เกาหลีใต้เจอโควิด -19 ระบาดระลอก 3 แรง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันเดียวกว่า 600 ราย สูงสุดในรอบเกือบ 9 เดือน นับตั้งแต่เชื้อโควิด -19 ระบาดในประเทศ
เมื่อ 4 ธ.ค. 63 สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกที่ 3 ในเกาหลีใต้กำลังสร้างความหวั่นวิตกหนัก สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติเกาหลีใต้แถลงในวันศุกร์ที่ 4 ธ.ค. ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ช่วง 24 ชั่วโมงล่าสุดในเกาหลีใต้ จำนวน 629 ราย ซึ่งถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากสุดภายในวันเดียวในเกาหลีใต้ ในรอบเกือบ 9 เดือน นับตั้งแต่โควิด -19 ระบาด
สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติเกาหลีใต้ได้ระบุด้วยว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 รายใหม่ 629 รายนั้น พบที่กรุงโซล เมืองหลวงถึง 295 ราย โดยขณะนี้รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาที่จะออกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด -19 ที่เข้มงวดมากขึ้น
จากการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเกาหลีใต้วันเดียวกว่า 600 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด -19 ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็น 36,332 ราย และเสียชีวิต 536 ศพ
ที่มา : Yonhap , Reuters
โควิด-19 ไม่มีเบา เผยจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกผ่านหลัก 1.5 ล้านศพแล้ว ขณะที่ยอดสะสมผู้ติดเชื้อเกิน 65.3 ล้านราย โจ ไบเดน เผยวันแรกที่รับตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ จะขอให้ชาวอเมริกันสวมมาสก์ 100 วัน
เมื่อ 4 ธ.ค. 63 วิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระบาดใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นผ่านหลัก 1.5 ล้านศพแล้ว เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา และยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 65.3 ล้านราย
ด้านรัฐบาลหลายประเทศกำลังมีความหวังกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปีหน้า เพื่อหวังจะช่วยยุติการวนเวียนใช้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ ร่วมกับไบโอเอ็นเทค ในสัปดาห์หน้า หลังจากสำนักงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักรอนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ จนสหราชอาณาจักรเป็นชาติแรกของโลกที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กับประชาชนในวงกว้าง
ส่วน นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ กล่าวถึงนโยบายของตนในวันแรกของการรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือการขอให้ชาวอเมริกันสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลา 100 วัน เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯภายในวันเดียวกว่า 2.1 แสนรายจนถึงเย็นวันพฤหัสฯ ที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา และทำให้สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.2 ล้านราย และเสียชีวิต 276,000 ศพ
ที่มา : Channelnewsasia
องค์การอนามัยโลก กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะให้ทั่วโลกใช้การรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าใครผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้วบ้าง
ในขณะที่ประเทศอังกฤษประกาศความชัดเจนว่าจะเป็นประเทศแรกของโลกที่เริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่พลเมือง ตามมาด้วยสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนทันทีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไฟเขียวรับรองการใช้วัคซีนได้ ทำให้เริ่มมีความหวังในการที่จะยุติการระบาดของไวรัสมรณะที่คุกคามชีวิตคนทั่วโลก
ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกที่ดูแลโซนยุโรปได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าควรจะมีการใช้ระบบการรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-vaccination certificate กับชาติสมาชิกด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะได้สร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล และง่ายต่อการตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วจริง ทำให้ง่ายต่อการติดตามโรค ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนในการพิจารณาความเป็นไปได้ และยังต้องพิจารณาไปถึงกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม การรับรองการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะไม่เหมือนกับแนวคิดพาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน ที่จะรับประกันว่า คนที่ถือพาสปอร์ตดังกล่าวจะไม่ติดโรคอีก เพราะเคยติดเชื้อและหายจากโรคดังกล่าวแล้ว ซึ่งแนวคิดที่จะให้มีพาสปอร์ตภูมิคุ้มกันนั้นเคยได้รับความสนใจจากหลายประเทศที่อยากให้นำมาใช้ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่องค์การอนามัยโลกไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าคนที่ได้รับพาสปอร์ตดังกล่าวอาจจะละเลยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำให้ป้องกันตัวเอง เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยเพราะคิดว่าตัวเองไม่เป็นอันตรายกับคนอื่น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการระบาดต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ ประเทศในแถบยุโรปที่จัดกลุ่มโดยองค์การอนามัยโลก มีทั้งหมด 53 ประเทศ รวมทั้งรัสเซีย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมมากกว่า 19.3 ล้านคนแล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 433,000 ศพ นับตั้งแต่เริ่มการระบาด ขณะที่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพิ่มมาถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าการระบาดในโซนยุโรปตะวันตกจะมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และไปพบการระบาดในโซนยุโรปตะวันออกเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกยังคงเตือนให้ทุกประเทศตั้งการ์ดสูง โดยจะต้องยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย
เกาหลีเหนือลงมือประหารชีวิตกลางแจ้ง ยิงเป้าชายฝ่าฝืนมาตรการคุมโควิด-19 ลักลอบข้ามชายแดนจากจีนผ่านช่องทางธรรมชาติเข้าเกาหลีเหนือโดยผิดกฎหมาย
เมื่อ 4 ธ.ค.63 เว็บไซต์เดลี่เมล์ เผยทางการเกาหลีเหนือดำเนินการประหารชีวิตชายคนหนึ่งซึ่งฝ่าฝืนมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ด้วยการลักลอบข้ามชายแดนจากจีนเข้ามาเกาหลีเหนือผ่านทางช่องทางธรรมชาติ
ตามรายงานจาก Radio Free Asia เผยว่าเกาหลีเหนือได้สั่งให้ทีมทหารลงมือยิงเป้าประหารชีวิตชายคนนี้กลางแจ้ง ท่ามกลางสายตาของประชาชนที่มาดูเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหวังให้ชาวเกาหลีเหนือหวาดกลัวกับการฝ่าฝืนมาตรการคุมโควิด-19 ของทางการ
แหล่งข่าววงในหลายคนเผยว่า ขณะที่ทางการเกาหลีเหนืออ้างว่าไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศแต่รัฐบาลเกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิม จอง อึน ได้ดำเนินมาตรการที่เข้มงวดระดับสูงสุดในการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยถึงกับมีคำสั่งให้ยิงผู้ลักลอบข้ามชายแดนจากจีนเข้ามาในเกาหลีเหนือได้เลย
แหล่งข่าวอีกคนยังเผยด้วยว่า การประหารชีวิตผู้ฝ่าฝืนกฎในเกาหลีเหนือถือเป็นความพยายามรูปแบบหนึ่งของทางการเกาหลีเหนือที่ต้องการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และจะได้ไม่ฝ่าฝืนกฎของทางการอีก
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากว่า 1.6 พันคน ถูกรบ.บังกลาเทศส่งขึ้นเรือไปอยู่บนเกาะร้างห่างไกลในอ่าวเบงกอล หวังลดความแออัดในค่ายอพยพที่ค็อกซ์ บาซาร์
เมื่อ 4 ธ.ค. 63 กองทัพเรือบังกลาเทศดำเนินการนำผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากว่า 1,600 คน ขึ้นเรือของกองทัพจากเมืองท่าจิตตะกอง มุ่งหน้าไปยังเกาะ Bhasan Char (พาซาน ชาร์) ซึ่งเป็นเกาะห่างไกลไม่มีคนอยู่นอกชายฝั่งในอ่าวเบงกอล ตามแผนของรัฐบาลบังกลาเทศที่หวังบรรเทาความแออัดของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ที่ค่ายอพยพในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ติดชายแดนเมียนมา กว่า 1 ล้านคน หลังจากชาวมุสลิมโรฮีนจา เหล่านี้ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเมียนมาได้อพยพหนีความรุนแรงมาจากรัฐยะไข่ ในประเทศเมียนมา
การส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาราว 1,600 คนไปยังเกาะพาซาน ชาร์ หรือมีชื่อเดิมว่า เกาะ เธนการ์ ชาร์ มีขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบรรดาผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา รวมทั้งองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยชนหลายองค์กรที่ท้วงติงว่า ชาวโรฮีนจาเหล่านี้ถูกบังคับให้ไปอยู่บนเกาะพาซาน ชาร์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 38.85 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากเป็นเกาะใหม่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนสะสมจนโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทะเลเมื่อราว 20 ปีก่อน ทำให้เกาะนี้ถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง
เจ้าหน้าที่กองทัพบังกลาเทศนายหนึ่งเปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาราว 1,600 คนได้นั่งเรือ 7 ลำ และมีเรืออีก 2 ลำสำหรับขนสิ่งของเครื่องใช้และอาหารที่จำเป็น เดินทางออกจากเมืองท่าจิตตะกอง ทางภาคใต้ของบังกลาเทศ ไปยังกาะพาซาน ชาร์ โดยนายอับดุล โมเมน รมว.ต่างประเทศบังกลาเทศ กล่าวกับนักข่าวเมื่อเย็นวันพฤหัสฯ ที่ 3 ธ.ค.ว่ารัฐบาลบังกลาเทศไม่ได้บังคับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเหล่านี้ให้เดินทางไปอยู่บนเกาะพาซาน ชาร์ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม มีชาวโรฮีนจา 2 คน เผยกับรอยเตอร์ว่า ชาวโรฮีนจาราว 1,600 คนถูกคัดเลือกจากกลุ่มหัวหน้าที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลให้ไปอยู่เกาะห่างไกล โดยไม่ได้ยินยอม ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์กรการกุศลหลายคน กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่บังกลาเทศนอกจากข่มขู่บังคับชาวโรฮีนจาเหล่านี้แล้ว ยังให้สิ่งล่อใจเพื่อให้ไปอยู่บนเกาะร้างห่างไกลแห่งนี้ด้วย
ที่มา : The Guardian
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012