ข่าว
'สักคิ้วช่วยชีวิต'!!! สื่อจีนรายงานชายรอดตายจากเที่ยวบินมรณะ MU5735

จากกรณีเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MU5735 ของจีน ที่มีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 133 คน ซึ่งออกเดินทางจากเมืองคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ไปยังเมืองกวางโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ประสบอุบัติเหตุพุ่งตกในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์

โดยสื่อของจีนรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการรายงานว่า ผู้โดยสารทั้ง 133 คน เสียชีวิตทั้งหมด แต่ล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน ออกมายืนยันว่า จำนวนผู้โดยสารบนเครื่องบินมรณะมีทั้งหมด 132 คน ส่วนคนที่ 133 ได้ปรากฏตัวแจ้งว่า ตัวเขาเองปลอดภัยดี พร้อมกับโชว์ภาพนอนสักคิ้วในช่วงเวลาเกิดเหตุเครื่องบินมรณะลำดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ ชายคนดังกล่าว ทราบชื่อต่อมาคือ นายหวง ซ่งฮวา เขาเป็นผู้โดยสารเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต หลังจากตัดสินใจคืนตั๋วเที่ยวบินมรณะ MU5735 เพื่อไปสักคิ้วเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยนายหวง โพสต์แจ้งเพื่อนๆในโต่วอินว่า ปลอดภัยดี กำลังสักคิ้ว พร้อมโชว์ภาพตอนสักคิ้วและหลังสักคิ้ว พร้อมระบุว่า ตนจองตั๋วเที่ยวบินแบบเชื่อมต่อสำหรับเดินทางจากอำเภอเถิงชง จะไปที่คุนหมิง เพื่อไปต่อเครื่องเที่ยวบิน MU5735 แต่ปรากฏว่า เที่ยวบินจากเถิงชงไปลงที่คุนหมิงถูกยกเลิกเพราะสภาพอากาศไม่ดี ตนจึงต้องยกเลิกตั๋วทั้งหมดและไปนอนสักคิ้วแทน

เอาแล้ว!? 2 ส.ส.อีสานใต้ก๊วนธรรมนัส โผล่ป้วนเปี้ยนใกล้ที่ประชุม ภท.

23 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 มี.ค.ที่โรงแรมชื่อดัง แถวซอยรางน้ำ ปรากฏว่า ในช่วงเวลาเดียวกันมีคนพบเห็น 2 ส.ส.พิษณุโลกของพรรคพลังประชารัฐ อยู่ที่โรงแรมดังกล่าว บริเวณใกล้ๆ กับที่ประชุมของพรรค ภท.ด้วย รวมถึงยังเห็น 2 ส.ส.อีสานใต้ของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค และมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งเพิ่งจะจัดประชุมใหญ่พรรคไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค.อยู่บริเวณนั้นด้วยเช่นกัน คือ นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี เขต 6 และนายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ เขต 2 ทำให้มีการจับตามองกันว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ส.เหล่านี้จะย้ายมาอยู่กับ ภท.หรือไม่ เพราะ ภท.มีฐานเสียงสำคัญอยู่ที่จังหวัดในโซนภาคอีสานใต้หรือไม่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มี ส.ส.ในภาคอีสาน ที่ถูกไล่ออกจากพรรคพลังประชารัฐ ย้ายมาอยู่กับพรรค ภท.แล้ว 2 คน คือ นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 1


เอ๊ะยังไง‘หน.เพื่อไทย’ตัดขาด‘ชัชชาติ’โดดเดี่ยว ชิงเก้าอี้ผู้ว่ากทม.อิสระ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทาบทาม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ประกาศลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ กลับมาลงในนามพรรคเพื่อไทยอีกครั้งหรือไม่ว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทย เพราะเดิมทีนายชัชชาติเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อเขามีจุดยืนว่า จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ก็เป็นสิทธิ์ของนายชัชชาติ เมื่อเขาเลือกแล้วเราก็เคารพการตัดสินใจ เพราะนายชัชชาติอาจต้องการเป็นผู้ว่าฯ ของทุกฝ่าย แต่หากลงสมัครในนามของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะถูกมองว่า เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งนี่เป็นเจตนารมณ์ของนายชัชชาติ

“พรรคเพื่อไทย คิดมาตลอดว่า จะหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่นิยมมากกว่า นายชัชชาติได้หรือไม่ ซึ่งหากหาได้ก็จะส่งลงสมัคร แต่ขณะนี้ยังไม่เจอ จึงยังไม่สามารถประกาศได้ว่าจะส่งใคร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว


สื่อมะกันจับตา 'ไทย'เปลี่ยนนโยบายโควิดสู่โรคประจำถิ่น

23 มี.ค. 2565 สำนักข่าว Voice of America สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ Thailand Aiming for Endemic Status as More Travel Restrictions Lifted ว่าด้วยความพยายามของทางการไทย ในการเปลี่ยนสถานะของไวรัสโควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ลดความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคลงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ท่ามกลางความกังวลของผู้คนอีกไม่น้อย

ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุขของไทย ประกาศตั้งเป้าให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในเดือน ก.ค. 2565 ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้อกำหนดให้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางไปประเทศไทยต้องมีผลตรวจคัดกรองไม่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก็ถูกประกาศยกเลิก อย่างไรก็ตาม อนันต์ จงแก้ววัฒนา (Anan Jongkaewwattana) นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้เตือนว่า ยังคงต้องระมัดระวังต่อไป

“เราต้องพูดกันให้ชัดว่าโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่ามันจะรุนแรงน้อยกว่าสิ่งที่พบระหว่างที่เป็นโรคระบาดใหญ่ สำหรับผม โรคประจำถิ่นหมายความว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่งที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ” อนันต์ กล่าว

ประเทศไทยยังคงต่อสู้กับสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จากเชื้อกลายพันธุ์สายโอมิครอน เช่น ในวันที่ 18 มี.ค. 2565 ที่พบผู้ติดเชื้อ 27,071 คน ทำสถิติติดเชื้อรายงานสูงที่สุด แต่อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่อนข้างสูง นับตั้งแต่เริ่มการฉีดวัคซีนในปี 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 127 ล้านเข็ม ซึ่งนับตั้งแต่เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 หรือ 4)

แกรี โบเวอร์แมน (Gary Bowerman) นักวิเคราะห์การท่องเที่ยวของทวีปเอเชีย ที่อาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องระมัดระวังในการตั้งเป้าหมายในอนาคต เนื่องจากโควิด-19 นั้นคาดเดาไม่ได้ แม้เดือน ก.ค. 2565 คือการกำหนดเป้าหมาย แต่ก็ทราบกันดีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ว่าการกำหนดเส้นตายที่ยากและรวดเร็วนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง

“สถานะโรคประจำถิ่น เป็นเรื่องเล็กน้อยในการสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อพยายามเปลี่ยนวิธีคิดภายในประเทศ เป็นการปลุกเร้าอารมณ์ครั้งสำคัญ สถานการณ์ที่ประเทศประสบอยู่คือการปิดตัวอย่างสมบูรณ์ยาวนานถึง 2 ปี และตอนนี้ได้เปิดแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดครั้งใหญ่ แม้มันไม่ได้อยู่ที่แต่ละประเทศจะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ผมก็เข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลถึงทำแบบนั้น” โบเวอร์แมน กล่าว

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยพยายามหาทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นมา ด้วยโครงการ Test&Go ที่ตัดขั้นตอนการกักตัวออกไป แต่โครงการต้องถูกหยุดไว้ชั่วคราวในเดือน ธ.ค. 2564 จากการเริ่มตรวจพบไวรัสโควิด-19 สายโอมิครอน อันเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ในเวลานั้น ก่อนที่ต้นปี 2565 จะกลับมาดำเนินโครงการต่ออีกครั้ง และได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วหลายแสนคน ถึงกระนั้นก็ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ชาวรัสเซียที่เป็นอีกกลุ่มซึ่งนิยมไปเที่ยวประเทศไทยลดจำนวนลง

นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป ชาวต่างชาติที่จะเข้าประเทศไทยไม่ต้องตรวจโควิดแบบ RT-PCR ก่อนออกเดินทาง ซึ่งเป็นความพยายามเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โบเวอร์แมน กล่าวว่า ตนมองเห็นเป้าหมายของทางการไทยได้อย่างชัดเจน นั่นคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นหากพวกเขาสามารถลดเงื่อนไขลงได้ย่อมไม่ลังเลที่จะทำ แต่ตัวแปรสำคัญคือไวรัส

ในปี 2562 อันเป็นปีสุดท้ายของโลกในสภาวะปกติก่อนจะเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ปีนั้นการท่องเที่ยวครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยประมาณร้อยละ 11 และชาวไทยร้อยละ 20 ทำงานอยู่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยถึงขั้นถดถอยไปร้อยละ 6.1 ก่อนจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 จากการกลับมาของนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

นอกจากประเทศไทย บรรดาเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เริ่มทยอยกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง อาทิ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ในขณะที่มาเลเซียประกาศเปิดประเทศในเดือน เม.ย. 2565 ทั้งนี้ แม้ไทยจะลดมาตรการลง แต่บางอย่างก็ยังทำให้นักท่องเที่ยวเหนื่อยล้า นั่นคือการตรวจ RT-PCR ครั้งแรกเมื่อเดินทางเข้าไทย จากนั้นตรวจซ้ำด้วยวิธี ATK ในวันที่ 5 ที่อยู่ในไทย หากพบว่าติดเชื้อ ก็จะต้องเข้าสู่สถานที่กักกันและรักษาโรคที่ทางการไทยกำหนด

โบเวอร์แมน มองว่า ยังคงมีความกลัวของนักท่องเที่ยวที่อยู่เหนือการควบคุม เพราะหากพบว่าติดเชื้อ จะไม่มีทางเลือกที่ให้กักตัวอยู่ในโรงแรมเป็นเวลา 6 วัน แล้วปล่อยตัวในวันที่ 7 นั่นคือความอันตรายของไวรัสโควิด-19 และมันได้ถูกฝังลึกในจิตสำนักของผู้คน จึงไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวกับโควิด-19 สู่ความเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งไม่เพียงการทำงานของระบบสาธารณสุข แต่รวมทั้งหมดตั้งแต่การรักษา การเดินทางและการใช้ชีวิตที่จะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และตนเห็นว่า สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังห่างจากจุดนั้น


จีนพบ'กล่องดำ'เครื่องบินโดยสารตกในกว่างซีแล้ว

23 มี.ค.65 สื่อทางการจีนรายงานว่า ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัย ณ จุดเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารตกในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนแจ้งว่า ค้นพบกล่องดำของเครื่องบินลำดังกล่าวแล้ว

เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัวไทยรายงานแจ้งความคืบหน้าดังกล่าว หลังจากก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันรายงานอ้างเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีนว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อค้นหากล่องดำของเครื่องบินโดยสารของสายการบินไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ที่พุ่งตกในอำเภอเถิงเซี่ยนของกว่างซี เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 132 คน

เจ้าหน้าที่กล่าวด้วยว่า เครื่องบินเสียหายอย่างรุนแรง ทำให้การสืบสวนสอบสวนดำเนินไปอย่างยากลำบาก ขณะนี้ทีมสืบสวนกำลังดำเนินการเต็มรูปแบบตามขั้นตอน และยังสำรวจตรวจสอบแง่มุมอื่น ๆ อย่างละเอียดอีกด้วย เช่น เที่ยวบิน การบำรุงรักษา การควบคุมการจราจรทางอากาศ อุตุนิยมวิทยา การออกแบบและการผลิตเครื่องบิน

ทั้งนี้ เมื่อคืนวันอังคาร (22 มี.ค.) จูเทา เจ้าหน้าที่สำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) เปิดเผยว่าขณะนี้จีนยังไม่พบผู้รอดชีวิตจากเหตุเครื่องบินโดยสารตกเมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) ที่ผ่านมา

เครื่องบินโบอิง 737 เที่ยวบิน MU5735 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 132 คน ตกลงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ (21 มี.ค.)

จู ระบุว่าเที่ยวบินดังกล่าวบรรทุกผู้โดยสาร 123 คน และลูกเรือ 9 คน โดยไม่มีผู้โดยสารต่างชาติ ตัวเครื่องบินคือโบอิง 737-800 ซึ่งเริ่มใช้งานวันที่ 22 มิ.ย. 2015 และให้บริการแล้ว 8,986 เที่ยว รวม 18,239 ชั่วโมง เมื่อนับถึงวันเกิดเหตุ ทั้งนี้ ทางการจีนยังไม่มีเบาะแสของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทว่ามีการติดต่อครอบครัวของผู้โดยสารทั้งหมด 123 คน ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเครื่องบินตกแล้ว

พายุทอร์นาโด!ถล่มสหรัฐ กระแสไฟฟ้าดับบ้านหลายหลังพังยับ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 คืนวานนี้ (22 มี.ค.) พายุทอร์นาโดพัดถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์และพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าดับ และเศษสิ่งของกระจัดกระจายทั่วเมือง ซึ่งเคยได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา

ทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คน และผู้บาดเจ็บอีกหลายคน ที่ย่านชานเมืองในเขตอราบี มีกลิ่นก๊าซธรรมชาติลอยฟุ้งในอากาศ ขณะที่ชาวเมืองและทีมกู้ภัยช่วยกันออกสำรวจความเสียหายบนท้องถนน บ้านหลายหลังได้รับความเสียหาย และมีชิ้นส่วนซากปรักหักพังห้อยอยู่ตามสายไฟและต้นไม้

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานว่าบ้านเรือนราว 13,000 หลัง รวมทั้งย่านธุรกิจโดยรอบเมืองนิวออร์ลีนส์ ไม่มีไฟฟ้าใช้ภายหลังเกิดพายุถล่ม