ข่าว
'วู้ดดี้'สลัดลุคแมนแต่งหญิงครั้งแรก จัดเต็มเสื้อผ้าหน้าผม สวยจนแทบจำไม่ได้

8 มี.ค.61 สวยจนแทบจำไม่ได้เลยทีเดียว สำหรับพิธีกรชื่อดัง "วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา" ที่ได้สลัดลุคแมนๆ เท่ๆ ลุกขึ้นมาแต่งหญิงเป็นครั้งแรก โดยได้เมคอัพอาร์ตติสมือทองอย่าง "น้องฉัตร" มาเป็นผู้แต่งหน้าสรรค์สร้างความงามนี้ขึ้นมา

งานนี้ไม่เพียงแค่เครื่องหน้าพร้อมอย่างเดียว แต่องค์ประกอบอื่นๆ ก็จัดเต็มไม่แพ้กันทั้ง วิกผมยาว ชุดสีแดง เครื่องประดับ งานเล็บสีแดงก็มาเหมือนกัน ซึ่งเมื่อวู้ดดี้แปลงโฉมออกมาแล้วต้องเลยว่างานดีชวนตะลึงสุดๆ

เสือคำราม! 'กราฟฟิตี้-สตรีทอาร์ต-งานศิลป์' ระบาดทั่วเมือง ร่วมทวงความเป็นธรรมให้ 'เสือดำ'

กลายเป็นไฟลามทุ่งไปเสียแล้ว ภายหลังจากเกิดกรณีมีเจ้าหน้าที่เข้าไปลบภาพ “เสือดำ” ที่ศิลปินวาดภาพกราฟฟิตี้ “Headache Stencil” วาดไว้บนกำแพงแห่งหนึ่งย่านถนนสุขุมวิท เพื่อทวงถามความเป็นธรรมให้กับ “เสือดำ” ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี ที่ถูกกลุ่มนายพรานลอบสังหาร โดยมี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวก 4 คน ตกเป็นผู้ต้องหา

โดยการลบภาพดังกล่าว ทำให้เกิดความกังขาจากประชาชน เนื่องจากการลบภาพดังกล่าวเป็นการเจาะจงลบภาพเสือดำทิ้งเพียงภาพเดียว ขณะที่ภาพอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันกลับไม่ถูกลบทิ้งแต่อย่างใด กระทั่งทำให้มีประชาชนบางส่วนออกมารณรงค์เรียกร้องให้ศิลปินและคนไทยผู้มีหัวใจอนุรักษ์ทั่วประเทศ ร่วมกันวาดและแชร์ภาพ “เสือดำ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเสือดำและบรรดาสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ถูกกลุ่มนายพรานนักล่าลอบสังหารกันอย่างกระหึ่มเมือง

ขณะเดียวกัน ก็ปรากฎว่า กระแสดังกล่าวได้รับการตอบรับจากศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นจำนวนมากทั่วประเทศ โดยมีการผุดผลงานกราฟฟิตี้รวมถึงภาพงานศิลปะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสือดำกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ รวมทั้งมีการนำภาพออกมาแชร์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่สนับสนุนแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และต่อต้านการฆ่าสัตว์ป่า อาทิ เพจ “คนอนุรักษ์” และ เพจ “A CALL for Animal Rights Thailand” กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งภาพต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างของงานศิลปะที่สะท้อนถึงเสียงของคนไทยในการเรียกร้องทวงความเป็นธรรมให้กับเสือดำและสัตว์ป่าดังกล่าว


คำนูณซัดเละ!ประกาศกรมศุลฯ ชี้'ย้อนแย้ง-สร้างภาระ'ให้คนบินนอก

8 มี.ค.61 นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn กรณีการวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ที่หลายฝ่ายมองว่า สร้างความยุ่งยากให้กับผู้โดยสารที่ใช้บริการ

นายคำนูณ โพสต์ข้อความไว้ดังนี้

นำนาฬิกา/กล้อง/โน้ตบุ๊ค ติดตัวไปต่างประเทศ ต้องแจ้งก่อนพร้อมภาพถ่าย 2 ชุด !!

หนึ่งในบทบัญญัติที่โดดเด่นและ 'โดน' ของรัฐธรรมนูญ 2560 คือมาตรา 77

เนื้อหานั้นไม่ใช่แค่ว่าก่อนตรากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนเท่านั้น แต่กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีกฏหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 โดยเฉพาะข้อ 4 น่าจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรานี้นะ

สร้างภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น

คนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศทุกวันนี้ก็ไม่ต้องกรอกใบตม. 6 แล้ว เป็นผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาลนี้ แต่หากจะต้องมาแจ้งข้าวของติดตัวประเภทนาฬิกา โน้ตบุ๊ค กล้องถ่ายรูป ฯลฯ พร้อมภาพถ่าย 2 ชุด มันออกจะย้อนแย้งกันอย่างเหลือเชื่อ ไม่เป็นตรรกะซึ่งกันและกันเลย

เร่งปรับแก้เสียเถอะ !

