ข่าว
โควิด-19 : WHO ชี้ "ภัยแฝด" โอมิครอน+เดลต้า ทำยอดผู้ติดเชื้อในยุโรป-สหรัฐฯ พุ่ง

การระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอีกหลายชาติในยุโรป พุ่งทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าภาวะการระบาดใหญ่จะไม่ยุติ หากชาติรวยยังแย่งวัคซีนชาติจนมาฉีด

นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวเมื่อ 29 ธ.ค. ว่า การแพร่กระจายร่วมกันของสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์โอมิครอนคือ "ภัยแฝด" ที่กำลังสร้าง "สึนามิ" แห่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ "กำลังเพิ่มความกดดันอันหนักหน่วงแก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เหนื่อยล้า และระบบสาธารณสุขที่ใกล้เข้าสู่ภาวะล่มสลาย"

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ประมาณการว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันขณะนี้อยู่ที่ราว 900,000 คน แม้มีรายงานการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ว่าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าเชื้อเดลต้า แต่ยังมีความเป็นห่วงกันว่าจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอาจสูงจนเกินขีดความสามารถที่จะรับได้ ขณะที่องค์การอนามัยโลก เตือนว่าความเสี่ยงจากเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ "ยังมีอยู่สูง"

ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มทั่วโลก

รายงานของ WHO ที่เผยแพร่เมื่อ 28 ธ.ค. ระบุว่า ยอดผู้เชื้อใหม่เมื่อ 26 ธ.ค. ในยุโรปเพิ่มขึ้น 57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนในทวีปอเมริกาทั้งหมดเพิ่มขึ้น 30%

แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า การระบาดของเชื้อโอมิครอนในสหรัฐฯ จะถึงจุดสูงสุด ณ สิ้นเดือน ม.ค. โดยคาดการณ์จากขนาดประชากรและอัตราการฉีดวัคซีน

หลายประเทศที่ร่ำรวยต่างระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้พลเมืองของตัวเอง ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร ที่มีผู้ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้วถึง 57% ของประชาชนอายุ 12 ปี ขึ้นไป

ทว่า นพ. เทดรอส เห็นว่า การระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นการใหญ่ของชาติที่มีฐานะดี "มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการยืดภาวะการระบาดใหญ่ออกไป" เนื่องจากจะเป็นการดึงปริมาณวัคซีนจากประเทศที่ยากจนกว่า และมีอัตราการฉีดวัคซีนน้อยกว่าไป ดังนั้น "จึงเปิดโอกาสให้ไวรัสได้แพร่กระจายและกลายพันธุ์"

เขาจึงเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันตั้งปณิธานปีใหม่ด้วยการผลักดันให้ทั้งโลกมีอัตราเฉลี่ยการฉีดวัคซีนที่ 70% ภายในกลางปี 2022 ขณะที่ในปัจจุบัน ยังมีอีกเกือบ 100 ประเทศที่ยังไปไม่ถึงเป้าเดิมที่ตั้งไว้คือมีอัตราเฉลี่ยการฉีดวัคซีนที่ 40% ของประชากรตัวเอง ส่วนของประเทศไทย สัดส่วนการฉีดเข็ม 1 ต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 71.1%

ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเมื่อ 29 ธ.ค. ในหลายประเทศทำสถิติใหม่

• ฝรั่งเศส ติดเชื้อ 208,000 ราย สูงสุดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ในจำนวนนี้ 53 คนอยู่ในไอซียู และตาย184 คน

• สหราชอาณาจักร ติดเชื้อ 183,037 ราย ตาย 57 คน

• อิตาลี เพิ่มเป็น 98,020 คน จาก 78,313 คน เมื่อ 28 ธ.ค.

