ข่าว
'เกาหลีเหนือ' ทดสอบโดรนนิวเคลียร์ใต้น้ำ โว 'สึนามิกัมมันตรังสี' ได้

24 มี.ค. 66 สำนักข่าว KCNA ของทางการเกาหลีเหนือรายงานข่าวที่สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อชาวโลก และเพื่อนบ้านบนคาบสมุทรเกาหลี และญี่ปุ่นอีก โดยเปิดเผยว่า เกาหลีเหนือได้ดำเนินการทดสอบโดรนโจมตีติดหัวรบนิวเคลียร์ใต้น้ำชนิดใหม่ ที่สามารถก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ สึนามิกัมมันตรังสี ที่มีอานุภาพทำลายล้างงเรือรบของฝ่ายศัตรู และท่าเรือต่างๆ ได้ทั่วโลก

สำนักข่าว KCNA ยังรายงานข่มขวัญว่า ในระหว่างที่เกาหลีเหนือได้มีการซ้อมรบในสัปดาห์นี้ ภายใต้คำแนะนำของคิม จอง อึน ผู้นำประเทศเกาหลีเหนือนั้น กองทัพเกาหลีเหนือได้มีการนำโดรนโจมตีใต้น้ำชนิด

ใหม่มาทดสอบระบบด้วย ซึ่งโดรนพิฆาตใต้น้ำนี้สามารถก่อให้เกิดแรงระเบิด รวมทั้งคลื่นยักษ์ สึนามิที่ มีอานุภาพทำลายล้างระดับสูง

“ในระหว่างเกาหลีเหนือมีการซ้อมรบในสัปดาห์นี้ ภายใต้คำแนะนำของคิม จอง อึน ผู้นำประเทศนั้น กองทัพเกาหลีเหนือได้มีการนำโดรนโจมตีใต้น้ำชนิดใหม่มาทดสอบระบบด้วย ซึ่งโดรนพิฆาตใต้น้ำรุ่นใหม่นี้

สามารถก่อให้เกิดแรงระเบิด รวมทั้งคลื่นยักษ์ สึนามิที่มีอานุภาพทำลายล้างระดับสูง อีกทั้งโดรนใต้น้ำติด หัวรบนิวเคลียร์นี้ยังสามารถถูกนำไปใช้ในภารกิจได้ทุกชายฝั่งและท่าเรือทุกแห่งด้วยเรือที่ปฏิบัติการบนผิวน้ำ” สำนักข่าว KCNA รายงาน

KCNA ระบุว่า มีการนำโดรนโจมตีชนิดใหม่นี้ไปทดสอบใต้น้ำนอกชายฝั่งจังหวัดฮัมกย็องใต้ เมื่อวันนอังคารที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา และโดรนใต้น้ำนำวิถีนี้ได้แล่นใต้น้ำเป็นเวลานานถึง 59 ชั่วโมง 12 นาทีที่ระดับความลึก 260-490 ฟุต (ราว 80-150 เมตร) ก่อนจะมีการนำโดรนโจมตีนี้ไปทดสอบการจุดระเบิดใต้น้ำ นอกชายฝั่งภาคตะวันออกของเกาหลีเหนือเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว KCNA กระบอกเสียงเกาหลีเหนือไม่ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของโดรนโจมตีนำวิถีใต้น้ำรุ่นใหม่นี้ เพียงแต่ขู่ว่าโดรนโจมตีใต้น้ำ นี้สามารถทำลายกองเรือและท่าเรือปฏิบัติการใหญ่ของฝ่ายข้าศึกได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก

เชิญ 120 ประเทศประชุมประชาธิปไตย

วันที่ 23 มี.ค. สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการแก่ผู้นำ 120 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเพื่อประชาธิปไตยปี 2566 ระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค.ซึ่งจะจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยมี 5 ประเทศเจ้าภาพ ประกอบด้วยสหรัฐฯ คอสตาริกา เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และแซมเบีย

เวทีประชุมซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่ม ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ต่อจากการประชุมครั้งแรกในปี 2564 และมีการเชิญ 8 ประเทศที่ไม่ได้ร่วมการประชุมครั้งแรก ประกอบด้วยบอสเนีย และเฮอร์เซโกวินา แกมเบีย ฮอนดูรัส โกต์ดีวัวร์ ลิกเตนสไตน์ มอริเทเนีย โมซัมบิก และแทนซาเนีย ขณะที่ประเทศไทยยังชัดเจนว่าไม่ได้รับเชิญเหมือนกับการประชุมเมื่อปี 2564 หรือไม่

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมประชาธิปไตย คอสตาริกามุ่งประเด็นการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการเมือง เนเธอร์แลนด์มุ่งเน้นการส่งเสริมเสรีภาพสื่อ เกาหลีใต้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนแซมเบียหวังส่งเสริมการเลือกตั้งที่เสรี โปร่งใส และยุติธรรม เพื่อเป็นรากฐานการปกครอง นอกจากนี้ การหารือจะรวมถึงหัวข้อสันติภาพอย่างยั่งยืนในยูเครนด้วยเช่นกัน


กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เลื่อนเสด็จเยือนปารีส เหตุฝรั่งเศสประท้วงไล่มาครง

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเลื่อนกำหนดการเสด็จเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ เหตุสถานการณ์ประท้วงขับไล่รัฐบาล จากการออกกฎหมายเพิ่มอายุเกษียณ ยังคงรุนแรง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ว่า ปาแลเดอเลลีเซ หรือทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเลื่อนกำหนดการเสด็จเยือนกรุงปารีสอย่างเป็นทางการ จากกำหนดการเดิม คือ วันอาทิตย์ที่ 26 มี.ค. ที่จะถึงนี้

รัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันว่า มีการหารืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับกำหนดการเสด็จเยือนของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และทั้งสองประเทศได้ข้อสรุปร่วมกัน เห็นควรเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากกรุงปารีสและเมืองใหญ่อีกหลายแห่งของฝรั่งเศส กำลังเผชิญกับการประท้วงอย่างหนักของเครือข่ายสหภาพแรงงาน ที่ต่อต้านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญฉบับใหม่ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการขยายเพดานอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี

ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ยืนยันว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้ หลังผลักดันให้ผ่าน โดยไม่ต้องรับการลงมติจากสภา ด้วยการใช้ “อำนาจพิเศษ” ตามมาตรา “49 : 3”

ทั้งนี้ ทั้งนั้น มีการวิเคราะห์ว่า การเลื่อนการเสด็จเยือนของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถือเป็น “ความอับอายทางการทูต” ครั้งใหญ่ของรัฐบาลมาครง ซึ่งคาดหวังการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักร หลังขัดแย้งกันอย่างหนักในหลายประเด็นเกี่ยวกับเบร็กซิต และเพิ่งประนีประนอมกันได้ เพื่อแก้ไขปัญหาผู้อพยพข้ามช่องแคบอังกฤษ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศว่า ได้มีการเลื่อนแผนเสด็จฯเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมด้วยราชินีคามิลาของสหราชอาณาจักร ออกไป หลังจากที่สหภาพการค้าฝรั่งเศสเรียกร้องประชาชนหยุดงานและเดินชุมนุมประท้วงระดับชาติต่อไปอีกหนึ่งวัน เพื่อคัดค้านนโยบายขยายเวลาเกษียณอายุของรัฐบาล

“เนื่องจากเมื่อวาน มีการประกาศให้ทำการประท้วงระดับชาติ เพื่อต่อต้านการปฏิรูปแผนเกษียณอายุของฝรั่งเศสต่อไปอีกหนึ่งวัน การเสด็จฯ เยือนของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเดิมมีกำหนดในวันที่ 26-29 มีนาคม จึงจะถูกเลื่อนออกไป” พระราชวังเอลิเซระบุผ่านแถลงการณ์

พระราชวังเอลิเซกล่าวอีกว่า การเลื่อนกำหนดการครั้งนี้เป็นการตัดสินใจร่วมกันของรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลอังกฤษ และว่าจะทำการกำหนดวันเสด็จฯ เยือนใหม่โดยเร็วที่สุด

ขณะที่พระราชวังบักกิงแฮมประกาศว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะยังคงเสด็จฯ เยือนเยอรมนีตามกำหนดเดิม

ทั้งนี้ กำหนดการของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นี้จะถือเป็นครั้งแรกที่พระองค์เสด็จฯ เยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในฐานะกษัตริย์ ขณะที่ในช่วงก่อนหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีปารีสจะออกแถลงการณ์ข้างต้น นายเจอรัลด์ ดาร์มานอง รัฐมนตรีกิจการภายในของฝรั่งเศสกล่าวว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการถวายอารักขาและรับเสด็จฯ ทั้งสองพระองค์ให้สมพระเกียรติแต่อย่างใด แม้ว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับกลุ่มผู้ประท้วงในหลายเมืองของฝรั่งเศส ซึ่งรวมถึงเมืองบอร์กโดซ์ที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เดิมมีกำหนดจะเดินทางเยือนบอร์กโดซ์ ในวันที่ 2 ของการเสด็จฯ

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES...


สหรัฐฯ เรียกคืน “น้ำตาเทียม” ยี่ห้อดัง หลังพบสารปนเปื้อนแบคทีเรีย ติดเชื้อ ตาบอด-ดับแล้ว 3 ราย

24 มี.ค. 2566-18:49 น.: ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อเดือน ก.พ. บริษัท โกลบอล ฟาร์มา เฮลธ์แคร์ (Global Pharma Healthcare) เรียกคืนยาหยอดตา หรือน้ำตาเทียมที่จัดจำหน่ายโดย เอซรีแคร์ (Ezri Care) และ เดลซัม ฟาร์มา (Delsam Pharma) ที่ผลิตโดยบริษัทของอินเดีย หลังพบการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย สูญเสียการมองเห็นอีก 8 ราย และอีก 4 รายต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก ทางการต้องประกาศเตือนประชาชนหยุดใช้น้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อนี้ทันที

ทางการสหรัฐฯ ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC พบประชาชนอย่างน้อย 68 คน ใน 16 รัฐติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดื้อยาปฏิชีวนะ ชื่อว่า ซูโดโมแนส แอรูจีโนซา (Pseudomonas aeruginosa) จากน้ำตาเทียม

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนผู้บริโภคและบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ซื้อยาทาตาหลายชนิดที่ผลิตโดยผู้ผลิต Global Pharma และเร่งตรวจสอบสาเหตุของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ถือเป็นการพบเชื้อครั้งแรก

ตามข้อมูลของ CDC ระบุว่า เชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนสสามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด กระจกตา ทางเดินหายใจ และทางเดินปัสสาวะโดยเชื้อซูโดโมแนส แอรูจีโนซา ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์บ่อยที่สุด

ส่วนใหญ่เชื้อแบคทีเรียมักพบในสถานพยาบาลที่ไม่สะอาดหรือไม่ถูกสุขอนามัย เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้มากในเครื่องเพิ่มความชื้นซึ่งใช้ในโรงพยาบาล รวมถึงสายสวนปัสสาวะที่ทำความสะอาดไม่ดีพอ ซึ่งขณะนี้มีคนติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในสหรัฐฯ แล้วประมาณ 32,600 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,700 คน

จากกรณที่เกิดขึ้น ทาง CDC ต้องประกาศเรียกคืนน้ำตาเทียมในท้องตลาดเพิ่มเป็นทั้งหมด 10 ยี่ห้อ พร้อมกับเตือนประชาชนที่ติดเชื้อที่ดวงตา หลังการใช้น้ำตาเทียมให้ไปพบแพทย์ทันที

สำหรับอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ได้แก่ ขี้ตาสีเหลือง หรือเขียว ปวดหรือไม่สบายตา ตาหรือเปลือกตาแดงรู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในดวงตา ตาอ่อนไหวต่อแสงหรือสู้แสงไม่ได้ และตาพร่าหรือมองไม่เห็น

นอกจากนี้ แพทย์สหรัฐฯ ยังแนะนำให้ว่าประชาชนควรเก็บรักษาน้ำตาเทียมให้ปลอดเชื้อ ห้ามให้ปากขวดสัมผัส กับมือ ผิวหนังหรือดวงตา และไม่ใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น รวมถึงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุไปแล้ว และไม่ใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันบูดเจือปน

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา คือ ความสะอาดของสิ่งของรอบตัว รวมถึงการรักษาสุขอนามัยของตัวเองที่ไม่ดีพอ

ดังนั้น คุณจึงต้องรู้จักรักษาความสะอาดทั้งร่างกายของตัวเอง และข้าวของเครื่องใช้รอบตัว รวมถึงรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเมื่อไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงติดเชื้ออย่างโรงพยาบาล สระว่ายน้ำ พื้นที่ใช้งานสาธารณะะร่วมกับผู้อื่น


ซีอีโอ ‘ทิกท็อก’ ชี้แจงกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐฯ

วันศุกร์ ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566: วอชิงตัน (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) - ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของตทิกท็อก (Tik-Tok) แอปพลิเคชั่นวิดีโอสั้นยอดนิยม เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในรัฐสภาสหรัฐฯ หลังจากบริษัทถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน และถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขู่แบน หากไม่แยกตัวจากบริษัทแม่ในจีน

โซว จื่อโจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของทิกท็อก (Tik-Tok) แอปพลิเคชั่นวีดีโอสั้นยอดนิยม ซึ่งเป็นชาวสิงคโปร์วัย 40 ปี เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพลังงานและพาณิชย์ในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ในเวลา 10.00 น.วันที่ 23 มี.ค. ตามเวลาสหรัฐฯ ตรงกับเวลา 21.00 น. วานนี้ตามเวลาไทย คาดว่าเขาจะถูกซักถามอย่างเคร่งเครียดนานหลายชั่วโมงโดยสมาชิกพรรครีพับลิกัน และเดโมแครต ที่เกรงว่ารัฐบาลจีนอาจนำแอปฯ นี้ไปใช้สอดแนมหรือโฆษณาชวนเชื่อ

ขณะที่นายโซวชี้แจงผ่านถ้อยแถลง ระบุว่า เขาขอย้ำอย่างชัดเจนว่า ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทิกท็อกไม่ใช่สายลับของจีนหรือประเทศใด ทิกท็อกไม่เคยแบ่งปัน หรือได้รับคำขอให้แบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้ในสหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลจีน และจะไม่มีวันทำเช่นนั้นหากได้รับคำขอ ซีอีโอทิกท็อกยังใช้โอกาสนี้แจ้งคณะกรรมาธิการฯ ว่า ได้ดำเนินโครงการที่มีชื่อว่า โปรเจกท์เท็กซัส (Project Texas) เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยการให้ข้อมูลในสหรัฐฯ อยู่ในความดูแลของแผนกที่อยู่ในสหรัฐฯ เท่านั้น ทิกท็อกได้ใช้เงินไปกับโครงการนี้แล้ว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 51,150 ล้านบาท) และจ้างงานคนในสหรัฐฯ 1,500 คน ดำเนินโครงการนี้

รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยื่นคำขาดให้ทิกท็อกแยกตัวออกจากไบต์แดนซ์ ไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งห้ามใช้งานในสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด ซึ่งจะกระทบต่อผู้ใช้งานที่มีเดือนละ 150 ล้านราย สส.แคที แมคมอร์ริส รอดเจอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการฯ จากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า ชาวอเมริกันมีสิทธิที่จะรู้ว่าความเป็นส่วนตัวของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายมากน้อยเพียงใด และข้อมูลของพวกเขาถูกฉวยประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการที่บริษัทแม่ของทิกท็อกมีความสัมพันธ์กับจีน สส.รอดเจอร์สกล่าวว่า ที่น่ากลัวคือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น ทิกท็อก ได้นำอัลกอริธึ่มที่เป็นอันตรายมาฉวยประโยชน์จากเด็กเพื่อหากำไร และทำให้เด็กเสี่ยงอันตรายต่อเนื้อหาในออนไลน์

