องค์การอนามัยโลกยืนยัน วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติใช้งานทั้ง 6 ตัว มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้ แต่ยังคงแสดงความเป็นห่วงการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังไม่ปลอดภัย
ฮานส์ คลูจ ผู้อำนวยการภูมิภาคองค์การอนามัยโลกประจำยุโรป หรือ WHO แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังอ่อนไหว จึงไม่แนะนำที่จะมีการเปิดประเทศให้เดินทางระหว่างกัน และขอให้ประเทศต่างๆ ทบทวนการเปิดให้พลเมืองเดินทางไปต่างประเทศ เพราะจะเป็นการนำเชื้อไปแพร่กระจายได้ง่าย พร้อมยืนยันว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของค่ายต่างๆ ที่ได้องค์การอนามัยโลกอนุมัติไปแล้ว 6 ค่าย ได้แก่ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และแอสตราเซเนกา รวมทั้งวัคซีนซิโนฟาร์มของจีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดที่กลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งอังกฤษและแอฟริกาใต้ได้
โดยโควิดกลายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอัตราการระบาดที่รวดเร็ว ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปแล้วในอย่างน้อย 26 ประเทศ จาก 53 ประเทศในภูมิภาคยุโรป แต่ถึงแม้วัคซีนจะสามารถทำหน้าที่ป้องกันได้ดี การควบคุมการระบาดของโควิดทุกสายพันธุ์ก็ยังต้องใช้มาตรการอื่นๆ เข้าช่วยทั้งมาตรการทางสังคม การรักษาสุขอนามัย อย่างที่เคยทำมาควบคู่ไปด้วย
ปัจจุบันภูมิภาคยุโรป มีผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 โดสแรก แล้วเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ และได้รับวัคซีนครบ 2 โดสเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ นายคลูจจึงแสดงความเป็นห่วงไปยังพลเมืองชาวยุโรปให้ยังคงใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังต่อไป
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย
ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ตามแนวทางรัฐโอไฮโอ ใช้ลอตเตอรี่ล่อใจ หวังกระตุ้นให้คนมาฉีดวัคซีนให้มากขึ้น หลังอัตราการฉีดวัคซีนเริ่มชะลอตัว
นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประกาศจะแจกลอตเตอรี่แบบขูดให้แก่ชาวนิวยอร์กทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามจุดบริการวัคซีนของภาครัฐ 10 จุด ในสัปดาห์หน้า เพื่อหวังกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น หลังพบว่าในระยะหลังอัตราการเข้ารับวัคซีนเริ่มชะลอตัวลง
โดยโครงการนำร่องนี้จะแจกลอตเตอรี่ที่สามารถลุ้นรางวัลมูลค่าตั้งแต่ 20 ดอลลาร์ ไปจนถึง 5 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม ไปจนถึง วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พร้อมระบุว่า ทุกคนที่เข้ารับวัคซีนจะมีสิทธิชนะรางวัลกันทุกคน เพียงแต่จะมีมูลค่าต่างกันตามแต่โชคของแต่ละคนโดยผู้ที่จะร่วมลุ้นลอตเตอรี่ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น นอกจากนี้รัฐนิวยอร์กยังมีแผนที่จะเพิ่มจุดฉีดวัคซีนในสนามบินอีก 7 แห่งของรัฐ เพื่อกระจายจุดฉีดวัคซีนอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และเพื่อให้บริการกับเจ้าหน้าที่สนามบินด้วย
ล่าสุดพลเมืองนิวยอร์ก ได้รับวัคซีนต้านโควิดไปแล้วราว 43 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรทั้งหมด 20 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศที่อยู่ที่ 37.8 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม นายคูโอโมมองว่าอัตราการเข้ารับวัคซีนของนิวยอร์กยังคงเป็นไปด้วยความล่าช้า โดยเฉลี่ยมีผู้เข้ารับวัคซีนประมาณ 123,806 คนต่อวัน ในรอบ 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมาถึง 43 เปอร์เซ็นต์ จากวันที่ 12 เมษายน ที่มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนต่อวันมากถึง 216,040 คน
