ข่าว
ล้มเหลว! 'เกาหลีเหนือ'ส่งดาวเทียมสอดแนมไม่สำเร็จ

31 พ.ค.66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกาหลีเหนือไม่ประสบความสำเร็จในการยิงจรวดเพื่อปล่อยดาวเทียมจารกรรมในวันนี้ โดยได้ตกลงในทะเลเหลือง หลังจากเครื่องยนต์ระยะ 2 มีปัญหา

สำนักข่าวกลางเกาหลีหรือเคซีเอ็นเอ (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า จรวดชอนลิมาวัน (Chollima-1) บรรทุกดาวเทียมจารกรรมทางทหารมันลียงวัน (Malligyong-1) ตกลงในทะเลเนื่องจากมีความผิดปกติที่เครื่องยนต์ระยะ 2 เกาหลีเหนือเตรียมจะปล่อยจรวดครั้งใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ด้านคณะเสนาธิการร่วมของเกาหลีใต้แจ้งว่า ตรวจพบการปล่อยจรวดที่ศูนย์ปล่อยจรวดทงชัง-รี จังหวัดพยองอันเหนือ ทางฝั่งตะวันตกของเกาหลีเหนือเมื่อเวลา 06:29 น.วันนี้ตามเวลาเกาหลี ตรงกับเวลา 04:29 น.วันนี้ตามเวลาไทย จรวดได้ตกลงในน่านน้ำห่างจากเกาะที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ไปทางตะวันตก 200 กิโลเมตร กองทัพเกาหลีใต้พบวัตถุที่ดูเหมือนเป็นชิ้นส่วนของจรวดเกาหลีเหนือและกำลังเก็บกู้ขึ้นมา

'พิธา'โพสต์ขายฝันเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย จะต้องไม่เหมือน 40 ปีก่อน'หัวโต-ตัวลีบ'

31 พ.ค.66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงพบปะหารือหอการค้าไทยวันนี้ ระบุว่า วันนี้ ผมและทีมงานพรรคก้าวไกลได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสภาหอการค้าไทย นำโดยคุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สภาพเศรษฐกิจไทยถือว่าอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของความท้าทาย เราจะตามโลกไม่ทัน หรือเราจะเดินหน้าสร้างอนาคตใหม่ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สุดของเมืองไทย

เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ไม่ว่าพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยหรือรายได้ต่อหัว ดังนั้น เป้าหมายของพรรคก้าวไกลในการบริหารเศรษฐกิจ คือทำให้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ไทยอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยโลก มีเศรษฐกิจที่เติบโตควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ

เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเน้นการส่งออก พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากเกินไป เมื่อวันนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เช่น วิกฤติโควิด หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เมื่อดู SME ซึ่งถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ จะเห็นว่า SME ไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าช่วงก่อนโควิด จากช่วงก่อนโควิดปี 2562 สัดส่วนของ SME ต่อ GDP อยู่ที่ 35.3% ในปี 2565 ยังอยู่ที่ 34.9% แม้ตัวเลขดูไม่มาก แต่มูลค่าที่หายไปนั้นมหาศาล

ยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกล ผมย้ำว่าต้องเดินหน้า 3F ในระดับมหาภาค

- Fast-Forward Growth เสริมเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่

- Fair game สร้างกติกาและกลไกภาครัฐเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

- Firm Ground วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

พร้อมทั้งกันนั้น เราต้องส่งเสริม SME ไปด้วยกันผ่านนโยบาย 5ต. 1) แต้มต่อ เช่น หวยใบเสร็จ 2) เติมทุน เช่น ทุนสร้างตัว รายละ 100,000 บาท 3) ตัด cost เช่น SME นำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี 4) เติมตลาด เช่น กำหนดชั้นวางสินค้า SME ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และ 5) ตั้งสภา SME ให้มีอำนาจต่อรองเทียบเท่าทุนใหญ่

เศรษฐกิจไทยวันนี้ ไม่สามารถทำเหมือน 40 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะให้เศรษฐกิจไทยเป็นแบบหัวโต-ตัวลีบ เราต้องเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล ไม่หวังพึ่งพาต่างประเทศหรือการส่งออกเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้มแข็งจากในประเทศ ทำให้คนไทยเท่าเทียมกันและทัดเทียมโลก สร้างงานซ่อมประเทศไปด้วยกันครับ


นักลงทุนว่าไง?! 'พิธา'การันตี'ศิริกัญญา'เป็นว่าที่รมว.คลังดีที่สุดในตอนนี้

31 พ.ค.66 ที่หอการค้าไทย สภาหอแห่งประเทศไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า ในวันที่ 1 มิถุนายน ตนจะพบองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ดูว่าจะพูดคุยกันในประเด็นใด แต่คงเป็นเรื่องการบริหารงานส่วนท้องถิ่น

เมื่อถามถึงกรณีคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวล เมื่อถามต่อว่า เรื่องนี้อาจจะผูกพันไปที่เรื่องว่าที่ ส.ส.ภายในพรรคด้วยหรือไม่ นายพิธา กล่าวอีกว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะอนุมานได้หรือไม่ คงต้องดูที่คำร้อง

