ข่าว
‘แอฟ’หย่า‘สงกรานต์’แล้ว โล่งใจหลังยืดเยื้อมานาน

หลังจากที่มีข่าวลือออกมาว่า แอฟ ทักษอร และอดีตสามี สงกรานต์ เตชะณรงค์ ได้แอบไปจดทะเบียนหย่ากันเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่คาราคาซังกันมาปีกว่า

ล่าสุดเมื่อได้เจอสาวแอฟที่งานฉลองเปิดร้าน COACH คอนเซปต์ใหม่ โมเดิร์น ลักชัวรี่ ที่เซ็นทรัลเวิล์ด สาวแอฟได้เปิดเผยถึงเรื่องข่าวการหย่ากับสงกรานต์ว่า

ข่าวลือที่ว่ามีการหย่าแล้วจริงมั้ย? “จริงค่ะ ตามข่าวเลย”

มีการพูดคุยกันยังไงบ้าง?“เราคุยกันมาเรื่อยๆ ค่ะ จนถึงบทสรุป”

ทำตามข้อตกลงที่เราวางไว้ตั้งแต่แรก? “ข้อตกลงเหรอคะ ข้อตกลงเรื่องลูกค่ะ”

หลังจากที่ได้เจอกันในวันนั้น ได้มีโอกาสพูดคุยกันเพิ่มเติมหรืออะไรกันบ้างมั้ย?“ไม่ค่ะ”

วันที่ 25 กันยา ตามนั้นเลยใช่มั้ย? “ตามข่าวค่ะ”

หลังจากที่ยืดเยื้อกันมานาน วันที่ตั้งใจของเราวันนั้น วันที่มีโอกาส เป็นยังไงบ้าง ใจหายมั้ย?

“รู้สึกโล่งค่ะ หมายถึงว่าอะไรที่มันค้างคาก็จบเรียบร้อย ที่สำคัญที่สุดก็คืออย่างราบรื่น แอฟก็โอเค ณ ตรงนั้นที่ทุกอย่างราบรื่น คือเราอยู่กับความเป็นจริง แล้วแอฟเห็นว่ามันจะมีภาพนี้มาสักระยะแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเกินความคาดหมายค่ะ

หลังจากนี้จะแบ่งการดูแลยังไง?“ก็เหมือนเดิมค่ะ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แอฟยังดูแล ปีใหม่ เหมือนเดิมค่ะ เรื่องค่าใช้จ่ายก็ส่งเหมือนเดิมค่ะ เฉพาะน้องปีใหม่ค่ะ ในข้อตกลงก็มีตกลงกันในระดับหนึ่งค่ะ เรื่องการเลี้ยงดู การเรียน”

น้องปีใหม่ทราบมั้ย?“ไม่ทราบค่ะ ไม่จำเป็นต้องทราบค่ะเรื่องนี้ มันไม่ใช่เรื่องของเด็ก และเค้าก็คงไม่เข้าใจอยู่ดี ก็ไม่จำเป็นอะไร ตอนนี้ชีวิตก็เหมือนเดิมค่ะ ลูกก็มีแอฟทุกวันเหมือนเดิม เราอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีอะไรใหม่เลย เพราะมันเป็นเรื่องเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แอฟรู้ว่าจะต้องโฟกัสที่ลูกค่ะ”

ชีวิตหลังจากนี้แพลนยังไงบ้าง?“หลังจากนี้ก็มีลูกและงานค่ะ จริงๆ ก็เป็นอย่างนี้มาสักพักแล้วค่ะ มีแพลนอยากจะกลับมาเล่นละคร เพราะลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ตอนนี้ก็อ่านบทอยู่ ยังไม่ได้ตัดสินใจจะเล่นเรื่องไหนค่ะ”

เรื่องการหย่าของคุณพ่อคุณแม่ เราเตรียมจะบอกน้องยังไงในอนาคต?“ในอนาคตแอฟคิดว่าแอฟทำได้ค่ะ แต่ไม่ใช่ตอนนี้น้องยังเด็กอยู่ บอกไปไม่เข้าใจอยู่ดีค่ะ”

ที่ผ่านมาเค้ามีคำถามมั้ย? “ไม่มีเลยค่ะ เพราะว่าเราเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด แอฟให้สัมภาษณ์ด้วยความจริงมาโดยตลอด เรามีไลฟ์สไตล์อย่างนี้ สำหรับแอฟมันก็เหมือนมีความโชคดีในความโชขคร้าย ลูกก็ไม่ต้องปรับตัวอะไร ก็เจอคุณพ่อประมาณนี้อยู่แล้ว ครอบครัวก็เป็นกำลังใจให้เสมออยู่แล้ว เค้าเข้าใจว่ามันมาถึงจุดนี้ได้ยังไง”.