โดยนายคูโอโมยังแถลงย้ำในช่วงท้ายด้วยว่า หากประชาชนได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว จะเพิ่มโอกาสต่างๆ มาอีกมากมาย เพราะสถานที่ต่างๆ จะเริ่มแบ่งพื้นที่สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แถมยังมีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถ้าได้รับวัคซีนต้านโควิดครบโดสแล้ว
ที่มา : วอชิงตันโพสต์
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหลายรัฐของอินเดียร่วมกันเรียกร้องให้ทางการแต่ละรัฐควรประกาศสถานการณ์โรคราดำมรณะระบาดได้แล้ว หลังพบผู้ป่วยหายจากโควิด-19 ติดเชื้อราดำมรณะแล้วหลายพันราย
เมื่อ 21 พ.ค. 64 สำนักข่าวบีบีซีรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหลายรัฐของอินเดียประสานเสียงเรียกร้องให้ทางการรัฐควรรีบประกาศสถานการณ์เกิดการระบาดของโรคราดำมรณะ ที่เรียกว่า โรคเชื้อรา mucormycosis (มิวคอร์ไมโคซิส) ซี่งนับเป็นโรคเชื้อราดำสุดร้ายที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 50% และปกติแล้ว เชื้อราดำ ถือเป็นเชื้อราหายาก ไม่ค่อยพบในผู้ป่วยบ่อยนัก
แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กลับพบผู้ป่วยติดเชื้อราดำในอินเดียเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนหลายพันรายแล้ว ทำให้เหล่าแพทย์ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การพบคนไข้ติดเชื้อราดำมรณะมากขึ้นนั้น อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยา
สเตียรอยด์ ในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ซึ่งฤทธิ์ของยาสเตียรอยด์ได้กดภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยด้วย จึงทำให้ติดเชื้อราดำได้
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เลขาธิการร่วมประจำกระทรวงสาธารณสุขของอินเดียได้เขียนหนังสือส่งไปถึงมุขมนตรีในรัฐต่างๆ ของอินเดีย 29 รัฐให้ประกาศสถานการณ์เกิดการระบาดของโรคราดำ ซึ่งจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขอินเดียสามารถเฝ้าติดตามการระบาดของโรคราดำมรณะในรัฐแต่ละรัฐได้ใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นการอนุญาตให้สามารถประสานงานในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อราดำได้ดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนแน่ชัดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคราดำทั่วประเทศอินเดีย ในขณะที่ปัจจุบันวิกฤติเชื้อโควิด-19 ในอินเดียยังรุนแรงหนัก พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่สูงกว่า 2 แสนรายต่อวัน
การหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของปาเลสไตน์มีผลบังคับใช้แล้วช่วงเช้าวันนี้ (21 พ.ค.) นำไปสู่การยุติการยิงจรวดและทิ้งระเบิดโจมตีกันตลอด 11 วันที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 240 คน ส่วนใหญ่อยู่ในฉนวนกาซา
ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มีแรงงานไทยอยู่ด้วย 2 คน คือ นายวีรวัฒน์ การันบริรักษ์ อายุ 44 ปี ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายสิขรินทร์ สงำรัมย์ อายุ 24 ปี จากจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงวันนี้ว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รับแจ้งจากบริษัทขนส่งศพว่าจะดำเนินการส่งร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายกลับไทยทันทีที่สถาบันนิติเวชของอิสราเอลอนุญาต ซึ่งคาดว่าจะมาถึงในวันที่ 26 พ.ค.นี้
นายธานี แสงรัตน์ โฆษก กต. กล่าวว่านายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของแรงานไทยผ่าน น.ส. พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งได้ร้องขอต่อนายกฯ อิสราเอลโดยตรงว่าขอทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ทางการอิสราเอลช่วยดูแลความปลอดภัยของแรงงานไทยในพื้นที่เสี่ยง
ทันทีที่ข้อตกลงหยุดยิงมีผลบังคับใช้วันนี้ ชาวปาเลสไตน์ได้หลั่งไหลไปที่ถนนในฉนวนกาซาพร้อมเปล่งวาจาสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้า