• เดนมาร์ก ทำสถิติใหม่ที่ 23,228 ราย ในจำนวนนั้น มีถึง 1,205 คนที่เคยติดมาแล้ว

• โปตุเกส เพิ่มเป็น 26,867 ราย จาก 17,172 ราย วันก่อนหน้า

• กรีซ ทำสถิติใหม่ที่ 28,828 ราย

• ออสเตรเลีย สูงสุดเป็นวันที่ 2 ที่ 18,241 คน เพิ่มจากวันก่อนหน้าที่ 11,300 คน

• สหรัฐฯ มีสถิติใหม่สำหรับค่าเฉลี่ยรายวันในรอบสัปดาห์ที่ 265,427 คน

ในประเทศไทย

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินระบุ ในการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 30 ธ.ค. ว่า ข้อมูลจนถึง 22.00 น. ของ 29 ธ.ค. ไทยมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสมแล้ว 934 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ 577 รายและผู้ติดเชื้อในประเทศ 357 ราย

สำหรับข้อมูลผู้เดินทางเข้าประเทศภายในเดือน ธ.ค. นี้ มีทั้งสิ้น 270,851 ราย กว่า 227,604 รายเข้ามาด้วยระบบ Test & Go ซึ่งพบการติดเชื้อไปแล้ว 730 ราย คิดเป็น 0.32% เยอรมนีเป็นประเทศที่มีผู้เดินทางเข้าไทยมากที่สุด แต่การพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในกลุ่มผู้เดินทางนั้นมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อ 1.35% รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย

อนามัยโลกเตือน "เดลตา-โอมิครอน" ระบาดพร้อมกัน เกิด "สึนามิโควิด"

30 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก

(WHO) ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์เดลต้าและชนิดกลายพันธุ์โอมิครอนพร้อมกันทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสึนามิโควิด

ดร.เทดรอส เตือนว่า เป็นภัยคุกคามคู่เชื้อกลายพันธุ์ 2 ชนิดที่อยู่เบื้องหลังของจำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวม “สิ่งนี้สร้างแรงกดดันมหาศาลต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เหนื่อยล้าและจะสร้างต่อไป และระบบสุขภาพใกล้จะล่มสลาย”

ถ้อยแถลงของดร.เกเบรเยซุส มีขึ้นขณะที่สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วยุโรปรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเวลานี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อ 900,000 คน ทั่วโลกทุกวัน

ฝรั่งเศสรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทุบสถิติของยุโรปเป็นวันที่สองติดต่อกันที่ 208,000 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐฯ รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 265,427 คน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนเดนมาร์ก โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทุบสถิติเช่นกัน ด้านโปแลนด์มีรายงานผู้เสียชีวิตรายวัน 794 ราย สูงสุดในการระบาดระลอกที่สี่ และมากกว่า 3 ใน 4 ของ 794 รายไม่ได้ฉีดวัคซีน

ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐฯ บอกซีเอ็นเอ็นว่า การติดเชื้อโอมิครอนมีแนวโน้มที่จะสูงสุดในสหรัฐฯ ปลายเดือนม.ค. เมื่อพิจารณาจากขนาดประชากรและอัตราการฉีดวัคซีน

ประเทศที่ร่ำรวยหลายแห่งรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สาม (บูสเตอร์) รวมถึงสหราชอาณาจักรที่มีประชากรอายุมากกว่า 12 ปี สัดส่วน 57% ได้รับการฉีดเข็มที่สามแล้ว

อย่างไรก็ตาม ดร.ทีโดรสกล่าวว่า การรณรงค์สนับสนุนขนาดใหญ่ของประเทศร่ำรวยกว่ามีแนว โน้มที่จะยืดเวลาการระบาดใหญ่ออกไป เนื่องจากเสี่ยงการส่งวัคซีนไปประเทศยากจนกว่าและฉีดวัคซีนน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้ไวรัสมีโอกาสแพร่ระบาดและกลายพันธุ์มากขึ้น

“ขอให้ทุกคนให้ตั้งปณิธานปีใหม่ที่จะอยู่เบื้องหลังการรณรงค์ฉีดวัคซีน 70% ของโลกภายในกลางปี 2565” และ WHO ระบุว่า เกือบ 100 ประเทศยังไม่บรรลุเป้าหมายเดิมของการฉีดวัคซีน 40% ของประชากรทั้งหมด

รายงาน WHO ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของโควิดทุกสายพันธุ์เพิ่มขึ้น 57% ในยุโรป ในสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนวันที่ 26 ธ.ค. และเพิ่มขึ้น 30% ในแอฟริกา

รัฐอลาสก้า ร้อนทุบสถิติ สัญญาณเตือน "ไอซ์มาเกดดอน" วันสิ้นน้ำแข็ง

30 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า อลาสก้า รัฐที่มีอากาศหนาวที่สุดของสหรัฐฯ มีวันร้อนที่สุดที่เคยมีมาในเดือนธันวาคม ท่ามกลางอากาศอบอุ่นผิดปกติในฤดูหนาว

