ข่าว
‘ไบเดน’ ประกาศล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

26 สิงหาคม : วอชิงตัน (เอพี/รอยเตอร์ส) – ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ให้ชาวอเมริกันรายละ 10,000 ดอลลาร์ และ 20,000 ดอลลาร์ กรณีได้ทุนการศึกษาเพลล์ แก่ผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง รวมถึงพักชำระหนี้ถึงสิ้นปีนี้

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ประกาศยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ของสหรัฐฯ ในวงเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 360,000 บาท) และจะยกเลิกหนี้ให้ผู้กู้ยืมในโครงการเพลล์ แกรนต์ส (Pell Grants) คนละไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 720,000 บาท) กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐระบุว่า มาตรการล้างหนี้ดังกล่าวจะจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่มีความจำเป็นมากที่สุด คือกลุ่มคนรายได้น้อยและกลุ่มคนรายได้ปานกลาง ได้แก่ผู้กู้ยืมที่มีรายได้น้อยกว่า 125,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 4.5 ล้านบาท) หรือมีรายได้ในครอบครัวน้อยกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี (ราว 9 ล้านบาท)

ไบเดนกล่าวปราศรัยจากทำเนียบขาวช่วงบ่ายวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า การดำเนินการสำหรับเป้าหมายทั้งสองกลุ่มนี้มีไว้เพื่อครอบครัวที่มีความจำเป็นมากที่สุด นอกจากนี้ จะมีการยืดเวลาชำระหนี้ต่อไปสำหรับผู้ที่กู้เงินจากรัฐบาลเพื่อการศึกษาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ แต่ย้ำว่า การพักชำระหนี้ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย สำหรับยอดชำระสามารถจ่ายคืนได้สูงสุด 5% ของรายได้ต่อเดือน ไบเดนย้ำว่า มาตรการทั้งหมดนี้ หมายความ ว่าประชาชนจะเริ่มหลุดพ้นออกมาจากหนี้สินก้อนนั้นได้มีเงินพอจ่ายค่าเช่าและค่าน้ำ-ค่าไฟ และเริ่มคิดซื้อบ้าน สร้างครอบครัว หรือสร้างธุรกิจได้ในที่สุด

ทั้งนี้ นักศึกษาในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและฐานะปานกลาง มีปัญหาเรื่องค่าเทอมหรือค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อสูงขึ้นมากตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จนทำให้นักศึกษาในสหรัฐฯ มีหนี้การศึกษารวมแล้ว 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผู้กู้ยืมรวมแล้ว 45 ล้านราย กลายเป็นภาระให้กับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางในสหรัฐฯ

ออสเตรเลียยึด “ยาไอซ์” 1,800 กก. ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ตำรวจออสเตรเลียยึดยาไอซ์ น้ำหนักเกือบ 2 ตัน ซึ่งถือเป็นการจับกุมยาเสพติดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ตำรวจตรวจพบยาไอซ์ น้ำหนัก 1,800 กิโลกรัม ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือซิดนีย์ โดยซ่อนมากับแผ่นหินอ่อน คาดว่ามีมูลค่าในตลาดมากกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 40,000 ล้านบาท

ชายสามคนถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนในการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากตะวันออกกลาง เจ้าหน้าที่กล่าวว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมีเครือข่ายในระดับนานาชาติ ตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงไม่เชื่อว่าพวกเขาจะมีความกล้าในการพยายามลักลอบนำเข้ายาเสพติดจำนวนมากโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ตรวจพบ

ตำรวจกล่าวว่า ยาเสพติดทั้งหมดมีต้นทางมาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีรายละเอียดการจัดส่งเดียวกับยาไอซ์น้ำหนัก 750 กก. ที่ถูกตรวจยึดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และตำรวจได้จับกุมชายสามคนในข้อหายาเสพติดที่พบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ออสเตรเลียกำลังเผชิญปัญหาสำคัญที่ทางการเรียกว่า “การระบาดของยาไอซ์” พวกเขากล่าวว่า ยาเสพติดดังกล่าวก่อให้เกิดอาชญากรรมรุนแรง การเสพติด และปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนระดับภูมิภาค โดยออสเตรเลียมีรายงานการใช้ยาไอซ์ต่อหัวสูงที่สุดในโลก โดยประมาณ 6% ของชาวออสเตรเลีย หรือประมาณ 1.2 ล้านคน ใช้ยาเสพติดประเภทนี้

นอกจากนั้น การสอบสวนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจยึดครั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ตำรวจได้ยึดยาไอซ์และโคเคน มูลค่ากว่า 155 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากรถเบนท์ลีย์รุ่นเก่าที่ท่าเรือซิดนีย์ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการเอ็กซเรย์รถหรูคันหนึ่งซึ่งถูกส่งมาจากแคนาดา และพบว่ามี “ความผิดปกติ” ตำรวจพบยาเสพติดซ่อนอยู่หลังไฟหน้า และพบยาบ้า 161 กก. และโคเคน 30 กก.

ที่มา: บีบีซี, รอยเตอร์


แคลิฟอร์เนียเตรียมเลิกขาย “รถที่ใช้น้ำมันอย่างเดียว” ภายในปี 2578

รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เตรียมกำหนดให้รถยนต์ใหม่ที่ขายในท้องที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (พีเอชอีวี) ทั้งหมด ภายในอีก 13 ปีข้างหน้า นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่จะเร่งการเลิกใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง

26 ส.ค.: สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ว่า นายกาวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศแผนเลิกใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเพียงอย่างเดียว ภายในปี 2578 เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย. 2563 แม้คณะกรรมการทรัพยากรอากาศแคลิฟอร์เนีย (คาร์บ) จะลงมติเพื่ออนุมัติกฎระเบียบใหม่แล้ว แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ยังคงต้องอนุมัติข้อกำหนดใหม่ ก่อนที่แผนจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

“นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์สำหรับแคลิฟอร์เนีย สำหรับรัฐหุ้นส่วนของเรา และสำหรับโลก เมื่อพวกเราเริ่มกำหนดเส้นทางไปสู่อนาคตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” นางเลียน แรนดอล์ฟ ประธานของคาร์บ กล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า กฎดังกล่าวจะลดช่วยลดมลพิษที่เกิดจากหมอกควันจากรถยนต์ขนาดเล็กได้ราว 25% ภายในปี 2580 และจะเป็นตัวกำหนดให้ 35% ของรถยนต์ที่วางจำหน่าย เป็นรถพีเอชอีวี, รถอีวี หรือรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนภายในปี 2569 โดนสัดส่วนข้างต้นจะเพิ่มเป็น 68% ภายในปี 2573 และจะครบ 100% ภายในปี 2578

ขณะที่ นายสตีฟ ดักลาส รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทผลิตรถยนต์หลายแห่ง กล่าวว่า กฎระเบียบของคาร์บ “เป็นข้อกำหนดที่มีการเปลี่ยนแปลงและครอบคลุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของรถยนต์”

แม้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างบริษัทเทสลา จะเรียกร้องแนวทางการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดให้เร็วกว่าเดิม แต่กลุ่มยานยนต์กล่าวว่า กฎระเบียบดังกล่าว “จะท้าทายอย่างมาก แม้ว่าจะอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีแรกๆ”

เครดิตภาพ : REUTERS


เซเลนสกี เผยรอดหวุดหวิด ยูเครนกู้ไฟฟ้าดับ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริฌเฌีย

26 ส.ค. บีบีซี และ รอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริฌเฌีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปและอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ถูกตัดออกจากระบบเครือข่ายไฟฟ้าของยูเครน เมื่อวันที่พฤหัสบดีที่ 25 ส.ค. หลังเกิดการสู้รบรอบโรงไฟฟ้าดังกล่าวจนไฟไหม้สายไฟฟ้าเหนือพื้นดิน ทำให้กระแสไฟฟ้าดับชั่วขณะ แต่โชคดีที่ไฟฟ้าสำรองทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

“หากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลไม่ทำงาน หากระบบอัตโนมัติและพนักงานในโรงไฟฟ้าของเรา ไม่ตอบสนองหลังกระแสไฟฟ้าดับ ตอนนี้เราจำต้องพยายามแก้ไขผลพวงจากอุบัติเหตุการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีแล้ว” นายเซเลนสกีกล่าว

ผู้นำยูเครนกล่าวโทษรัสเซียซึ่งโจมตีโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริฌเฌีย อย่างไรก็ตาม นายเยฟกีนี บาลิตสกี ผู้ว่าการแคว้นซาโปริฌเฌียที่รัสเซียแต่งตั้ง กล่าวโทษยูเครนซึ่งเป็นต้นเหตุให้กระแสไฟฟ้าดับเอง

ด้านเอเนอร์โฮอะตอม รัฐวิสาหกิจพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครนระบุ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริฌเฌียที่ถูกตัดออกจากระบบเครือข่ายไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ ไฟฟ้าดังกล่าวใช้สำหรับระบบหล่อเย็นและระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเตาปฏิกรณ์ที่ยังเดินเครื่อง 2 ตัวจาก 6 ตัว ขณะนี้กำลังพยายามให้เตาปฏิกรณ์กลับมาเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายไฟฟ้าอีกครั้ง

ขณะที่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ของสหประชาชาติระบุว่า เตาปฏิกรณ์ทั้งหมด 6 ตัว ยังถูกตัดการเชื่อมต่อจากระบบเครือข่ายไฟฟ้า แม้จะมีการกู้การจ่ายไฟฟ้าภายหลังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ส.ค.

นายราฟาเอ กรอสซี ผู้อำนวยการไอเออีเอ ระบุในแถลงการณ์ว่า ไอเออีเอไม่สามารถเสียเวลาได้อีกต่อไป เนื่องจากเกือบทุกวันมีอุบัติเหตุใหม่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริฌเฌียหรือใกล้เคียง โดยย้ำข้อเรียก

ร้องให้คณะผู้แทนระหว่างประเทศเข้าไปในโรงไฟฟ้าดังกล่าวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แม้ว่ารัสเซียจะส่งสัญญาณอนุญาตให้คณะผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศเยือนโรงไฟฟ้าดังกล่าว แต่กว่าจะถึงเวลานั้นจะเป็นการยากที่จะตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดเหตุ


รัสเซียจัดหนักรับวันชาติ ยิงจรวดใส่สถานีรถไฟยูเครน ตาย 25 ศพ

26 สิงหาคม : เคียฟ/สหประชาชาติ/บรัสเซลส์ (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) - กองทัพรัสเซียได้ยิงจรวดใส่สถานีรถไฟในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนในวันครบรอบ 31 ปีที่ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันพุธ ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 25 ศพบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวผ่านคลิปวีดีโอที่แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ว่า รัสเซียได้ยิงจรวดใส่รถไฟโดยสารในเมืองแชปลิน ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 145 กิโลเมตรทางตะวันตกของแคว้นโดเนตสก์ที่ถูกรัสเซียยึดครอง ทั้งยังระบุในอีกคลิปวิดีโอเมื่อช่วงค่ำวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ชาวยูเครนทุกคนรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่ชาวเมืองแชปลินต้องเผชิญ ขณะนี้

เขาได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว 25 ศพ บาดเจ็บอีกหลายสิบคนและยูเครนจะทำให้รัสเซียต้องชดใช้ในสิ่งที่เกิดขึ้น

ผู้ช่วยของประธานาธิบดีเซเลนสกี ระบุในแถลงการณ์ว่า กองทัพรัสเซียได้โจมตีเมืองแชปลิน 2 ครั้ง ในจำนวนผู้เสียชีวิต25 ศพ มีเด็กชาย 1 คนเสียชีวิตจากเหตุจรวดตกใส่บ้านในการโจมตีครั้งแรก และมีอีก 24 คนที่เสียชีวิตในเวลาต่อมาจากเหตุจรวดตกใส่สถานีรถไฟ จนทำให้เกิดไฟไหม้รถไฟ 5 ขบวน นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุโจมตีอีกหลายสิบคน

ด้านที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครนเผยว่า กองทัพรัสเซียได้หลีกเลี่ยงการโจมตีกรุงเคียฟและมุ่งโจมตีเมืองด่านหน้า เช่น คาร์คีฟ ไมโคลาอีฟ นิโคปอล และดนิโปรในวันครบรอบ 31 ปีที่ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต ซึ่งบังเอิญตรงกับวันครบรอบ 6 เดือนที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธว่ารัสเซียไม่ได้มุ่งเป้าโจมตีพลเรือน

ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นจัดประชุม หลังปฏิบัติการรัสเซียในยูเครนครบ 6 เดือน โรสแมรี ดิคาร์โล รองเลขาธิการยูเอ็นฝ่ายกิจการการเมืองและเสริมสร้างสันติภาพ กล่าวต่อที่ประชุมว่า แม้สงครามจะครบ 6 เดือนแล้ว แต่ยังคงมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดความขัดแย้งในยูเครน ขณะที่อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียมากมายเหลือคณานับที่เกิดขึ้นในยูเครน มีพลเรือนรวมถึงเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก พร้อมเตือนว่าหากสถานการณ์ตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีก จะนำไปสู่การทำลายตนเอง ด้านประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแสดงความกังวลสถานการณ์ความปลอดภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียในยูเครน หลังเกิดเหตุโจมตีหลายครั้งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เซอร์กี คีตลีสซา ผู้แทนยูเครนประจำยูเอ็น เตือนรัสเซียว่า หากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยูเครนในจังหวัดโดเนตสก์ของยูเครน ตัดสินลงโทษทหารยูเครนที่ถูกจับเป็นเชลย จะทำให้การเจรจาสันติภาพยูเครน-รัสเซีย เลวร้ายลงจนถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืนได้

ขณะเดียวกัน เออร์ซูลา ฟอน แดร์เลเยิน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และชาร์ลส มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรปหรืออียู ประกาศสนับสนุนยูเครนระยะยาว ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะช่วยฟื้นฟูบูรณะยูเครนด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มงบ 250 ล้านเยน จัดรัฐพิธีศพ “ชินโสะ อาเบะ”

26 ส.ค. 2565: รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมว่า จะใช้เงิน 1.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 65 ล้านบาท ในการจัดรัฐพิธีศพของ นายชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ประชาชนแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากมีการเปิดเผยความสัมพันธ์ของพรรครัฐบาลกับโบสถ์แห่งความสามัคคี หรือ ลัทธิมูน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มือปืนตัดสินใจก่อเหตุ เพราะไม่พอใจที่แม่ของเขาบริจาคเงินจำนวนนับร้อยล้านเยนให้กับโบสถ์ดังกล่าว จนครอบครัวของเขาต้องประสบปัญหาอย่างหนัก

รัฐพิธีศพของนายอาเบะ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายนนี้ ที่สนามกีฬานิปปอน บูโดกัน ในกรุงโตเกียว โดยค่าใช้จ่ายในการจัดงานทั้งหมดจะมาจากงบประมาณรัฐ แต่จากการสำรวจความเห็นของประชาชนชาวญี่ปุ่น พบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับการจัดรัฐพิธีศพดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามคัดค้านการจัดรัฐพิธีศพครั้งนี้ถึง 53%

รัฐพิธีศพของอดีตผู้นำญี่ปุ่นที่ทางการจัดขึ้นครั้งสุดท้ายคืองานของ นายชิเงรุ โยชิดะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในปี 1967 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้นำโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าร่วมในรัฐพิธีศพของนายอาเบะ โดยเบื้องต้นมีรายงานว่ามีการเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมพิธีของ นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนเชิญแขกเข้าร่วมรัฐพิธีศพครั้งนี้มากถึง 6,400 คน ซึ่งสูงกว่ารัฐพิธีศพครั้งก่อนของอดีตนายกรัฐมนตรีชิเงรุ โยชิดะ ในปี 2510 ราว 6,000 คน

คาดว่าพรรคฝ่ายค้านมีแนวโน้มตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณก้อนนี้อย่างละเอียด เนื่องจากมีตัวเลขสูงกว่าเมื่อครั้งที่รัฐบาลจ่ายเงิน 96 ล้านเยน เพื่อจัดพิธีศพให้กับ นายยาสุฮิโระ นาคาโซเนะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปี 2020 ซึ่งเป็นการจัดร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP)

เมื่อเดือนกรกฎาคม นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ได้แสดงเจตจำนงที่จะจัดงานรัฐพิธีศพให้แก่นายอาเบะ โดยระบุถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่นานถึง 8 ปี 8 เดือน รวมถึงบทบาทสำคัญและชื่อเสียงของนายอาเบะที่เขาได้รับในเวทีโลก