เมื่อวันที่ 2 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงเรื่องข้อเสนอทางออกประเทศไทย จากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล มีเนื้อหาดังนี้
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพทุกท่าน
วันนี้ ดิฉันขอรบกวนเวลาของพี่น้องประชาชน เพื่อจะได้มีโอกาสอธิบายถึงความคิดและแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการ อันเป็นไปตามแนวนโยบายที่ได้แถลงไว้กับพี่น้องประชาชน ตั้งแต่ที่ดิฉันได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ดิฉันตระหนักเสมอว่า ที่พี่น้องประชาชนได้ให้ความไว้วางใจกับดิฉันและพรรคเพื่อไทยนั้นคือการที่พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ต้องการเห็นความสงบ สันติ และความปรองดองเกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรองดองขึ้นในชาติด้วยความพยายามอย่างจริงใจที่จะเดินหน้า อดทน ไม่ตอบโต้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง สร้างสรรค์และความไว้วางใจ รวมทั้ง การเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง และรัฐบาลพร้อมที่จะประนีประนอมกับทุกฝ่าย และพยายามผลักดันให้มีการใช้เวทีรัฐสภามากกว่า ท้องถนนในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
แต่ในขณะเดียวกันดิฉันก็เข้าใจเช่นกันว่าความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องเราจะคาดหวังให้เกิดความปรองดองที่แท้จริงนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งทุกคนก็เห็นแล้วว่าในบางช่วงเวลา มีความขัดแย้งปะทุขึ้นจนเป็นเหตุแห่งความรุนแรง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อสาธารณชน สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมเลย
ที่น่าเสียใจที่สุดคือ การที่มีบุคคลบางกลุ่มต้องการการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่การแสดงออกกลับมีท่าทีที่ไม่ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย มีการยั่วยุ กระตุ้นเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร และใช้ความรุนแรง
ภายใต้สภาวะดังกล่าว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปกป้องและรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งต้องป้องกันเหตุร้ายและความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้ง คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ราชการ และเอกชนทั่วไป ตลอดจนผู้ชุมนุม ที่สำคัญคือเป็นการดูแลให้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพอยู่ในกรอบกติกาประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติประกาศใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
ดิฉันขอยืนยันว่าถึงแม้รัฐบาลชุดนี้จะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ดิฉันเชื่อเสมอว่าในระบอบประชาธิปไตย ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่และต้องให้เกียรติและรับฟังเสียงส่วนน้อยควบคู่กันไป เพราะประชาธิปไตยเป็นของทุกคน ไม่ใช้เป็นของเฉพาะผู้ประสบชัยชนะทางการเมืองจากการเลือกตั้ง โดยการคงกติกาการรักษาความเสมอภาคและเท่าเทียมกันแก่ทุกคน
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนยังดำเนินการที่จะรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ อย่างเช่นจากโครงการประชาเสวนาในการหาทางออกของประเทศ ทั้งในประเด็นแนวทางการปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค และการรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลทั่วโลกยอมรับ
ภายใต้ความพยายามทั้งหมดนี้ดิฉันเข้าใจดีว่าหลายกลุ่มหลายฝ่ายยังมีปัญหาที่ค้างคาใจอยู่และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะมีความเชื่อที่แตกต่างไม่ลงรอยกัน แต่ดิฉันเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในขณะนี้ ในฐานะเพื่อนร่วมชาติที่ต่างต้องการเห็นลูกหลานของเราทุกคนมีความสุข อยู่ในสังคมที่มีความสงบและมีความมั่นคงทางการเมืองและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ให้บรรลุความสำเร็จ
หลายคนบอกกับดิฉันว่าสิ่งที่ดิฉันคิดนั้นคงไม่มีวันเป็นไปได้แต่ดิฉันกลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม โดยมองว่าทุกครั้งที่มีปัญหา เราต้องมองให้เป็นโอกาส เพราะเมื่อครั้งที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ดิฉันได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนในการที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันแก้ปัญหา จนในที่สุดเราสามารถที่จะฟันฝ่าอุปสรรค และหยุดยั้งภัยพิบัตินั้นไว้ได้
ดิฉันอยากให้คนไทยกลับไปคิดถึงความรู้สึกดีๆในช่วงเวลาดังกล่าวถึงแม้จะเป็นคนละสถานการณ์แต่คนไทยทุกคนได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเสื้อสีใด ชนชั้นใด หากเรารวมตัวกัน สมัครสามานสามัคคีกัน เราจะสามารถแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคไปได้
สำหรับภายใต้ภาวะปัจจุบันที่มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งในขณะนี้และหลายคนกังวลว่าความขัดแย้งจะบานปลายเกิดความไม่สบายใจ ดังนั้น ดิฉันจึงขอเสนอแนวทางเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยการวางทิศทางข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วม ทิ้งความขัดแย้งไว้ในใจเพื่อประเทศของเรา โดยเปิดเวทีการระดมความคิดเห็น ที่จะขอเชิญชวนตัวแทนจากกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ มาร่วมโต๊ะพูดคุย ออกแบบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของเรา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
โดยในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเชิญตัวแทนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความเห็นที่หลากหลายในมุมมองให้มาหารือร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ร่วมกันคิดว่าเราจะวางอนาคตบ้านเมืองอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน อันจะเป็นพื้นฐานของความร่วมมือในการพัฒนาชาติ สร้างความไว้วางใจ และความเปลี่ยนแปลงที่ออกจากวงจรแห่งความขัดแย้ง
ดิฉันต้องการเห็นบรรยากาศของความร่วมมือไม่ใช่การจ้องจับผิดแต่การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ละเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเมื่อหารือกันแล้ว ดิฉัน ใคร่เสนอให้มีการวางกลไกที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของคณะทำงานหรือเรียกชื่ออื่นตามความเหมาะสมเพื่อเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ในการปฏิรูปทางการเมืองโดยกลไกดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญในการวางรากฐานอนาคตในโครงสร้างทางการเมืองกำหนดแนวทางปฏิรูปกฎหมาย และวางพื้นฐานระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ยั่งยืน
ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจถึงความปรารถนาดีของดิฉันในครั้งนี้และวันนี้ดิฉันไม่ได้บอกว่าจะให้ทุกท่านลืมอดีตแต่เราต้องนำอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อทำให้ประเทศของเราเดินหน้า ก้าวพ้นความขัดแย้ง เราต้องเปิดโอกาสให้เปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์และไว้ใจกัน เพื่อเป็นการมุ้งสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบ มีส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับอนาคตลูกหลานของเรา และไม่ควรทิ้งมรดกของความขัดแย้งให้เป็น ภาระของรุ่นต่อไป
สวัสดีค่ะ
พระลูกวัด จ.ชลบุรี ที่จับหมาฟาดพื้นระบายอารมณ์โกรธ ก่อนถูกปรับพันเดียว ล่าสุดทนแรงกดดันไม่ไหว ลาสิกขาแล้ว ด้านผู้ใจบุญหอบหมาวัด 4 ตัว ที่กระดูกหักส่งรักษา กทม.
จากกรณีมีคนนำคลิปพระรูปหนึ่งของวัดหน้าพระธาตุ ต.หน้าพระธาตุ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ที่กำลังจับสุนัขฟาดกับพื้นบันไดอย่างทารุณจนกลายเป็นที่พูดถึงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสมกับความเป็นพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งต่อมา พระรูปดังกล่าวได้ออกมาระบุว่า สาเหตุที่ทำเพราะหมาไปขี้ เยี่ยว แถมกัดอาสนะ เลยบันดาลโทสะ พร้อมยืนยันว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก โดยจะใช้ไม้ตีแทน ก่อนจะโดนปรับเป็นเงิน 1,000 บาท และไม่เข้าขั้นปาราชิก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่วัดเนินหลังเต่า ต.บ้านเซิด อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พระชลธารมุนี เจ้าคณะอำเภอพนัสนิคม ได้เรียกประชุมพระสงฆ์ในเขตพื้นที่เพื่อปรึกษาหารือถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งในการประชุม พระครูกิตติสุตาภิราม เจ้าอาวาสวัดหน้าพระธาตุ ได้เข้าร่วมประชุมด้วย พร้อมกล่าวกับที่ประชุมว่า ขณะนี้พระภิกษุที่อยู่ในคลิปได้ขอลาสิกขาไปแล้ว เมื่อ 21.00 น. วันที่ 1 ส.ค. โดยให้เหตุผลว่าทนแรงกดดันไม่ไหวและสงสารเจ้าอาวาสที่ต้องมาเดือดร้อน เพราะการกระทำของตนเอง รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาว่าแม้จะลาสิกขาไปแล้วก็จะไม่ทารุณสัตว์อีก
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้ใจบุญได้นำเจ้าขาว สุนัขที่ถูกจับฟาดไปรักษายัง รพ.สัตว์ ในกรุงเทพฯ แล้ว รวมถึงสุนัขที่มีอาการใกล้เคียงกันอีก 3 ตัวด้วย เนื่องจากทั้งหมดมีอาการกระดูกหัก ซึมเศร้า หวาดระแวง อาจต้องใช้เวลาในการรักษากว่า 1 เดือน.
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ห้องสารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร.ในฐานะเลขาธิการ ศอ.รส. พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.น.ในฐานะรอง ผบ.กองกำลัง นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ ร่วมแถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่อออกประกาศคำสั่ง ศอ.รส. 3 ฉบับ สำหรับรองรับการชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ในนามกลุ่ม "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" รวมถึงกลุ่มแนวร่วมต่างๆ พร้อมนำอุปกาณ์ที่ใช้สำหรับควบคุมฝูงชนมาโชว์
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใน 3 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค.เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงเห็นตรงกันว่า จะมีการชุมนุมจนก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงต้องประกาศกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมารองรับ แต่จะไม่กระทบการใช้ชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ และประชาชนสามารถเข้ามาร่วมชุมนุมได้ตามปกติ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและปราศจากอาวุธ
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ขณะที่แนวทางการใช้กำลังในสถานการณ์การชุมนุม จะพิจารณาตามความจำเป็น แต่หากมีการใช้กำลังจะเริ่มเบาที่สุด และจะต้องมีหลักของความรับผิดชอบ จัดเตรียมการบรรเทา หรือเยียวยาหลังการใช้กำลังไว้ด้วย โดยเราจะดำเนินการตามหลักสากล คือ ระเบียบการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายขององค์การสหประชาชาติปี 1979 , หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใข้กำลังบังคับ และการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจการใช้กฎหมายขององค์การสหประชาชาติปี 1990 คู่มือหน่วยตำรวจควบคุมฝูงชนขององค์การสหประชาชาติปี 1999 จากหลักการทั้ง 3 ข้างต้น นำมาซึ่งการกำหนดขั้นตอนการปฎิบัติรับมือการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งตามหลักสากลนั้น ขั้นตอนการใช้กำลังจะเริ่มจากการวางกำลังในเครื่องแบบปกติ การจัดรูปขบวน การวางกำลังพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน การเคลื่อนไหวกดดัน คลื่นเสียง แก๊สน้ำตา ปะทะบังคับร่างกาย ฉีดน้ำ กระสุนยาง และสุดท้ายคืออาวุธปืนเฉพาะบุคคล โดยตามคำสั่งที่ 1 เราได้ตัดขั้นตอนอาวุธปืนเฉพาะบุคคลออกไป
"ทั้งนี้ตามลำดับสากลที่เห็นเป็นขั้นบันไดนั้น เป็นลำดับความรุนแรงของการปฎิบัติในการใช้กำลัง เช่น ลำดับการใช้ความรุนแรงของแก๊สน้ำตา จะเบากกว่าการใช้โล่กระบอง (ปะทะบังคับร่างกาย) หรือการใข้แก๊สน้ำตาเบากว่าการฉีดน้ำ ซึ่งตรงนี้อาจจะขัดกับความรู้สึกของประชาชน แต่ขอเรียนว่าการใช้แก๊สน้ำตาจะส่งผลเพียงแค่แสบตา เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาทีก็กลายเป็นปกติ แต่การใช้โล่กระบอง อาจจะทำให้บวมและช้ำเป็นสัปดาห์ได้ แต่ตนขอเรียนว่าไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับการใช้อุปกรณ์ตามลำดับดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นหลัก อย่างเมื่อเกิดเหตุการณ์ 2 กลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านเข้าปะทะกัน ตำรวจมีความจำเป็นที่ต้องใช้โล่กระบอง ก่อนที่จะใช้แก๊สน้ำตา เพื่อผลักดันกลุ่มมวลชนทั้ง 2 ออกจากกัน" เลขาธิการ ศอ.