ข่าว
'เกาหลีใต้'ตรวจพบโควิดกลายพันธุ์ จากผู้ป่วย'ปากีฯ-อุซเบกิซสถาน'

11 สิงหาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีหรือเคซีดีซี (KCDC) แถลงว่า ผลการวิเคราะห์ลำดับจีโนมของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งหมด 776 คน แยกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 597 คน และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 179 คน พบการกลายพันธุ์บนสไปค์โปรตีน ซึ่งเป็นผิวโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เป็นโรคโควิด-19 กับผู้ป่วยที่มาจากปากีสถานสองคนและอุซเบกิซสถานหนึ่งคน

ลำดับจีโนมการกลายพันธุ์นี้แตกต่างลำดับจีโนมไวรัส 78,810 ลำดับที่อยู่ในฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ผู้ป่วยทั้งสามคนถูกแยกกักโรคตั้งแต่เข้าประเทศ และไม่ได้ติดต่อใกล้ชิดกับใครในเกาหลีใต้ เคซีดีซีแนะว่า ควรศึกษาทดลองเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจระดับการติดเชื้อและเชื้อโรคของการกลายพันธุ์ดังกล่าว

ฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแบ่งเชื้อไวรัสโคโรนาโรคโควิด-19 เป็น 7 กลุ่มสายพันธุ์ประกอบด้วย S V L G GH GR และกลุ่มสายพันธุ์ที่เหลือ กลุ่มสายพันธุ์ GH กลายพันธุ์มาจากกลุ่มสายพันธุ์ S สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้อย่างรวดเร็วและติดเชื้อง่าย จึงแพร่เชื้อได้เร็ว

ลาออกราชการ อัยการ‘เนตร’ไม่ฟ้องบอส

“เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุดที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง“วรยุทธ อยู่วิทยา”ชิงลาออกจากราชการ ขณะที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” บุกร้องกรรมการอัยการ เอาผิดวินัย-จริยธรรมด้านตำรวจเตรียมพนักงานสอบสวน 5 นาย ไว้สอบเพิ่มเติมคดี ทั้งเรื่องโคเคน และความเร็วบอส ตามคำสั่งอัยการ

เมื่อเย็นวันที่ 11สิงหาคม ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเเหล่งข่าวสำนักงานอัยการสูงสุดว่า นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดงผู้ต้องหาคดีขับรถประมาทอันเป็นสาเหตุให้ผู้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ทองหล่อ ถึงเเก่ความตายเมื่อช่วงเช้าวันที่ 3 ก.ย.55 นั้น ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการต่อนายวงศ์สกุล กิตติ พรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.)เเล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาเหตุการลาออกจากราชการของนายเนตร ครั้งนี้ น่าจะมาจากคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวรยุทธ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไทยอย่างรุนแรง และมีการกล่าวโจมตีสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ ให้พ้นผิด ขณะที่อัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานอัยการตรวจสอบสำนวนและการใช้ดุลพินิจ ของนายเนตร นาคสุข รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบขึ้นมา เพื่อเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งหมดในเรื่องนี้ ขณะที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ได้แสดงความคิดเห็นว่า การใช้ดุลพินิจมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ ของนายเนตร น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนหนังสือลาออกจากราชการของนายเนตร จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมก.อ.ในวันที่18 ส.ค.นี้

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อประธานและคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ 2553 ม.30 (8) เพื่อดําเนินการเอาผิดทางวินัยและจริยธรรมต่อนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส กระทิงแดง ในทุกข้อกล่าวหา แม้คณะทำงานตรวจสอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ ผู้ต้องหาหนีคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่แต่งตั้งโดยอัยการสูงสุดระบุคำสั่งไม่ฟ้องทายาทกระทิงแดง เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่พบพยานหลักฐานเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ ความเร็วรถและยาเสพติด ที่สามารถดำเนินคดีทายาทกระทิงแดงต่อได้