‘บลิงเคน’ ชี้จีนกลายเป็น ‘พี่ใหญ่’ รัสเซีย

วันศุกร์ ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566: วอชิงตัน/ปักกิ่ง (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส) -หลังการเยือนรัสเซียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่ได้ประกาศเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ จับมือรัสเซียพร้อมเผชิญหน้ากับตะวันตก รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า จีนได้กลายเป็นพี่ใหญ่ของรัสเซียแล้วในตอนนี้

ภายหลังประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนรัสเซียเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเขาได้ร่วมประกาศจุดยืนความเป็นพันธมิตรที่ไร้ขีดจำกัดกับประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูตินผู้นำของรัสเซีย และลงนามความร่วมมือและข้อตกลงทวิภาคีมากมายในด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ รวมทั้งเน้นย้ำว่า ต้องการร่วมกัน

สร้างระเบียบโลกใหม่ ที่ลดอิทธิพลของชาติตะวันตกลง

ล่าสุด แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา โดยได้กล่าวสรุปการประเมินการเยือนรัสเซียของประธานาธิบดีสีว่า เขามองความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่า จีนถือเป็นพี่ใหญ่ของรัสเซีย และว่าประธานาธิบดีสีต้องการสร้างการเมืองโลกแบบหลายขั้วเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ แต่เขาเชื่อว่าประธานาธิบดีปูติน มีความต้องการไม่เหมือนกัน เพราะผู้นำรัสเซียน่าจะต้องการโลกที่ไร้ระเบียบมากกว่า

สำหรับประเด็นที่ว่า จีนกำลังพิจารณาช่วยเหลือรัสเซียด้านอาวุธเพื่อใช้ในสงครามยูเครน ที่เขาเคยกล่าวหาเอาไว้นั้น บลิงเคนกล่าวว่า จนถึงขณะนี้จีนยังไม่ได้ล้ำเส้นด้วยการส่งมอบอาวุธใดๆ ให้รัสเซีย อย่างไร ก็ตาม แม้ไม่ได้มอบอาวุธ แต่เมื่อจีนให้ความสนับสนุนรัสเซียด้านการทูตและเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้ยุติสงครามได้ยากขึ้น

ด้าน หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงล่าสุดถึงข้อกล่าวหาส่งอาวุธให้รัสเซียด้วยว่า จีนไม่ได้เป็นผู้ก่อวิกฤตการณ์ขี้นในยูเครน และไม่เคยมอบอาวุธให้กับฝายใดเลย จึงขอให้สหรัฐฯ พิจารณาตัวเองให้ดีถึงบทบาทในสงคราม และยุติการสุมฟืนในกองไฟและหันมากล่าวโทษจีน

ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกประเมินว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้เงินถึง 411,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14 ล้านล้านบาท) ในการซ่อมสร้างและฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว หรือเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว การประเมินตัวเลขดังกล่าวร่วมกันดำเนินการโดยรัฐบาลยูเครน ธนาคารโลก คณะกรรมาธิการยุโรปและสหประชาชาติ เพิ่มขึ้นจาก 349,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 11.9 ล้านล้านบาท) ที่ประมาณการไว้ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน และยังส่งผลให้ราคาอาหาร และพลังงานของโลกเพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เดนีส ชไมฮาล ของยูเครน กล่าวในแถลงการณ์ว่า ในปีนี้ ความจำเป็นเร่งด่วน 5 ด้านประกอบไปด้วย โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน บ้านพักอาศัย โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เศรษฐกิจและการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม โดยบางส่วนที่เกี่ยวกับการซ่อมสร้างได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่เขาเตือนว่า ปริมาณความเสียหายและการฟื้นฟูที่จำเป็นในตอนนี้ไม่รวมข้อมูลเรื่องความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน บ้านเรือน และธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง หากได้ดินแดนเหล่านี้คืนมาเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่จะเริ่มดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายต่อไป