ทั้งอิสราเอลและกลุ่มฮามาสต่างประกาศชัยชนะในความขัดแย้งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่าการหยุดยิงนำมาซึ่ง “โอกาสที่แท้จริง” ที่ทุกฝ่ายจะเดินหน้าต่อไป
เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) อิสราเอลก่อเหตุโจมตีทางอากาศกว่า 100 ครั้ง โดยพุ่งเป้าไปที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ของกลุ่มฮามาสทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ทำให้กลุ่มฮามาสตอบโต้ด้วยการยิงจรวดใส่อิสราเอล
การต่อสู้ครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในฉนวนกาซาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. หลังจากความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เพิ่มสูงขึ้นหลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นในเยรูซาเล็มตะวันออก นำมาสู่การปะทะกันในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวมุสลิมและชาวยิว กลุ่มฮามาสเตือนให้อิสราเอลถอนตัวออกจากพื้นที่ หลังจากนั้นจึงได้เกิดการโจมตีทางอากาศตอบโต้กันขึ้น
ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 232 ราย ในฉนวนกาซา ในจำนวนนี้มีผู้หญิงและเด็กมากกว่า 100 ราย ฝ่ายอิสราเอลระบุว่ามีกลุ่มติดอาวุธอย่างน้อย 150 ราย เสียชีวิตในฉนวนกาซา อย่างไรก็ดี กลุ่มฮามาสไม่ให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสำหรับนักรบกลุ่มนี้
เจ้าหน้าที่บริการทางการแพทย์ระบุว่าในอิสราเอลมีผู้เสียชีวิต 12 ราย เป็นเด็ก 2 ราย ทางฝ่ายอิสราเอลอ้างว่ามีการยิงจรวดราว 4,000 ลูกเข้าไปยังดินแดนของตนโดยกลุ่มก่อการร้ายในฉนวนกาซา
การหยุดยิงเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทั้งสองฝ่ายเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติที่เพิ่มขึ้นเพื่อยุติการสู้รบ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 พ.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กล่าวกับนายเนทันยาฮูว่า “คาดว่าจะมีการยกระดับครั้งสำคัญเพื่อนำไปสู่การหยุดยิง”
อียิปต์ กาตาร์ และองค์การสหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยการเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งปกครองฉนวนกาซา
สถานีโทรทัศน์ของอียิปต์รายงานว่า ประธานาธิบดีซิซีได้สั่งให้คณะผู้แทนด้านความมั่นคง 2 คนเข้าไปในอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองเพื่อสนับสนุนการหยุดยิงด้วย
กต.เตรียมแผนอพยพคนไทย
สำหรับผลกระทบและการช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงในอิสราเอล นายธานี แสงรัตน์ โฆษก กต. แถลงข่าววันนี้ว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ทำให้แรงงานไทยเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 8 คน “ถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน”
นายธานีกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลและปาเลสไตน์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟได้ประกาศเตือนคนไทยให้เพิ่มความระมัดระวัง และได้ประสานกับหัวหน้าแรงงานไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอิสราเอลให้ติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
ปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลประมาณ 25,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนและนิคมการเกษตร ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ใกล้กับฉนวนกาซาประมาณ 4,000 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต 2 ราย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟอยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าเรื่องการส่งผู้เสียชีวิตกลับไทย โดยประสานงานกับบริษัทขนส่งศพอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับแจ้งว่าจะดำเนินการทันทีหลังจากสถาบันนิติเวชของอิสราเอลอนุมัติให้นำศพออกจากสถาบันได้ โดยคาดว่าจะดำเนินการในวันที่ 26 พ.ค.