รส.ระบุ การที่เราจะวินิจฉัยว่าจะใช้ลำดับอุปกรณ์ใดก่อน จะขึ้นอยู่กับ ผบ.เหตุการณ์ และจากหลักการรับผิดชอบนั้น จึงได้มอบหมายให้ผู้บัญชาระดับสูงลงไปรับผิดชอบ ซึ่งจะมอบหมายนายตำรวจระดับ ผบช.หรือรอง ผบช.ลงไปควบคุมตำรวจควบคุมฝูงชนด้วยตนเอง
ด้าน พล.ต.ต.ปริญญา กล่าวว่า สำหรับการปฎิบัติการครั้งนี้ ตำรวจจะเน้นให้ความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน รวมถึงอาคารสถานที่ราชการ โดยการปฎิบัติจะยึดตามหลักอดทนอดกลั้น และหากใช้กำลัง จะเป็นไปตามนโยบายการใช้กำลัง สำหรับเรื่องการจราจรนั้น ทาง บช.น.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่จราจรสนับสนุนจราจรในพื้นที่ พร้อมติดป้ายแจ้งเตือนเส้นทางต่างๆ ในระยะไกล หรือนำเส้นทางหลีกเลี่ยงพื้นที่การชุมนุม ซึ่งจะประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
ต่อข้อถามว่า จากการข่าวที่ประเมินว่าจะมีการใช้ความรุนแรง ตรงนี้จะเป็นความรุนแรงลักษณะใด พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่จากการข่าวหลายสำนักได้ระบุตรงกันว่า แนวโน้มจะมีเหตุการณ์นำไปสู่การยกระดับได้ แต่ตนขอเรียนว่าการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะไม่กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ สามารถเดินทางเข้ามาร่วมการชุมนุมได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย ปราศจากอาวุธ ไม่ก่อความรุนแรง ซึ่งจากการที่เราออกกฎหมายดังกล่าวมา จะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่บางครั้งที่ไม่ออกกฎหมายนี้มารองรับ ทำให้สถานการณ์ถูกยกระดับไปอยู่ในจุดที่ไม่สามารถควบคุมได้นั่นเอง
เมื่อถามว่า จากข้อมูลด้านการข่าวพบว่า กลุ่มที่จะมาร่วมชุมนุมมีกี่กลุ่ม และประเมินจำนวนผู้ชุมนุมไว้เท่าไหร่ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากข้อมูลทางการข่าวหลายฝ่ายประเมินว่า จะมีผู้มาร่วมชุมนุมอย่างต่ำประมาณ 4 พันคน และสามารถเติมเข้ามาได้เรื่อยๆ ยกระดับเป็น 1 - 7 หมื่นคนได้ ซึ่งการประเมินนั้น เราใช้วิธีการคิดจากทางการข่าวที่ดูจากแนวร่วมต่างๆ อย่างไรก็ตามจะต้องดูสถานการณ์อยู่เป็นระยะ ซึ่งก่อนหน้านี้ในการชุมนุมของกลุ่ม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ช่วงแรกเราก็ได้ประเมินไว้แบบนี้ แต่เมื่อตำรวจสามารถยับยั้งได้ ส่งผลให้จำนวนผู้มาร่วมชุมนุมลดลงไปและสถานการณ์ยุติโดยเร็ว ทั้งนี้ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ หากไม่มีความพร้อม จะทำให้เกิดการยกระดับได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุม ได้เปลี่ยนยุทธวิธีชุมนุมแบบดาวกระจายตามจังหวัดต่างๆ ตรงนี้ตำรวจก็ได้เตรียมความพร้อมไว้ดูแลแล้ว