อุณหภูมิทุบสถิติเพิ่มเป็น 19.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ธ.ค. บนเกาะโกดิอัก ทำให้อุณหภูมิอุ่น 7 องศา สูงกว่าระดับอุณหภูมิสูงก่อนหน้านี้ของอลาสก้า

อย่างไรก็ตาม ที่อื่นๆ ในอลาสก้า อุณหภูมิกลับลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ เช่น เมืองเคตชิกัน ทางตะวันออกเฉียงใต้ อุณหภูมิลดลงถึง -18 องศาเซลเซียส เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ธ.ค. เป็นหนึ่งในวันคริสต์มาสที่หนาวที่สุดของเมืองในรอบศตวรรษ (100 ปี) ที่ผ่านมา

สภาพอากาศสุดขั้วทำให้ทางการอลาสก้าส่งสัญญาณเตือนถึง Icemageddon (ไอซ์มาเกดดอน) วันสิ้นน้ำแข็ง เป็นคำล้อมาจาก Armageddon (อาร์มาเกดดอน) วันสิ้นโลก เนื่องจากฝนตกหนักและหิมะทำให้น้ำแข็งแข็งพอกับซีเมนต์ลาดถนน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ลมอุ่นที่พัดมาจากเกาะฮาวายทำให้อากาศของอลาสก้า ซึ่งปกติจะเย็นและแห้งในช่วงเดือนธันวาคม มีความชื้นมากขึ้น หมายความว่ามีแนวโน้มว่าจะมีฝนตกหนักและพายุหิมะในพื้นที่ภายใน ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ปลอดโปร่ง

หิมะตกหนักตามมาด้วยฝนตกหนักที่ปกคลุมพื้นที่ด้วยน้ำแข็ง ขณะที่ฝนหยุดนิ่งอย่างฉับพลัน ส่งผลลให้กระแสไฟฟ้าขัดข้องเป็นบริเวณกว้าง ถนนปิดการสัญจร และสำนักงานต่างๆ ต้องปิดชั่วคราว

กรมการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะของอลาสก้าระบุทางทวิตเตอร์ว่า น้ำแข็งหนาก่อ

ตัวขึ้นบนถนนและเป็นผลเสียต่อคนใช้รถใช้ถนน

“น้ำแข็งกำจัดออกได้ยากอย่างยิ่งเมื่อเกาะติดกับผิวถนนแล้ว แม้ว่าอุณหภูมิของอากาศจะอบอุ่น… ถนนยังอยู่ที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ ทำให้น้ำแข็งเกาะติดกับพื้นผิว”

นายริก โทมาน นักวิทยาศาสตร์สภาพอากาศจากศูนย์การประเมินและนโยบายสภาพภูมิอากาศ

ของอลาสก้า บอกกับบีบีซีว่า น้ำแข็งน่าจะเกาะติดกับถนนจนถึงอย่างน้อยในเดือนมี.ค. หรือเม.ย. โดยอธิบายว่า พายุกลางฤดูหนาวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2480 พัดถล่มใจกลางเมืองแฟร์แบงก์สในช่วงคริสต์มาส และหิมะตกมากกว่า (25.4 ซม.)

นายโทมานอธิบายว่า หิมะตกลงมามากในวันอาทิตย์ที่ 19 ธ.ค. ที่ทำให้หลังคาร้านขายของเพียงแห่งเดียวในเมืองเดลตาจังก์ชัน ห่างจากเมืองแฟร์แบงก์ส ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ (153 กม.) ยุบตัว และว่าอุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นจัดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“เมื่อชิ้นส่วนทั้งหมดมารวมกันในโลกที่อบอุ่น เราจะรับรู้เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวัง” เขากล่าว และคาดการณ์ว่า ตอนที่อบอุ่นและเปียกชื้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในอนาคต

“ปี 2021 ดูเหมือนจะเป็นปีที่เฝนตกหนักรุนแรงเกิดขึ้นจริงๆ” โมทานกล่าวกับบีบีซี

ทั้งนี้ อุณหภูมิในเมืองแฟร์แบงก์สคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า -29 องศาเซลเซียสในสุดสัปดาห์นี้


จับตา "ปูติน-ไบเดน" หารือ ท่ามกลางความตึงเครียดที่พรมแดนยูเครน

30 ธ.ค. รอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มีกำหนดหารือกันในหลายประเด็นผ่านระบบออนไลน์ หลังทางการสหรัฐฯ เตรียมตอบโต้ทางการรัสเซียจากวิกฤตความขัดแย้งในยูเครน เนื่องจากกองทัพรัสเซียเสริมกำลังทหารเข้าประชิดชายแดนทางตะวันออกของยูเครน

ทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำมหาอำนาจทั้งสองชาติจะเริ่มประชุมกันในเวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับเวลา 03.30 น. ของวันที่ 31 ธ.ค. ตามเวลาประเทศไทย) โดยการหารือจะเกี่ยวพันถึงเวทีการประชุมความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และสถานการณ์ความตึงเครียดกับรัสเซียในทวีปยุโรป

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังกองทัพรัสเซียเสริมกำลังทหารหลายหมื่นนายเข้าประชิดชายแดนยูเครนตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สร้างความตื่นตกใจให้ชาติยุโรปและยูเครนที่เกรงว่าอาจนำไปสู่เหตุซ้ำรอยที่รัสเซียผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2557 ท่ามกลางข้อครหาที่รัสเซียให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซียทางภาคตะวันออกของยูเครน

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีปูตินปฏิเสธว่าไม่มีแผนจะรุกรานยูเครน และขอสงวนสิทธิ์ในการเคลื่อนกำลังทหารภายในประเทศตัวเอง รวมถึงกล่าวโทษชาติตะวันตกว่าเป็นชนวนของความตึงเครียด พร้อมเรียกร้องให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ยุติการแผ่ขยายกำลังทหารมาประชิดชายแดนรัสเซีย และยุติความพยายามนำชาติยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ด้วย

แหล่งข่าวจากภายในทำเนียบขาวระบุว่า การหารือที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันนี้เป็นผลมาจากประธานาธิบดีปูตินเป็นฝ่ายขอพูดคุยกับประธานาธิบดีไบเดนเอง ขณะที่ข่าวกรองล่าสุดของฝ่ายสหรัฐฯ ไม่พบหลักฐานการลดกำลังทหารของรัสเซียตามข่าวลือที่ว่า รัสเซียอาจถอนทหาร 1 หมื่นนายออกไป และกองทัพสหรัฐฯ ส่งเครื่องบินสอดแนมรุ่นอี-8 เจสตาร์ส ขึ้นปฏิบัติการแล้วเป็นครั้งแรกเหนือน่านฟ้ายูเครน หลังประธานาธิบดีไบเดนขู่ว่าจะเสริมกำลังนาโต้ และใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างเฉียบขาดหากรัสเซียรุกรานยูเครนด้วย


อีลอน มัสก์ แถลงโต้คนวิจารณ์ ปฏิเสธเรื่องใช้ฝูงดาวเทียม "สตาร์ลิงก์" เข้าครองพื้นที่อวกาศ

BBC : นาย อีลอน มัสก์ ประธานผู้บริหารบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการติดตั้งฝูงดาวเทียม “สตาร์ลิงก์” (Starlink) เพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาจากจีนและองค์การอวกาศยุโรปรวมทั้งผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากที่มองว่า เขาใช้ฝูงดาวเทียมนี้เข้าครอบครองพื้นที่อวกาศใกล้โลกเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

นายมัสก์บอกว่า “อวกาศนั้นสุดแสนจะกว้างใหญ่ไพศาล และดาวเทียมก็มีขนาดเล็กมาก ดาวเทียมกว่าหมื่นล้านดวงสามารถอยู่ในวงโคจรใกล้โลกได้อย่างสบาย”

สำหรับข้อกล่าวหาของนายโจเซฟ อัชบาเชอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ที่ระบุว่าฝูงดาวเทียมสตาร์ลิงก์ซึ่งมีทั้งหมดถึง 12,000 ดวง จะเข้าครอบครองพื้นที่อวกาศใกล้โลกที่มีอยู่จำกัด และจะขัดขวางไม่ให้บริษัทคู่แข่งรวมทั้งองค์กรอื่นๆ สามารถปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรโลกได้อีกนั้น นายมัสก์กล่าวชี้แจงเรื่องนี้ว่า

“ตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ดาวเทียมของเราไม่ได้ไปกีดขวางใครเลย เราไม่ได้ปิดกั้นผู้ใดจากการลงมือทำอะไรทั้งสิ้น และเราไม่ได้มีแผนการที่จะทำเช่นนั้นด้วย”

“ฝูงดาวเทียมแค่สองสามพันดวงนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก มันก็เหมือนกับเพิ่มรถยนต์สองสามพันคันบนโลกนั่นแหละ มันไม่ได้มีผลกระทบอะไรเลย”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าบรรดาดาวเทียมและสถานีอวกาศในวงโคจรโลก จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันให้ไกลกว่าที่นายมัสก์กล่าวอ้างมาเป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ได้ออกมาเตือนว่า มีความเสี่ยงที่ดาวเทียมจะชนกันเพิ่มสูงขึ้นเพราะมีจำนวนมาก และอยู่กันอย่างแออัดเกินไป

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศในโลก เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดาวเทียมราว 30,000 ดวง และขยะอวกาศอื่น ๆ ที่กำลังโคจรรอบโลกอยู่ในปัจจุบันด้วย

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยเนื้อหาในรายงานที่ยื่นต่อสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯ และนานาประเทศ เคารพกฎเกณฑ์การใช้ห้วงอวกาศอย่างสันติ รวมทั้งย้ำเตือนให้องค์กรอวกาศภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ ทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ และคำนึงถึง

สวัสดิภาพของนักบินอวกาศจีนด้วย หลังดาวเทียมสตาร์ลิงก์เกือบพุ่งชนสถานีอวกาศเทียนกงที่กำลังก่อสร้างอยู่ จนต้องเคลื่อนย้ายตำแหน่งหลบเพื่อความปลอดภัยถึง 2 ครั้งในปีเดียว


'อียู' เตรียมประกาศใช้มาตรการลงโทษเมียนมาเพิ่มหลังก่อเหตุสังหารหมู่

30 ธันวาคม พ.ศ. 2564: สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหภาพยุโรป หรืออียู เตรียมประกาศใช้มาตรการลงโทษเมียนมาเพิ่มเติม หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่รัฐกะยาของเมียนมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม หรือตรงกับวันคริสต์มาสอีฟ และเรียกร้องให้นานาชาติหยุดจำหน่ายอาวุธให้เมียนมา

โดยนายโจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียู ระบุในแถลงการณ์วันนี้ว่า นานาชาติจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงมาตรการห้ามขายอาวุธให้เมียนมา เนื่องจากสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมา อียูเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการลงโทษเพิ่มเติมต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

"จำเป็นต้องจับตัวผู้กระทำความผิดจากเหตุสังหารหมู่ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของกองทัพเมียนมาในรัฐกะยาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม มาลงโทษโดยด่วน เหตุดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็ก ผู้หญิง และเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมรวมอยู่ด้วย"

นับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา อียูได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้นำและนายพลระดับสูงที่กุมอำนาจในกองทัพเมียนมา นอกจากนี้ อียูยังสั่งระงับความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึงความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่อาจทำให้รัฐบาลทหารได้รับความชอบธรรม

ก่อนหน้านี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ออกแถลงการณ์ประณามเหตุสังหารหมู่ในเมียนมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม หรือตรงกับวันคริสต์มาสอีฟ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย ขณะที่กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง หรือเคเอ็นดีเอฟ ได้นำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดไปฝังแล้ว โดยเรียกร้องให้จับตัวผู้กระทำผิดกฎหมายจากเหตุดังกล่าวโดยเร็ว และเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงทั้งหมดในทันที รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของประชาชน

ขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง หรือเคเอ็นดีเอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารที่ใหญ่ที่สุด เผยวันนี้ว่า กองทัพฯ ได้ฝังศพผู้เสียชีวิตจากเหตุสังหารหมู่ในวันคริสต์มาสอีฟแล้ว ส่วนสำนักข่าวของเมียนมาได้โพสต์ภาพในสื่อออนไลน์ที่แสดงให้เห็นว่า สมาชิกของเคเอ็นดีเอฟกำลังฝังร่างผู้เสียชีวิตในหลุมศพ โดยมีดอกไม้และเทียนที่ถูกจุดไว้วางอยู่ข้างหลุมศพ

อย่างเข้ม ! ตำรวจจีนลงโทษชายแหกกฎคุมโควิด 4 ราย เดินประจานกลางเมือง

การลงโทษด้วยการเดินประจานของจีนถูกใช้ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ก่อนจะถูกแบนไม่ให้นำมาใช้ลงโทษประชาชนเมื่อนานมาแล้ว อย่างไรก็ดี ตำรวจในมณฑลเจียงซีเพิ่งจับชาย 4 รายที่แหกกฎควบคุมโควิด-19 มาลงโทษด้วยการเดินประจานกลางเมือง

จีนในปัจจุบันกำลังใช้มาตรการกดตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ดี การลงโทษประจานชาย 4 รายที่ละเมิดมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อมาตรการกดตัวเลขการติดเชื้อให้น้อยที่สุดว่าอาจไม่ตอบโจทย์กับธรรมชาติของโรคและมนุษย์ในรัฐ

ชายทั้ง 4 รายละเมิดมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้วยการเดินทางข้ามเขตแดนควบคุมโรคที่ถูกปิดจากทางการจีน จนกระทั่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 ธ.ค.) ชายทั้ง 4 รายที่ถูกควบคุมตัวได้ถูกนำตัวมาเดินประจานกลางถนนของเมืองไป่เซ ตอนใต้ของมณฑลเจียงซี

ภาพวิดีโอถูกส่งต่อไปทั่วทั้งโลกออนไลน์ปรากฏชาย 4 รายสวมชุดกันเชื้อและใส่หมวกนิรภัย พร้อมถูกบังคับให้ถือป้ายชื่อที่มีรูปใบหน้าของพวกเขาเดินประจานไปกลางถนน โดยสื่อของทางการจีนประจำท้องถิ่นมณฑลเจียงซีระบุว่า ผู้ถูกลงโทษถูกนำตัวมาเดินประจานเนื่องจากพวกเขากระทำความผิดเกี่ยวกับ “อาชญากรรมข้ามชายแดน” อย่างไรก็ดี สำนักข่าว The Global Times ของรัฐบาลจีนระบุว่า นอกจากการละเมิดมาตรการควบคุมโรคแล้ว ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดมีความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วย

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ถูกลงโทษเดินประจานให้ความช่วยเหลือผู้คนในการเดินทางข้ามเขตแดนในจีน ในขณะที่จีนยังคงมีมาตรการปิดกั้นพรมแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยในตอนนี้ ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าจีนจะถูกกักตัวอย่างเข้มงวดด้วยเช่นเดียวกัน การเดินประจานชายทั้ง 4 ราย จึงเป็นการเตือนประชาชนไม่ให้ทำผิดในลักษณะดังกล่าว

โซเชียลมีเดียของจีนต่างพากันแชร์เรื่องราวดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ทั้งที่เห็นว่าการลงโทษในครั้งนี้สมควรแล้ว ในขณะที่บางฝ่ายมองว่าเป็นการลงโทษในลักษณะดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ การนำประชาชนมาเดินประจานยังผิดเพี้ยนไปจากกฎหมายกลางของจีน

การเดินประจานถูกใช้ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ก่อนที่เมื่อราวทศวรรษที่ 1980 ทางการจีนจะได้ทำการแบนการลงโทษในลักษณะดังกล่าว ทำให้ไม่มีการลงโทษด้วยการเดินประจานเกิดขึ้นจากทางเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ดี ยังมีตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐในบางท้องที่ของจีนที่นำการลงโทษดังกล่าวกลับมาใช้ ถึงแม้ว่าทางการจีนจะสั่งแบนแล้วก็ตาม

จีนยังคงเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 ให้การติดเชื้อเป็นศูนย์อย่างเข้มงวด ทั้งการปิดประเทศ การลงโทษผู้ละเมิดกฏการควบคุมโรค การตรวจปูพรมหาเชื้อ โดยเมื่อวานนี้ (29 ธ.ค.) จีนมีรายงานผู้ติดเชื้อ 203 ราย การลงโทษในครั้งนี้นำมาซึ่งคำถามต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน และการควบคุมอำนาจรวมศูนย์ แต่กลับไม่สามารถห้ามการลงโทษที่ผิดหลักกฎหมายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่งเองได้

ข้อมูล : theguardian.com,globaltimes.cn