เมื่อถามว่าเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือไม่ เนื่องจากหลายเวทีคำตอบด้านเศรษฐกิจไม่เป็นที่พอใจสำหรับนักลงทุน นายพิธากล่าวว่า ตนมั่นใจในตัว น.ส.ศิริกัญญาเกินร้อย บางคนอาจจะมีโอกาสได้คุยกับน.ส.ศิริกัญญาไม่นานมาก แต่ตนเองทำงานด้วยกันมา 4 ปี

“เขาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ดีที่สุดในช่วงนี้” นายพิธา กล่าว เมื่อถามว่าสามารถพูดได้เลยหรือไม่ว่าเป็นน.ส.ศิริกัญญา นายพิธากล่าวว่า แน่นอน


'อีลอน มัสก์'เดินทางเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 3 ปี ยืนยันเดินหน้าขยายตลาดธุรกิจ'เทสลา'

31 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา เข้าพบฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ทันทีที่เดินทางถึงกรุงปักกิ่งด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ซึ่งเป็นการเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 3 ปี

ฉิน กัง กล่าวว่า การพัฒนาความทันสมัยของจีนจะสร้างแนวโน้มการเติบโตและความต้องการของตลาดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ใช้พลังงานใหม่ๆ มีโอกาสเติบโตอย่างมาก และจีนจะเดินหน้าเปิดกว้างตลาดในระดับสูง และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยึดหลักกฎหมายและเป็นไปตามกลไกตลาดสำหรับเทสลาและบริษัทต่างชาติอื่นๆ นอกจากนี้เขายังเปรียบเทียบการขับขี่รถกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้วยว่า เราต้องเหยียบเบรกให้ทันเวลา,หลีกเลี่ยงการขับขี่ที่อันตราย และมีความชำนาญในการใช้คันเร่งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

กระทรวงต่างประเทศจีน เปิดเผยด้วยว่า อีลอน มัสก์ กล่าวว่า เขาพร้อมขยายการทำธุรกิจในจีน และคัดค้านการแบ่งขั้วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน โดยเปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกทั้งสองแห่งเป็นเหมือน แฝดตัวติดกัน

การเยือนจีนของอีลอน มัสก์ มีขึ้นในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตอย่างชะลอตัว หลังจากบริษัทต่างชาติกังวลต่อการกวดขันของทางการจีน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ


จีนนำเข้า'ทุเรียนเวียดนาม'เพิ่มมากขึ้น ผู้ค้าปลีกเผยราคาถูกกว่า'ทุเรียนไทย'ถึง15%

31 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บ็อบ หวัง ผู้ก่อตั้ง TWT Supply China ซึ่งมีผู้ประกอบการขนส่งทั้งแบบเป็นเจ้าของเองและรับจ้างมากกว่า 3,000 รายทั่วประเทศจีน กล่าวว่า เขานำเข้าทุเรียนไทยมานานกว่า 8 ปี แต่ปัจจุบันได้ทำข้อตกลงกับฟาร์มทุเรียนของเวียดนามซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดประมาณ 18,750 ไร่ และกำลังสั่งซื้อเท่าที่สามารถจัดหาได้เพื่อนำเข้าไปยังจีน หากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี จะนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 60,000 ตันในปีนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีน ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของการนำเข้าจากไทยของบริษัท

บ็อบ หวัง กล่าวต่ออีกว่า ปีที่แล้ว จีนนำเข้าทุเรียนมากกว่า 820,000 ตัน ผมค่อนข้างมั่นใจว่ายอดนำเข้าทั้งหมดจะสูงถึงหรือเกิน 900,000 ตันในปีนี้อย่างง่ายดาย ทุเรียนเป็นผลไม้นำเข้ายอดนิยมของจีน แม้จะมีการควบคุมการนำเข้าที่จำกัดอย่างมากในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด แต่จีนก็นำเข้าทุเรียนมากถึง 4 เท่าในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2017 คิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 1.4 แสนล้านบาท) โดยทุเรียนจากไทย ครองตลาดจีนมานานหลายปี แต่ปัจจุบันกำลังถูกท้าทายจากเวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาเลเซียและฟิลิปปินส์เองก็กำลังหาทางขยายการส่งออกทุเรียนไปยังจีน

ด้านผู้ค้าปลีกผลไม้ชาวจีน ระบุว่า ทุเรียนไทยมีราคาแพง แต่รสชาติดีกว่าและเนื้อแน่นกว่า ขณะที่ทุเรียนเวียดนามได้รับการต้อนรับอย่างรวดเร็วเพราะราคาถูกกว่า ด้านทุเรียนเวียดนามมีราคาถูกกว่าทุเรียนไทยประมาณ 15% ศักยภาพทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นของทุเรียนในจีนได้ผลักดันให้เมืองต่าง ๆ ในเขตปกครองตนเองกว่างซี ซึ่งมีพรมแดนติดกับเวียดนาม ตัดสินใจเสริมกำลังด้านโลจิสติกส์เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าทุเรียนจากเพื่อนบ้าน

