู้ต้องหา เช่น การทำให้ผู้ต้องหารู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำ หรือ Waterboarding ในการเค้นข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ในช่วงที่เธอเป็นผู้บริหารคุกลับในประเทศไทย

วุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคน ประธานคณะกรรมาธิการกิจการทหารของวุฒิสภา กล่าวว่า ในช่วงการกลั่นกรอง จีนา ฮาสเพล จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของเธอเรื่องการใช้เทคนิคที่อาจเป็นการทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลลับ

ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2014 หรือเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานเรื่องคุกลับของซีไอเอ และการใช้เทคนิครุนแรงสอบปากคำผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ได้ระบุว่า คุกลับของซีไอเอในต่างประเทศในช่วงนั้นมีอยู่ 8 แห่ง ใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย โปแลนด์ ลิธัวเนีย โรเมเนีย แอฟกานิสถาน และประเทศไทย