ขณะมีกระแสข่าวโหมกระพือออกมาเป็นระยะๆว่า “ประเทศสหรัฐฯ อาจจะถังแตกเร็วๆนี้” แต่ทว่าหากลองหันไปศึกษาถึงความแข็งแกร่งของสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ แล้ว จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วนำไปสู่ความถาวรแบบยั่งยืนแทบทั้งสิ้น
จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาสหรัฐฯ ได้ระบุเอาว่า ในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเกือบสี่พันแห่ง !!! อย่างไรก็ตามในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่นั้น ดูเหมือนว่ายังมีมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯหลายๆ สถาบันที่ไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ต้องปิดตัวไป
แต่ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยที่มีความแข็งแกร่งมากกว่าสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ปรับตนเองยอมเปลี่ยนแนวหันไปเปิดหลักสูตรสอนทางออนไลน์ 100% ซึ่งส่วนใหญ่ต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
ทั้งนี้ยังมีโจทย์ที่ผู้คนต้องการจะทราบในหัวข้อที่ว่า เรียนแขนงใดที่ได้รับค่าตอบแทนมากที่สุด?
จากผลการวิเคราะห์ของนิตยสารฟอร์ปส์ที่ดึงเอาข้อมูลมาจากกระทรวงศึกษาสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2023 นี้ว่า นักศึกษาที่ศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์และเพิ่งจบสามารถรับผลตอบแทนจากการทำงานอย่างน้อยสองแสนดอลลาร์ต่อปี โดยอันดับหนึ่งก็คือนักศึกษาที่จบจากฮาร์วาร์ด ส่วนนักศึกษาที่จบจาก California Institute of Technology มาเป็นอันดับสอง และนักศึกษาจาก Carnegie Mellon University อยู่ในอันดับที่สาม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียอยู่ในอันดับที่สี่ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพรินส์ตัน อยู่ในอันดับห้าถัดจากการเรียนด้านคอมพิวเตอร์ รองลงมาก็คือ ด้านการเงิน และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับค่าตอบแทนไล่เลี่ยกับแขนงวิชาคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว !!!
เท่าที่ผ่านมาคนอเมริกันส่วนใหญ่มักจะมีค่านิยมส่วนบุคคลอันแข็งแกร่งทางด้านมีจิตกุศลในการเป็นผู้ให้ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยล้วนแล้วแต่มีองค์กรที่รับผิดชอบทางด้านบริหารจัดงานเงินบริจาค นั่นก็คือ “มูลนิธิ” (Foundation) โดยส่วนใหญ่แล้วในสหรัฐฯ มักจะใช้ศัพท์ “เอ็นดาวเม้นท์” (Endowment) แทน โดยขณะนี้มูลนิธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีมีถึงหนึ่งหมื่นห้าพันแห่งในสหรัฐฯ
ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแห่งชาติ 397 ได้รับเงิบบริจาคหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านค้นคว้าวิจัย ซึ่งมีการเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก โดยเฉลี่ยแล้วมหาวิทยาลัยแห่งชาติเหล่านี้จะได้รับเงินบริจาคอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์
ซึ่งเงินบริจาคที่แต่ละสถาบันการศึกษาได้รับมานั้น จะนำมาใช้เป็นกองทุนต่อเนื่อง เพื่อต้องการจะบรรลุเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยผู้ที่มอบเงินบริจาคสามารถกำหนดวิธีการและระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยจะใช้เงินที่พวกเขาบริจาคให้
ทั้งนี้ผู้บริหารดูแลเงินบริจาค ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างศรัทธาให้เกิดแก่บรรดาผู้บริจาค ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 1972 โดยขณะนี้มียอดเงินบริจาคมากถึง 53.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นยอดเงินบริจาคให้แก่สถาบันการศึกษาสูงที่สุดทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก โดยยอดเงินบริจาคของฮาร์วาร์ดยังมีมากกว่าจีดีพีของบางประเทศด้วยซ้ำไป !!!
