ข่าว
“ยูไนเต็ด-อเมริกัน แอร์ไลน์” เตรียมปลดพนักงาน 32,000 คน หลังรัฐเลิกอุ้ม

2 ต.ค.63 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ และสายการบินยูไนเต็ด เตรียมปลดพนักงาน 32,000 คน หลังผ่านพ้นเส้นตายการอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากทางการสหรัฐที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจากรัฐบาล

ขณะนี้ ธุรกิจการบินของสหรัฐต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 5,000 ล้านดอลลาร์ในการบริหารงานต่อไป หลังจากเที่ยวบินลดลงถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหลายบริษัทการบินมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจแค่ในระยะ 12 เดือน หากสถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ยอดการบินตกต่ำไปเช่นนี้ และว่าาจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐ เพื่อให้รักษาระดับการจ้างงานให้รองรับเศรษฐกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด-19

ทั้งนี้ 4 สายการบินใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้คำมั่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า จะไม่เลย์ออฟพนักงานจนถึงสิ้นเดือนกันยายน แลกกับการรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยอเมริกัน แอร์ไลน์ ได้ 5.8 พันล้าน, เดลตา แอร์ไลน์ได้ 5.4 พันล้าน, ยูไนเต็ดได้ราว 5 พันล้าน และเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ ได้ไปเกือบ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ห่วงทรัมป์ วัย 74 ติดโควิด แพทย์ทำเนียบขาว ออกแถลงการณ์ยันยังสบายดี

แพทย์ประจำทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ ปธน.ทรัมป์ วัย 74 และสุภาพสตรีหมายเลข 1 สหรัฐอเมริกา ยังสบายดี หลังผลตรวจออกมายืนยันติดโควิด-19 ขณะนี้ผู้นำสหรัฐฯ และภริยาจะยังคงพักในทำเนียบขาว

เมื่อ 2 ต.ค. 63 สื่อต่างประเทศและเดลี่เมล ติดตามความคืบหน้ากรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา อายุ 74 ปี และ นางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 วัย 50 ปี ผลตรวจออกมาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 1 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่นว่า ฌอน คอนลีย์ แพทย์ประจำทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ ประธานาธิบดีทรัมป์และสุภาพสตรีหมายเลข 1 ยังคงสบายดี ไม่มีอาการป่วยในขณะนี้ และจะยังคงอยู่ที่บ้านพักในทำเนียบขาว ระหว่างการพักฟื้น

‘มั่นใจ ผมคาดว่าท่านประธานาธิบดีจะยังคงปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งอย่างไม่ต้องหยุดชะงัก ระหว่างการพักฟื้น และจะมีการรายงานความคืบหน้าโดยตลอด’ แถลงการณ์จากแพทย์ประจำทำเนียบขาว ในขณะที่มีความวิตกกันว่า ด้วยความที่ประธานาธิบดีทรัมป์ อยู่ในวัย 74 ปี ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นจากอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด-19

เดลี่เมล เผยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ และ นางเมลาเนีย ทรัมป์ ผลตรวจออกมาติดเชื้อโควิด-19 หลังจากนางสาวโฮป ฮิกส์ วัย 31 ปี ที่ปรึกษาและผู้ช่วยคนสนิทของประธานาธิบดีทรัมป์ติดเชื้อโควิด-19 โดย นางสาวฮิกส์ ได้เริ่มมีอาการป่วยคล้ายกับติดเชื้อโควิด-19 ขณะเดินทางกลับจากร่วมทีมหาเสียงของทรัมป์ที่รัฐมินเนสโซตา และเธอได้เดินทางโดยเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน เครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย ก่อนที่ผลตรวจจะออกมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ยืนยันว่า นางสาวฮิกส์ ติดเชื้อโควิด-19

ผู้นำ รบ.หลายชาติ ส่งกำลังใจให้ ทรัมป์ เมลาเนีย หายป่วยโควิดโดยเร็ว

ผู้นำรัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งนายกฯอังกฤษออกมาส่งกำลังใจขอให้ ปธน.ทรัมป์ และเมลาเนีย สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐอเมริกา หายป่วยจากโควิด-19 โดยเร็ว

สำนักข่าวต่างประเทศและรอยเตอร์รายงาน รัฐบาลนานาประเทศ ทั้งนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) รวมทั้งรัฐบาลจีน ต่างออกมาส่งกำลังใจและความปรารถนาดีให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และนางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 และกลับมามีสุขภาพแข็งแรงโดยเร็ว

ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ซึ่งเคยติดเชื้อโควิด-19 และป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ต.ค.ว่า เขามั่นใจว่าประธานาธิบดีทรัมป์และภริยา จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แจ้งข่าวว่าเขาและภริยา ผลตรวจออกมาติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 1 ต.ค. หลังจากวันเดียวกันก่อนหน้า ผลตรวจออกมายืนยันนางสาวโฮป ฮิกส์ ที่ปรึกษาอาวุโส และผู้ช่วยคนสนิทของประธานาธิบดีทรัมป์ ติดเชื้อโควิด-19


‘คิม จอง อึน’ พาน้องสาว ลง พท.ติดตามช่วยเหลือชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วม

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ลงพื้นที่ติดตามช่วยเหลือชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วมจากพายุไต้ฝุ่นหลายยลูก โดยมี คิม โย จอง น้องสาวร่วมคณะไปด้วย หลังจากหายหน้าไปนานร่วม 2 เดือน

มื่อ 2 ต.ค.63 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือลงพื้นที่ตรวจดูความคืบหน้าในการฟื้นฟูช่วยเหลือหมู่บ้านในพื้นที่เขตคิมฮวา ที่ได้รับความเสียหายประสบอุทกภัยจากพายุไต้ฝุ่นหลายลูก และภัยธรรมชาติ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา โดยมี คิม โย จอง น้องสาวของ คิม จอง อึน ได้ร่วมคณะเดินทางมาด้วย ซึ่งถือเป็นการปรากฏตัวของ คิม โย จอง ในที่สาธารณะครั้งแรก หลังจากหายหน้าไปนานประมาณ 2 เดือน

สำนักข่าว KCNA กระบอกเสียงทางการเกาหลีเหนือ รายงานด้วยว่า คิม จอง อึน ได้ชื่นชมการทำงานฟื้นฟูหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายในเขตคิมฮวา ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีเหนือ พร้อมกับกล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่เกาหลีเหนือต้องประสบภัยธรรมชาติรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ คิม จอง อึน จะชื่นชมการทำงานอย่างรวดเร็วในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เป็นเหตุให้บ้านเรือนหลายพันหลังได้รับความเสียหาย แต่ คิม จอง อึน ได้ท้วงติงว่า รู้สึก

เศร้าใจที่ได้เห็นรูปแบบบ้านใหม่ที่สร้างให้กับชาวบ้านที่ออกแบบอย่างซ้ำซากจำเจ

ทั้งนี้ คิม จอง อึน ได้ปรากฏตัวค่อนข้างบ่อยในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออกมาขอโทษด้วยตนเอง กรณีทหารเกาหลีเหนือสังหารเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ ที่ดูเหมือนพยายามแปรพักตร์เข้ามาในน่านน้ำาเกาหลีเหนือ


ม็อบ นศ.ฝั่งจุฬาฯ และ มธ. นัด 14 ต.ค.ชุมนุมใหญ่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ชัดแล้ว แกนนำม็อบ ทั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก จากจุฬาฯ และกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจาก ม.ธรรมศาสตร์ ประกาศปักธงนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยัน พร้อมกัน 14 ต.ค. เริ่มเวลา 14.00 น.

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 2 ต.ค. กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free YOUTH นำโดย นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี บัณฑิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ข้อความ ประกาศนัดหมายชุมนุมผ่านเฟซบุ๊ก เพจกลุ่มเยาวชนปลดแอก ระบุว่า ม็อบพร้อมกันโดยได้นัดหมาย เมื่อรัฐสภาไม่ฟังก์ชัน นี่คือเวลาแห่ง “ท้องถนน”

เราคือนักเรียน เราคือเยาวชน เราคือประชาชน

และสุดท้ายเราคือคนที่รักชาติเหมือนๆ กันกับคุณ เพราะรักจึงหวังอยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่า ต้องการให้อนาคตของเยาวชนและประชาชนมองเห็นแสงสว่าง หากดวงตาไม่ได้มืดบอดจนเกินไป เราจะเห็นว่าสังคมไทยยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เอื้อพวกพ้อง ทุนกำลังผูกขาด นี่ไม่ใช่อนาคตที่เราคาดหวัง

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา กรรมกร ชาวนา แรงงาน พนักงานออฟฟิศ LGBT เราทุกคนต่างถูกกดทับจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้

