27 มกราคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ซึ่งผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนอย่างน้อย 181.5 ล้านคน หรือประมาณ 67% ของชาวอินโดนีเซียทั้งประเทศ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบทั้งสองเข็ม ภายในต้นปีหน้า เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
ขณะที่ผู้ติดเชื้อสะสมอย่างน้อย 1,024,298 คน เพิ่มขึ้น 11,948 คน รักษาหายแล้ว 831,330 คน และเสียชีวิตสะสมอย่างน้อย 28,855 คน เพิ่มขึ้น 387 คน ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศมีผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตสะสมจากโรคดังกล่าว มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
27 มกราคม 2564 หลังจากกรุงเทพมหานคร เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 15 รายติดเชื้อรายใหม่ แต่ปรากฏว่า มีบางส่วนโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อาชีพนักร้อง นักแสดง ที่ไปร่วมงานปาร์ตี้ ไม่ยอมให้ข้อมูลบางช่วงในการสอบสวนประวัติโรคนั้น
ล่าสุด ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กว่า Update ข้อมูลจากสำนักอนามัย กทม. : เคสปกปิดข้อมูล ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคของ กทม.กำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม หากได้ข้อมูลจะ update timeline ทันที แต่หากยังปกปิดข้อมูล เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจะแจ้งความกับทางตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปครับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยสนับสนุนให้กทม.จัดการอย่างเด็ดขาดตามกฎหมาย และจะรอดูว่าทำได้จริงหรือไม่ อาทิ จะรอดูผลงานนะครับ ว่าทำได้จริงมั้ย และทำได้ถึงระดับไหน และเชื่อว่าประชาชนหลายคนที่ได้รับผลกระทบ เขาก็รอดูอยู่เหมือนกัน,คนตำหนิมากๆเลยค่ะช่วยหน่อยนะคะ, ควรมีบทลงโทษให้หนักเลยค่ะ เร่ร่อนแพร่เชื้อไปถึงไหนๆแล้ว ขาดจิตสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ป่วยโควิดควรให้จ่ายเงินค่ารักษาเองด้วยค่ะ
บางคอมเม้นต์ ระบุว่า รายที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐคนส่วนใหญ่ก็ทราบแต่แรกแล้วว่า เป็นใคร ทำงานที่ไหน สถานที่ที่เขาทำงานก็มีการฆ่าเชื้อออกสื่อ ปชช.จึงเฝ้าติดตาม,ควรทำอย่างยิ่งค่ะ เพราะนี่คือสถานการณ์โรคระบาด ถ้าปกปิดข้อมูล ไม่ควรรักษาฟรีด้วยค่ะ,สนับสนุนให้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเลยค่ะ, ปกปิดข้อมูลเท่ากับฆ่าคนทางอ้อมเลยนะครับ รีบเอามือถือมันมาตรวจสอบไทม์ไลน์เลย คนความลับเยอะนี่ไม่น่าให้โอกาส, เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะปิดสิ้นปี 2563 ที่ยอดรวมประมาณ 5.23 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.16% ของสินเชื่อรวม
ส่วนในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า NPLs ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กลับต้องมาเผชิญกับผลกระทบอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ แต่เนื่องจากการผ่อนปรนในเรื่องของเกณฑ์การจัดชั้นหนี้หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ รวมถึงการจัดการในเชิงรุกในการดูแลปัญหาหนี้เสียและการตัดหนี้สูญของระบบธพ. ทำให้คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมของระบบธพ. ในปี 2564 อาจจะทยอยขยับขึ้นไปที่ระดับประมาณ 3.53%
จุดจับตาของสัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพในปีนี้จะอยู่ที่ 2 เรื่อง คือ 1. ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ของสถาบันการเงินที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่ 1/2564 และ 2. ปัญหา NPLs ในปีนี้มีโอกาสกระจายตัวออกไปในหลายกลุ่มธุรกิจมากขึ้น หลังจากในปีที่แล้ว แรงกดดันหลักๆ จะอยู่กับธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งทางอากาศ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติมในปีนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ขายส่ง/ขายปลีก SMEs ภาคการผลิตทั้งที่รับช่วงผลิตต่อ/พึ่งพาตลาดส่งออก/อิงกับกำลังซื้อในประเทศ รวมไปถึงธุรกิจให้เช่าอาคารอพาร์ทเมนท์เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์และที่อยู่อาศัยอื่นๆ เพื่อเช่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การดูแลคุณภาพหนี้ในพอร์ตจะยังคงเป็นโจทย์สำคัญต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 และอาจข้ามไปในปี 2565 เพราะจะมีหนี้บางส่วนที่ต้องกลับมาจ่ายคืนตามเงื่อนไขปกติ นอกจากนี้ คงต้องรอจังหวะให้เศรษฐกิจปรับตัวกลับสู่ระดับปกติก่อนที่สัญญาณจากความเสี่ยงหนี้ตกชั้น หรือสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพจะลดระดับลง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ธปท. อาจต้องกลับมาประเมินความจำเป็นของการขยายเวลาผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ให้กับสถาบันการเงิน รวมถึงการเว้นการกันเงินสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2564 หากสถาบันการเงินยังต้องใช้เวลาในการจัดการปัญหาหนี้เสีย
อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยอยเตรียมความพร้อมเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระดับเงินกองทุนและเงินสำรองฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในปีนี้
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะทำให้รายได้ของธุรกิจ SMEs ภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวทั่วประเทศรวมลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาทโดยจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านรายมีการจ้างงานรวมกันกว่าอยู่ 6.1 ล้านคน