ทั้งนี้รายได้ส่วนหนึ่งของมูลนิธิฮาร์วาร์ดจะนำมาใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อความอยู่รอด เพื่อความยั่งยืน และเพื่อความมั่นคง โดยกองทุนนี้จะถูกแบ่งออกเป็นกองทุนย่อยๆ อีกกว่า 1400 กองทุน
ส่วนหนึ่งจะจ่ายเป็นการกระจายประจำปีเพื่อสนับสนุนงบประมาณของมหาวิทยาลัย และสนับสนุนคนรุ่นต่อๆ ไป
ส่วนการบริหารจัดการของกองทุนนี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังได้จัดตั้งบริษัท “Harvard Management” มาเป็นฝ่ายจัดการ ซึ่งบริษัทแห่งนี้เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหารของบริษัทจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย
อนึ่งศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ นับว่าเป็นแหล่งบริจาคสำคัญให้กับสถาบันที่ตนจบการศึกษาอีกแหล่งหนึ่งเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่แล้วบรรดาศิษย์เก่ามักจะกลับมาให้ความช่วยเหลือต่อมหาวิทยาลัยที่ตนศึกษาจบไป ซึ่งมีผลทำให้สถาบันการศึกษาสามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่าย นำไปสร้างโครงการใหม่ๆ และยังนำเงินบริจาคต่อยอดมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาปัจจุบันและในอนาคต นับได้ว่าศิษย์เก่าก็เป็นส่วนหนึ่งในการหาเงินเข้าสู่สถาบันการศึกษา และยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันที่โดยทั่วไปแล้วหากมหาวิทยาลัยใดก็ตามสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับศิษย์เก่าเป็นอย่างดี ศิษย์เก่าก็มักจะเป็นแรงสนับสนุนและยังเป็นกำลังสำคัญในการระดมทุน สร้างการตลาดแบบปากต่อปากได้อย่างล้ำเลิศ อีกด้วย !!!
ทั้งนี้ขอตัวอย่าง 2 เรื่อง ของศิษย์เก่าในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ สองแห่ง ที่ต่างก็มีความจงรักภักดีบริจาคเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้แก่มหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษา กรณีแรกก็คือ “ไอรา ฟุลตัน” วัย 91 ปี เกิดที่ รัฐแอริโซนา เขายึดอาชีพทางด้านการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักธุรกิจ ซึ่งอดีตที่ผ่านมาเขาเติบโตในบ้านเล็กๆ เริ่มทำงานด้วยการเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ให้กับลูกค้ากว่า 500 รายในแต่ละวัน และเมื่อถึงวัยที่จะเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เขาก็ได้เข้าศึกษาที่ Arizona State University ด้วยการได้รับทุนการศึกษา ด้านการเป็นนักกีฬาฟุตบอล
ในช่วงสามสิบปีระหว่างปีค.ศ. 1970-2000 ไอรา ฟุลตัน สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้ใจบุญที่เอื้อเฟื้อต่อองค์กรกุศล สถาบันการศึกษาและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั่วประเทศ และในปี 2003 ไอรา ฟุลตันได้บริจาคเงิน 50 ล้านดอลลาร์เพื่อก่อตั้งอาคารวิศวกรรมศาสตร์ให้กับ Arizona State University และไม่กี่ปีต่อมาเขาก็ได้บริจาคเงินอีก 100 ล้านดอลลาร์ มีผลทำให้ขณะนี้คณะวิศวะของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ได้รับการจัดอันดับสถาบันยอดเยี่ยมในอันดับที่ 41 ของสหรัฐฯ
