15 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์ นสพ.The Straits Times ของสิงคโปร์ เสนอข่าว Thai government urged to stop monkeying around as coconut boycott campaign stings ระบุว่า รัฐบาลไทยกำลังถูกเรียกร้องจากภาคเอกชนให้ต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์ เพื่อทำความเข้าใจกับนักการเมืองในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) หลังผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าวยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการรณรงค์ขององค์กรปกป้องสิทธิสัตว์
ก่อนหน้านี้ องค์กรพีต้า (PETA) เรียกร้องให้สหรัฐฯ และ EU แบนกะทิซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวที่ผลิตจากประเทศไทย โดยอ้างว่าชาวสวนมะพร้าวในไทยใช้แรงงานลิงปีนเก็บมะพร้าว อันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ และแม้ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องจะพยายามชี้แจงแล้วว่าไม่เป็นความจริง เพราะระยะหลังๆ มะพร้าวที่ปลูกในไทยเป็น “มะพร้าวต้นเตี้ย” ที่การเก็บผลมะพร้าวไม่จำเป็นต้องปีนป่ายขึ้นที่สูงแต่อย่างใด
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลและภาคเอกชนไทยเคยร่วมกันออกใบรับรอง “Monkey Free Plus” เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าบริษัทที่ผ่านการรับรองไม่ได้ทำร้ายสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานของตน แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถสู้กับการปั่นกระแสของ PETA โดยใช้รูปภาพและคลิปวีดีโอได้ นอกจกานั้น ทั้งรัฐและเอกชนไทยก็ยังพยายามทำสื่อประชาสัมพันธ์ตอบโต้ข้อกล่าวหาขององค์กรดังกล่าว
ทางการไทยยังติดต่อกับผู้นำเข้าและผู้ค้าปลีกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทราบดีว่าการเก็บเกี่ยวและกระบวนการผลิตต้องอาศัยคนและเครื่องจักร แต่หากการรณรงค์ของ PETA ยังคงดำเนินต่อไป ผู้ผลิตไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งในฟิลิปปินส์และศรีลังกา
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายของพรรคก้าวไกล เดินสายพบปะกลุ่มภาคประชาสังคมและภาคเอกชนหลากหลายกลุ่มใน จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะด้านนโยบาย โดยช่วงเช้าเข้าประชุมร่วมกับกลุ่มสภาลมหายใจ หารือเรื่องปัญหาฝุ่นควัน pm2.5 ตามด้วยการประชุมร่วมกันภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวในช่วงบ่าย
ในวงประชุมด้านฝุ่น pm2.5 นายพิธาได้กล่าวสรุปถึงแนวนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าปัญหาฝุ่น pm2.5 ทำให้เรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องเดียวกัน มีสามสถาบันวิจัยเป็นอย่างน้อยที่คำนวณมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฝุ่น pm2.5 ออกมาแตกต่างกันบ้าง แต่เฉลี่ยคืออยู่ที่หลักหมื่นกว่าล้านบาท แต่ที่ผ่านมางบประมาณการแก้ไขปัญหานี้เป็นเบี้ยหัวแตก หน่วยงานทั้งราชการและท้องถิ่นต่างคนต่างมีงบประมาณก้อนเล็กก้อนน้อย รวมกันมีเพียงแค่ 85 ล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาหลักหมื่นล้านบาท และประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ชี้ให้เราเห็นแล้ว ว่าการจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไปแก้ความท้าทายใหม่ๆ อย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ก็ติดขัดเรื่องโครงสร้างอำนาจ เช่น การที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจในการสั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยุติหรือชะลอกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น ได้เพียงขอความร่วมมือเท่านั้น
ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลก้าวไกลต่อปัญหาฝุ่น pm2.5 จะแบ่งเป็นสามระดับ คือระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น อันดับแรกระดับนานาชาติ อาเซียนเคยออกข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับอากาศไว้แล้วตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่เคยมีการใช้จริง และขณะนี้ก็มีความพยายามจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ASEAN Haze Pollution Center ขึ้นมาแต่ยังหาที่ตั้งไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลก้าวไกลจะเสนอให้นำศูนย์ปฏิบัติการนี้มาไว้ที่เชียงใหม่ เพื่อใช้กลไกอาเซียนพร้อมกับการพูดคุยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ไปผลักดันการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อไป
ส่วนในระดับประเทศ ฝุ่น pm2.5 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอยู่มาก เช่น ที่สระบุรี มาจากการทำเหมือง ที่สมุทรปราการ มาจากโรงงาน ที่เชียงใหม่ มาจากการเกษตรทั้งในประเทศและข้ามแดน ที่กรุงเทพ มาจากคมนาคมและการก่อสร้าง บทเรียนคือเราจะตัดเสื้อโหลตัวเดียวใช้ทั้งประเทศไม่ได้ การออกแบบนโยบายแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่จะต้องสอดรับกับบริบทที่แตกต่างกันไปตรงนี้ด้วย
ส่วนในระดับท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมางบประมาณท้องถิ่นในการแก้ปัญหานี้น้อยมาก ท้องถิ่นเองไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแก้ปัญหา คนที่มีเครื่องมือในการแก้ปัญหาก็กลับไม่ได้เป็นคนแก้ การกระจายงบประมาณลงมาให้กับกลไกท้องถิ่น จะทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่สุดได้มีเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้ได้
“ปัญหาฝุ่น pm2.5 เศรษฐกิจ และสาธารณสุข เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ผมเชื่อว่าถ้าเราเรียงลำดับความสำคัญ ให้ความใส่ใจ ให้ทรัพยากรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้คนแก้ปัญหามีของ ภายในสี่ปีสถานการณ์น่าจะดีขึ้นได้” นายพิธากล่าว
ส่วนในวงประชุมร่วมกับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว พิธาระบุว่าโจทย์สำคัญเฉพาะหน้าวันนี้คือจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นก่อนโควิดได้ เพราะจากตัวเลขวันนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวยังหายไปครึ่งหนึ่งจากเดิม และยังมีโจทย์ใหม่ที่ต้องพิจารณา คือจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่นานกว่าเดิมและจ่ายเยอะกว่าเดิม ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวกระจายตัวมากกว่ากระจุกตัวอยู่ 5 จังหวัดหลัก ซึ่งเชียงใหม่เป็นหนึ่งในนั้น และแม้แต่ในตัวเชียงใหม่ก็ยังกระจุกตัวอยู่มาก
นอกจากนี้ รัฐบาลก้าวไกลยังจะต้องทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองสุราก้าวหน้า และเป็นเมืองแห่งโฮมสเตย์ นั่นหมายความว่าจะต้องมีการผลักดัน พ.ร.บ.โฮมสเตย์ ให้ผู้ประกอบการโฮมสเตย์สามารถทำได้สะดวกขึ้น ไม่ติดข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคหลายประการที่ไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งการแก้ปัญหาที่ดิน เช่น ส.ป.ก. ที่เชียงใหม่มีอยู่กว่า 1 แสนไร่ ที่สร้างข้อจำกัดให้ประชาชนไม่สามารถนำที่ดินของตัวเองไปต่อยอดได้
“ประเด็นการท่องเที่ยวไม่สามารถแยกออกได้จากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม นี่คือความท้าทายใหม่ๆ ที่การท่องเที่ยวของเรากำลังเผชิญอยู่ เราได้พบปะพูดคุยกับหอการค้า YEC และภาคธุรกิจ มาหลายจังหวัด พบว่าทุกคนวันนี้กำลังเผชิญความท้าทายและปัญหาที่มีรูปแบบคล้ายกันอยู่ แต่ในแง่หนึ่ง นั่นแปลว่าการแก้ปัญหาของเราสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้” นายพิธากล่าว
15 มิ.ย.2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณีภายหลังขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ณ คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยมีจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" และการจัดพิมพ์บัตรสอบถามประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมายได้หรือไม่ ว่า การทำประชามติทำไม่ได้อยู่แล้ว และพรรคก็ไม่เห็นด้วยเพราะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ส่วนที่พรรคส่งชื่อ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ว่าที่ส.ส.ปัตตานี ไปเข้าร่วมกิจกรรมนั้น เพราะเป็นส.สในพื้นที่ และเป็นการจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยซึ่งคิดว่าคงไม่มีประเด็นอะไรและเชื่อว่ามหาวิทยาลัยจะมีการตรวจสอบอยู่แล้ว และที่ผ่านมาส.ส.ของพรรคก็มีการพูดจาปราศรัยกับนักศึกษา ในทางวิชาการ อยู่หลายครั้งก็ไม่มีประเด็นอะไร และครั้งนี้ก็เห็นว่านักศึกษาน่าจะต้องการขอความรู้ทางวิชาการเรื่องอนาคตตนเองโดยมีอาจารย์อื่นๆร่วมด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่นักศึกษาจัดกิจกรรมขึ้น เราอยู่ในฐานะพรรคการเมืองผู้เข้าร่วมเท่านั้น เมื่อนักศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัยผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็คือมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้น ยืนยันว่าทำไม่ได้โดยรัฐธรรมนูญและพรรคไม่ได้สนับสนุนใดๆ การที่นายยามารุดดิน ทรงศิริ รองโฆษกพรรคเป็นธรรม ระบุว่า เป็นเพียงการทำประชามติแยกตามกฎหมาย ไม่ได้ถามความเห็นว่าจะแยกดินแดนหรือไม่นั้น ตนไม่รู้ในรายละเอียดและเป็นความเห็นของส่วนบุคคล แต่สำหรับพรรคประชาชาติในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ว่าการทำประชามติจะเป็นแบบจำลองหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าบ่งบอกเพื่อเป็นเอกราชหรือแบ่งแยกดินแดน ย่อมทำไม่ได้อยู่แล้ว ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ พรรคจึงไม่เห็นด้วยหากจะมีการกระทำดังกล่าว ส่วนบุคคลที่กระทำไป ตนคิดว่าทุกฝ่ายควรพิจารณาว่าใครต้องรับผิดชอบ