เฉิน เซียว ผู้อำนวยการศูนย์บริการท่าเรือตงซิงในกว่างซี คาดว่า การนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามจะเติบโตอย่างมากในปีนี้ เมื่อก่อนท่าเรือของเราเน้นนำเข้าอาหารทะเลเป็นหลัก แต่ปีนี้ การนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เป็นช่วงพีคของทุเรียนเวียดนาม และรถบรรทุกขนาดใหญ่หลายสิบคันที่เต็มไปด้วยทุเรียนก็เข้ามาที่ท่าเรือตงซิงทุกวัน

ชายชาวเวียดนามเจ้าของฟาร์มผลไม้เล็กๆ ใกล้นครโฮจิมินห์รายหนึ่งบอกว่า ชาวจีนเริ่มลงทุนทำสวนทุเรียนในบ้านเกิดของเขามากขึ้นชาวสวนผลไม้จำนวนมากในเวียดนามหันมาปลูกทุเรียนเพราะสามารถทำกำไรได้มากกว่าเนื่องจากตลาดจีนมีความต้องการสูงขึ้นทุกปี


กูรูเทคโนโลยีเตือน AI อาจทำให้มนุษย์สูญพันธุ์

31 พ.ค.66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มผู้บริหารด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเตือนว่า เอไออาจทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ ขอให้ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายยกระดับความเสี่ยงนี้ให้เท่ากับความเสี่ยงจากโรคระบาดและสงครามนิวเคลียร์

ศูนย์เพื่อความปลอดภัยเอไอหรือเคส (CAIS) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่มีคนลงชื่อมากกว่า 350 คน เช่น นายแซม อัลต์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของโอเพนเอไอ (OpenAI) ที่พัฒนาแชทจีพีที (ChatGPT) นายเจฟฟรีย์ ฮินตัน และนายโยชัว เบนจิโอ 2 ใน 3 ของผู้ได้รับฉายาเจ้าพ่อแห่งเอไอ ซีอีโอของไมโครซอฟท์และกูเกิล นักวิชาการจากหลายสถาบันในสหรัฐไปจนถึงจีน เนื้อความในจดหมายระบุว่า การบรรเทาความเสี่ยงเรื่องมนุษย์จะสูญพันธุ์จากเอไอควรได้รับความสำคัญในระดับโลก ควบคู่ไปกับความเสี่ยงทางสังคมอื่น ๆ อย่างโรคระบาดและ สงครามนิวเคลียร์

เคสระบุว่า นายยาน เลอกัน เจ้าพ่อเอไอคนที่ 3 ซึ่งทำงานอยู่กับเมตาที่เป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กไม่ยอมลงนาม และทางกลุ่มได้ส่งคำเชิญลงนามไปถึงนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอทวิตเตอร์แล้ว หวังว่าเขาจะลงนามในสัปดาห์นี้ นายมัสก์และผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอหลายคนเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เตือนตั้งแต่เดือนเมษายนว่า เอไออาจมีความเสี่ยงต่อสังคม

'จีน'เริ่มขุดหลุมลึกพิเศษกว่า 10,000 เมตร มุ่งสำรวจแดนใต้พิภพ

31 พ.ค.66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนเริ่มดำเนินการขุดเจาะหลุมแห่งแรกของประเทศที่จะมีความลึกมากกว่า 10,000 เมตร บริเวณแอ่งทาริม (Tarim Basin) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ สำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์

งานขุดเจาะเริ่มดำเนินการตอน 11.46 น. ของวันอังคาร (30 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญด้านการสำรวจพื้นโลกระดับลึกของจีน และมอบโอกาสอันไม่เคยปรากฏมาก่อนในการศึกษาพื้นที่ที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวโลก โดยหลุมเจาะนี้มีความลึกออกแบบ 11,100 เมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของ “ทากลิมากัน” ทะเลทรายขนาดใหญ่ที่สุดของจีน

รายงานระบุว่าชุดอุปกรณ์อย่างหัวเจาะและท่อเจาะ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 2,000 ตัน จะทำการเจาะลึกลงไปในพื้นโลกจนทะลุผ่านชั้นหินภาคพื้นทวีปมากกว่า 10 ชั้น ซึ่งรวมถึงชั้นหินยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ระหว่างกระบวนการขุดเจาะ

หวังชุนเซิง ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่ร่วมงานขุดเจาะ ระบุว่าการขุดเจาะหลุมลึกมากกว่า 10,000 เมตร นับเป็นความพยายามอันกล้าหาญในการสำรวจดินแดนที่ไม่รู้จักมาก่อนของโลกและขยายขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์

ซุนจินเซิง นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าความยากของโครงการขุดเจาะนี้เทียบเท่ากับการขับรถบรรทุกขนาดใหญ่บนสายเคเบิลเหล็กบางๆ สองเส้น

อนึ่ง แอ่งทาริมจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากที่สุดสำหรับการสำรวจเนื่องจากสภาพแวดล้อมพื้นดินอันทุรกันดารและสภาพแวดล้อมใต้ดินที่ซับซ้อน