และถึงแม้ว่าไอรา ฟุลตัน จะเป็นชาวแอริโซนาโดยกำเนิดก็ตาม แต่เขาได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวรัฐยูทาห์เป็นอย่างมาก เพราะเขาควักเงินบริจาคถึง 50 ล้านดอลลาร์ให้กับ “มหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง” (Brigham Young University) ที่เมืองโพรโว รัฐยูทาห์ ให้นำไปสร้างอาคารใหม่ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และยังบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง เพิ่มอีกหนึ่งร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อให้นำไปสร้างหลักสูตรและตั้งศูนย์ แอนิเมชั่นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ดังเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Robot และ เรื่อง Star Wars โดยเขาเน้นให้ศูนย์นี้สอนให้นักศึกษาเรียนถึงวิธีการสร้างงานศิลปะ และฝึกให้นักศึกษาทำงานกันเป็นทีม ในการสร้างภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ จนในที่สุดศูนย์แอนิเมชั่นของมหาวิทยาลัยบริกแฮมมีชื่อเสียงโด่งดังและยังเป็นศูนย์แอนิเมชั่นที่มีโปรแกรมดีที่สุดในโลกอีกด้วย
เมื่อปีค.ศ. 2006 นิตยสาร Business Week ได้จัดให้ไอรา ฟุลตัน อยู่ในอันดับที่ 36 ของผู้ใจบุญที่มีใจกว้างที่สุดทั้งหมด 50 คน
ส่วนผู้ใจบุญอีกท่านหนึ่งก็คือ “ริค คารูโซ” มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจาก “ยูเอสซี” และไปเรียนต่อทางด้านกฎหมายที่ “มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์” ก็ได้บริจาคเงิน 50 ล้านดอลลาร์ให้กับมหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ โดยสถาบันการศึกษาแห่งนี้มอบเกียรติตั้งชื่อของคณะกฎหมายตามชื่อของเขาอีกด้วย โดยขณะนี้โปรแกรมที่โดดเด่นด้านไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution) อยู่ในอันดับที่หนึ่งของสหรัฐฯ ติดต่อกันมานานถึง 13 ปีนำหน้าเหนือกว่าฮาร์วาร์ดและสแตนฟอร์ดด้วยซ้ำไป
เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยก็เคยส่งผู้พิพากษา และทนายความจำนวน 60 คนไปเข้าโปรแกรมดังกล่าวอีกด้วย
และเมื่อปีค.ศ. 2015 “ท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์” แห่ง “มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่” ยังได้นำคณะผู้บริหาร โดยมี “รองอธิการบดีชฎิลรัตน์ อัศววิวัฒน์พงศ์” “รองอธิการบดีชุติมา ชวสินธุ์” เดินทางไปสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทั้ง มหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง (Brigham Young University) มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ (Pepperdine University) โดยทั้งสองสถาบันต่างก็ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้น ดูเหมือนว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่มีจิตวิญญาณแห่งความเอื้ออาทรและเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่บริจาคเงินเพื่อสร้างสรรค์และส่งเสริมทางด้านการศึกษา โดยคนอเมริกันที่มีความพร้อมต่างเล็งเห็นและต้องการที่จะรักษาความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาให้แก่ชาติบ้านเมืองของเขา ฉะนั้นพี่น้องคนไทยที่มีความเพรียบพร้อมในทุกๆ ด้านแล้ว ก็น่าจะนำไปเป็นแบบอย่างในการสนับสนุนสถาบันการศึกษา เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ลูกหลานชาวไทยของเราก็น่าจะดี
ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Harvard/:ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
องค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ว่าโรคเอ็มพอกซ์ (mpox) หรือที่เดิมเรียกว่าโรคฝีดาษลิง ไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) อีกต่อไป โดยการประกาศยกเลิกสถานะดังกล่าวมีขึ้นหลังจากโรคเอ็มพอกซ์ได้ระบาดไปทั่วโลกมาเกือบหนึ่งปี
นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การตัดสินใจยกเลิกสถานะดังกล่าวมาจากจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ย้ำว่าโรคเอ็มพอกซ์ยังคงเป็นภัยคุก คามโดยเฉพาะในพื้นที่แถบแอฟริกา ซึ่งโรคนี้ถือเป็นโรคเฉพาะถิ่นมาอยู่อย่างยาวนาน
การประกาศยกเลิกสถานะ PHEIC ของโรคเอ็มพอกซ์มีขึ้น 1 สัปดาห์ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกเลิกสถานะ PHEIC ของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นระดับเตือนภัยด้านสาธารณสุขโลกไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี กีบรีเยซุสย้ำว่า มันก็เหมือนโควิด-19 คือไม่ได้หมายความว่ามันจบลง เพราะแม้ว่าภาวะฉุกเฉินของเอ็มพอกซ์และโควิด-19 จะจบลงแล้ว แต่ภัยคุกคามของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่จะกลับมาสำหรับไวรัสทั้งคู่ยังคงอยู่ และมันยังคงเข่นฆ่าชีวิตผู้คนต่อไป
กีบรีเยซุสกล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์น้อยลงเกือบ 90% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเวลา 3 เดือนก่อนหน้า ขณะนี้เราเห็นความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยใช้บทเรียนที่เรามีจากการควบคุมการแพร่ระบาดของเอชไอวี ควบคู่กับการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
เนื่องจากผู้ป่วยเอ็มพอกซ์ส่วนใหญ่พบได้ในกลุ่มชายรักชาย จึงทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าการเลือกปฏิบัติอาจขัดขวางการรับมือกับการแพร่ระบาด แต่กีบรีเยซุสย้ำว่า การถูกตราหน้าเป็นประเด็นสำคัญใน
การจัดการกับโรคระบาดนี้ และยังคงขัดขวางการเข้าถึงการดูแลรักษาโรคเอ็มพอกซ์ อย่างไรก็ดี ความหวาดกลัวว่าจะเกิดปฏิกิริยารุนแรงเฉียบพลันต่อกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเรารู้สึกขอบคุณต่อเรื่องนี้
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ในขณะที่เรายินดีต่อแนวโน้มการแพร่ระบาดของเอ็มพอกซ์ที่ลดลงทั่วโลก แต่ไวรัสดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อชุมชนในทุกภูมิภาค รวมถึงในแอฟริกา ซึ่งเรายังคงไม่เข้าใจเกี่ยวกับการแพร่เชื้อได้มากนัก
บีบีซี รายงานวันที่ 12 พ.ค. ว่า กระทรวงกลาโหม บล็อกเกอร์ทางทหารของรัสเซียรายงานความคืบหน้าของยูเครนว่ามีการเคลื่อนไหวกองกำลังในหลายพื้นที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวก่อนหน้านี้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะเริ่มตอบโต้ในสมรภูมิบักมุต
“ด้วยสิ่งที่เรามีอยู่แล้วเราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ และผมคิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่เราจะสูญเสียผู้คนจำนวนมาก ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นเราต้องรอ เรายังต้องการเวลาอีกหน่อย” นายเซเลนสกีให้สัมภาษณ์สื่อในเครือยูโรวิชชั่น
กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า “การรายงานทางเทเลแกรมเกี่ยวกับความคืบหน้าในหลายจุดแนวหน้านั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สถานการณ์ทั่วไปในเขตปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียยังอยู่ภายใต้การควบคุม”
วันเดียวกัน นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอังกฤษ แถลงว่าจะส่งหาขีปนาวุธพิสัยไกลตามที่ยูเครนร้องขอเพื่อนำไปใช้ในการต่อสู้กับการรุกรานของกองกำลังรัสเซีย โดยขีปนาวุธที่อังกฤษจะจัดสรรให้ยูเครนคือ “สตอร์มชาโดว์” ขีปนาวุธติดตั้งเครื่องบินรบ มีพิสัยยิงไกลกว่า 250 กิโลเมตร
