เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทีมกู้ภัยพร้อมสุนัขดมกลิ่นเร่งมือค้นหาผู้รอดชีวิตตลอดทั้งคืนหลังเกิดเหตุอาคารส่วนหนึ่งของอพาร์ทเมนท์ที่พักสูง 12 ชั้น ในเมืองเซิร์ฟไซด์ มลรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ทรุดตัวถล่มลงมากลายเป็นซากภูเขาคอนกรีตขณะผู้พักอาศัยกำลังนอนหลับกันอยู่เมื่อราวตี 2 ของวันที่ 24 มิถุนายน เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และยังมีผู้สูญหาย 99 ราย จากที่พบผู้ที่พักอยู่ในอพาร์ทเมนท์หลังนี้แล้ว 102 คน เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีก
ท่ามกลางครอบครัวของเหยื่อผู้ประสบเหตุที่เฝ้ารอฟังข่าวอย่างสิ้นหวัง โดยยังไม่รู้ว่าสมาชิกในครอบครัวตนที่อาจติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังนั้นเป็นเช่นไร
หน่วยกู้ภัยไมอามี่เดดเผยว่า มีห้องชุดที่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวลงของอาคารราว 55 ยูนิต ซึ่งหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ช่วยอพยพผู้พักอาศัยออกไปจากอาคาร 35 คน นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งสามารถเดินลงมาจากอาคารได้เองโดยปลอดภัยและอีกส่วนหนึ่งต้องช่วยลงมาจากทางระเบียง
นายชาร์ลส์ เบอร์เค็ตต์ นายกเทศมนตรีเมืองเซิร์ฟไซด์ ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และมีผู้รอดชีวิตที่ทีมกู้ภัยช่วยออกจากใต้ซากปรักหักพังได้แล้ว 14 ราย ส่วนสาเหตุของอาคารทรุดถล่มยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งจะมีการสอบสวนต่อไป
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กล่าวหลังได้รับรายงานเหตุการณ์ว่า รัฐบาลพร้อมที่จะส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังฟลอริด้าในทันทีหากได้รับการร้องขอมา
ทั้งนี้อพาร์ทเมนท์หลังนี้สร้างขึ้นในปี 1981 มีห้องชุดพักอาศัยกว่า 130 ยูนิต โดยขณะนี้ยังมีงานก่อสร้างอาคารบริเวณหลังคาอยู่ด้วย
ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีไบเดนอนุมัติให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในมลรัฐฟลอริด้าและสั่งนำความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางเข้าไปสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มเติมในการตอบสนองบรรเทาทุกข์ต่อเหตุโศกนาฏกรรมตึกถล่มที่เกิดขึ้น
ถึงวันนี้ ผ่านไปแล้ว 2 เดือนเต็มนับแต่ผู้นำกลุ่มอาเซียนร่วมประชุมกันที่กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย และออกฉันทามติ 5 ข้อเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองในพม่าที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้สักข้อเดียว
หน้าต่างแห่งโอกาสของกลุ่มอาเซียนในการแก้ไขวิกฤติพม่าได้ปิดลงแล้วอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนคนที่สอง ดาโต๊ะ เอรีวาน ยูซูฟ (Dato Erywan Pehin Yusof) และเลขาธิการอาเซียน ลิม จ๊อก ฮอย (Lim Jock Hoi) ซึ่งเป็นชาวบรูไนเช่นกัน เดินทางเยือนพม่าเพื่อพบกับ มิน อ่อง หล่าย แล้วกลับออกมามือเปล่า
ความจริงแล้ว ก่อนไปพม่า ชาวบรูไนทั้งสองซึ่งทำหน้าที่ประธานและเลขาธิการใหญ่กลุ่มอาเซียน วางแผนแวะพักเครื่องที่สิงคโปร์หรือไม่ก็กรุงเทพฯ เพื่อจะได้มีโอกาสหารือท่าทีครั้งสุดท้ายกับรัฐมนตรีอาเซียนจากไทยหรือสิงคโปร์ ก่อนเผชิญหน้ากับ มิน อ่อง หล่าย แต่กลับเปลี่ยนแผนบินตรงไปเนปิดอว์ ที่แย่กว่านั้นคือ ประธานอาเซียนไม่ได้บอกกล่าวสมาชิกว่าจะไปพม่า ก่อนที่จะไปร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่ฉงชิ่ง
ตามฉันทามติ 5 ข้อนั้น ผู้ไปเยือนพม่าจะต้องเป็นผู้แทนพิเศษอาเซียน ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีบุคคลหรือคณะบุคคลใดที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษที่ว่านั้นเลย แทนที่จะทำงานที่ต้องทำ ดาโต๊ะ เอรีวาน ยูซูฟ กลับทำตัวเป็นผู้แทนอาเซียนเสียเอง แถมยังเตรียมออกแถลงการณ์รับรองฐานะของสภาบริหารแห่งรัฐว่าเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของพม่าเสียอีก โชคดีที่ตอนหลังเปลี่ยนใจฉีกร่างแถลงการณ์นี้ทิ้งไปเสีย ไม่เช่นนั้นอาเซียนคงหมดงานทำ เพราะสมาชิกอาเซียนทั้งมวลก็ยังไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะยอมรับการรัฐประหารของ มิน อ่อง หล่าย
ดาโต๊ะ เอรีวาน ยูซูฟ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สอง เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับรัฐมนตรีช่วย คนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ตัวจริงคือ สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ (Hassanal Bolkiah) แต่ด้วยความที่บรูไนปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้นทำเองทุกเรื่องคงไม่ไหว ระยะหลังๆ ก็เลยให้ รัฐมนตรีคนที่สองทำงานแทน และผลก็เป็นอย่างที่เห็น เพราะ ดาโต๊ะ เอรีวาน ยูซูฟ อ่อนเชิงการทูตอย่างมาก ไม่ตระหนักว่าการเป็นประธานอาเซียนนั้นไม่ได้รับอภิสิทธิ์ให้ทำอะไรตามใจชอบ หรือเอานโยบายของประเทศตัวเองไปเป็นนโยบายของอาเซียน
เมื่อออกจากเนปิดอว์มือเปล่า ไปถึงฉงชิ่งก็ไม่มีอะไรจะบอกกับที่ประชุมอาเซียน-จีน ที่ประชุมนั้นก็เลยไม่มีอะไรออกมาเหมือนกัน หวัง ยี่ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศจีนทำได้แค่สรุปรวบยอดว่า อาเซียนและจีนมีจุดยืนหลักๆ ร่วมกันว่าอยากจะเห็นสถานการณ์ในพม่าคลี่คลายโดยสันติ แต่จะทำอะไรอย่างไรนั้นก็ยังไม่สามารถกำหนดท่าทีอะไรร่วมกันได้ คำพูดที่ว่าอาเซียนขาดเอกภาพนั้นก็ไม่ใช่ความลับแต่อย่างใด แต่ปกติมักถูกกลบเกลื่อนประนีประนอมจนสามารถแสดงจุดยืนและท่าทีร่วมกันได้ในเรื่องสำคัญๆ เฉพาะอย่างยิ่งในเวทีระดับโลกอย่างที่สหประชาชาติ
แต่กลุ่มอาเซียนได้แสดงความแตกแยกในระดับที่ทำให้เสียงานใหญ่ที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เมื่อไม่สามารถหาฉันทามติเรื่องสถานการณ์พม่าได้ จนต้องตัดสินกันด้วยการลงมติ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า 119 จาก 156 ประเทศในที่ประชุมลงมติสนับสนุนญัติให้ประณามการรัฐประหารพม่า และเรียกร้องให้สมาชิกไม่ให้ส่งอาวุธให้ตัตมาดอว์ (Tatmadaw) ใช้สังหารประชาชนอีกต่อไป มี 36 ประเทศงดออกเสียง ซึ่งก็รวม 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนนำโดยประธานบรูไน กัมพูชา ลาว และที่น่าอับอายคือไทย เพื่อนสนิทของ มิน อ่อง หล่าย ด้วย
ที่จริงมตินี้ของสหประชาชาติค้างคามานาน เพราะอาเซียนนั่นแหละเป็นตัวตั้งตัวตีอยากจะหาฉันทามติโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียง แต่สุดท้ายก็อย่างที่เห็น ภายในอาเซียนเองก็ไม่มีเอกภาพ ทั้งๆ ที่สมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนข้อมติ และตัวมติเองก็เป็นประเภทไม่ผูกพัน (non-binding) อีกทั้งกลุ่มอาเซียนก็ไม่ได้เป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ การแสดงจุดยืนร่วมไปในทิศทางเดียวกันก็ไม่น่าจะมีปัญหา และผู้แทนพม่าในสหประชาชาตินั้นพร้อมจะลงมติประณามกองทัพพม่าอยู่แล้ว เพราะประกาศตัวไม่ยอมรับรัฐประหารตั้งแต่ต้น เมื่อท่าทีออกมาเป็นแบบนี้ อาเซียนเองก็เสียเครดิตระหว่างประเทศ จะยังทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ประสานงานแก้ไขวิกฤติพม่าได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น แรงกดดันเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศตะวันตกที่เคยถาโถมใส่พม่าก็เริ่มเอนเอียงมาทางกลุ่มอาเซียนบ้างแล้ว เพราะกลุ่มนี้เริ่มทำตัวเป็นผู้ปกป้องรัฐบาลทหารพม่ามากกว่าช่วยหาทางแก้ไขปัญหา
มีรายงานว่า คริสตีน ชราเนอร์ เบอร์เกอร์เนอร์ (Christine Schraner Burgener) ผู้แทนพิเศษเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ที่วอชิงตันเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เพื่อร่วมกันออกแรงกดดันให้อาเซียนบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อของตัวเองให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