ประกอบกับการที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ ได้ออกมาเปิดเผย และทำหนังสือบันทึกข้อความถึงอัยการสูงสุด 6 ข้อ ยืนยันคำสั่ง นายเนตร นาคสุข ไม่ฟ้องนายวรยุทธ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่นายพงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด เคยมีคำสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมไปเเล้ว ดังนั้นรองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทน จึงไม่มีอำนาจสั่งคดีดังกล่าวหากอัยการสูงสุดไม่ได้มีคำสั่ง ดังนั้นคำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ จึงยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม แต่การที่รองอัยการสูงสุด สั่งให้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง จนนำมาสู่การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในที่สุด ทั้ง ๆ ที่อัยการสูงสุดคนก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้ยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว แต่นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กลับรับคำร้องขอความเป็นธรรมมาพิจารณาสั่งคดีอีก จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความมาร้องเรียนต่อประธานและคณะกรรมการอัยการ ที่จะมีการประชุมกันในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ 2553 ม.30 (8) ประกอบเพื่อดําเนินการเอาผิดทางวินัยและจริยธรรมต่อนายเนตร นาคสุข ตามที่ประมวลจริยธรรม ข้าราชการฝ่ายอัยการและบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ระบุว่า ข้าราชการฝ่ายอัยการต้องยืนหยัดทําในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย และข้าราชการอัยการต้องรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ และจริยธรรมนี้อย่างเคร่งครัด ไม่กระทําการใด ๆ อันอาจนํามาซึ่งความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ หากกรณีดังกล่าวเป็นไปตามที่ประธานคณะกรรมการอัยการ ได้ทำหนังสือท้วงติงถึงอัยการสูงสุด ที่อาจขัดระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า เรื่องการสั่งคดีหลายคดีที่รองอัยการสูงสุดสั่งคดีไปโดยเป็นที่แคลงใจของประชาชน ควรต้องพิจารณาว่าเหตุใดอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการเอง แต่ให้รองอัยการดำเนินการ เพราะจากคดีใหญ่หลายคดีพอมาถึงการสั่งคดีกลับกลายเป็นการสั่งไม่ฟ้อง


ศก.ครึ่งปีแรกทรุดหนัก ฉุดยอดใช้พลังงานหดตัว10%

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเปิดเผยสถานการณ์พลังงาน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ว่า การใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 10.1จากการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก ในขณะที่ไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสรุปได้ดังนี้

1.การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 12.6โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 4.3 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง อีกทั้งการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้การขนส่งสินค้าลดลง การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลดลงร้อยละ 7.1ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

2.การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขาโดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 30.2 จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน ประกอบกับปริมาณรถยนต์ LPG ที่มีแนวโน้มลดลง การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 39 มีการใช้ลดลงร้อยละ 18.8 ส่วนภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ลดลงร้อยละ 9.9ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลงร้อยละ 5.9

3.การใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 8.5โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 28.8 จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเนื่องจากราคาอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก อีกทั้งผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง

4.การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 5.การใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 3.9 โดยลดลงในเกือบทุกสาขา

ผู้อำนวยการ สนพ. ยังกล่าวถึงแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายที่เกี่ยวข้องมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. คาดว่าในปี 2563 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ -5.0 ถึง-6.0 จากปัจจัยดังนี้

1.การปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 2.การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ3.เงื่อนไขข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้ง 4.ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจากสมมุติฐานดังกล่าว จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 ลดลงร้อยละ 5.3 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

2.ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 2563 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยในกรณีที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ปรับตัวลดลงรุนแรงถึงร้อยละ-9.0 ถึง-10.0 คาดว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานของประเทศลดลงร้อยละ7.9โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลงร้อยละ 6.3 การใช้น้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 4.0 การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 43.5 การใช้ LPG ลดลงร้อยละ 10.9การใช้น้ำมันเตาลดลงร้อยละ 10.0 และการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 3.0


ชาวรัสเซียเฮ! 'ปูติน'เผยวัคซีนโควิดพัฒนาสำเร็จแล้ว 'อนามัยโลก'ขอตรวจสอบก่อน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เว็บไซต์ นสพ.The Moscow Times ของรัสเซีย เสนอข่าว Putin Announces ‘World’s First’ Coronavirus Vaccine อ้างการเปิดเผยของ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ระบุว่า วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาโดยรัสเซียสำเร็จและได้ขึ้นทะเบียนแล้ว อีกทั้งลูกสาวของตนยังเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้วด้วย โดยมีผลข้างเคียงคืออุณหภูมิร่างกายเพิ่มเป็น 38 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 วัน

โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยกามาเลยา (Gamaleya Research Institute) ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลรัสเซีย ได้เปิดให้มีการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์โดยมีอาสาสมัครหลายพันคน และรัสเซียมีแผนจะผลิตวัคซีนดังกล่าวจำนวนมากตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวมีชื่อลงทะเบียนว่า "สปุตนิก-5 (Sputnik-V)" และจะเริ่มฉีดให้ประชาชนอย่างแพร่หลายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันรัสเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวมเกือบ 9 แสนคน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

ในเวลาต่อมา The Moscow Times ได้เสนอข่าว WHO Wants to Review Russian Vaccine Safety Data อ้างแถลงการณ์ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้แจ้งว่า การรับรองวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเสียก่อน โดย ทาริค ยาซาเรวิค (Tarik Jasarevic) โฆษกขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำลังประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขของรัสเซีย และกำลังมีการหารือเรื่องการได้รับวัคซีนก่อนเข้าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า วัคซีนสปุตนิก-5 พัฒนาโดยสถาบันวิจัยกามาเลยา ที่มีความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย การทดสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2563 มีการฉีดให้กับอาสาสมัคร 165 คน ในจำนวนนี้ 139 คน ยังอยู่ในการประเมินก่อนการรักษาทางคลินิก ในขณะที่อีก 26 คน อยู่ในขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ ซึ่งทั้ง 6 ขั้นตอนนี้เป็นระยะไกลที่สุดหลังจากถึงระยะที่ 3 ของการประเมินทางคลินิก ทั้งนี้ อาสาสมัครในสถาบันวิจัยกามาเลยา 1 ใน 26 คน ได้รับการระบุว่าอยู่ในระยะที่ 1

คิริล ดมิเทรียฟ (Kirill Dmitriev) หัวหน้ากองทุนเพื่อการลงทุนทางตรงของรัสเซีย ซึ่งอนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการวัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า การทดลองระยะ 3 จะเริ่มต้นในวันที่ 12 ส.ค.2563 และจะมีการผลิตจำนวนมากในเดือน ก.ย.2563 ทั้งนี้ มี 20 ประเทศ สนใจสั่งซื้อแล้วมากกว่า 1 พันล้านโดส ขณะที่ ยาซาเรวิค กล่าวย้ำว่า เพื่อให้ได้สิ่งนี้ จะต้องมีการตรวจสอบและประเมินข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่จำเป็นทั้งหมดซึ่งรวบรวมผ่านการทดลองทางคลินิก และองค์การอนามัยโลกจะดำเนินการอย่างเดียวกันกับวัคซีนของทุกเจ้า

ทั้งนี้ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการระดมทุนเพื่อเร่งวิจัยหาทางป้องกันและรักษาโรคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนโดยหวังว่ามันจะสามารถปกป้องชีวิตมนุษยชาตินับพันล้านคนทั่วโลก โฆษกองค์การอนามัยโลก ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากความเร็วในการพัฒนาวัคซีนจากผู้ผลิตหลายราย และหวังมาตลอดว่า บางส่วนของวัคซีนเหล่านี้จะพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเร่งความคืบหน้าไม่ได้หมายความว่าจะต้องลดความปลอดภัยลง

นายกฯ'เลบานอน'ลาออก เซ่นเหตุระเบิด ท่ามกลางความไม่พอใจของปชช.

11 สิงหาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดิอับ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเลบานอน หลังอยู่ในตำแหน่งได้ประมาณ 7 เดือนเท่านั้น โดยระบุว่า เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กรุงเบรุตและสร้างความไม่พอใจให้ประชาชน เป็นผลมาจากการทุจริต

โดยการลาออกของเขาซึ่งจะมีผลให้รัฐมนตรีทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย แต่ประธานาธิบดีมิเชล อูนได้ขอให้รัฐบาลของดิอับ ทำหน้าที่รักษาการณ์ต่อไปก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

เหตุระเบิดที่โกดังท่าเรือ ซึ่งทางการเลบานอนระบุว่า เกิดจากแอมโมเนียม ไนเตรต มากกว่า 2,000 ตัน ได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 163 คน บาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับกรุงเบรุต ซึ่งชาวเลบานอนจำนวนมาก เห็นว่า เหตุระเบิดคือฟางเส้นสุดท้ายของวิกฤตที่ยืดเยื้อ จากการล่มสลายของเศรษฐกิจ การคอร์รัปชัน ความสูญเปล่า และการปกครองที่ไร้ธรรมาภิบาล และได้ออกประท้วงตามท้องถนนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน

อย่างไรก็ตาม ชาวเลบานอนจำนวนมากในกรุงเบรุตยังคงเดินขบวนประท้วง และปะทะอย่างดุเดือดกับตำรวจปราบจลาจล แม้ดิอับประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว