ข่าว
ตายรายแรกของโลก! สหรัฐฯยืนยันมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อ'ฝีดาษอะแลสกา' ผวา'แมว'อาจเป็นพาหะ

14 กุมภาพันธ์ 2567 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอะแลสกา ของสหรัฐฯ รายงานว่าพบผู้ป่วยฝีดาษอะแลสกาเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตรายนี้ (ไม่มีการเปิดเผยอายุที่แน่ชัด) ซึ่งมาจากคาบสมุทรคีนาย ทางตอนใต้ของรัฐอะแลสกา ได้รับการรักษาอาการป่วยในโรงพยาบาล หลังจากติดเชื้อฝีดาษอะแลสกา และเขาได้เสียชีวิตช่วงปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ขณะที่มีรายงานว่าชายสูงอายุผู้นี้มีประวัติระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอีกด้วย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระบุว่า ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ตามลำพังในพื้นที่ป่าและรายงานว่าไม่มีการเดินทางและไม่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับใครแต่มีรายงานว่า เขาเคยดูแลแมวจรจัดที่บ้านของเขา โดยแมวทดสอบไวรัสเป็นลบ แต่ก่อนหน้านี้แมวข่วนผู้เสียชีวิตบ่อยครั้ง แถลงการณ์ระบุ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่แมวอาจจะมีไวรัสติดอยู่ที่เล็บเมื่อมันข่วนผู้เสียชีวิต โดยพบว่า พบรอยขีดข่วนที่เห็นได้ชัดเจนใกล้บริเวณรักแร้ซึ่งเป็นจุดแรกที่ผู้เสียชีวิตแสดงอาการป่วยด้วย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานกรณีการแพร่เชื้อฝีดาษอะแลสกาจากคนสู่คน แต่แนะนำให้ผู้ที่มีอาการทางผิวหนังซึ่งอาจเกิดจากฝีดาษอะแลสกาใช้ผ้าพันแผลปิดบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ทางแพทย์ก็ยังได้แนะนำอีกว่า ประชาชนทุกคนควรล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าที่อาจสัมผัสกับผื่นแผล

รพ.ตำรวจเผยขั้นตอนปล่อยตัว'ทักษิณ' หลังเที่ยงคืน 1 นาทีวันพักโทษก็ออกได้

14 ก.พ.67 พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยถึงขั้นตอนการปล่อยตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกคุมขังบนชั้น 14 ของรพ.ตำรวจว่า ขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ หากแจ้งมาว่าจะขอรับตัวออก ทางโรงพยาบาลก็มีหน้าที่ออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมแนบความเห็นแพทย์ ถึงอาการของผู้ป่วย ว่าควรรักษาตัวต่อหรือไม่ ถือว่าหมดหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว

"สำหรับขั้นตอนการรับตัวกลับ ระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลทั่วไปที่มารักษาตัวจะแตกต่างกันเพียงบุคคลที่มารับตัวเท่านั้น ซึ่งกรณีนายทักษิณญาติไม่สามารถมารับตัวได้แม้มีคำสั่งพักโทษแล้วก็ตาม ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มารับไปเท่านั้น ส่วนรับออกไปแล้วจะส่งมอบให้ญาติหรือมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร เป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์"พ.ต.อ.หญิงศิริกุล กล่าว

พร้อมระบุว่า ส่วนระยะเวลาการขอรับตัว ที่ผ่านมาไม่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องแจ้งโรงพยาบาลก่อนกี่วัน เพราะผู้ต้องขังที่ถูกส่งตัวมารักษาจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว สามารถประสานโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึงเที่ยงคืน 1 นาที ของวันที่มีการพักโทษ ก็สามารถแจ้งขอออกจากโรงพยาบาลได้หากมีความประสงค์ สำหรับกรณีนายทักษิณจนถึงวันนี้ (14 ก.พ.) ยังไม่ได้รับประสานว่าจะออกวันใด แม้ รมว.ยุติธรรม จะระบุว่านายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษแล้วก็ตาม


'บางรัก'มากสุด! กทม.จดทะเบียนสมรสวันวาเลนไทน์ 2,762 คู่

กรุงเทพมหานครรายงาน สถิติการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนการหย่า และจดแจ้งคู่ชีวิต ของกรุงเทพมหานคร ในวันวาเลนไทน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีคู่รักมาจดทะเบียนสมรส รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,762 คู่ จดทะเบียนการหย่า จำนวน 38 คู่ และ จดแจ้งคู่ชีวิต (LGBTQ) จำนวน 164 คู่

โดยเขตที่มีผู้มาจดทะเบียนสมรสมากที่สุด 5 อันดับ คือ เขตบางรัก จำนวน 879 คู่ รองลงมา เขตบางขุนเทียน จำนวน 102 คู่ , เขตบางซื่อ จำนวน 93 คู่ , เขตลาดกระบัง จำนวน 88 คู่ และ เขตหนองจอก จำนวน 86 คู่ ส่วนเขตที่มีผู้มาจดทะเบียนสมรสน้อยที่สุด คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 10 คู่ รองลงมา เขตคลองสาน-เขตปทุมวัน-เขตวัฒนา-เขตสาทร จำนวน 11 คู่ , เขตคลองเตย-เขตพญาไท จำนวน 15 คู่ และ เขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 16 คู่

เขตที่มีผู้มาจดทะเบียนการหย่ามากที่สุด จำนวน 4 คู่ มี 1 เขต ได้แก่ เขตหลักสี่ รองลงมา จำนวน 2 คู่ มี 6 เขต , จำนวน 1 คู่ มี 22 เขต และเขตที่ไม่มีการจดทะเบียนหย่า จำนวน 21 เขต

สำหรับเขตที่มีผู้มาร่ามกิจกรมจดแจ้งคู่ชีวิต (LGBTQ) มากที่สุด 5 อันดับ เขตดุสิต จำนวน 24 คู่ รองลงมา เขตปทุมวัน จำนวน 20 คู่ , เขตบางคอแหลม จำนวน 11 คู่ , เขตทวีวัฒนา จำนวน 10 คู่ และ เขตบางกอกน้อย จำนวน 9 คู่


เพจดังเตือน! สูดฝุ่นควันในกทม. ถ้าไม่ป้องกัน จะเทียบเท่าสูบบุหรี่ 1,200-1,400 มวน/ปี

14 ก.พ.67 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict โพสต์ระบุข้อความว่า มีการคำนวนพบว่าปริมาณฝุ่นควัน pm 2.5 ใน กทม. หากคน กทม. สูดเข้าไปโดยไม่ป้องกัน จะเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ประมาณ 1,200-1,400 มวนต่อปี หรือ ตกวันละ 4-5 มวน แบบต่อเนื่องทุกวัน ไม่เว้นตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงยันคนแก่ ดังนั้น อนาคต มะเร็งปอด ไม่ก็ถุงลมโป่งพอง ความดัน เส้นเลือดในสมอง บลาๆ ทุกคนแน่นอน

"ตอนนี้ปริมาณ pm 2.5 ใน กทม. ขึ้นระดับโคตรอันตรายแล้ว และมีประกาศ WFH แล้ว ท่านใดทำงานหรือเรียนที่บ้านได้ ขอให้หยุดอยู่บ้าน อย่าออกมานอกบ้าน อันตรายมากๆ

ใครที่มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรังความดันเส้นเลือดในสมอง ขอให้อย่าออกนอกบ้าน และใส่หน้ากากถ้าต้องออกนอกบ้าน"


นิวยอร์กระทึก! เกิดเหตุกราดยิงรถไฟใต้ดินในย่านบรองซ์ คนร้ายยังหลบหนีลอยนวล

13 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดเหตุกราดยิงที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งของกรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ เสียงปืนดังขึ้นบริเวณชานชาลารถไฟยกระดับในย่านบรองซ์ ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่กำลังประชาชนกำลังเดินทางกลับจากโรงเรียน กลับจากทำงาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีก 5 คน โดยผู้เสียชีวิตเป้นชายวัย 30 ปี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเหตุการณ์นี้ แต่ระบุว่า อยู่ระหว่างการตามล่าหามือปืนที่หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ

พยานในที่เกิดเหตุ เปิดเผยว่า ขณะที่รถไฟกำลังมามีเด็กคนตะโกนและมีเสียงปืนอย่างน้อย 6 นัดและพบว่ากระสุนกระทบผนังของสถานีรถไฟจนเกิดประกายไฟ

'อินเดีย'เดือด!!! 'ม็อบเกษตรกร'เรียกร้องประกันราคาผลผลิต-ดูแลวิถีชีวิต

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เว็บไซต์นิตยสาร India Today ของอินเดีย เสนอข่าว Tear gas fired again as protesting farmers resume march, approach barricades ระบุว่า กลุ่มเกษตรกรที่ชุมนุมประท้วงและเกิดปะทะกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ล่าสุดยังคงเดินขบวนจากรอยต่อระหว่างรัฐปัญจาบ-หรยาณา สู่กรุงนิวเดลีของอินเดีย ขณะที่ฝ่ายตำรวจมีการนำแท่งแบริเออร์คอนกรีตมาวางปิดกั้นเส้นทาง และยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่พยายามฝ่าแนวกั้น ขณะที่ในรัฐเดลีและเมืองใกล้เคียง การจราจรบนทางด่วนกลายเป็นอัมพาต จากการตั้งแนวรักษาพื้นที่ของตำรวจ

สื่ออินเดียลำดับเหตุการณ์การปะทะครั้งล่าสุดไว้ดังนี้ โดยเกษตรกรจากปัญจาบปะทะกับตำรวจ คฝ. ของรัฐหรยาณาที่จุดเชื่อมต่อระหว่างรัฐสำคัญสองแห่ง มีการใช้โดรนปล่อยแก๊สน้ำตา ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และวิธีการอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงรุกคืบไปยังรัฐเดลี เบื้องต้นมีตำรวจบาดเจ็บ 24 นาย ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 60 คน เจ้าหน้าที่ตั้งแนวกั้นแบริเออร์ทั้งที่เป็นแท่งคอนกรีตและกระสอบทราย และเครื่องดูดลมยาง เพื่อหยุดยั้งผู้ชุมนุม แต่สถานการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมเริ่มขว้างก้อนหินและพยายามรื้อเครื่องกีดขวาง

ฝ่ายผู้ชุมนุมซึ่งเป็นเกษตรกรมีการเตรียมตัวหวังปักหลักประท้วงยาว พบการเตรียมเสบียงอาหารรวมถึงน้ำมันดีเซล สำหรับดำรงชีพอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน อนึ่ง มีความเคลื่อนไหวจากคณะผู้บริหารรัฐปัญจาบ แจ้งเตือนโรงพยาบาลใกล้จุดเชื่อมกับรัฐหรยาณา และเพิ่มจำนวนรถพยาบาล อีกทั้งยังเรียกร้องไปยังคณะผู้บริหารของรัฐหรยาณา งดเว้นจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับผู้ประท้วง

ความวุ่นวายในการจราจรปกคลุมกรุงเดลีในวันที่ 13 ก.พ. 2567 เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางหลายชั้นและการตรวจสอบรอยต่อพื้นที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากการประท้วงของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เส้นทางถูกปิดกั้นและความแออัดครั้งใหญ่ใกล้จุดเชื่อมบริเวณหมู่บ้านสิงห์ , กาซีปูร์ และชิลลา สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะยังคงมีอยู่ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดลีทางตอนเหนือและตะวันออก โดยการจราจรจำกัดไว้เพียง 2 ช่องทางบนทางด่วน DND ชายแดนสิงห์และติครีมีแนวโน้มที่จะยังคงปิดในวันที่ 14 ก.พ. 2567 ตามคำแนะนำของตำรวจจราจรเดลี

มาตรการรักษาความปลอดภัยกำลังเข้มข้นขึ้นในเดลีเพื่อรอรับมือม็อบเกษตรกร เครื่องกีดขวางและลวดหนามซึ่งถูกสร้างขึ้นที่ชายแดนเดลี กำลังได้รับการเสริมกำลัง หลังจากเห็นผู้ประท้วงพยายามฝ่าวงล้อมรักษาความปลอดภัยที่ชายแดนปัญจาบ-หรยาณาด้วยการยกบล็อกซีเมนต์ออกไป ขณะที่รัฐหรยาณา ประกาศตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตมือถือ การส่ง SMS จำนวนมาก ใน 7 เขตของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 11-15 ก.พ. 2567

ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 อรชุน มุณฑะ (Arjun Munda) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสวัสดิการเกษตรกรของอินเดีย ย้ำถึงความพร้อมของรัฐบาลที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจากับเครือข่ายเกษตรกร และเรียกร้องให้เกษตรกรรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับการเจรจาที่สร้างสรรค์ และเกษตรกรควรเข้าใจว่าการประท้วงไม่ควรสร้างปัญหาให้กับใครและไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตปกติ

ด้านสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ เสนอรายงานพิเศษ Why India farmers are protesting again ว่าด้วยเหตุผลของการชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุดของเกษตรกรชาวอินเดีย ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2567 ว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2563 กลุ่มเกษตรกรในอินเดียเคยปักหลักประท้วงใหญ่ตลอดทั้งปี ต่อต้านความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่จะแนะนำการปฏิรูปการเกษตรที่เป็นข้อขัดแย้ง ผู้ชุมนุมหลายพันคนตั้งค่ายพักอยู่ที่จุดรอยต่อกับกรุงนิวเดลี ในจำนวนนี้หลายสิบรายเสียชีวิตจากอากาศร้อน อากาศหนาวเย็น และการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

กระทั่งในปี 2564 การชุมนุมจึงได้ยุติลง เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ได้ยกเลิกร่างกฎหมายเกษตรกรรมที่เตรียมนำเสนอ และตกลงที่จะหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอื่นๆ ของเกษตรกร รวมถึงมาตรการประกันราคาขั้นต่ำผลผลิตทางการเกษตร และยุติการดำเนินคดีต่อผู้ประท้วง กระทั่งล่าสุดเกษตรกรได้กลับมาชุมนุมประท้วงอีกครั้ง เพื่อทวงสัญญาที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นไว้

รายงานของสื่ออังกฤษ สรุปข้อกังวลของเกษตรกรจนนำไปสู่การประท้วงใหญ่ในปี 2563 นั่นคือการที่รัฐบาลเตรียมออกกฎหมาย 3 ฉบับ ที่ผ่อนปรนกฎระเบียบเกี่ยวกับการขาย การกำหนดราคา และการจัดเก็บผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นกฎที่ปกป้องเกษตรกรจากตลาดเสรีมานานหลายทศวรรษ ทำให้เครือข่ายเกษตรกรมองว่า กฎหมายเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรเสี่ยงต่อการทำลายวิถีชีวิตและต้องตกอยู่ภายใต้กลุ่มทุนใหญ่ และแม้ในตอนแรก รัฐบาลเชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร แต่สุดท้ายก็ต้องถอนร่างทั้งหมดออกไปหลังเกิดการประท้วง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นชัยชนะของเกษตรกร และยังเป็นตัวอย่างอันทรงพลังว่าการประท้วงครั้งใหญ่ยังคงท้าทายรัฐบาลได้สำเร็จ แต่เกษตรกรไม่ได้ออกจากสถานที่ประท้วงทันทีและยังคงประท้วงต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะส่งหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการให้พวกเขา โดยยอมรับข้อเรียกร้องอื่นๆ มากมาย ซึ่งรัฐบาลยังตกลงที่จะจ่ายค่าเยียวยาให้กับครอบครัวเกษตรกรที่เสียชีวิตระหว่างการประท้วงด้วย ส่วนเรื่องประกันราคาผลผลิต รัฐบาลสัญญาว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งจะรวมถึงตัวแทนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลของมลรัฐ นักวิชาการด้านการเกษตร และตัวแทนเครือข่ายเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรยังคงกังวลว่ารัฐบาลจะไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างการประท้วงปี 2563-2564 เกษตรกรยังเรียกร้องมาตรการบำนาญ ให้ยกหนี้สิน ดำเนินคดีกับผู้ขายเมล็ดพันธุ์พืช ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยปลอม ตลอดจนเพิ่มจำนวนวันทำงานภายใต้โครงการประกันการจ้างงานในชนบทเป็นสองเท่าเป็น 200 วัน รวมถึงให้อินเดียถอนตัวจากองค์การการค้าโลก (WTO) และยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีทั้งหมด

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในอินเดีย และนักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องการจัดการพวกเขาในทางที่ผิดเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่อินเดียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป การเดินขบวนของเกษตรกรได้หวนรำลึกถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงของอินเดียระหว่างการประท้วงหนก่อนหน้า ส่งผลให้ชีวิตบริเวณรอยต่อของรัฐเดลีต้องหยุดชะงักเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน จนถึงขณะนี้ รัฐบาลของนายกฯ โมดี ได้เจรจารอบใหม่กับแกนนำม็อบเกษตรกร แล้ว 2 รอบ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเรียกการเจรจาดังกล่าวว่าเป็นเพียงการซื้อเวลา และปฏิเสธที่จะยุติการประท้วง