เกือบ 6 เดือนแล้วนับแต่รัฐประหาร 2 เดือนเต็มนับแต่อาเซียนมีมาตรการแก้ไขปัญหา ประชาชนชาวพม่าเกือบ 900 คนถูกสังหาร ชัดแจ้งว่าเป็นฝีมือทหาร และความรุนแรงได้ขยายวงกว้างออกไป ประชาชนจำนวนมากเริ่มจับอาวุธขึ้นสู้กลับ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและพลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่ให้กับรัฐบาลทหารตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธ สงครามกลางเมืองหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 00:00 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ที่เสด็จบุกป่าฝ่าภูเขาสูงไปทรงตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่และพสกนิกร เพื่อทรงกำกับดูแลมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ภูฏานมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคระบาดนี้เพียงคนเดียว
รอยเตอร์รายงานถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ซึ่งพรชนมพรรษา 41 พรรษา ตลอดช่วงเวลา 14 เดือนที่ผ่านมา โดยอ้างจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีโลเท เชอริง, ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูฏาน และภาพที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียของกษัตริย์หนุ่มแห่งภูฏานแห่งนี้
ภาพที่ปรากฏทางอินสตาแกรมอย่างเป็นทางการของพระองค์ มีทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ขณะเสด็จตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใกล้ชายแดนอินเดีย ที่คลื่นการระบาดของโควิด-19 ลูกที่ 2 เมื่อกว่า 2 เดือนที่ผ่านมาทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในอินเดียเพิ่มขึ้นเกิน 2 เท่า รวมถึงภาพที่ทรงสะพายเป้สวมชุดประจำชาติของภูฏานเดินผ่านป่าที่เต็มไปด้วยทากและงู
รายงานรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์อ้างคำกล่าวของนายกฯ เชอริง ซึ่งเป็นแพทย์ด้วยว่า เมื่อกษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเป็นระยะทางหลายไมล์แล้วไปเคาะประตู เพื่อเตือนประชาชนเกี่ยวกับโรคระบาดนี้ พระราชดำรัสที่อ่อนน้อมของพระองค์ได้รับความเคารพและเชื่อฟังอย่างจริงจังมาก การเสด็จมาเองของพระองค์ทรงพลังยิ่งกว่าการออกคำแนะนำต่อประชาชน การปรากฏพระองค์ทำให้พสกนิกรมั่นใจว่า พวกเขาไม่ได้ต่อสู้กับโรคระบาดนี้เพียงลำพัง
ภูฏานเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2551 แต่สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นที่รักและเคารพในหมู่พสกนิกร
รายงานกล่าวด้วยว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กษัตริย์จิกมีทรงพระดำเนินนาน 5 วันผ่านเส้นทางบนพื้นที่สูง 4,343 เมตร เพื่อขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ห่างไกล
สำนักพระราชวังภูฏานปฏิเสธคำขอสัมภาษณ์ของรอยเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังผู้หนึ่งกล่าวว่า ความหวาดกลัวมากที่สุดของพระองค์คือ หากโรคระบาดนี้ลุกลามเหมือนไฟป่า ประเทศของเราอาจหมดสิ้นไปประเทศเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัยที่มีชายแดนติดกับอินเดียและจีนแห่งนี้ มีประชากร 700,000 คน และมีสัดส่วนแพทย์เพียง 1 คนต่อประชากร 2,000 คน
กษัตริย์มีพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ 2 พระองค์ การเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลและเสี่ยงต่อโรคระบาดทำให้ทุกครั้งที่เสด็จกลับถึงกรุงทิมพู พระองค์ต้องประทับอยู่ภายในโรงแรมตามกฎระเบียบการกักกันโรค กษัตริย์จิกมีทรงได้รับการถวายฉีดวัคซีนเพียงโดสเดียว เหมือนกับพสกนิกรส่วนใหญ่
รุย เปาโล เด เฮซุส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูฏาน กล่าวว่า กษัตริย์จิกมีเสด็จไปยังพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงสูงทุกแห่งครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อติดตามมาตรการทุกอย่างที่วางไว้ และเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติอย่างดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด
ถึงขณะนี้ภูฏานมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 2,013 คน เสียชีวิต 1 คน แต่ภูฏานกำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน นายกฯ เชอริงกล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาฉีดวัคซีนแบบผสม เพราะหลังจากประชากรได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าโดสแรกแล้ว 90% วัคซีนก็หมดลง
เส้นตายของการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 โดยทิ้งช่วงไม่เกิน 12 สัปดาห์นั้นจะครบในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว และรัฐบาลกำลังพยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ มาเพิ่ม
เกิดพายุทอร์นาโดลูกใหญ่และพายุลูกเห็บ พัดถล่มบริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเช็ก ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีผู้บาดเจ็บกว่า 150 ราย
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. เว็บไซต์ข่าวบีบีซี รายงานว่า เกิดพายุทอร์นาโดที่มีกำลังแรงสูงพัดเข้าถล่มหลายหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเช็ก ทำให้อาคารบ้านเรือนของประชาชนพังราบ ต้นไม้ และเสาไฟฟ้าถูกกระแสลมพัดหักโค่นลงมา รถยนต์หลายคันถูกแรงลมพัดกระเด็นไปจนได้รับความเสียหาย สื่อท้องถิ่นรายงานว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายหนักที่สุดจากพายุทอร์นาโด คือเขตเบรคลาฟ และโฮโดนิน ซึ่งสภาพบ้านเมืองดูราวกับเพิ่งผ่านสงคราม โดยมีรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บแล้วถึง 150 ราย
ล่าสุด ทีมกู้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งออสเตรีย และสโลวาเกีย ได้ออกเดินทางไปช่วยสมทบภารกิจกู้ภัยในเช็กแล้ว ขณะที่ทางการเช็กกำลังเร่งตรวจสอบความเสียหาย ฟื้นฟูถนนเส้นทางคมนาคมสัญจร และทำให้ระบบกระจายไฟฟ้ากลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
ที่มา : BBC
รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ว่า ทางการญี่ปุ่นแถลงในวันเดียวกันนี้ว่า ประกาศบริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ให้กับหลายชาติในเอเชียโดยตรงรวม 6 ประเทศ ประเทศละ 1 ล้านโดส ประกอบด้วย ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนามและไต้หวัน
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้จัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้กับ ไต้หวันมาแล้วก่อนหน้านี้ 1.24 ล้านโดส กับจัดส่งให้กับเวียดนามแล้ว 1 ล้านโดส โดยในครั้งนี้จะบริจาคเพิ่มเติมให้อีกประเทศละ 1 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งหมดจะนำมาจากคลังสำรองซึ่งมีอยู่ราว 120 ล้านโดสและญี่ปุ่นยังไม่มีแผนที่จะนำมาใช้ในเวลานี้
นอกเหนือจากการบริจาควัคซีนให้กับประเทศเหล่านี้โดยตรงแล้ว นายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยในวันเดียวกันนี้ว่า จะจัดสรรวัคซีนอีกราว 11 ล้านโดส เพื่อให้การสนับสนุนชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียตะวันตกเฉียงใต้และบรรดาประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านทางโครงการโคแวกซ์ ที่องค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุนในราวกลางเดือนกรกฎาคมนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศว่า จะบริจาคเงินสมทบทุนในการดำเนินการของโคแวกซ์ 1,000 ล้านดอลลาร์ กับ บริจาควัคซีนให้โคแวกซ์อีก 30 ล้านโดสก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ รอยเตอร์อ้างความเห็นของเจ้าหน้าที่ทางการไต้หวันผู้หนึ่งระบุว่า การบริจาควัคซีนโดยตรงให้กับหลายชาติ จะช่วยเพิ่มอิทธิพลทางการทูตของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง