ข่าว
'เทสลา'เตรียมส่งออก‘รถยนต์ผลิตในจีน’บุกตลาดยุโรป

21 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงาน เทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน ประกาศเตรียมส่งออกรถยนต์ซีดาน รุ่นโมเดล 3 (Model 3) ที่ผลิตในจีนไปยังยุโรป ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโรงงานกิกะแฟคทอรีในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน

รถยนต์รุ่นโมเดล 3 ชุดแรกจะถูกส่งออกจากจีนในวันอังคาร (27 ต.ค.) และจะไปถึงท่าเรือเซบรูคเคอของเบลเยียมในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะถูกส่งไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งรวมถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์

ซ่งกัง ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและปฏิบัติการของโรงงานกิกะแฟคทอรี กล่าวว่าจากการอาศัยข้อได้เปรียบของห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและระดับการผลิตที่ก้าวหน้าของจีน ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกของรถโมเดล 3 ที่ผลิตในจีนนั้นแข็งแกร่งมาก โดยการส่งออกไปยังยุโรปสะท้อนว่าตลาดยุโรปยอมรับคุณภาพของรถโมเดล 3 ที่ผลิตในจีน

ซ่งกล่าวว่าหลังจากกำลังการผลิตบรรลุเป้าหมายระยะแรก เทสลาสามารถตอบรับต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ขณะเดียวกันก็สามารถส่งรถยนต์คุณภาพสูงแก่ชาวยุโรป ซึ่งการส่งออกรถยนต์ของเทสลาที่ผลิตในเซี่ยงไฮ้เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในแผนงานระดับโลกของเทสลา

เทสลาระบุว่าด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐบาลในทุกระดับ บริษัทสามารถเอาชนะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยภาคการผลิตและยอดขายมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ซ่งเสริมว่าด้วยการขยายทีมออกแบบ รวมถึงทีมวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทสลาในจีน โรงงานกิกะแฟคทอรีจะผลิตรถยนต์ที่ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้ดีขึ้น

อนึ่ง เทสลาได้ส่งมอบรถยนต์ซีดาน รุ่นโมเดล 3 ที่ผลิตในจีนชุดแรกแก่สาธารณะอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งนับเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากบริษัทเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตในต่างประเทศแห่งแรก

'กอร.ฉ.'แฉข้อมูลอีกด้าน เหตุปะทะที่ราม 'ม็อบราษฏร'เป็นฝ่ายตะโกนยั่วยุก่อน

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นางสาวกัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล โฆษกกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ระบุถึงกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงที่ลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือแนวร่วมเทิดทูนสถาบันมีการใช้ความรุนแรงจริง แต่อยากให้ประชาชนรับข่าวสารทั้งสองด้าน พร้อมเปิดคลิปวิดิโอ ที่บันทึกภาพกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรกลุ่มหนึ่งที่ตะโกนว่า“ข้ารับใช้” ซึ่งโฆษก กอร.ฉ. ชี้ว่า เป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ความวุ่นวายและการใช้กำลัง

"หากมองสาเหตุจะพบว่า มีการยั่วยุจากทางฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ก่อนทำให้กลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบันไม่พอใจ ทำให้มีการใช้ความรุนแรงเพราะมีเหตุ จึงมีผล จึงอยากขอให้ประชาชนรับฝั่งข่าวสารสองด้าน และทางกลุ่มผู้ชุมนุม ควรงดการใช้ถ้อยคำรุนแรง และควรใช้ถ้อยคำที่สร้างสรรค์" นางสาวกัญญ์ณาณัฏฐ์ ระบุ


น่าชื่นชม กทม.ขอบคุณผู้ชุมนุม ช่วยรักษาความสะอาดขยะลดลง 90%

22 ตุลาคม 2563 เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ได้โพสต์ข้อความขอขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมตามจุดต่างๆ ที่ช่วยกันรักษาความสะอาด เก็บขยะไปทิ้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกขึ้น โดยระบุดังนี้

กรุงเทพมหานครขอขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมครับ

ขยะน้อยกว่าเดิมเยอะเลย เป็นเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมช่วยกันลดปริมาณขยะ ประกอบกับส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมจัดเก็บนำไปทิ้งเอง เพิ่มความสะดวกการรักษาความสะอาดให้กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ด้วยครับ

เปรียบเทียบขยะในสถานที่ชุมนุมเมื่อวาน (20 ต.ค. 63) จัดเก็บได้ประมาณ 225 กก. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63

จัดเก็บได้ประมาณ 2,350 กก. ลดไปกว่า 90 % ทีเดียวครับ ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

สรุปปริมาณขยะเมื่อวานนี้

-บริเวณหน้าเดอะมอลล์บางแค เขตบางแค ประมาณ 200 กก.

