7 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ยารักษาโรคข้ออักเสบ ในผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
โดยยาที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ยาแอกเทมรา (Actemra) ของโรช บริษัทเวชภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์ และยาเคฟซารา (Kevzara) ของซาโนฟี บริษัทเวชภัณฑ์ของฝรั่งเศสที่เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบ รวมถึงคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids)
ผลวิเคราะห์จากกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ 10,930 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วย 6,499 คนได้รับยาในกลุ่มดังกล่าว และมีผู้ป่วย 4,481 คนที่ได้รับการรักษาแบบปกติด้วยการใช้ยาหลอก พบว่าความเสี่ยงจากการเสียชีวิตในรอบ 28 วันของผู้ป่วยโควิดที่ได้รับยารักษาข้ออักเสบหรือยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน (dexamethasone) มีอัตราร้อยละ 21 ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบทั่วไปที่มีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 25 และจะช่วยให้มีผู้ป่วยติดเชื้อ 4 คนมีชีวิตรอดในบรรดาผู้ป่วยทุก ๆ 100 คน นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยติดเชื้อในการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิตในอัตราร้อยละ 26 ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบทั่วไปที่มีอัตราใช้เครื่องหายใจหรือเสียชีวิตร้อยละ 33 และจะช่วยให้มีผู้ป่วยติดเชื้อ 7 คนมีชีวิตรอดในบรรดาผู้ป่วยทุก ๆ 100 คน
องค์การอนามัยโลกได้ดำเนินการวิเคราะห์ดังกล่าวร่วมกับมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยบริสตอล มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และระบบบริการสุขภาพของกายส์แอนด์เซนต์โทมัส เอ็นเอชเอส เฟาน์เดชัน ทรัสต์ และได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของสมาคมการแพทย์ของสมาคมการแพทย์อเมริกัน หรือเจเอเอ็มเอ เมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น
วันนี้ ( 29 มิถุนายน 2564 ) ที่ห้องเทวะเวสม์ กระทรวงสาธารณสุข สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถุงพลังใจจำนวน 2,000 ถุง และภาพวาดฝีพระหัตถ์และข้อความให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม ในนามมูลนิธิชัยพัฒนาและกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ ) ความว่า “ชัยพัฒนาสนับสนุนผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย ขอบคุณครับ/ค่ะ”
โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมพิธีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นายพายุ เนื่องจำนงค์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้ง จ.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ คณะทำงาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศลาออกจากคณะทำงานรองนายกฯ และคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีข้อความว่า
"ขอกราบขอบพระคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ให้ความเชื่อถือและมั่นใจแต่งตั้งผมเข้าเป็นคณะทำงานรองนายกฯ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ ผมได้ทำงานและเรียนรู้จากท่านรองนายกฯอย่างใกล้ชิด และดีใจที่มีโอกาสกลับมาทำงานในฝ่ายบริหารประเทศที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากที่ต้องออกมาเพื่อมาดูแลธุรกิจครอบครัวเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว
วันนี้ผมได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง คณะทำงานรองนายกฯ และคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากที่ได้ทำการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อเลือกเส้นทางการเมืองที่เหมาะสมของตัวผมต่อไป
ผมยังเคารพรักท่านรองนายกฯและมีความปรารถนาดีให้กับพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ รวมถึงผู้ใหญ่ทุกๆท่านในพรรคสำหรับความทรงจำและความรู้สึกที่ดีที่มีให้ต่อกันมาเสมอครับ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพายุ เนื่องจำนงค์ (หลานชาย ดร.ประโยชน์ เนื่องจำนงค์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ส.ส.ชลบุรี หลายสมัย) เป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้ง จังหวัดชลบุรีเขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แม้การเลือกตั้งครั้งนั้นจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ได้รับคะแนนสูงสุดในบรรดาผู้สมัคร 8 เขต ของจังหวัดชลบุรี ที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งลง ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ทำงานการเมืองในพื้นที่ต่อเนื่อง ได้รับเลือกเป็นประธานอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประจำจังหวัดชลบุรี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล และเป็นคณะที่ปรึกษาประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งในเวลาต่อมา โดยมีรายงานว่าเข้าสังกัดสมัครสมาชิกกับพรรคกล้า ที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าพรรค
เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ที่วัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กทม. ส.ส.กลุ่มยังบลัดพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรมศพ นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ โดยมีนายชัยชนะ เดชเดโชส.ส.นครศรีธรรมราช และ พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม ร่วมในพิธี
นายกรสิทธิ์ หรือ “น้องพอส” อาสาสมัครหน่วยสมเด็จเจ้าพระยา ธน 28-18 ฐานเทคโน ได้เสียชีวิตจากการเข้าไประงับเหตุเพลิงไหม้ ที่โรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยนายอิสระและคณะ ได้เข้าไปพูดคุยเเสดงความเสียใจ และให้กำลังใจมารดาของ "น้องพอส" ซึ่งบรรยากาศภายในงานสวดพระอภิธรรมศพ เต็มไปด้วยความโศกเศร้า ของญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมงาน
7 ก.ค.64 เพจ วัดราษฎร์ประคองธรรม ซึ่งรับฌาปณกิจศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ได้โพสต์ภารกิจวันนี้ว่า มีทั้งสิ้น 5 ศพ