14 ตุลาคม เป็นต้นไป เวลา 14.00 น. พร้อมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ออกมายืนยันว่า ประเทศไทยดีกว่านี้ได้ นี่ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอก แต่การเคลื่อนไหวนี้เป็นของราษฎรทุกคน เราทุกคนล้วนเป็นคณะราษฎร

ขณะเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล คณะสังคมวิทยา มธ. ก็ประกาศการชุมนุม วันที่ 14 ต.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ใช้สโลแกนว่า “เพราะเราทุกคนคือคณะราษฎร และคณะราษฎรยังไม่ตาย”


ติดเชื้อ 34 ล้านคน ไวรัสมรณะลามทั่วโลก

ยอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกทะลุ 34 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 1 ล้านศพ อินเดียป่วยวันเดียวมากถึง 6.8 หมื่นคน เมียนมายอดดับรวมมากกว่า 300 ราย ทางการสั่งสวมหน้ากากอย่างเข้มงวด สเปนสั่งล็อกดาวน์พื้นที่กรุงมาดริดบางส่วน เช็กและสโลวาเกีย พร้อมใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกในช่วงเช้าวันที่ 1 ตุลาคม ทำสถิติใหม่อีกครั้งทะลุ 34,140,926 คน หลังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 306,801 คนใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใน 1 วันทะลุ 300,000 อีกครั้ง หลังพบการแพร่ระบาดรอบสองในหลายประเทศ ประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นหลักหมื่นมี 6 ประเทศ มากที่สุดคืออินเดีย 86,748 สหรัฐ 38,489 บราซิล 33,269 อาร์เจนตินา 14,392 ฝรั่งเศส 12,845 และสเปน 11,016

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดห้าดับแรกของโลกคือสหรัฐ 7,444,842 อินเดีย 6,310,267 บราซิล 4,813,586 รัสเซีย 1,176,286 และโคลอมเบีย 829,679 ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6,065 รายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยยอดรวมอยู่ที่ 1,018,074 คน มีประเทศเดียวที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลักพันคืออินเดียที่ 1,179 ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วอยู่ที่ 25,402,174

เมียนมาเสียชีวิตแล้วกว่า300คน

กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมารายงานสถานการณ์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 จนถึงช่วงค่ำของวันพุธตามมเวลาท้องถิ่น ยืนยันผู้ป่วยใหม่ 946 คนในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด ทำให้สถิติผู้ป่วยสะสมมีจำนวนอย่างน้อย 13,713 คน นับตั้งแต่มีการยืนยันผู้ป่วยคนแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม และเป็นสถิติสูงสุดอันดับ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ขณะที่สถิติสะสมของผู้ที่หายป่วยมีจำนวนอย่างน้อย 3,755 คน เพิ่มขึ้น 364 คน อย่างไรก็ตาม ในรอบวันที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อีก 26 คน เพิ่มสถิติสะสมของผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในเมียนมาเป็นอย่างน้อย 310 คน นับตั้งแต่มีการยืนยันผู้เสียชีวิตคนแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดเป็นชาวเมียนมา

ปัจจุบันเมียนมามีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และสถิติผู้เสียชีวิตสะสมของเมียนมาเพิ่งผ่านหลัก 200 คน เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมาเท่านั้น

ขณะที่ คณะกรรมาธิการด้านการพัฒนากรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเมียนมา ประกาศเมื่อวันพุธ ว่านับจากนี้เป็นต้นไปการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติมิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะเรียกตรวจและสั่งปรับตามความเหมาะสม

ไม่รับคนจากย่างกุ้งสกัดโควิดลาม

อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขเมียนมา ร่วมกับ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ตั้งจุดสกัดรถ และคนบริเวณหมู่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย เพื่อตั้งจุดคัดกรอง และตรวจสอบบุคคลที่มาจากพื้นที่ชั้นในประเทศ โดยเฉพาะชาวเมียนมาที่มาจากเมืองย่างกุ้ง และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมืองย่างกุ้ง และเขตปริมณฑลจำนวนมาก ทำให้มีผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

การตรวจสอบบุคคลดังกล่าว รถยนต์ต้องหยุดทุกคัน และตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน และสอบถาม หากชาวเมียนมาที่มาจากเมืองย้างกุ้ง หรือ เขตที่มีโรคระบาด จะต้องมีใบรับรองแพทย์ หากไม่มีใบรับรองแพทย์จะให้กลับไปทันที ซึ่งล่าสุดมีชาวเมียนมาจากเมืองย่างกุ้งถูกส่งกลับไปแล้ว ร่วม 60 คน ส่วนคนที่มีใบรับรองแพทย์ กว่า 100 คน เจ้าหน้าที่เมียวดีให้กักตัวที่เมืองเมียวดีก่อนเป็นเวลา 14 วัน จึงจะไปไหนได้ ชาวย่างกุ้งส่วนมากเป็นพ่อค้า แม่ค้า และคนขับรถขนส่ง

สหราชอาณาจักรให้ยึดมาตรการเข้ม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แถลงว่า เขารับทราบและมีความเข้าใจต่อการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งคัดค้านการที่ภาครัฐกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมทางสังคม เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่สถิติผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน คือเหตุผลสำคัญว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลต้องยกระดับมาตรการ

ผู้นำสหราชอาณาจักรมองว่าทุกภาคส่วนมีบทเรียนมาแล้วจากการแพร่ระบาดระลอกแรก เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จอห์นสันขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด โดยเตือนว่าเขาไม่ลังเลที่จะเพิ่มความเข้มงวดทางสังคม หากสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางสังคมที่รัฐบาลเลือกนำกลับมาบังคับใช้ได้รับเสียงต่อต้านจากทั้งในสภาสามัญ และภาคประชาชน โดยสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมมากกว่า 50 คน ขู่จะสนับสนุนการเสนอญัตติ “ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง” ก่อนการบังคับใช้มาตรการทางสังคมครั้งต่อไป แต่ เซอร์ลินด์เซย์ ฮอยล์ ประธานสภาสามัญ ปฏิเสธนำญัตติเข้าสู่ที่ประชุม ด้วยเหตุผลทางเทคนิค

ขณะที่เซอร์ แพทริก วอลเลซ ที่ปรึกษาด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ของดาวนิงสตรีท กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสองของโรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรยังควบคุมแทบไม่ได้ โดยมีผู้ป่วยใหม่ 7,108 คน นับเป็นวันที่สองติดต่อกันแล้วที่สถิติผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 7,000 คน และทำให้สถิติผู้ป่วยสะสมมีอย่างน้อย 453,264 คน และเสียชีวิตอีก 71 คน เพิ่มสถิติผู้เสียชีวิตสะสมเป็นอย่างน้อย 42,143 คน มากที่สุดในทวีปยุโรป และเป็นอันดับ 5 ของโลก

สเปนล็อกดาวน์กรุงมาดริดบางส่วน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่านายซัลวาดอร์ อิลญา รมว.กระทรวงสาธารณสุขของสเปน แถลงเมื่อวันพุธ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ ว่าสถิติผู้ป่วยสะสมมีอย่างน้อย 769,188 คน มากที่สุดในทวีปยุโรป เพิ่มขึ้น 11,016 คน ในรอบวันที่ผ่านมา ส่วนสถิติสะสมของผู้เสียชีวิตมีอย่างน้อย 31,791 คน เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค รองจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศส โดยมีการยืนยันผู้เสียชีวิตอีก 177 คนในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด

อย่างไรก็ตาม เกือบ 44% ของจำนวนผู้ป่วยยืนยันในรอบวันที่ผ่านมาอยู่ที่กรุงมาดริดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยอัตราอุบัติการณ์ของโรค หรือค่า “ไออาร์” ของภูมิภาคมาดริดอยู่ที่ 780 ต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าไออาร์เฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 300 ต่อประชากร 100,000 คน บ่งชี้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในเมืองหลวงของสเปน “กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วประหนึ่งไฟป่า”

ทั้งนี้ อิลญากล่าวว่า มาตรการควบคุมด้านสาธารณสุขครั้งใหม่ “จะมีผลบังคับใช้ภายในเร็ววันนี้” โดยมีผลกับทุกพื้นที่ในประเทศซึ่งเข้าเกณฑ์ คือค่าไออาร์ในรอบ 14 วันล่าสุดมีจำนวนมากกว่า 500 ต่อประชากร 100,000 คน 35% ของเตียงผู้ป่วยหนักกำลังรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 และอย่างน้อย 10% ของผลตรวจพีซีอาร์เป็นบวก ซึ่งแน่นอนว่าภูมิภาคมาดริดถือว่าอยู่ในข่ายทันที