-บริเวณหน้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย ประมาณ 10 กก.

-บริเวณถนนสาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา ประมาณ 15 กก.

-บริเวณสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี / สถานีรถไฟฟ้าอโศก เขตวัฒนา / สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข เขตบางนา / สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ เขตปทุมวัน และหน้าห้างน้อมจิตต์ ถนนลาดพร้าว เขตบางกะปิ ไม่มีขยะจากการชุมนุม


หลานย่าโมออกศึก! สวมเสื้อเหลืองรณรงค์ปลุกชาวโคราชร่วมปกป้องสถาบัน

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 22 ต.ค.63 กลุ่มคนโคราชปกป้องสถาบันกว่า 300 คนพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลือง รวมตัวกันที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะออกเดินรณรงค์สำนึกรักประเทศไทยปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยการเดินรณรงค์จากพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ไปตามถนนราชดำเนินถึงที่หมายบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พร้อมถือธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9, พระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ทั้งนี้ เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาออกมาปกป้องสถาบัน แสดงออกถึงความจงรักภักดี ซึ่งตลอดเส้นทางที่เดินรณรงค์กลุ่มคนโคราชปกป้องสถาบันได้พร้อมใจกันเปล่งเสียง ทรงพระเจริญ 3 ครั้ง ไปตามท้องถนน เพื่อแสดงพลังปกป้องสถาบัน พร้อมมีการโบกสะบัดธงชาติกระดาษ ในนามกลุ่มพี่น้องประชาชนชาวโคราช รวมตัวกันแสดงพลังจุดยืนในการปกป้องสถาบัน ถือป้าย "รวมใจภักดิ์ พิทักษ์สถาบัน, รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" เป็นต้น พร้อมทั้งเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ ๆๆ" ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ก่อนที่กลุ่มมวลชนทั้งหมดจะสลายตัวไปโดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงแต่อย่างใด


จีนชี้‘ไวรัสกลายพันธุ์’ ไม่กระทบการพัฒนา‘วัคซีนโควิด-19’

22 ตุลาคม 2563 เถียนเป่ากั๋ว เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน แถลงข่าวว่าผลการศึกษาหลายฉบับบ่งชี้การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสฯ (โควิด-19) แต่อย่างใด

เถียนเปิดเผยว่าจีนติดตามกรณีการกลายพันธุ์ของไวรัสฯ อย่างใกล้ชิด และได้จัดตั้งสถาบันวิจัยมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการวิจัยติดตามที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันฐานข้อมูลทั่วโลกมีลำดับพันธุกรรมของไวรัสฯ เกือบ 150,000 รายการ ครอบคลุมมากกว่า 100 ประเทศและภูมิภาค

การวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมคุณภาพสูงมากกว่า 80,000 รายการ บ่งชี้ว่าไวรัสฯ ไม่ได้แสดงการผันแปรมากนัก โดยมีการผันแปรอยู่ในช่วงปกติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาวัคซีน ขณะที่ปัจจุบันการออกแบบแอนติเจนของวัคซีนโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่มุ่งเป้าที่โปรตีนเอส (S protein) หรือโปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัสฯ ซึ่งมีลำดับค่อนข้างคงที่

เถียนเสริมว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสฯ ณ จุดที่ที่มีโปรตีนเอสปรากฎอยู่ ส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อโครงสร้างแอนติเจนและความสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการทดสอบก่อนหน้านี้พิสูจน์แล้วว่าวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดสอบในปัจจุบัน สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฯ ที่กลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เถียนกล่าวว่าทีมนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสฯ ต่อไป และดำเนินการตัดสินใจอย่างทันท่วงทีเพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้าและเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีน


ผู้ว่าฯนิวยอร์กชี้รัฐบาลกลาง‘ผิดพลาดร้ายแรง’ ตั้งแต่โควิด-19เริ่มระบาด

21 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน แอนดรูว์ คัวโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เนื่องจากมีชาวอเมริกันเพียงหนึ่งในสามที่ได้รับการตรวจโรคในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดใหญ่อันหนักหน่วงภายในประเทศ

“รัฐบาลกลางทำผิดพลาดครั้งใหญ่เมื่อโรคโควิด-19 เริ่มระบาด พวกเขาไม่พร้อม พวกเขาไม่ได้เตรียมตัว พวกเขาไม่พยายามเตรียมพร้อมเสียด้วยซ้ำ รัฐบาลกลางได้ละทิ้งความรับผิดชอบของตนเอง” คัวโมกล่าวระหว่างแถลงข่าวประจำวัน

“สหรัฐฯ ดำเนินการตรวจโรคให้ชาวอเมริกันแล้ว 124 ล้านคน แต่เรามีประชากร 328 ล้านคน นั่นเท่ากับว่ามีผู้คนได้รับการตรวจโรคเพียงราวหนึ่งในสาม พวกคุณตรวจโรคได้แค่หนึ่งในสามในระยะเวลา 7 เดือน” คัวโมระบุ พร้อมแสดงความผิดหวังเกี่ยวกับโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่กำลังจะมาถึง

หากมีชาวอเมริกันเพียงหนึ่งในสามถูกตรวจโรคในเวลา 7 เดือน “แล้วคุณจะใช้เวลานานเท่าใดจึงจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ คุณจะทำได้อย่างไร?” คัวโมตั้งคำถาม

เมื่อวันอาทิตย์ (18 ต.ค.) สมาคมผู้ว่าการรัฐแห่งชาติ (NGA) ของสหรัฐฯ ได้จัดส่งรายการคำถามไปยังฝ่ายบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับการแจกจ่ายและจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

คำถามหลักของสมาคมฯ ได้แก่ จะมีการจัดสรรเงินทุนให้รัฐท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการแจกจ่ายวัคซีนและความพยายามอื่นๆ เกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่? วัคซีนจะถูกจัดสรรให้กับรัฐท้องถิ่นอย่างไร? รัฐบาลกลางใช้หลักเกณฑ์ใดในการจัดสรร? รวมถึงรัฐท้องถิ่นจะได้รับคำชี้แจงว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใดจะทำข้อตกลงโดยตรงกับรัฐบาลกลางเมื่อใด?

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ทรัมป์เผยว่าสหรัฐฯ จะผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับ “ชาวอเมริกันทุกคน” ภายในเดือนเมษายน 2021 โดยขณะนี้มีการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ขนานใหญ่อย่างน้อย 4 รายการในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ระบุว่าสหรัฐฯ ตรวจพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รวม 220,020 ราย และผู้ป่วยสะสมกว่า 8.2 ล้านราย เมื่อนับถึงช่วงบ่ายวันจันทร์ (19 ต.ค.) ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดในโลก

184 ประเทศร่วมโครงการ‘โคแวกซ์’ แจกจ่ายวัคซีน'โควิด-19'อย่างเท่าเทียมทั่วโลก

21 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงาน ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าขณะนี้มีประเทศรวม 184 แห่ง ที่เข้าร่วมในโคแวกซ์ (COVAX) โครงการริเริ่มระหว่างประเทศที่นำโดยองค์การฯ และพันธมิตรอื่นๆ เพื่อรับรองการเข้าถึงวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมทั่วโลก

“โคแวกซ์เป็นโครงการผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 ที่มีศักยภาพมากที่สุด และเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแบ่งปันวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก” ทีโดรสกล่าวแถลงผ่านทางออนไลน์ พร้อมเสริมว่า “การแบ่งปันวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการปกป้องชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด รักษาเสถียรภาพของระบบสุขภาพ และขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง”

ในฐานะหนึ่งในประเทศชั้นนำในการพัฒนาวัคซีน จีนได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนอธิบายว่าเป็นก้าวสำคัญในการรักษาแนวคิดประชาคมร่วมเพื่อสุขภาพของคนทั้งมวล ทั้งยังเป็นการรักษาพันธสัญญาที่จะทำให้วัคซีนโรคโควิด-19 กลายเป็นเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก

ขณะเดียวกัน ทีโดรสยังเผยว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้เข้าสู่ “ช่วงเวลาที่น่ากังวล” หลังประเทศแถบซีกโลกเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว และจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมประกาศเตือนว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ

“ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยทำลายห่วงโซ่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และช่วยปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิตของประชาชน” ทีโดรสกล่าว

ขณะที่โลกกำลังดิ้นรนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังเร่งแสวงหาวัคซีนป้องกัน โดยเว็บไซต์ขององค์การฯ ระบุว่าทั่วโลกกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 198 รายการ เมื่อนับถึงวันที่ 19 ต.ค. โดยมีวัคซีน 44 รายการ ที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกแล้ว