อย่างไรก็ตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่วนใหญ่ครอบคลุมกลุ่ม SMEs รายย่อยเป็นหลัก จึงยังขาดมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มธุรกิจSMEs ที่เป็นนิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีการแข่งขันสูงกับธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือ SMEs กลุ่มนี้ให้มากขึ้น เช่น เพิ่มการเข้าถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงผู้ประกอบการ SMEs และแรงงานให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ มุมมองของผู้บริหาร สอท. ต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่า ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และมองว่ารัฐบาลจะกำกับดูแลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2-4 เดือน แต่ยังกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการอาทิ การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด การเดินทางของพนักงาน/ลูกจ้าง การใช้แรงงานต่างด้าว เป็นต้น
จากการสำรวจผู้บริหาร สอท. (CEO Survey) จำนวน 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ของภาครัฐ อยู่ในระดับมาก ที่ 46.3% สำหรับมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการนั้น 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด 60.6% อันดับ 2 การเดินทางของพนักงาน/ลูกจ้าง 59.4% อันดับ 3การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม 58.8%
และหากดูจากผลกระทบด้านต้นทุนในการประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 พบว่าส่วนใหญ่ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 10-20% ของต้นทุนการประกอบการในช่วงปกติ นอกจากนี้ยังได้เจาะลึกไปถึงเรื่องความพร้อมในการรับมือกรณีที่ต้องปิดกิจการ 14 วัน รวมทั้งการดูแลพนักงานที่ติดโควิด พบว่าส่วนใหญ่ ไม่สามารถปิดกิจการ 14 วัน และต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด-19
ส่วนของความพึงพอใจต่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการมาตรการเราชนะ การขยายสิทธิ์โครงการคนละครึ่ง การลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา การขยายเวลาลดหย่อนส่งเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้นพบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็น 58.1% และมาตรการเยียวยาที่อยากให้ภาครัฐพิจารณาเพิ่มเติมพบว่า สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การลดดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้ 2.ลดหย่อนทางภาษี/เลื่อนการชำระภาษี 70.6% 3.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ 4.การกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษี และ 5.การปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.ก.เงินกู้ฯให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน
26 มกราคม 2564 เกษตรกรชาวสวนส้มโอ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร นำผลส้มโอ พันธุ์ขาวแตงกวา ที่ออกจากสวนจำนวนมากในช่วงนี้ นำมาจำหน่าย ให้กับลูกค้า ที่ซื้อไปรับประทาน และ จำหน่ายต่อให้กับบรรดา พ่อค้า และ แม่ค้า นำไปจำหน่ายต่อ โดยการคัดแยกขนาดของผลส้มโอ เพื่อส่งให้กับลูกค้า ในกิโลกรัมละ16- 20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงจากเดิม เมื่อปีที่ผ่านมา ที่มีราคาถึงกิโลกรัมละ 22- 25 บาท เนื่องจากสถานการณ์ไวรัส โควิด จึงทำให้ส้มที่ออกจำนวนมาก มีราคาลดลง และ จำหน่ายไม่ออก เนื่องจากตลาด ที่ซื้อไปจำหน่ายถูกปิด หลายพื้นที่ จึงทำให้ยอดสั่งซื้อลดลง
นางโสภา เอี่ยมพร เกษตรกรชาวสวนส้มโอ หมู่ที่ 4 บ้านวังกระโดน อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ระบุ ว่า ในปีนี้ ส้มโอ ออกสู่ตลาดจำนวนมาก แต่ ด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่งผลทำให้ยอดที่เคยส่งจำหน่ายดี กลับ ลดลงกว่าครึ่ง เนื่องจาก แหล่งจำหน่ายตลาด หลายจังหวัดถูกปิดลง จึงทำให้ยอดขายลดลง และ ยังกังวล หากมีการระบาดต่อเนื่อง จะส่งทำให้ส้มที่จะออกอีกครั้ง จำนวนมาก ในช่วงเดือน เมษายน จะจำหน่ายไม่ออก และ มีราคาถูกลง
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดพิจิตรพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจำนวน 10ราย รักษาหายแล้ว 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย และ กำลังรักษาตัว 3 รายและ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นระยะเวลา 22 วัน แล้ว
27 มกราคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ทำเนียบเครมลินรายงานว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียได้สนทนาทางโทรศัพท์ครั้งแรกกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่เพิ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้นำทั้งสองได้กล่าวถึงความคืบหน้าต่างๆ ด้านข้อตกลงทางทหารที่สำคัญและความร่วมมือในประเด็นระหว่างประเทศของสองประเทศ
แถลงการณ์ของเครมลินระบุว่า ประธานาธิบดีทั้งสองยินดีที่จะแลกเปลี่ยนบันทึกทางการทูตว่าด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับการต่ออายุสนธิสัญญาลดอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (New Strategic Arms Reduction Treaty) โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับกลไกสำคัญดังกล่าวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ปูตินและไบเดนยังพูดคุยถึงหลากหลายหัวข้อเกี่ยวกับวาระระหว่างประเทศ รวมถึงการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้า (Open Skies Treaty) และประเด็นข้อกังวลอื่นๆ เช่นการกลับมาเจรจาตามแผนปฏิบัติครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan of Action) ว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และการจัดการข้อพิพาทยูเครน
นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจทวิภาคี รวมถึงความเป็นไปได้ของความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ปูตินได้แสดงความยินดีต่อไบเดน ที่ได้เริ่มทำงานในฐานะประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ พร้อมเน้นย้ำอีกครั้งว่า “การฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาเป็นปกติ” จะเป็นประโยชน์แก่สองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึง “ความรับผิดชอบพิเศษของทั้งสองประเทศในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของโลก “
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012