ห้ามรวมตัวในที่สาธารณะเกิน 6 คน

สำหรับมาตรการจำกัดนั้น รวมถึงการที่ร้านอาหารและบาร์ต้องปิดก่อนถึงเวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น การปิดสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น การห้ามรวมกลุ่มในสถานที่สาธารณะเกิน 6 คน แม้ประชาชนในพื้นที่ยังสามารถไปเรียน ไปทำงาน ไปช้อปปิ้ง ไปพบแพทย์ และไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ แต่จะมีการปิดพรมแดนสำหรับ “การเดินทางที่ไม่จำเป็น” โดยเฉพาะ “จากบุคคลภายนอก” แต่ทางการแคว้นมาดริดแสดงความไม่พอใจอย่างหนักต่อ “การบังคับ” ของรัฐบาลกลาง โดยยืนยันส่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ “ทรงตัว” และยืนยันจะต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เงื่อนไขเหล่านั้นมีผล อนึ่ง แคว้นมาดริดล็อกดาวน์ 37 เมืองใน 6 เขต รวมถึงพื้นที่บางส่วนของกรุงมาดริด เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 21กันยายนที่ผ่านมา

เช็ก-สโลวาเกีย แจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน

ที่กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ว่านพ.โรมัน พรีมูลา รมว.กระทรวงสาธารณสุขเช็ก แถลงเมื่อวันพุธ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ปัจจุบันเช็กถือเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในทวีปยุโรป ปัจจุบันเช็กซึ่งมีประชากรราว 10.7 ล้านคน มีสถิติผู้ป่วยสะสมอย่างน้อย 68,919 คน เพิ่มขึ้น 1,080 คนในรอบวันล่าสุด รักษาหายแล้ว 33,443 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 655 คน เพิ่มขึ้น 19 คน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเช็กจึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมอีกครั้ง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามขยายวงกว้าง โดยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยมาตรการรวมถึงการจำกัดการรวมกลุ่มในสถานที่ร่มไม่เกิน 10 คน และห้ามเกิน 20 คนเมื่ออยู่กลางแจ้ง เท่ากับเป็นการแบนการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชมในสนามโดยปริยายขณะที่โรงภาพยนตร์ยังเปิดให้บริการได้ แต่ต้องมีมาตรการรักษาระยะห่าง การจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีให้เลื่อนออกไปก่อน ด้านโรงเรียนมัธยมในภูมิภาคซึ่งมีอัตราการติดเชื้อในระดับสูงให้กลับไปจัดการเรียนการสอนออนไลน์

วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีอิกอร์ มาโตวิช ผู้นำสโลวาเกีย ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีพรมแดนทางตะวันตกติดกับเช็ก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นอย่างน้อย โดยรัฐบาลจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ สำหรับมาตรการของสโลวาเกียรวมถึงการต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ชุมชน และจำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมใดก็ตามต้องไม่เกิน 50 คน ปัจจุบันสโลวาเกียซึ่งมีประชากรประมาณ 5.4 ล้านคน มีสถิติสะสมของผู้ป่วยโรคโควิด-19 อย่างน้อย 10,141คน เพิ่มขึ้น 567คน ในรอบวันที่ผ่านมา รักษาหาย 4,395 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 48 คน

รัฐวิกตอเรียคาดปีหน้างดล็อกดาวน์

นายแดเนียล แอนดรูวส์ มุขมนตรีรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียเผยวันนี้ว่า รัฐวิกตอเรียมีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แตะ 800 คนแล้ว ขณะที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อที่ต่ำลงอาจทำ

ให้แนวทางควบคุมการระบาดในปีหน้า ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือเว้นระยะห่างทางสังคม

ทางการรัฐวิกตอเรียรายงานว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 15 คน ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโดยเฉลี่ยในรอบ 2 สัปดาห์ต่ำกว่า 16 คน

ขณะที่ทางการรัฐควีนส์แลนด์ระบุว่า ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ และจะผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดด้วยการเปิดพรมแดนให้ชาวรัฐนิวเซาท์เวลส์บางส่วนเดินทางเข้ารัฐควีนส์แลนด์ได้ รวมถึงอนุญาตให้โรงแรม คลับ และร้านอาหารในรัฐควีนส์แลนด์สามารถรองรับจำนวนลูกค้าบริเวณภายนอกร้านได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าและอนุญาตให้มีผู้เข้าชมการจัดงานกลางแจ้งได้มากกว่า 1,000 คน ด้านทางการรัฐนิวเซาท์เวลส์รายงานว่า ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 6 แต่มีผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 คน

รัฐวิกตอเรียมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 90 ของยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด ขณะนี้ ออสเตรเลียมียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 888 คน ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 34 ล้านราย

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกนับถึงช่วงเย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสม 34,187,154 ราย เสียชีวิต 1,019,186 ราย รักษาหายแล้ว 25,448,336 ราย สหรัฐ มีผู้ติดเชื้อ 7,447,693 ราย เสียชีวิต 211,752 ราย อินเดีย มีผู้ติดเชื้อ 6,312,584 ราย เสียชีวิต 98,708 ราย บราซิล มีผู้ติดเชื้อ 4,813,586 ราย เสียชีวิต 143,962 ราย รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อ 1,185,231 ราย เสียชีวิต 20,891 ราย โคลอมเบีย มีผู้ติดเชื้อ 829,679 ราย เสียชีวิต 25,998ราย

ลูกสาวนอกสมรสอดีตกษัตริย์เบลเยียม ชนะคดี! ศาลให้สิทธิ์ใช้คำนำหน้า “เจ้าหญิง”

02 ต.ค. 63 (12:28 น.) ศาลอุทธรณ์กรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม มีคำพิพากษาให้นางเดลฟีน โบแอล ลูกสาวนอกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 อดีตกษัตริย์เบลเยียม มีสิทธิและสามารถใช้คำนำหน้าได้ทัดเทียมกับพระราชโอรสธิดาคนอื่นๆ ของอดีตกษัตริย์พระองค์นี้ คำพิพากษานี้เท่ากับว่านางสาวโบแอล วัย 52 ปี สามารถใช้คำว่า “เจ้าหญิง” นำหน้าชื่อของตนได้

ทั้งนี้นางโบแอลร้องต่อศาลเมื่อปี 2553 เพื่อให้อดีตกษัตริย์เบลเยียม ที่ขณะนี้เจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา ทรงยอมรับว่าตนเป็นพระราชธิดาในพระองค์ โดยอ้างว่าอดีตกษัตริย์ทรงคบชู้กับแม่ของตน ซึ่งก็คือ นางซีบีย์ เดอ เซลีส์ ลงชองป์ จนทำให้เธอเกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อปี 2511

อย่างไรก็ตาม อดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 ก็ทรงสู้คดีมายาวนานถึง 7 ปี และทรงไม่ยอมให้ตรวจสอบพระดีเอ็นเอ แม้ต่อมาในเดือน ต.ค. 2561 ศาลอุทธรณ์กรุงบรัสเซลส์จะมีคำสั่งให้ทรงเข้ารับการตรวจพระดีเอ็นเอ ก็ยังไม่ทรงยอม จนกระทั่งเดือน พ.ค. 2562 ศาลก็มีคำสั่งปรับเงินอดีตกษัตริย์พระองค์นี้ 5,000 ยูโร (185,000 บาท) ต่อวัน จนกระทั่งทรงยอมในเวลาต่อมา

ต่อมาเมื่อเดือน ม.ค. สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ทรงยอมรับด้วยพระองค์ว่าทรงเป็นพระราชบิดาของนางโบแอลจริงๆ

นอกจากนี้ คำพิพากษาล่าสุดยังเปิดให้นางโบแอลใช้นามสกุล “แซกซ์ โคเบิร์ก” ของพระราชบิดาได้ ส่วนลูกๆ ของเธอ ก็จะกลายเป็น เจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเบลเยียมด้วย

นายอีฟส์-อองรี เลอเลอ ทนายความของนางโบแอลเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น จากสหรัฐว่า ลูกความของตนดีใจมากที่ศาลมีคำพิพากษาเช่นนี้ออกมา จะได้จบความทุกข์ความโศกที่ลูกความกับครอบครัวมีมานานเสียที และถึงคำพิพากษานี้จะแทนที่ความรักของพ่อไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็รู้สึกว่าโลกนี้มีความยุติธรรม

อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีเปาลา เมื่อปี 2502 และทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2536 ก่อนจะทรงสละราชบัลลังก์เมื่อปี 2556 ขณะมีพระชนมพรรษา 79 พรรษา