ข่าว
คสช.ชี้แดงตั้งศูนย์ฯ ส่อกิจกรรมการเมือง

(17 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยืนยันจะเดินหน้าตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ส่วน คสช.ดูภาพรวมทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย อะไรที่ไม่ชัดเจน หรือมีผลทำให้สังคมเข้าใจผิด หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ต้องเข้าไปดูแล และต้องใช้ดุลพินิจว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนจะสามารถตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติได้หรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามแนวทางผู้บังคับบัญชา เพราะขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลว่าตั้งได้หรือไม่ได้ แต่ในมุมของเจ้าหน้าที่จะพิจารณาดูว่าการรวมกลุ่ม และร่วมทำกิจกรรมมีรูปแบบองค์ประกอบเข้าข่ายการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในนามธรรมในการใช้คำพูดการสื่อสาร เราไม่ได้มองแค่การใช้ชื่อ คงต้องดูองค์ประกอบและพฤติกรรมร่วมด้วย

เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับแกนนำพรรคเพื่อไทย 17 คนที่ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและการทำงานของ คสช.ว่า กลุ่มคนที่ให้ความเห็นมีสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เป็นเพียงความเห็นที่ไม่เหนือความคาดหมายที่สังคมคาดเดาได้ ควรระวังเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ต้องมีข้อเท็จจริง พิสูจน์ได้ ซึ่งทาง กกต.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการแสดงความเห็นมากระทบต่อการทำงานของ คสช.และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรนั้น ต้องดูว่าเข้าข่ายกฎหมายใด อาจจะเป็นกฎหมายประชามติ หรือกฎหมายความมั่นคงที่มีเจตนารมณ์ในเรื่องการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ยืนยันว่าการแสดงความเห็นสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

ด้าน พ.อ.ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ระบุถึงความพยายามตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติฯ ของกลุ่ม นปช.ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลมาก่อน การดำเนินการใดๆ ก็ต้องระมัดระวัง และเป็นบุคคลที่เคยลงนามกับ คสช.ไว้ตามคำสั่งที่ 39/57 หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อาจขัดต่อกฎหมาย โดยในส่วนของ คสช.ได้ให้ฝ่ายกฎหมาย ติดตามการตั้งศูนย์ฯ ของ นปช.อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้มีนัยสำคัญซึ่ง คสช.ได้ลงพื้นที่ชี้แจงการทำประชามติอย่างต่อเนื่อง และได้ย้ำกับประชาชนว่าการดูแลปัญหาทุจริตประชามติมี กกต.ดูแลอยู่แล้ว ทั้งนี้ กกต.ได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจฯ หน่วยทหารในพื้นที่ ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่างเข้าไปร่วมเคลื่อนไหว หรือตกเป็นเครื่องมือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะหากมีการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีและก็จะถูกทอดทิ้ง

ห้าม “ธัมมชโย” ออกนอกประเทศ

“ศรีวราห์” ระบุพอใจปฏิบัติการเข้าควบคุมตัว “ธัมมชโย” ไร้เหตุรุนแรง แม้ล้มเหลว ยันจ่อดำเนินดคีลูกศิษย์ธรรมกายขวางการทำงาน จนท. ระบุ สตม.ขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามออกนอกประเทศแล้ว

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ นำหมายค้นศาลอาญาเข้าค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมตัวพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่ถูกบรรดาลูกศิษย์เข้าขัดขวางจนไม่สามารถเข้าถึงตัวพระธรรมชโยได้ว่า ล่าสุดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ได้มีการขึ้นแบล็กลิสต์พระธัมมชโย ห้ามเดินทางออกนอกประเทศแล้ว เนื่องจากเป็นผู้ต้องหา มีหมายจับของศาล ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ในทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง พร้อมทยอยส่งภาพนิ่งและภาพวิดีโอให้แก่พนักงานสอบสวนแล้วซึ่งจะมีการเรียกมาสอบสวนดำเนินคดีต่อไป พร้อมขยายผลถึงผู้สั่งการขัดขวางเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ต้องดำเนินคดีด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าพระธัมมชโยเป็นผู้สั่งการให้มีการขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ส่วนการประเมินผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสนับสนุนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอนั้น ในภาพรวมตนมีความพอใจเพราะไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น และไม่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมือที่ 3 ที่ฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ยืนยันว่าตำรวจพร้อมสนับสนุนการทำงานของดีเอสไอ โดยจะสนับสนุนกำลังพลทันทีหากทางดีเอสไอร้องขอ

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการดำเนินการอย่างเต็มที่โดยไม่อยากให้เกิดความรุนแรง แต่ถูกมวลชนจำนวนมากขัดขวาง ยืนยันว่าไม่ใช่มวยล้มต้มคนดูแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่นำโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะไม่เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปแจ้งความให้ดำเนินคดีต่อลูกศิษย์ที่ขัดขวางการเข้าตรวจค้น ตำรวจก็จะสอบสวนไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ว่าเจ้าข่ายในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยยืนยันว่าตำรวจพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของดีเอสไอ ตามกรอบของกฎหมาย และขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานขอเข้าตรวจค้นเป็นครั้งที่ 2 จากดีเอสไอแต่อย่างใด และต้องนำเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาพูดคุยเพื่อปรับปรุงรูปแบบการทำงานต่อไป


ชุดจับ ‘พระธัมมชโย’ ทะลวงไม่พ้นโล่มนุษย์

เมื่อเวลา 14.10 น. วันที่ 16 มิถุนายน ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 1 (ศปก.ภ.1) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1(บช.ภ.1) เป็นวอร์รูมมอนิเตอร์การเข้าจับกุมพระธัมมชโย ในวัดพระธรรมกาย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยหลังชุดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงแต่ไม่สามารถจับกุมได้ ว่า หลังประเมินสถานการณ์ร่วมกับ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงให้ยุติการเข้าตรวจค้นและจับกุมพระธัมมชโย

หลังจากชุดเจรจา เข้าจากประตูที่ 7 ไปถึงประตูที่ 5 พบมวลชนที่ไม่ยอมรับฟังการเจรจา และเพื่อไม่ให้สถานการณ์เปลี่ยนเป็นความรุนแรง ชุดเจรจาจึงเดินทางกลับมาที่ศปก.ส่วนหน้า สภ.คลองหลวง แล้ว เป็นการรับฟังประเมินสถานการณ์จากคนที่อยู่หน้างาน การเจรจาไปต่อไม่ได้ก็ต้องฟังคนที่อยู่หน้างาน หากเข้าต่อไปอาจเกิดความรุนแรงหรือเกิดการปะทะจึงต้องหลีกเลี่ยง ส่วนประเด็นที่พูดกันเรื่องมือที่สามอาจสร้างสถานการณ์นั้นยังไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด แต่ต้องป้องปรามไว้ก่อน ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ยังคงกำลังบางส่วนไว้รอบนอก เพื่อเฝ้าระวังการกระทบกระทั่งที่อาจเกิดขึ้น เพิ่มการตั้งด่านรอบวัดเพื่อป้องกันสถานการณ์แทรกซ้อน ส่วนในวัดไม่มีตำรวจ นอกจากนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการกับบุคคลที่ขัดขวางการจับกุม ส่วนการปฏิบัติการครั้งต่อไปขึ้นกับดีเอสไอในการเข้าควบคุมตัว

เวลา 13.30 น. ที่วัดพระธรรมกาย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย นายอำเภอคลองหลวง ปลัดอำเภอคลองหลวง และรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) ร่วมกันแถลงผลการเจรจาเพื่อเข้าตรวจค้นและจับกุมพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมรับของโจร หลังใช้เวลาในการเจรจานานกว่า 4 ชั่วโมง

โดยพระสนิทวงศ์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจค้นในวันนี้ วัดพระธรรมกายยินดีและให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้แสดงหมายค้นและทำตามขั้นตอนกฎหมายอย่างถูกต้อง ทุกอย่างปราศจากความรุนแรง พร้อมทั้งขอพื้นที่จากศิษยานุศิษย์ที่นั่งปฏิบัติธรรมอยู่ตามจุดต่างๆ โดยศิษยานุศิษย์ที่อยู่บริเวณประตู 7 และ 6 ของวัดพระธรรมกายให้ความร่วมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นอย่างดี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปถึงบริเวณประตู 5 พบกับกลุ่มศิษยานุศิษย์อีกกลุ่ม ซึ่งหลวงพี่และเจ้าหน้าที่พยายามเจรจาขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นภายใน แต่กลุ่มลูกศิษย์ไม่ยินยอมที่จะให้เจ้าหน้าที่ผ่านเข้าไปได้ หลวงพี่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากกลุ่มศิษย์ดังกล่าว เป็นผู้มีอาวุโสสูงกว่าหลวงพี่ อีกทั้งยังทำคุณประโยชน์ให้กับวัดพระธรรมกาย ก่อนที่หลวงพี่จะมาอยู่ที่นี่ เหมือนกับเป็นผู้สร้างวัดให้พระในวัดนี้ได้อาศัยอยู่

พระสนิทวงศ์ กล่าวต่อว่า ทางวัดยืนยันว่า พระธัมมชโยพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ต้องขอให้หายจากอาการอาพาธก่อน อีกทั้งคดีนี้ยังอยู่ในชั้นอัยการ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่รอให้ผ่านกระบวนการในชั้นอัยการให้แล้วเสร็จก่อน หลวงพี่ยังไม่อยากให้มีการรีบร้อนหรือเร่งรัดในขั้นตอนการนำตัวพระธัมมชโยไปดำเนินคดีแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพ.ต.ต.สุริยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแถลงผลการตรวจค้นและจับกุมพระธัมมชโยเสร็จแล้ว ได้เดินทางกลับมายังศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า จ.ปทุมธานี ภายในสภ.คลองหลวง เพื่อร่วมประชุมกับพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนเข้าประชุมเพื่อประเมินผลปฏิบัติการและวางมาตรการดำเนินการต่อไป

โดย พ.ต.ต.สุริยา ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า การเข้าค้นวัดพระธรรมกายในวันนี้ ได้ยุติลงแล้ว แต่ยังมีการประชุมต่อไป พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนของหมายจับต่อไป โดยคาดว่าจะมีการเข้าค้นวัดพระธรรมกายครั้งต่อไปก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม นี้ เป็นวันที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องพระธัมมชโย โดยจะมีการนำผลการตรวจค้นของวันนี้มาประเมินเพื่อปรับแผนในการตรวจค้นครั้งต่อไป พร้อมยืนยันว่าการตรวจค้นมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามแผนอยู่แล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังการให้สัมภาษณ์เสร็จแล้ว ดีเอสไอแจ้งความร้องทุกกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวง ในประเด็นที่ศิษยานุศิษย์รวมตัว อาจเข้าข่ายการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการนำป้ายข้อความต่างๆในลักษณะต่อต้านการเข้าค้นของเจ้าหน้าที่มาวางไว้เมื่อคืนที่ผ่านมา เหมือนเป็นการขีดขวางการจราจร รวมถึงรถแบ็คโฮที่นำมาจอดขวางทางเข้าออกบริเวณประตู 1 ของวัดพระธรรมกายด้วย


ปัดตั้ง"เฮียชู"เป็นผช.ผู้คุม แค่"จิตอาสา"ไม่มีตำแหน่ง

"ราชทัณฑ์" ออกโรงปฏิเสธข่าวโซเชียลแชร์ภาพ "เสี่ยอ่าง-ชูวิทย์" ผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ ได้สิทธิพิเศษทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมในทัณฑสถานรพ.ราชทัณฑ์ ชี้เป็นแค่ "จิตอาสา" มาช่วยงานเข็นศพ-เก็บอุจจาระผู้ป่วย โดยไม่มีตำแหน่งให้

กรณีในโลกโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ กำลังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมในทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. แหล่งข่าวจากกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งใด ๆ ให้แก่ นายชูวิทย์ โดยภาพที่ปรากฏในโลกออนไลน์ เป็นตอนที่ นายชูวิทย์ มีอาการป่วยและถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาอาการ ซึ่งต่อมาเจ้าตัวได้มีจิตอาสาขอช่วยงานโรงพยาบาลเท่าที่ทำได้ ซึ่งงานที่ทำก็ไม่ใช่งานสบาย แต่เป็นงานเข็นศพหรือเก็บอุจจาระผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลก็อนุญาตให้ทำ เพราะถือว่าได้ช่วยงาน แต่ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ให้ ขอสังคมมองมุมดีๆของผู้ต้องขังบ้าง


กงสุลใหญ่ ธานี แสงรัตน์ พบสื่อมวลชนไทยใน แอลเอ.

นายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส คนใหม่ ได้พบปะกับสื่อมวลชนไทยในสหรัฐเป็นครั้งแรก แนะนำตัวกับสื่อมวลชน พร้อมกับทีมงานข้าราชการ เน้นการทำงานแบบหุ้นส่วน (Partnership) ที่สร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจกันทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้า พร้อมจะสานงานต่อ และก่องานใหม่” ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ใน ๓ เรื่อง

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ นายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้พบปะกับสื่อมวลชนไทยในสหรัฐเป็นครั้งแรก ระหว่างเวลา ๑๖.๓๐ -๑๘.๓๐ น. แนะนำตัวกับสื่อมวลชน พร้อมกับทีมงานข้าราชการ โดยเน้นการทำงานแบบหุ้นส่วน (Partnership) ที่สร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจกันทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้า พร้อมจะ“สานงานต่อ และก่องานใหม่” ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ใน ๓ เรื่อง (๓C) ที่จะมุ่งเน้นในช่วงระยะเวลาที่เข้ารับหน้าที่ คือ

๑) งานด้านกงสุล (Consular) เน้นการให้บริการแก่คนไทยให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงงานตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทท่องเที่ยวและประเภทธุรกิจให้ได้รับวีซ่าอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของประเทศไทย พร้อมช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศหรือเหยื่อการค้ามนุษย์โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายการเข้าเมือง

๒) งานด้านชุมชน (Community) เน้นการส่งเสริมความเข้มแข็งสามัคคีของชุมชนไทย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการส่งเสริมด้านกีฬา ร่วมมือ สนับสนุนกับชุมชนไทย ดูแลคนไทยทุกกลุ่มโดยเท่าเทียมกัน ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้ Thai Town เติบโต ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน องค์กรต่าง ๆ ส่งเสริมบทบาทของคนรุ่นใหม่หรือ Second Generation ในการพัฒนาชุมชนไทยในสหรัฐและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ตลอดจนให้นำความรู้ความสามารถกลับไปพัฒนาประเทศไทย

๓) งานด้านเศรษฐกิจ (Commercial) สนับสนุนการทำงานของทีมประเทศไทย ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านธุรกิจกับสหรัฐ อยากเห็นธุรกิจไทยเติบโต พร้อมที่จะเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไทยในประเทศและในเขตอาณา หาความเป็นไปได้ และโอกาสในการลงทุน ต้องการที่จะนำนวัตกรรมในหลายสาขา โดยเฉพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) นำกลับไปช่วยประเทศไทย ให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ขอรับคำชี้แนะจากชุมชนไทย ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนไทย ต้องการให้สื่อช่วยเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารไปให้ถึงคนไทย โดยให้ชุมชนไทย สื่อมวลชนไทยและสถานกงสุลใหญ่ฯ เป็นหุ้นส่วนที่จะเดินไปด้วยกัน อย่างมุ่งมั่นและเข้มแข็ง

“เนติวิทย์” ดีใจ “อ.จุฬาฯ” ยอมขอโทษ เหน็บสังคมอคติคนคิดต่างใช้สมองน้อย

(15 มิ.ย.) นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โพสต์เฟซบุ๊ก “Netiwit Ntw” ถึงกรณีที่ ดร.เปรม สวนสมุทร อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจารณ์หน้าตาของตน ว่า ทำให้อัตลักษณ์ของชาวจุฬาฯ เป็นที่เคลือบแคลงต่อสาธารณชน หลังจากนั้น อาจารย์ท่านดังกล่าวก็ได้โพสต์ขอโทษและยอมรับว่า เป็นความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตนดีใจที่อาจารย์ขอโทษ และกล้าหาญยอมรับว่าเป็นคนโพสต์จริง ตนไม่ได้ติดใจแค้นเคืองอะไร และหวังว่าจะได้สนทนากัน เผื่อจะแก้ไขการมองกันแบบผิด ๆ ได้

โดยเนื้อหาระบุว่า เรียน อาจารย์เปรม ที่เคารพ สังคมไทยสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ “ความคิดต่างของผู้คน” มันมีอยู่จริง เรื่องรูปร่างหน้าตาที่ธรรมชาติให้แตกต่างกันไป มันก็จริงการบังคับให้คนในสังคมคิดเหมือนกัน และเต็มไปด้วยความรังเกียจอคติกับคนคิดต่าง ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงธรรมชาติที่แท้ของสังคม สังคมใดทำอย่างนั้น นั้นจะเปลืองพลังบังคับมาก มีความเกลียดมาก แต่ใช้สมองใช้ปัญญาน้อย ส่วนสังคมใดช่วยทำให้คนใจกว้าง มีครูที่เคารพนักเรียน แม้แต่ละคนจะแตกต่างทางความคิด สังคมนั้นย่อมเจริญ นี่เรื่อง common sense

กระผมในฐานะบุคคลที่อาจารย์เปรมได้พาดพิง รู้สึกดีใจที่อาจารย์เปรมได้ออกมาขอโทษในสิ่งที่อาจารย์ได้โพสต์ไว้ ทั้งยอมรับอย่างกล้าหาญว่าตนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง ๆ อีกด้วย กระผมไม่ได้คิดข้องเคืองแค้นอะไรอาจารย์เปรม ถ้าผมมีโอกาสลงเรียนกับอาจารย์ อาจารย์คงเมตตากับผมนะครับ ดังที่ว่าข้างบน เราต้องการสังคมแบบไหน? แบบใจแคบใช้สมองน้อย หรือแบบใจกว้าง

ถึงจะโพสต์อย่างนี้แล้ว ผมไม่ได้หมายความว่า อาจารย์กลายเป็นพวกผม เห็นเหมือนผมนะครับ ผมก็เช่นกันไม่ได้เห็นเหมือนอาจารย์ ยังคงคิดไม่เหมือนกัน แต่เราเคารพกันได้ใช่ไหมครับ ??? ไม่เกลียดชังกันได้ใช่ไหมครับ??? ถ้าเป็นไปได้การสนทนาระหว่างอาจารย์กับผมคงเป็นเรื่องที่วิเศษมาก ผมรอคอยการได้พูดคุยโดยต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืนของตนต่อไป อย่างน้อยเราก็เข้าใจกัน ทำไมเราคิดกันแบบนี้ ดีกว่ามองอีกฝ่ายมาจากโลกต่างดาว มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เราอาจจะแก้ไขความผิดที่มองอย่างผิด ๆ เนื่องจากเราไม่ได้สื่อสารกันมาก่อนด้วยก็ได้

ผมพร้อมเสมอถ้าอาจารย์จะเรียกผมให้ไปสนทนาที่ครุศาสตร์ จุฬาฯ หรืออาจารย์จะกรุณาข้ามมาหาผมที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้นะครับ