4 พ.ย.64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เครื่องบินบรรทุกสินค้า ของเบลารุส ประสบเหตุตกที่เมืองเออร์คุสต์ แถบไซบีเรีย ทางตะวันออกของรัสเซีย ตอนเจ้าหน้าที่กู้ภัยไปถึงที่เกิดเหตุ พบซากเครื่องบินมีเปลวไฟลุกไหม้ท่วมลำ นอกจากนี้พบว่านักบินและลูกเรือ 7 คนเสียชีวิต ทางการเบลารุสเปิดเผยว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นชาวเบลารุส 3 คน ชาวรัสเซีย 2 คน และชาวยูเครน 2 คน
คณะกรรมการสอบสวนแห่งรัสเซีย (Russian Investigative Committee) ประจำภูมิภาคอยู่ระหว่างตรวจสอบเหตุการณ์นี้ว่ามีการละเมิดกฎด้านความปลอดภัยขนส่งหรือไม่
รายงานข่าวระบุว่า เครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินเก่า AN-12 แบบ 4 เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพ ออกแบบและผลิตในอดีตสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ยุคปี ค.ศ.1950 ปัจจุบันยังหลงเหลือใช้งานขนส่งสินค้า ดำเนินการโดยบริษัทขนส่ง "กรอดโน่" ของเบลารุส โดยเครื่องบินลำนี้ออกจากสนามบินเมืองบิลิบิโน่ ในแคว้นชูก็อตก้า ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย จอดพักที่เมืองยาคุสต์ ก่อนมุ่งหน้าไปที่เมืองเออร์คุสต์ ก่อนประสบเหตุตก นักบินพยายามขอนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินเมืองเออร์คุสต์ถึง 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ส่วนสาเหตุการตกที่แน่ชัดยังอยู่ระหว่างการสืบสวน
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวถึงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้คนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้คนไร้บ้านที่สำรวจได้ จำนวน 6,966 คนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 4,299 คน คิดเป็นร้อยละ61.71 และยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องโดยหลังรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม จะได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อให้คนไร้บ้านนำไปเป็นหลักฐานการสมัครงาน หรือทำงานได้นอกจากนั้น ยังได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19รวมถึงดูแลจัดหาที่พักชั่วคราว สนับสนุนอาหารและของใช้ที่จำเป็น เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และผลักดันกลุ่มคนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคมต่อไป
ด้านนางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวถึงการช่วยเหลือคนไร้บ้าน หรือคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต 50 เขต และหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในด้านต่างๆ โดยประสาน พม. จัดหาสถานที่พักอาศัยชั่วคราวรองรับ เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร บ้านมิตรไมตรี4 แห่ง บริเวณห้วยขวาง อ่อนนุช ธนบุรี และประเวศ ขณะเดียวกันได้มอบเครื่องอุปโภค-บริโภค อาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ป้องกันโรค รวมทั้งสนับสนุนให้คณะกรรมการชุมชนพิจารณาการใช้จ่ายค่าสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชน เพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์
นอกจากนั้น ยังได้ส่งเสริมการฝึกอาชีพสำหรับทุกคนที่มีความประสงค์ฝึกอาชีพในพื้นที่ 50 เขตโดยจัดทำโครงการ “สพส.สร้างงาน สร้างอาชีพ สู่ชุมชน” เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสนับสนุนเงินทุนฝึกอาชีพให้ผู้ที่มีความพร้อมเพื่อเพิ่มรายได้ ตลอดจนร่วมมือกับภาคเอกชนจัดพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด19 ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีน เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท และเห็นชอบในหลักการโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Baiya) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมฯ พ.ศ.2564 มีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 “ChulaCov19 mRNA” กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการทดสอบวิจัยในอาสาสมัครระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ที่องค์การอาหารและยา (อย.) กำหนด และเพื่อการผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบระยะที่ 3 และเตรียมการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตวัคซีนชนิด mRNA อย่างครบวงจร
ทำให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ใช้ได้เอง และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้สู่การผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่นๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการกำหนดกลไกการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
2.โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Baiya (ผลิตจากใบยา) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 อาสาสมัครอย่างน้อย 10,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของ อย. ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยตัวเอง และสามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้ประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี
โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในไทยและผ่านการทดสอบในระยะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลให้ไทยมีข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเร่งจัดทำรายงานผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ของวัคซีนใบยา เสนอสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
4 พ.ย.64 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขเมียนมา เมื่อวันพุธ (3 พ.ย.) ระบุว่ามีประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ครบโดสแล้วกว่า 7.39 ล้านคน และมีผู้ฉีดวัคซีนหนึ่งโดสกว่า 6.08 ล้านคน เมื่อนับถึงวันอังคาร (2 พ.ย.)
เมียนมารายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 955 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 16 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 502,979 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตรวม 18,744 ราย เมื่อนับถึงวันพุธ (3 พ.ย.)
ขณะเดียวกันเมียนมามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายป่วยและออกจากโรงพยาบาลรวม 472,364 ราย และจัดการทดสอบตัวอย่างเพื่อตรวจโรคกว่า 4.93 ล้านรายการแล้ว
โรม (เอพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) - ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวหาจีนกับรัสเซียว่าล้มเหลวในการแสดงความเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ผู้นำของทั้งสองประเทศตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกหลังไม่เดินทางไปเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ด้วยตัวเอง
ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวก่อนเดินทางขึ้นเครื่องบินออกจากเมืองกลาสโกว์ว่า จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก กำลังพยายามที่จะเป็นผู้นำโลก แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กลับไม่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยตัวเอง ทั้งที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก แต่จีนกลับเพิกเฉย นอกจากนี้ประธานาธิบดีไบเดนยังแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยกล่าวว่า ป่าทุนดราของรัสเซียกำลังลุกไหม้อย่างรุนแรง และผู้นำรัสเซียกำลังเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศ แต่เขากลับนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้เช่นกัน
ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวในงานประชุมด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติในครั้งนี้ โดยเรียกการปรากฏตัวและการให้คำมั่นของเขาที่งานดังกล่าวว่าเป็นเครื่องพิสูจน์นโยบาย “อเมริกากลับมาแล้ว” (America is Back) ซึ่งแตกต่างจากแนวทางของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ที่ยึดหลัก “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First)
ขณะเดียวกัน กว่าร้อยประเทศ เข้าร่วมในความพยายาม ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรืออียู ในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2030 จากระดับปี 2020 ถือเป็นเป้าหมายเบื้องต้นในการจัดการกับตัวการหลักที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน เป็นก๊าซที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนโดยตรง และถูกปล่อยออกมาจากการขนส่งและการผลิตถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ขณะที่ ปศุสัตว์ กระบวนการฝังกลบ และการทำการเกษตร ก็มีส่วนในการผลิตก๊าซนี้ด้วยเช่นกัน
ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศแผนงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของคำมั่นต่อแผนระยะยาวเพื่อจะบรรลุเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ โดยรัฐบาลเปิดตัวแผนการที่ดึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาร่วมการลดการปล่อยก๊าซดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ดำเนินตามเป้า โกลบอล มีเทน เพลดจ์ (Global Methane Pledge) ซึ่งเป็นแผนงานที่บรรดาประเทศผู้ปล่อยก๊าซอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงจากระดับที่บันทึกได้ในปี 2020 ให้ได้ 30% ภายในปี 2030
ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำโลก ได้ให้คำมั่นว่าจะหยุดการตัดไม้ทำลายป่าภายในสิ้นสุดทศวรรษนี้และลดการปล่อยก๊าซมีเทนเพื่อช่วยชะลอปัญหาโลกร้อน
นิวยอร์ก (เอพี/รอยเตอร์ส) - อดีตตำรวจผิวดำชนะเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ด้วยการชูนโยบายจะทำให้ประชาชนปลอดภัยและให้ชนชั้นแรงงานมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น โดยใช้ประสบการณ์ในฐานะอดีตร้อยตำรวจเอกและคนผิวดำที่เคยถูกตำรวจใช้ความรุนแรงขณะเป็นวัยรุ่น
นายเอริก อดัมส์ ชาวนครนิวยอร์กโดยกำเนิดจากพรรคเดโมแครต วัย 61 ปี ชนะนายเคอร์ทิส สลิวา จากพรรครีพับลิกัน วัย 67 ปี ในการเลือกตั้งเมื่อวันอังคารตามเวลาสหรัฐฯ และจะรับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า ต่อจากนายบิลล์ เดอ บลาซิโอ จากพรรคเดโมแครตที่จะครบวาระ 8 ปี และจะเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กผิวดำคนที่ 2 ต่อจากนายเดวิด ดินกินส์ ที่เป็นคนแรกในปี 2533-2536
ก่อนหน้านี้ เป็นที่คาดการณ์อยู่แล้วว่า นายอดัมส์จะชนะเลือกตั้งเพราะนครนิวยอร์กเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตภารกิจที่รอเขาอยู่คือ การฟื้นฟูเมืองใหญ่ที่สุดของสหรัฐจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ราคาที่อยู่อาศัยแพง และโรงเรียนของรัฐกำลังลำบาก
นายอดัมส์ประกาศตัวว่า เป็นชาวนิวยอร์กชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกฝ่ายเสรีนิยมในพรรคเดโมแครตละเลย เขาย้ำว่า เศรษฐกิจนครนิวยอร์กไม่มีทางฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ตราบใดที่ไม่มีการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม และไม่เห็นด้วยกับที่นักเคลื่อนไหวฝ่ายซัายเรียกร้องให้ยุบสำนักงานตำรวจ เขาเสนอให้รักษาสมดุลระหว่างนโยบายตรวจตราอย่างเข้มงวดกวดขันกับการปฏิรูประบบตำรวจ นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์การถูกตำรวจทุบตีขณะเป็นวัยรุ่น และร่วมก่อตั้งกลุ่มตำรวจผิวดำ 100 นายที่แสดงจุดยืนคัดค้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ
4 พ.ย.64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลตาลีบันสั่งห้ามชาวอัฟกานิสถานใช้เงินสกุลต่างชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดย ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกรัฐบาลอัฟกานิสถานได้โพสต์คำแถลงการณ์ ขอให้ประชาชน ร้านค้า พ่อค้า นักธุรกิจ ใช้แต่เงินอัฟกานี ซึ่งเป็นสกุลเงินของอัฟกานิสถาน และให้งดการใช้เงินสกุลต่างชาติ และระบุด้วยว่าใครที่ไม่ปฏิบัติตาม จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
“รัฐอิสลามแห่งนี้ขอออกคำสั่งถึงประชาชน, เจ้าของร้าน, ผู้ค้า, นักธุรกิจ และคนทั่วไปทั้งหมดว่า จากนี้เป็นต้นไปต้องใช้เงินอัฟกานีในการทำธุรกรรมทุกอย่าง และให้งดเว้นจากการใช้เงินตราต่างประเทศอย่างเคร่งครัด” แถลงการณ์ของนายมูจาฮิดระบุ “ใครก็ตามที่ฝ่าฝืนคำสั่งนี้จะต้องเผชิญกับมาตรการทางกฎหมาย”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานตอนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก หลังจากกลุ่มตาลีบันยึดการปกครองในประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม เพราะถูกธนาคารกลางสหรัฐฯ กับธนาคารกลางแห่งต่างๆ ในยุโรป อายัดทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันเรียกร้องมาตลอดให้นานาชาติเลิกอายัดทรัพย์สินของอัฟกานิสถาน เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนเงินสดอย่างหนัก อัฟกานิสถานยังถูกนานาชาติระงับเงินช่วยเหลือซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 75% ของรายจ่ายสาธารณะของประเทศด้วย
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012