อย่าทำเพียงแค่บอกว่าเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เพียงเอามาประกาศใหม่ และจะแจ้งหรือไม่แจ้งก็ได้ ไม่ผิด

ประเด็นหลักมันอยู่ที่ตราบใดที่ประกาศยังอยู่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไรก็ได้กับประชาชนคนใดก็ได้

นี่คือสารัตถะของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายที่แท้จริง

ทำรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ให้เป็นมากกว่าตัวอักษร

หมายเหตุ (1) : ประเด็นการยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายฯ ซึ่งหมายรวมถึงกฎหมายทุกลำดับ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 นี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเขียนอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายแล้ว รอการพิจารณาอนุมัติขั้นสุดท้ายโดยคณะรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันนี้ และขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนก็กำลังดำเนินการเรื่องนี้อย่างขมักเขม้น ในอนาคตจะมีหน่วยงานของรัฐทำงานด้านนี้โดยเฉพาะอย่างถาวร โดยจะมีตัวแทนภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย

หมายเหตุ (2) : คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระเพื่อพิจารณา วันที่ 19 มีนาคม เวลา 13.30 น โดยเชิญอธิบดีกรมศุลกากรมาชี้แจง


ตามมาติดๆ! สนช.ติดเทอร์โบ ผ่านฉลุยร่าง 'พ.ร.ป.สว.'

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ภายหลังจากในช่วงเช้า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ที่ประชุมก็ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่ กมธ. ร่วม 3 ฝ่ายได้พิจารณาเสร็จแล้วทั้ง 4 ประเด็นคือ 1.การลดจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม โดยปรับแก้เป็นบทหลักมี 20 กลุ่ม ส่วนบทเฉพาะกาล ให้มี 10 กลุ่ม 2.การแบ่งผู้สมัครแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร แก้เป็นบทหลัก รับสมัครแบบอิสระอย่างเดียว ส่วนบทเฉพาะกาล ให้รับสมัคร 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร 3.วิธีการเลือกตรงและการเลือกไขว้ ปรับแก้เป็น ในบทหลักให้ใช้การเลือกตั้งและการเลือกไขว้ ส่วนบทเฉพาะกาล ให้ใช้การเลือกตรงเพียงอย่างเดียว และ 4.ปรับแก้ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

โดย นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน กมธ. ชี้แจงว่า การกำหนดให้บทหลักต่างจากบทเฉพาะกาลไม่ได้มีปัญหา ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็มีอยู่หลายเรื่อง เช่น ในส่วนของ ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวน อำนาจหน้าที่ และวิธีการเลือก ที่หลายฝ่ายติดใจการแบ่งวิธีสมัคร ส.ว. เป็น 2 วิธีนั้น จึงไม่เป็นปัญหา เชื่อว่า การเลือก ส.ว. 2 แบบนี้ จะทำให้ได้ ส.ว.ที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

จากนั้นสมาชิกในที่ประชุมจึงได้ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความคิด โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง จึงมีการลงมติให้ความเห็นชอบ พ.ร.ป.ฉบับนี้ตามที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายแก้ไข ด้วยคะแนน 202 ต่อ 1 งดออกเสียง 13


หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจทรัมป์ลาออก

วอชิงตัน (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - นายแกรี่ โคห์น ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจสูงสุดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังมีความเห็นไม่ตรงกับทรัมป์เรื่องเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยว่า นายโคห์นได้แจ้งให้ประธานาธิบดีทรัมป์ทราบตั้งแต่เมื่อวานนี้เรื่องที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ หลังจากที่ได้เคยพูดคุยเรื่องนี้มานานหลายสัปดาห์ และว่าสาเหตุของการลาออกมาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่มาจากเรื่องที่นายโคห์นไม่สามารถโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทรัมป์ทบทวนแนวคิดเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25 และ 10 เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ส่วนภารกิจหลักของนายโคห์นคือการร่างกฎหมายตัดลดภาษีและเขาก็ทำสำเร็จแล้ว

นายโคห์นระบุในแถลงการณ์สั้นๆ ว่า ภาคภูมิใจที่ได้ทำงานให้กับประเทศในครั้งนี้ ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ทวิตเมื่อคืนวันอังคารตามเวลาสหรัฐว่า จะมองหาหัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนใหม่โดยเร็ว แหล่งข่าวเผยว่า ตัวเก็ง ได้แก่ นายปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้อำนวยการสภาการค้าแห่งชาติ และ นายลอว์เรนซ์ คุดโลว์ สื่อมวลชนด้านเศรษฐกิจสายอนุรักษ์นิยม

ข่าวการลาออกของนายโคห์นทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทันที สื่อในสหรัฐและนักวิเคราะห์มองว่า นายโคห์นมีแนวคิดสายกลาง หากไม่มีเขาแล้วกลุ่มปกป้องทางการค้าจะมีอิทธิพลในทำเนียบขาวมากขึ้น และว่านายโคห์นซึ่งสนับสนุนแนวคิดการค้าเสรี ไม่เห็นด้วยที่ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25 และ 10 รวมถึงหลายฝ่ายมองว่า นายโคห์นกับประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกันมากนัก ทั้งนี้ นายโคห์นวัย 57 ปี มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐเมื่อเดือนเมษายนปีก่อนที่จะไม่กล่าวหาจีนว่าบงการค่าเงิน และการตัดสินใจเรื่องจะขอเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ใหม่ แทนการถอนตัวออกไป