“ทักษิณ” ชี้ทหารใกล้หมดอำนาจ พร้อมกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

19 ต.ค.61 เว็บไซต์ NHK สื่อในญี่ปุ่น รายงาน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์นักข่าว NHK ที่ฮ่องกง เมื่อวันพฤหัสฯที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา กล่าวถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในประเทศไทยว่า ถึงแม้มีหลายปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งล่าช้ามาเรื่อยๆ แต่คาดว่า การเลือกตั้งทั่วไปในไทย จะมีขึ้นในช่วงเวลาประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ปี 2562 เพียงแต่ขณะนี้ ยังมีความกังวลในเรื่องหากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง เนื่องจากทหารอาจจะยังคงพยายามที่จะรักษาอำนาจเอาไว้อยู่

NHK รายงานด้วยว่า นายทักษิณ ซึ่งลี้ภัยออกนอประเทศไทย หลังถูกกองทัพก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจเมื่อปี 2549 กล่าวต่อไปว่า การปกครองโดยรัฐบาลทหารในประเทศไทยอาจใกล้หมดอำนาจ เพราะถ้าฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร รวมกันแล้วมากกว่า 300 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง รัฐบาลก็ไม่สามารถบริหารประเทศชาติต่อไปได้ เพราะจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่สามารถผ่านงบประมาณ และยังต้องเจอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ในขณะที่วุฒิสมาชิกก็ไม่สามารถลงคะแนนได้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถล่มภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ไม่ใช่เป็นหลายๆ เดือน

NHK สื่อญี่ปุ่น ยังชี้ว่า ถึงแม้นายทักษิณ ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ แต่ตระกูลชินวัตรยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะ ชาวบ้านในชนบท ในขณะเดียวกัน นายทักษิณก็ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะหวนกลับมาเล่นการเมือง โดยกล่าวว่า เขาสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นสำหรับประชาชนที่ยังให้การสนับสนุน


“บิ๊กแดง” ชี้โดนการเมืองโจมตี ผบ.ทสส.ป้องที่พูดคือขั้นสุดท้าย

(19 ต.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงจุดยืนการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าว่า ภารกิจการเตรียมการเลือกตั้ง สิ่งที่เราจะสามารถทำได้คือการให้ความรู้ความเข้าใจในกฎกติกาของการเลือกตั้ง งานที่เราทำผิดชอบ คือ การทำให้บรรยากาศในทุกพื้นที่อยู่ในความสงบ คืองานสำคัญของพวกเราทุกคน ส่วนการเน้นย้ำกำลังพลนั้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติต้องยึดมั่นในกรอบหน้าที่ของทหาร และตำรวจ คือการทำให้ประเทศชาติ ประชาชนเกิดความสงบ ให้ความรู้ความเข้าใจจะต้องมีจุดสมดุล เพื่อไม่ให้ข้อมูลใดๆ ก็ตามที่นำไปสู่ความเข้าใจคลาดเคลื่อน

พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์ในปีหน้านั้น หากย้อนไปเมื่อช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตนเชื่อว่าคนไทยทุกคนได้เห็นว่าใน 4 ปีนี้เป็น 4 ปีที่มีแต่ความสงบ ไม่มีการเดินขบวนประท้วง จนทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดปัญหา คนไทยก็อยู่อย่างมีความสุข ทำมาหากินอย่างปกติ การติดต่อค้าขาย เศรษฐกิจไปได้ด้วยดี กฎหมายมีการบังคับใช้ ทุกคนเคารพกฎหมาย ถือว่าสังคมอยู่ในสภาวะปกติ ไม่มีอะไรต้องกังวล

เมื่อถามว่า จุดยืนของทหารยังอยู่เคียงข้างประชาชนใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จุดยืนของเหล่าทัพนะณจุดใดก็ได้ที่ประเทศมีความสงบประชาชนมีความสุข พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า จุดยืนของทหารตำรวจ คือ จุดใดก็ได้ที่ประเทศชาติมีความสงบ

เมื่อถามย้ำว่า หากในอนาคตเกิดวิกฤตการเมืองอีกครั้ง บทบาทของทหารจะเป็นอย่างไร หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงจากอำนาจ พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า หากเราไม่ไปพยากรณ์ว่าจะเกิดการจลาจล ขณะนี้การเดินทางของประเทศไทย 4 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีพัฒนาการดี ก้าวหน้า และมีการเตรียมการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมาด้วยดีตลอด แทนที่เราจะคิดว่าจะเกิดการจลาจล แต่ถ้าหากเราร่วมมือการตัดสินใจให้ถูกต้อง ทุกคนมีจุดยืนที่เหมาะสมรวมกัน เราก็คงไม่ต้องไปคิดว่าจะเกิดการจลาจลหรือไม่ในอนาคต และไม่ต้องไปคิดว่าทหารจะต้องมาทำอะไรหรือไม่ในวันนั้น

“สิ่งที่ พล.อ.อภิรัตน์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ.พูดนั้น ท่านพูดด้วยประสบการณ์ นั่นคือแผนเผชิญเหตุสุดท้าย แต่ในขณะที่กลไกกฎระเบียบของบ้านเมืองยังใช้บังคับได้และผู้คนเคารพกฎหมายความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งก็ยังไม่เห็นปรากฏว่ามีนัยสำคัญจนถึงขนาดที่ต้องน่ากังวล การที่เราไปพูดถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะเกิดจะทำให้สังคมเกิดความกังวลได้ ผมคิดว่าเราทุกคนต้องยืนหยัดอยู่กับการรับข้อมูลและการตัดสินใจจากข้อมูลนั้นให้เกิดความสงบ อย่าไปตื่นตามประเด็นที่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาเล็กๆ น้อยๆ และคิดว่าจะเป็นเช่นนั้น” พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าว และย้ำว่าจุดยืนของกองทัพ และ สตช.คือจุดที่ประชาชนมีความสุขและประเทศชาติมีความสงบ

เมื่อถามว่าหากมีการรัฐประหารเป็นทางเลือกสุดท้ายใช่หรือไม่ พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดความไม่สงบ และยังไม่เห็นว่าจะต้องไปแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยวิธีใด ในเมื่อกฎหมายยังบังคับได้ปกติ ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้คนไทยต้องกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังมีหนทางอื่นที่ใช้มากกว่าหนทางรัฐประหาร

หลังเสร็จสิ้นการแถลง พล.อ.อภิรัชต์เดินไปจับมือกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ก่อนจะไปไหว้ชื่อของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ติดอยู่บนป้ายรายชื่อนายทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้เป็นบิดา นอกจากนี้ ก่อนการประชุม พล.อ.อภิรัชต์ได้เดินไปดูรูปของบิดาภายในห้องรับรองนเรศวรอีกด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ยังกล่าวถึงกระแสโจมตีจากฝ่ายการเมือง หลังให้สัมภาษณ์ว่าการรัฐประหารจะไม่เกิด หากฝ่ายการเมืองไม่เป็นต้นเหตุจลาจลว่า เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนที่นายเอกชัย หงส์กังวาล จะไปแจ้งความเอาผิดในข้อหากบฏนั้นก็ว่าไป


“มาร์ค” ติง “บิ๊กตู่” ใช้โซเชียลฯ อ้างเพิ่งคิดได้ไม่เกี่ยวการเมือง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียสื่อสารกับประชาชนในช่วงนี้ว่า เป็นปกติที่เราต้องยอมรับว่าเมื่อประชาชนคนทั่วไปเขามีการเปลี่ยนแปลงช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสาร จากเดิมอาจจะเป็นสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เป็นหลัก แต่ตอนหลังนี้ก็มาทางสื่อสังคมออนไลน์ เพราะฉะนั้นคนที่เป็นบุคคลสาธารณะและมีหน้าที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนอยู่ตลอดเวลาก็ต้องปรับตัวหันมาใช้ช่องทางเหล่านี้ เพื่อที่จะเข้าถึงประชาชน ตรงนี้ไมได้เป็นปัญหา แต่บังเอิญ คสช.เองกลับไปเขียนว่าการใช้โซเชียลมีเดียทำได้ แต่ห้ามหาเสียง เลยทำให้จะเกิดปัญหาขึ้นว่าจะตีความอย่างไร ใครจะอยู่ในข่ายการบังคับตรงนี้บ้าง

เมื่อถามว่ามีการวิจารณ์ว่าทำไมนายกฯ ถึงต้องมาทำในช่วงใกล้เลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนมองง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องจังหวะทางการเมืองซึ่งปฏิเสธได้ยาก เพราะถ้าบอกว่าอยากจะใช้ช่องทางนี้ทำงาน แต่ช่องทางนี้ก็มีให้ใช้มาตั้งหลายปีแล้ว การที่บอกว่าจะมารับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไขซึ่งความจริงทำได้ตั้งแต่ต้นแล้ว

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้ชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูการเคลื่อนไหวหาเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการหาสมาชิกพรรคด้วย เป็นการเอาเปรียบพรรคอื่นที่ไม่สามารถทำได้ว่า เป็นกระบวนการภายในพรรค การจะบอกกับสมาชิกว่าใครสมควรจะเป็นหัวหน้าพรรค ไปขอคะแนนเสียงก็ต้องบอกเขาว่าจะนำพาพรรคไปทางไหน พรรคการเมืองอื่นตนก็ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ถ้าอยากจะเลือกหัวหน้าพรรคแบบตนก็ยินดี จะได้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่กันทำเอง เพราะพรรคเขาไม่ได้ใช้วิธีนี้ เขาก็ไม่คุ้นเคย แต่ประชาธิปัตย์ตอนนี้เราก้าวไปถึงจุดนี้แล้ว ไม่ได้มีวาระอื่นแอบแฝง และได้แจ้ง กกต.ไปว่าสิ่งที่จะต้องทำตามกฎหมายพรรคการเมือง หรือคำสั่ง คสช.มีอะไรบ้าง โดยหนึ่งในนั้นคือกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรค ตามข้อบังคับพรรค


‘ธิดา’โชว์! โวยง่ายไปมั้ย อ้างจลาจลทำรัฐประหาร

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. กล่าวในการทำ Facebook Live วันนี้ ว่า จากกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่? ท่านกล่าวว่า “...ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจล ก็ไม่มีอะไร” นั่นแปลว่าถ้ามีการจลาจลเกิดขึ้นก็อาจจะเป็นเหตุของการทำรัฐประหารก็ได้

นางธิดา กล่าวว่า ตนจึงอยากถามว่าถ้าอ้างเหตุจลาจลเพื่อทำการรัฐประหาร มันไม่ง่ายไปหน่อยเหรอ และถ้าเป็นอย่างนั้นประเทศต่าง ๆในโลกนี้เขาก็คงทำรัฐประหารกันบ่อยๆ เพราะการจลาจลมันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ และของแต่ละประเทศนั้นมีความเสียหายอย่างมาก มีความรุนแรงขนาดที่เรียกว่ามากกว่ามาก แต่ถามว่าการทำรัฐประหารของเขามันเกิดขึ้นหรือเปล่า? ก่อนอื่นตนอยากจะขอร้องพวกเราว่าอย่าไปใช้คำว่า “ปฏิวัติ” และอยากเรียกร้องต่อสื่อมวลชนด้วยว่าอย่าไปสับสนกับคำว่า “รัฐประหาร” กับ “ปฏิวัติ” มันคนละเรื่องกัน

“การปฏิวัติ” นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงของประชาชนส่วนล่าง ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองของประเทศจากระบอบหนึ่งไปสู่ระบอบหนึ่ง แล้วต้องเป็นระบอบที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น แต่ “การทำรัฐประหาร” เป็นการใช้กำลังในการยึดอำนาจ นอกจากไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบอบให้ก้าวหน้าขึ้นบางครั้งตรงกันข้าม กลับทำให้ล้าหลังด้วยซ้ำ และเป็นการยึดอำนาจโดยชนชั้นนำ

สำหรับประเทศไทยนั้นการทำรัฐประหารตั้งแต่ยุคอยุธยาจนถึงปัจจุบันนั้น ก็คือไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองให้ก้าวหน้า เป็นการชิงอำนาจเพื่อเข้ามาสู่อยู่ในฐานะชนชั้นนำเท่านั้น

ทีนี้มาพูดถึงสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ บอกว่าถ้ามีจลาจลมันก็อาจจะเกิดรัฐประหารได้ จึงนำมาสู่อีกคำถามหนึ่ง ว่า แล้วตกลงท่านเป็นทหารอาชีพหรือทหารการเมือง? คำถามคือท่านเป็นทหารอาชีพในการเมืองระบอบอะไร ถ้าเป็นทหารอาชีพในการเมืองระบอบประชาธิปไตย...ไม่มีการทำรัฐประหาร แล้วต้องขึ้นต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

นางธิดา กล่าวต่อไปว่า การทำรัฐประหารเป็นการเปลี่ยนอำนาจนำจากคนหนึ่งมาสู่คนหนึ่งในระบอบเดิมและล้าหลังกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังรักษาอำนาจคณะรัฐประหารอยู่นาน (แบบที่เป็นอยู่นี้) และยังพยายามจะสืบทอดอำนาจก็คือ ถ้าจะมีการเลือกตั้งก็ทำอย่างไรที่จะให้คณะที่ยึดอำนาจปัจจุบันสามารถเป็นรัฐบาลได้อีก อย่างนี้เรียกว่าการสืบทอดอำนาจ

เหตุผลของการทำรัฐประหารโดยอ้างว่ามีการจลาจล ตนคิดว่ามันก็ง่ายไป สมมุติว่าตนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ก็ทำให้บ้านเมืองมันวุ่นวาย หรือในปี 2549 ก็มีกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมา ทั้งๆที่ยังไม่ได้มีอะไรวุ่นวาย แต่ในที่สุดก็ถูกอ้างเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ

ต่อมาในปี 2557 มันก็ยิ่งต้องทำให้ความวุ่นวายสูงขึ้น เพื่อให้เป็นเหตุผลเพียงพอเพราะรัฐบาลยุคนั้นมาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลขณะนั้นได้ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้นความรุนแรงในการขัดขวางการเลือกตั้งมันจึงเป็นความรุนแรงรอบใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นความรุนแรงในขั้นที่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยนั่นก็คือในส่วนชนชั้นนำที่มองว่าระบอบประชาธิปไตยนำมาซึ่งรัฐบาลที่ไม่พึงประสงค์...ใช่หรือเปล่า? และการที่กองทัพไม่ขึ้นต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง...หรือเปล่า?

“ถ้าท่านคิดว่าท่านเป็นทหารอาชีพภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ท่านทำรัฐประหารไม่ได้ ไม่ว่าจะมีจลาจลหรืออะไรก็ตาม ท่านควบคุมความสงบเรียบร้อยได้ แต่ไม่ใช่รักษาอำนาจอยู่ยาวนานตั้ง 4 ปีกว่าเช่นนี้ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมันมีทางออกของมัน!!! นั่นคือการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน และทหารในประเทศที่เจริญแล้ว และเป็นทหารอาชีพจริงๆ เขาไม่ทำรัฐประหารกันค่ะ ยกเว้นเป็นประเทศที่ยังไม่ศิวิไลย์ที่คิดว่าประชาชนยังโง่ และประชาชนยังไม่สมควรได้รับอำนาจในการที่จะมีส่วนสำคัญในการเมืองการปกครอง ถ้ากองทัพคิดเช่นนั้น กองทัพไทยก็จะทำรัฐประหารเรื่อยไปค่ะ” นางธิดา กล่าว

หมองานหนักว๊ากไล่คนไข้ โรงพยาบาลนะไม่ใช่เซเว่น

วันที่ 19 ต.ค. นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีหญิงสาวร้องเรียนเรื่องไปรักษาร.พ. แต่กลับพบแพทย์เวรบอกว่า ร.พ.นะ ไม่ใช่เซเว่น ให้กลับบ้าน และมาหาใหม่พรุ่งนี้ ว่า กรณีดังกล่าวต้องยอมรับว่า แพทย์ท่านนี้ไม่ควรพูดจาเช่นนี้จริงๆ เพราะไม่เหมาะสม ซึ่งได้มอบให้ทางพื้นที่ไปดำเนินการตักเตือนในเรื่องการพูดจา การให้บริการ แต่ก็เข้าใจว่า แพทย์อาจทำงานมาก และอาจหลุดได้ ซึ่งก็เข้าใจและเห็นใจทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว ห้องฉุกเฉินในร.พ.ทุกแห่ง ในช่วงที่ OPD หรือผู้ป่วยนอกปิดบริการ ซึ่งบางที่อาจเปิดถึง 20.00 น. แต่หลายแห่งก็ปิด จะเปิดเฉพาะห้องฉุกเฉิน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ต้องรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในขั้นวิกฤตอยู่หรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาที่ทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการแก้ไข อย่างเรื่องความแออัด หรือภาระงานแพทย์ แต่กรณีที่จ.สระแก้ว นี้ จะมีการสอบถามความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วต่อไป

“กระทรวงฯ มีนโยบายลดความแออัด อย่างเปิดคลินิกนอกเวลา หรือคลินิกหมอครอบครัว ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยกระจายคนไข้ และแบ่งเบาภาระงานแพทย์ เพราะอย่างห้องฉุกเฉิน จำเป็นต้องรับการรักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤตก่อน แต่กรณีนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็ต้องขออภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่เกิดการพูดจาดังกล่าว” รองปลัดสธ.กล่าว