ข่าว
'หลวงพ่อโทน'เกจิดังอ่างทองละสังขาร

หลวงพ่อโทนเกจิดังแห่ง จ.อ่างทอง ละสังขารอย่างสงบ หลังจากอาพาธด้วยโรคปอด ศิษยานุศิษย์แห่ร่วมรดน้ำศพแน่นวัดเชิงหวาย

28 มี.ค.55 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังที่วัดเชิงหวาย ตั้งอยู่เลขที่ 1 ม.4 ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.อ่างทอง สถานที่ตั้งศพพระครูจันทโพธิ์คุณ หรือ หลวงพ่อโทน เจ้าอาวาสวัดเชิงหวาย เกจิดังจังหวัดอ่างทอง ซึ่งได้ละสังขาร อย่างสงบ เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังอาพาธด้วยโรคปอด โดยมีประชาชน และลูกศิษย์ต่างเดินทางมากราบเคารพศพเป็นจำนวนมาก

นายสำราญ จันทร์ขจร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อ.เมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า โดยทางลูกศิษย์ ต่างตรงลงกันว่า จะสวดพระอภิธรรมศพ 9 วัน แล้วเก็บไว้เพื่อรอพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพภายหลัง

ประวัติพระครูจันทโพธิ์คุณ หรือหลวงพ่อโทน เจ้าอาวาสวัดเชิงหวาย เกิดเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ.2466 ได้อุปสมบทที่วัดเชิงหวายเมื่อ พ.ศ.2491 และได้แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงหวายเมื่อปี 2497 จนถึงปัจจุบัน รวมอายุ 89 ปี 64 พรรษา หลวงพ่อโทนเป็นลูกศิษย์ของ หลวงพ่อกริ่ม วัดกลางกับหลวงพ่อสาย วัดทองคุ้ง เจ้าตำหรับแหวนพิรอด และได้เรียนรักษาจากพระเขมรอยู่ 2 ปี ซึ่งออกวัตถุมงคลที่โด่งดังที่สุดคือเหรียญหลวงพ่อโทนใสแวนเนื้อนิเกิล และพระสมเด็จขี่หลังหมู เพราะหลวงพ่อโทนท่านเกิดปีกุน ซึ่งน้ำมนต์ของหลวงพ่อโทนโด่งดังทั่วประเทศอยู่ที่ไหนๆ ก็มาขอน้ำมนต์ที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านเมตตา มหานิยม ค้าขาย และรักษาโรค

หลวงพ่อโทน มีภูมิปัญญาอันน่าทึ่งด้านเภสัชกรรมแผนโบราณ เปิดรักษาผู้ป่วยมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยศึกษาค้นคว้าจากตำราขอม และพระไตรปิฏก เพื่อให้รู้ถึงปฐมเหตุ ปฐมจินดา ก่อนจะพัฒนาไปถึงการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ด้วยสมุนไพรไทย สรรพคุณสูง

แบงก์ชาติค้านนโยบายบาทอ่อน หวั่นซ้ำรอยวิกฤติ 40

วันที่ 28 มี.ค. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุใช้นโยบายค่าเงินบาทอ่อนค่าเพื่อสนับสุนการส่งออกว่า ยืนยันว่า ธปท.ไม่มีแนวคิดในการดำเนินนโยบายค่าเงินบาทอ่อนอย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวดำเนินนโยบายการเงิน และในภาวะปัจจุบันหากมีคนต้องการให้ค่าเงินอ่อนค่าลงกว่าที่ควรจะเป็น อาจเกิดวิกฤติเช่นปี 40 ที่ผ่านมา คือ ส่งผลให้นักลงทุนวิ่งเข้ามาเก็งกำไรตลาดอัตราแลกเปลี่ยน จนเงินบาทท่วมตลาดและเป็นภาระต่อ ธปท.ในอนาคต

เวลานี้ถ้าให้เงินบาทอ่อนอาจไม่เหมาะสมเพราะประเทศมีความจำเป็นต้องซื้อน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนเรายิ่งต้องซื้อน้ำมันแพงขึ้นไปอีก”

สำหรับอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน ยอมรับว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ธ.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว เริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวและกลับมาผลิตได้เต็มศักยภาพตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้แต่คงต้องติดตามการปรับเพิ่มค่าจ้างค่าแรง 300 บาทที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย. นี้ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและเอกชนที่อาจเป็นตัวกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป

โกร่งแนะผู้ประกอบการไปเพื่อนบ้านหากสู้ค่าแรงไม่ไหว

วันที่ 27 มี.ค. นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมหารือกับนายนาโอะยูกิ ชิโนฮาระ รองกรรมการผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า ไอเอ็มเอฟได้สอบถามถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยได้ชี้แจงไปว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว และถึงเวลาที่ผู้ประกอบการจะต้องยอมรับหากผู้ประกอบการรายใดที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถปรับตัวได้ก็ให้ย้ายโรงงานไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า ส่วนรัฐบาลก็จะรับหน้าที่จัดหามาตรการเข้าส่งเสริมให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตต่อไป

“ต้องทำความเข้าในว่าไทยขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และที่มีอยู่ก็เป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นจึงต้องทำใจว่าไทยจะเอาอุตสาหกรรมทุกอย่างไว้ในประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง รวมทั้งเอสเอ็มอี ก็ควรย้ายไปเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูก ส่วนที่อยู่ในประเทศก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับผลตอบแทน”


"บิ๊กตู่"ลั่นยังไม่ถึงเวลาทหารจุ้นแก้การเมือง

วันที่ 28 มี.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกันต่อแนวทางการปรองดองว่า คนไทยก็เป็นแบบนี้ บางทีความคิดเห็นแตกต่างกัน เรามีบทเรียนมาหลายครั้งแล้วที่ความคิดเห็นไม่เหมือนกัน คิดว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ไม่เหมือนกัน แต่ต้องหาจุดต่างแล้วเดินไปแก้ปัญหาให้ได้ ทั้งกลไกจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ยุติธรรม ซึ่งทหารหวังว่า บ้านเมืองจะเรียบร้อยปลอดภัย แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่ทหารจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้เป็นเรื่องของกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการของแต่ละฝ่ายที่จะแก้กันไป ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไปหาวิธีการอื่น ถ้าไม่เรียนรู้ในวันนี้จะอยู่กันไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ทหารจะนิ่งดูดาย หรือไม่สนใจ แต่เราติดตามสถานการณ์ทางการเมืองตามคำสั่งรมว.กลาโหมอยู่แล้ว และคาดหวังเหมือนทุกคนว่า ทำอย่างไรบ้านเมืองจะปลอดภัยและไม่เกิดอะไรเสียหายซ้ำซ้อน แต่การเตรียมการมุ่งไปสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องสำคัญกว่าการเมือง เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ชาติ บทบาทของทหารขณะนี้จะอยู่ในจุดที่ควรอยู่ คือ ทำหน้าที่ของทหารให้ดีที่สุดในการป้องกันชายแดน การแก้ปัญหาภาคใต้ และงานขุดลอกคูคลอง อย่าเอาเราไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งจะเหมาะสมกว่า