'เจฟฟ์ เบซอส'ผงาดเบอร์1มหาเศรษฐีโลก 'เจริญ-ธนินท์'2เจ้าสัวไทยติดโผร้อยคนแรก

'เจฟฟ์ เบซอส' ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง'แอมะซอน' กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกประจำปี 2018 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 3,513,970 ล้านบาท ทิ้งห่าง 'บิล เกตส์' แชมป์เก่าที่ตกไปเป็นอันดับ 2 ขณะที่ 2 มหาเศรษฐีไทย 'เจริญ สิริวัฒนภักดี' เจ้าของไทยเบฟ และ'ธนินท์ เจียรวนนท์'เจ้าของซีพี ติด 100 อันดับแรก จากการประกาศผลของนิตยสารฟอร์บส์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นิตยสารฟอร์บส์(Forbes) ประกาศผลการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2018 เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ 6 มีนาคม(ตามเวลาท้องถิ่น) ว่า ตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ตกเป็นของ นายเจฟฟ์ เบซอส ชาวอเมริกัน วัย 54 ปี ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง"แอมะซอน" (Amazon) บริษัทค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ โดยมีสินทรัพย์สุทธิตามประเมินอยู่ที่ประมาณ 112,000 ล้านดอลลาร์ (3,513,970 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 2 เท่า อันเป็นผลมาจากการที่มูลค่าหุ้นของแอมะซอนพุ่งสูงขึ้นถึง 59 % ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา

ส่วนอันดับที่ 2 ได้แก่ นายบิล เกตส์ ชาวอเมริกัน วัย 62 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ แชมป์เก่าเมื่อปีที่แล้ว ที่มีสินทรัพย์ราว 90,000 ล้านดอลลาร์ (2,823,720 ล้านบาท) ซึ่งปีนี้นับเป็นช่องว่างระหว่างมหาเศรษฐีอันดับ 1 และ 2 ของโลก ที่ห่างกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

สำหรับมหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลกในปีนี้ ยังคงเป็นนักลงทุนระดับตำนานชาวอเมริกันวัย 87 ปี นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มีสินทรัพย์ 84,000 ล้านดอลลาร์ (2,635,480 ล้านบาท) อันดับ 4 นายแบร์นาร์ด อาร์โนลต์ ชาวฝรั่งเศสวัย 69 ปี เจ้าของบริษัทแอลวีเอ็มเอช 72,000 ล้านดอลลาร์ (2,258,980 ล้านบาท) ขยับจากอันดับที่ 11 เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ชาวอเมริกันวัย 33 ปี เจ้าของบริษัทเฟซบุ๊ก มีสินทรัพย์ 71,000 ล้านดอลลาร์ (2,227,600 ล้านบาท) ตามเข้ามาในอันดับที่ 5

ส่วนอันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 766 หลังจากที่ปีก่อน อยู่อันดับที่ 544 โดยมีสินทรัพย์ 3,100 ล้านดอลลาร์ (97,260 ล้านบาท) น้อยกว่าปีที่แล้ว 400 ล้านดอลลาร์

การจัดอันดับของฟอร์บส์ ในปีนี้พบว่า มีมหาเศรษฐีชาวเอเชีย 3 ราย ติด 20 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 17 นายหม่า ฮัวเถิง หรือ โพนี่ หม่า ชาวจีนวัย 46 ปี ซีอีโอบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ เทนเซ็นต์ มีสินทรัพย์ 45,300 ล้านดอลลาร์ (1,421,270 ล้านบาท) และเขายังเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของทวีปเอเชียในปีล่าสุดด้วย อันดับ 19 นายมูเกช อัมบานี ชาวอินเดียวัย 60 ปี เจ้าของธุรกิจปิโตรเคมี น้ำมันและก๊าซ มีสินทรัพย์ล่าสุด 40,100 ล้านดอลลาร์ (1,258,130 ล้านบาท) และอันดับ 20 นายแจ็ค หม่า ชาวจีนวัย 53 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซ อาลีบาบา มีสินทรัพย์ 39,000 ล้านดอลลาร์ (1,223,610 ล้านบาท)

ส่วนมหาเศรษฐีไทยที่ติดอันดับ 100 คนแรกของโลกในปีนี้มี 2 คนคือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของบริษัทไทยเบฟ โดยมีสินทรัพย์ 17,900 ล้านดอลลาร์ (567,607 ล้านบาท) ติดเข้ามาในอับดับที่ 65 และ นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของอาณาจักรธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี สินทรัพย์ 14,900 ล้านดอลลาร์ (467,483 ล้านบาท) อยู่ในอันดับที่ 95 ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย อยู่ในอันดับที่ 1,339 มีสินทรัพย์ 1,800 ล้านดอลลาร์ (56,474 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ในปี 2018 มีมหาเศรษฐีทั่วโลกรวม 2,208 คน และมีสินทรัพย์รวมกัน 9.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 18%