ทั้งนี้ แรงงานทั้งสองรายมีประกันสุขภาพจึงไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทำศพและส่งศพ และขณะนี้สถานทูตกำลังติดตามเรื่องสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินชดเชยสำหรับผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากสถาบันประกันแห่งชาติของอิสราเอล และทางครอบครัวจะได้รับเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศของกระทรวงแรงงานด้วย นายธานีกล่าว
สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย ได้รับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลแล้ว 7 ราย อีก 1 รายยังอยู่ในโรงพยาบาล
โฆษก กต. ยังได้รายงานปฏิกิริยาของทางการอิสราเอลต่อการเสียชีวิตของแรงงานไทยด้วยว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายเนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ความไม่สงบต่อคณะทูตานุทูตในอิสราเอล โดยการบรรยายเขาได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ที่มีแรงงานไทยเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้
“ทั้งนี้ น.ส. พรรณนิภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ได้ใช้โอกาสนี้กล่าวกับนายกฯ อิสราเอลโดยตรงว่าขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและย้ำให้อิสราเอลช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยของงแรงงานไทย ซึ่งนายเนทันยาฮูได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ในการดูแลพลเรือนทั้งหมดในพื้นที่รวมถึงแรงงานไทย”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. รัฐบาลอิสราเอลได้ตีพิมพ์ข้อความแสดงความเสียใจในนามนายกรัฐมนตรีอิสราเอล รัฐบาลอิสราเอลและประชาชนอิสราเอลต่อการเสียชีวิตของแรงงานไทยทั้งสองรายในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 2 ฉบับอีกด้วย และล่าสุด สถานทูตได้รับแจ้งจากแรงงานในพื้นที่ว่า ทางการอิสราเอลได้จัดส่งบังเกอร์เคลื่อนที่ไปยังนิคมอุตสาหกรรมเกษตรที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่เพิ่มเติม
นายธานีกล่าวว่า สถานทูตได้ติดต่อกับผู้ประสานงานของกลุ่มนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมการศึกษาด้านพืชศาสตร์จำนวน 80 คน ทราบว่าทุกคนปลอดภัยดี
“ขณะนี้ กต.อยู่ระหว่างการเตรียมแผนอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลหากมีความจำเป็นต่อไป โดยในชั้นนี้มีคนไทย 5 คนแสดงความประสงค์กลับไทย โดยสถานทูตได้จัดเที่ยวบินนำคนไทยกลับในวันที่ 25 พ.ค. และหากมีแรงงานไทยต้องการย้ายออกจากพื้นที่อันตราย สถานทูตยินดีช่วยประสานงานให้ ซึ่งล่าสุดได้ย้ายแรงงานไทย 9 คน ออกไปยังพื้นที่ปลอดภัย ห่างจากพรมแดนประมาณ 3 กม.” นายธานีกล่าว
รอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นางคริสตัลลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยื่นข้อเสนอในที่ประชุมสุดยอดด้านสาธารณสุข ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการยุโรป และประเทศในกลุ่มจี 20 เสนอแนวทางการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยใช้เงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.6 ล้านล้านบา ท มาใช้เป็นทุนในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อการฉีดให้กับประชากรของทุกประเทศทั่วโลกให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละประเทศภายในปี 2021 นี้ และให้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ในครึ่งแรกของปี 2022
เงินจำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว จะมาจากการสนับสนุนของชาติมั่งคั่งและผู้บริจาคต่างๆ รวม 35 ล้านดอลลาร์ ที่เหลืออีก 15 ล้านดอลลาร์ จะเป็นการลงขันของรัฐบาลของทุกชาติ โดยอาศัยกลไกกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการพัฒนาทั้งหลาย
ในข้อเสนอของไอเอ็มเอฟดังกล่าว ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวนี้มีค่าเท่ากับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจโลกถึงราว 9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 เนื่องจากช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งโลกกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บรรดาชาติมั่งคั่งทั้งหลายได้รับประโยชน์มากที่สุด
ในทางตรงกันข้าม หากไม่ดำเนินการเช่นนี้ การฟื้นตัวแบบไม่สม่ำเสมอจากปัญหาของการแพร่ระบาด ที่ไม่เท่าเทียมกันของแต่ละประเทศจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2022 และจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงรุนแรงต่อทั้งโลก
นางจอร์จีวา กล่าวด้วยว่า บรรดาชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งหลาย ซึ่งถูกขอให้ลงขันเป็นเงินส่วนใหญ่เพื่อการนี้ จะได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์การลงทุนสมัยใหม่ โดยจะได้รับผลตอบแทนในรูปของการขยายตัวของจีดีพีสูงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ล้านล้านดอลลาร์