พร้อมย้ำว่าอาวุธเหล่านี้จะทำให้ยูเครนมีโอกาสที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเอง พิสัยการยิงที่ไกล ขึ้นหมายความว่านักบินยูเครนสามารถอยู่ห่างจากแนวหน้าได้มากขึ้น เมื่อยิงออกไปสตอร์มชาโดว์จะลดวิถีการเคลื่อนตัวในความสูงที่ต่ำลงเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากเรดาร์ของศัตรู ก่อนโจมตีเป้าหมายด้วยระบบตรวจ จับอินฟราเรด
12 พฤษภาคม 2566 : สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมอร์ริก การ์แลนด์ รัฐมนตรียุติธรรมของสหรัฐฯ แถลงการณ์ว่า เขาอนุมัติการโอนเงินที่ยึดได้จาก คอนสแตนติน มาโลเฟเยฟ มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ให้กับยูเครน ซึ่งเป็นการโอนเงินครั้งแรกที่ยึดได้เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูบ้านเมืองยูเครน และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่า คอนสแตนติน มาโลเฟเยฟ ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ บังคับ ใช้ต่อรัสเซีย โดยอัยการกล่าวหาว่าเขาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ชาวรัสเซีย เพื่อส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดนในคาบสมุทรไครเมียของยูเครน ที่ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในปี 2557
เมอร์ริก การ์แลนด์ ประกาศว่า กระทรวงฯ ยึดเงินหลายล้านดอลลาร์จากบัญชีของมาโลเฟเยฟ ในสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่ตรวจสอบได้ว่าละเมิดมาตการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ภายหลังรัสเซียเปิดสงคราม ในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 การ์แลนด์ประกาศตั้งคณะทำงานชุดใหม่ที่ใช้ช่อว่า KleptoCapture เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบมหาเศรษฐีที่มีอิทธิพลทางการเมือง หรือ “โอลิการ์ช” ของรัสเซีย พยายามหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ลงโทษต่อบุคคลหรือองค์กรในรัสเซียและจนถึงขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยึดทรัพย์สิน หลายรายการของโอลิการ์ชหลายราย ซึ่งรวมถึงซูเปอร์ยอชต์หรูลำตัวยาว 106 เมตร ของสุไลมาน เกริมอฟ มูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ ที่จอดเทียบท่าในฟิจิ
โดยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วสภาคองเกรสของสหรัฐฯ อนุมัติกฎหมายที่อนุญาตให้ถ่ายโอนทรัพย์สินบางอย่างที่ยึดได้จากมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ให้กับยูเครนผ่านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อมาเมษายนของปีนี้กระทรวงยุติธรรมขอให้สภาคองเกรสขยายรายการทรัพย์สินที่สามารถส่งมอบให้ยูเครน โดยเฉพาะเงินที่ยึดได้จากการละเมิดมาตรการควบคุมการส่งออกต่อรัสเซีย
ศาลสูงปากีสถานพิพากษาว่ากระบวนการจับกุมอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย อิมรอน ข่าน ซึ่งถูกจับกุมอย่างทุลักทุเลเมื่อสองวันก่อนจึงได้รับการปล่อยตัวในที่สุด
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่าสองวันให้หลังการจับกุมตัวอดีตนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน ระหว่างเดินทางมาขึ้นศาลในกรุงอิสลามาบัด และจุดชนวนให้เกิดเหตุปะทะร้ายแรงระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกับกองกำลังความมั่นคงจนกลายเป็นจลาจลครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ล่าสุด ศาลสูงของปากีสถานพิพากษาให้กระบวนการจับกุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งปล่อยตัวข่านในทันที
ข่านได้รับคำสั่งให้อยู่ในการควบคุมตัวของผู้พิพากษาภายใต้การคุ้มครองของตำรวจเพื่อความปลอดภัยของเขาเองจนถึงวันศุกร์
“การจับกุมของหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นกระบวนการทั้งหมดจึงเป็นโมฆะ” หัวหน้าผู้พิพากษาศาลกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีในกรุงอิสลามาบัด
นับตั้งแต่ถูกขับออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ข่านได้รณรงค์หาเสียงอย่างดุเดือดเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่อย่างรวดเร็ว และวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำคนปัจจุบันและชนชั้นนำทางทหารที่มีอำนาจ รวมถึงการกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นวางแผนลอบสังหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทำให้เขาถูกยิงที่ขา
ขณะเดียวกัน ข่านพัวพันกับคดีความหลายคดีซึ่งมักเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนฝั่งตรงข้ามในปากีสถาน จนกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าศาลถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง อดีตนักคริกเก็ตผู้นี้ ซึ่งถูกล้อมด้วยกองกำลังกึ่งทหารหลายสิบนายเมื่อวันอังคาร และถูกควบคุมตัวในข้อหารับสินบนที่ศาลสูงอิสลามาบัด กล่าวว่าเขาถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ก่อการร้าย
ข่าน วัย 70 ปี ได้รับคำสั่งให้กลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งเดิมที่เขาถูกอายัดตัวในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขว่าควรได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็น “ที่พัก”
ฝั่งรัฐบาลปากีสถานแสดงความไม่พอใจต่อการยกเลิกการจับกุมข่าน และยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ล้มเลิก
“เราจะจับกุมเขาอีกครั้ง” รานา ซานาอุลเลาะห์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับสื่อทีวีปากีสถาน โดยยอมรับอย่างชัดเจนถึงความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างฝ่ายบริหารและข่าน
“หากเขาได้รับการประกันตัวจากศาลสูงในวันพรุ่งนี้ เราจะรอการยกเลิกประกันตัวและจับกุมเขาอีกครั้ง” ซานาอุลเลาะห์ กล่าวทิ้งท้าย
ในวันศุกร์นี้ ข่านจะต้องเผชิญกับข้อหาฉ้อโกงที่สำนักงานความรับผิดชอบแห่งชาติ (National Accountability Bureau) เป็นผู้สั่งจับกุมเขา หลังจากข่านไม่เคยมาขึ้นศาลตามหมายเรียกเลยสักครั้ง
รอง ผบ.ตร. ไม่หนักใจแม้ “แอม ไซยาไนด์” ไม่ขอให้ปากคำ 6 พ.ค. มั่นใจในพยานหลักฐานที่มีสามารถเอาผิดได้ คาดมีคนใกล้ชิดผู้ต้องหาอีก 1-2 คน มีเอี่ยว
จากกรณีเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ ทนายความ ซึ่งเป็นคนที่ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม ไซยาไนด์” ขอพบ และเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า แอมยังคงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และเจ้าตัวประสงค์จะขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น พร้อมบอกว่าไม่ต้องให้ใครมารบกวนเข้าเยี่ยมอีกนอกจากทนายความ เพราะกลัวแท้งลูก เนื่องจากต้องเดินลงมาบ่อย รอเจอในชั้นศาลทีเดียว ส่วนในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.) ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. จะเข้าสอบปากคำนั้น ก็ยืนยันยังจะไม่ให้การใดๆ เว้นแต่จะให้การในชั้นศาล...
คืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 18.23 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า เมื่อวาน (4 พ.ค.) แอมให้การปฏิเสธไม่ขอพูดอะไรทั้งสิ้น และขอพูดกับทนายความ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจและเป็นเพื่อนมานาน ตนให้สิทธิเขาคุย การที่ทนายไปพบแอมแล้วออกมาเปิดเผยว่า แอมจะให้การในชั้นศาลก็เป็นสิทธิของเขาที่จะให้การ ตนได้บอกชุดทำงานไปแล้วว่าเราไม่รอ วันนี้พยานหลักฐานที่มีมาไกลมากแล้ว พยานหลักฐานมีความเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับแอม เหลือเพียงแค่คนรอบข้างที่ต้องหาหลักฐานมาดำเนินคดี ส่วนแอม ตนไม่กังวลใจ วันนี้มีพยานสำคัญมาสอบปากคำสองปาก แต่ไม่ขอเอ่ยว่าเกี่ยวข้องอย่างไร
รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า เรื่องนี้มันเหมือนเรื่องนิยาย คนหนึ่งคนฆ่าคนได้ 14 คน ถือว่าเลวร้ายมาก เมื่อตนลงไปในพื้นที่มากขึ้น มันเจอพยานหลักฐานมากขึ้น การฆ่าคน 14 คน มันไม่มีทางที่จะไม่ทิ้งร่องรอยไว้ การก่ออาชญากรรมก็เหมือนการเล่นเกม เช่น ให้เวลา 15 นาที ยังไงก็ต้องทิ้งร่องรอยเอาไว้ ทุกอย่างเราสามารถไล่ความเชื่อมโยงได้หมด เพราะฉะนั้นคนที่แนะนำแอมรู้วิชาสอบสวนแต่ไม่รู้วิชาสืบสวน ยังไงก็ไม่รอดมือตำรวจ ที่แอมรอดมาได้นักต่อนัก เพราะการไม่ได้ชันสูตรพลิกศพ ส่วนสามีแอมไม่ต้องกังวล ตอนนี้กำลังไล่พยานหลักฐานอยู่ อะไรก็ตามที่เคยทำไป ชุดสืบสวนรู้ทั้งหมด เพียงแต่กำลังรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ คดีแบบนี้แอมทำไม่ได้ ถ้าไม่มีคนแนะนำ ตนไม่รู้สึกหนักใจเรื่องที่ไม่ยอมรับสารภาพ การพูดคุยส่วนหนึ่งการสืบสวนสอบสวนก็ส่วนหนึ่ง ตนมั่นใจในพยานหลักฐานมีเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับแอมทุกข้อหา ต้องทำให้จำนนต่อหลักฐาน และให้เขายอมรับสารภาพเอง
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 8 พ.ค. นี้ ตนจะเรียก ผอ.กรมโรงงานฯ มาสอบสวนถึงปัญหาไซยาไนด์ เพราะการนำเข้าสารไซยาไนด์ กรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้อนุญาตให้นำเข้ามา กรมโรงงานฯ เอาเข้ามาต้องควบคุม ไม่ใช่ปล่อยแบบนี้ การเอาไซยาไนด์เข้ามาตามกฎหมาย ให้เอาเข้ามาเพื่อใช้ในโรงงานเพื่อศึกษาวิจัย การขายไปให้ใครต่อใครทางออนไลน์ มันต้องดูคนที่จะซื้อว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้เขียนว่า ห้ามจำหน่าย แต่คุณจะเอาสารควบคุมที่มีพิษรุนแรง ทำให้คนเสียชีวิตได้ภายใน 10 วินาที ไปจำหน่ายให้ใครง่ายๆ ไม่ได้
รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า เรื่องการชันสูตรพลิกศพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องหารือกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข ในการชันสูตรพลิกศพ จะต้องไม่ใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนแล้ว ทุกวันนี้การชันสูตรพลิกศพพนักงานสอบสวนจะใช้ดุลพินิจ แต่ต่อไปจะต้องเป็นการวางระเบียบเพื่อไม่ให้ล้าสมัย ไม่ใช่เรื่องญาติติดใจหรือไม่ติดใจสาเหตุการตาย ถ้าหากมีการเสียชีวิตที่ดูผิดธรรมชาติ จะไม่ปล่อยสภาพศพลักษณะไหนจะต้องตรวจหาสารพิษในร่างกาย หมอที่ตรวจได้จะต้องเป็นหมอเฉพาะทาง ต้องมีประจำอยู่ที่โรงพยาบาล เพราะฉะนั้น จะต้องวางแนวทางร่วมกัน ต้องแก้ปัญหาในเชิงก้าวหน้าต่อไป
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012