"พรรคเพียงแต่ถูกเชิญไปพูดในเชิงวิชาการให้ไปร่วมการแสดงความคิดเห็นต่อการทำประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และจากการที่ตนสอบถามผศ.ดร.วรวิทย์ ทราบว่าเป็นการทำประชามติช่วงเช้า แต่อาจารย์ไปเข้าร่วมช่วงบ่าย2แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ รศ.ดร.มารค ตามไท ทยอยเข้าร่วมงาน และนักการเมืองอีก 2 พรรค ที่ถูกเชิญเข้าร่วมเช่นกัน เมื่อจบเวทีก็กลับ ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่อใดๆที่นอกเหนือจากนี้ พรรคเราเอาความจริงมาพูด เราเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ เรารู้ดีว่าเราสู้เพื่อสันติสุขของประชาชนให้อยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมให้ได้ เราไม่แบ่งแยก อย่าว่าแต่แบ่งจังหวัดเลย เราไม่แบ่งแยกศาสนา เพราะประเทศต้องสามารถอยู่ร่วมกันให้ได้หลายเชื้อชาติ หลายศาสนา หลายความเชื่อถือ เพื่อสันติสุขประเทศเดินไปข้างหน้า นี่คือจุดยืนของพรรคประชาชาติ"
เมื่อถามว่ากิจกรรมที่ขบวนนักศึกษาแห่งชาติจัดขึ้นมองเป็นเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า แล้วแต่มุมมอง เสรีภาพต้องใช้ให้เหมาะกับกฎหมายด้วย ถ้าเสรีภาพไปใช้ในทางที่ผิดก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เสรีภาพต้องอยู่ภายใต้กรอบขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มีเสรีภาพแล้วจะทำอะไรก็ได้
หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักศึกษา ก็คงไม่ได้ต้องการให้นักการเมืองเข้าไปร่วม อาจจะต้องการจำลองเวทีซึ่งก็เป็นกิจกรรมของนักศึกษา เราเข้าใจดี เคยเป็นนักศึกษามาก่อน แต่ว่าพรรคจะไปก้าวล่วงว่ากระทำผิดหรือถูกไม่ได้ เชื่อว่ากิจกรรมนักศึกษาย่อมมีขอบเขตของตัวเองอยู่แล้วแต่เราก็ต้องเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษา จะไปจำกัดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาคงไม่ได้ ส่วนจะทำผิดหรือถูกหรือใครต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะเป็นอีกเรื่อง
เมื่อถามว่าถ้ากรณีรัฐบาลหยิบจับเป็นคดีความมั่นคงจะเกิดปัญหาบานนปลายมากขึ้นหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง แต่สำหรับพรรคการเมืองเองก็ไม่อยากให้ทุกอย่างบานปลาย เพียงแต่อยากให้ทุกอย่าง บ้านเมืองเรียบร้อยสงบ
15 มิ.ย.66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประชาชนมากกว่า 100,000 คน อพยพออกจากเส้นทางผ่านของพายุไซโคลน “บีปอร์จอย” (Biparjoy) ที่มีความรุนแรงที่กำลังมุ่งหน้ามายังอินเดียและปากีสถาน โดยนักอุตุนิยมวิทยากล่าวเตือนในวันนี้ว่า พายุอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและทำให้สายไฟฟ้าถูกตัดขาด
“บีปอร์จอย” ซึ่งเป็นภาษาเบงกาลีแปลว่าภัยพิบัติ กำลังมุ่งหน้าข้ามทะเลอาหรับที่อยู่ตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียและคาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งเป็นพายุไซโคลนที่มีความรุนแรงในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่าจะทำให้เกิดลมแรง คลื่นพายุซัดฝั่งหรือสตอร์มเซิร์จและฝนตกหนักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นระยะทาง 325 กิโลเมตรระหว่างเมืองมันดวี ในรัฐคุชราฏของอินเดียไปจนถึงนครการาจีของปากีสถาน
เจ้าหน้าที่ของรัฐคุชราฎกล่าวว่า ขณะนี้มีการอพยพประชาชนไปแล้วมากกว่า 47,000 คน จากบริเวณชายฝั่งทะเลและพื้นที่ลุ่มต่ำ และคาดว่าในวันนี้จะมีการอพยพประชาชนเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่อินเดียเตือนว่า พายุอาจจะทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่นเสียหายและส่งผลกระทบกับบริการรถไฟและการเดินทางด้วยรถยนต์
ทางด้านปากีสถานนั้น เชอร์รี เรห์แมน รัฐมนตรีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกล่าวว่า มีการอพยพประชาชนไปแล้ว 62,000 ราย จากบริเวณแนวชายฝั่งทะเลและจัดตั้งค่ายพักอาศัยเพื่อหลบภัยในโรงเรียนและวิทยาลัย 75 แห่ง ในขณะที่ชาวประมงได้รับคำเตือนให้หยุดการเดินเรือ นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมในนครการาจีด้วย
อิทธิพลของไซโคลนบีปอร์จอย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ศพในอินเดีย รวมถึงเด็ก 2 คนที่ถูกกำแพงพังถล่มทับ ขณะที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกต้นไม้โค่นใส่ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012