1.รับศพผู้เสียชีวิตโรคระบาด covid จากโรงพยาบาลปทุม นำมาฌาปณกิจที่ วัดราษฎร์ประคองธรรม
2.รับร่างผู้เสียชีวิตจากศูนย์ประสานงานกองทัพบก นำมาฌาปณกิจที่วัดเสาธงหิน
3.รับศพผู้เสียชีวิตโรคระบาดcovid จากโรงพยาบาลบางใหญ่ นำมาฌาปณกิจที่วัดเสาธงหิน
4.รับศพผู้เสียชีวิตโรคระบาดcovid จากโรงพยาบาลทรวงอก นำมาฌาปณกิจที่ วัดราษฎร์ประคองธรรม
5.รับผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดcovid จากโรงพยาบาลปทุมธานี นำมาฌาปนกิจที่วัดสะแก
6. รับผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดcovid จากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ นำมาฌาปนกิจที่วัดราษฎร์ประคองธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเผาศพที่ 3 และศพที่ 4 นั้น ทางแอดมินของวัดได้โพสต์ภาพเอาพัดลมมาเป่าที่เตา ระบุว่า พักเตาสักครู่ พอความร้อนลดลงก็เริ่ม การฌาปนกิจได้ ญาติผู้เสียชีวิตรอสักนิด พวกเรากำลังเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือท่านอยู่
7 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส ผู้นำประเทศเฮติ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตภายในบ้านพักส่วนตัว เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ด้าน นางมาร์ตีน โมอิส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บกำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
รักษาการนายกรัฐมนตรีเฮติ แถลงว่า นายโฌเวแนล โมอิส ถูกลอบสังหารเมื่อวานนี้ โดยกลุ่มติดอาวุธที่ได้บุกเข้าไปยังบ้านพักของเขา พร้อมกับกล่าวประณามการโจมตีดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม อย่างไรก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติของเฮติ และหน่วยงานอื่นๆของรัฐบาลยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ในขณะนี้
โดยการลอบสังหารครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และภาวะไร้เสถียรภาพในเฮติในหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้มีความพยายามลอบสังหารนายโฌเวแนล โมอิส มาแล้วเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา รวมทั้งความพยายามรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของเขา แต่ถูกสกัดเอาไว้ได้ทำให้แผนการล้มเหลว ท่ามกลางการประท้วงเรียกร้องประธานาธิบดีเฮติลาออกจากตำแหน่ง ในขณะที่ผู้นำรายนี้หวังอยู่ในอำนาจต่อไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2022
7 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน เมื่อไม่นานมานี้ วารสารโรยอล โซไซตี เจอร์นัล (Royal Society journal) เผยแพร่ผลการศึกษาที่เปิดเผยการค้นพบหมูป่าลูกผสมปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ใกล้เขตภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะทางตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งประสบภัยพิบัตินิวเคลียร์ในปี 2011
หมูป่าลูกผสมที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีชนิดใหม่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างหมูป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัตินิวเคลียร์ ซึ่งกลายเป็นเขตรกร้างเนื่องจากมีการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ กับหมูบ้านที่หลบหนีออกจากฟาร์ม
โดโนแวน แอนเดอร์สัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟุกุชิมะ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้มีต้นตอมาจากกัมมันตภาพรังสี ทว่ามาจากสายพันธุ์หมูบ้านที่ถูกรุกราน โดยหมูบ้านไม่สามารถมีชีวิตรอดในป่า ส่วนหมูป่าแข็งแกร่งมากเพราะต้องเติบโตในเมืองที่ถูกทิ้งร้าง
ขณะเดียวกันคณะนักวิทยาศาสตร์ศึกษาตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของหมูท้องถิ่น 243 ตัว และพบว่าร้อยละ 16 ของหมูป่าในพื้นที่รกร้างดังกล่าวเป็นหมูสายพันธุ์ลูกผสม
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยคาดการณ์ว่าประชาชนที่เริ่มโยกย้ายกลับเข้าไปในเขตกัมมันตภาพรังสีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจต้องติดตามอันตรายใหม่นี้อย่างใกล้ชิด
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในหลายพื้นที่ของประเทศไทยทำให้มีสัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก วัคซีนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค อย.ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะในการควบคุมโรคระบาดของสัตว์ จึงได้จัดช่องทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนลัมปีสกิน (Lumpy skin) แบบเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งการนำเข้าทะเบียนสำหรับสัตว์นั้น ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องมาขอขึ้นทะเบียนตำรับก่อน เมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับแล้ว ก็สามารถนำเข้าวัคซีนนั้นได้ โดยยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับวัคซีนสัตว์พร้อมเอกสารหลักฐานที่สนับสนุนคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ของวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่กำหนด ก็จะอนุมัติขึ้นทะเบียนได้อย่างรวดเร็วตามช่องทางเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ กรณีการระบาดอย่างรุนแรง กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถดำเนินการนำเข้าวัคซีนดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 13 (5) โดยได้รับการยกเว้น ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่น คำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนลัมปี สกิน สำหรับสัตว์แล้ว จำนวน 2 ราย และกรมปศุสัตว์ได้นำเข้าวัคซีนลัมปี สกิน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 แล้ว รวม 360,000 โดส และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 อีกจำนวน 137,000 โดส
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย.มุ่งดำเนินงานโดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ และในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ อย.ทำการพิจารณาอนุญาตยาหรือวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้อย่างรวดเร็ว แต่คงไว้ซึ่งคุณภาพมาตรฐาน ขอให้ประชาชนมั่นใจ
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012