ข่าว
'อดิศร-ศุภชัย'หวิดวางมวยเวทีสัมมนา

'อดิศร-ศุภชัย'หวิดวางมวย 'ปะทะคารม-แย่งไมค์' กลางเวทีสัมมนาอำนาจเจริญ กองเชียร์เริ่มโห่วิทยากรต้องตัดบทเปลี่ยนเรื่อง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตจังหวัดอำนาจเจริญ องค์กรชุมชนและเครือข่ายชาวบ้าน ร่วมกับสภาพัฒนาการเมือง จัดเวทีเสวนา เรื่อง "การขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม" มีประชาชนจาก 7 อำเภอในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วมเสวนากว่า 200 คน โดยนายมานิจ สุขสมจิตร อดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโส นายอดิศร เพียงเกษ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ และนายแพทย์ชัยพร ทองประเสริฐ อดีต นายก อบจ.อำนาจเจริญ ร่วมเป็นวิทยากร

การเสวนาโดยวิทยากรส่วนใหญ่พูดถึงปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกิดในประเทศไทย การมีผลประโยชน์อย่างแยบยลของนักการเมืองแต่ละท้องที่ ตลอดจนการเข้าครอบงำโดยนายทุนที่มีเบื้องหลังเป็นนักการเมืองระดับชาติ โกงกินในหลายๆโครงการ

ขณะที่นายอดิศรได้แสดงความเห็นด้านระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยกล่าวถึงองค์กรอิสระชื่อต่างๆ ที่เกิดการปฎิวัติรัฐประหาร ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอื่นแต่ไม่มีการถูกตรวจสอบโดยภาคองค์กรอื่นซึ่งไม่มีความเป็นในระบอบประชาธิปไตย

ด้านนายศุภชัยได้กล่าวถึงการบริหารประเทศที่ผ่านมาของไทยที่มีเจ้าของพรรคแบบเบ็ดเสร็จเพียงคนเดียวทำให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างการบริหารประเทศในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การปฎิวัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกล่าวถึงพ.ต.ท.ทักษิณของนายศุภชัยดังกล่าวทำให้นายอดิศรไม่พอใจจึงไมโครโฟนมาแล้วพูดตอบโต้ว่า "เอ้ย ไอ้น้องหยุดพูด..ถ้างั้นเวทีนี้ไม่จบแน่" ทำให้ผู้ดำเนินการอภิปรายต้องขอร้องให้นายศุภชัย หยุดพูดโดยไม่ให้กล่าวถึงชื่อบุคคลที่สาม

อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์บนเวทีมีความตรึงเครียดโดยการเผชิญหน้าระหว่างตัวแทนจากสองพรรคใหญ่ ชาวบ้านที่มาฟังเริ่มโห่ นายแพทย์ชัยพรจึงกล่าวตัดบทและขอคุยเรื่องอื่นๆ แทน ทำให้บรรยากาศตรึงเครียดจึงลดลง แต่นายศุภชัยก็ยังพูดเสียงดังต่อมาว่าถ้าจะพูดถึงแก่นต้องพูดถึงการทุจริตที่พรรคการเมืองกระทำ

“ทักษิณ” ตอบโต้ ปชป. คนไทยไม่เอารัฐประหาร

“ทักษิณ” ออกแถลงการณ์โต้ ปชป.เตรียมส่ง สถานทูตต่างชาติ ประจำประเทศไทยพรุ่งนี้ ย้ำผลการเลือกตั้ง พปช.-พท.ได้รับเสียงข้างมาก สะท้อนคนไทยไม่เอารัฐประหาร

(10 พ.ค.) เวลา 14.30 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ออกแถลงการณ์ในนามที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบโต้แถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ โดยจะเริ่มส่งให้กับสถานทูตประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทย ในวันที่ 11 พ.ค. ซึ่งระบุเนื้อหา 10 ประเด็น สาระสำคัญ ดังนี้ 1.พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวร่ำรวยมานานก่อนเข้าสู่การเมือง ในปี 2537 ความร่ำรวยของครอบครัวได้ถูกประเมินไว้ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ธุรกิจโทรคมนาคมที่ครอบครัวเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นกิจการผูกขาดเพราะมีผู้แข่งขันรายอื่น และสัมปทานได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย จากรัฐบาลพลเรือนในปี 2532 ไม่ใช่จากรัฐบาลทหาร ตามคำกล่าวหาเท็จของพรรคประชาธิปัตย์ 2.ข้อกล่าวอ้างว่ามีการวิสามัญฯหลายพันรายจากการดำเนินนโยบายสงครามต่อต้านยาเสพติด เป็นเรื่องจินตนาการ เพราะ จากรายงานที่เป็นทางการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)มีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพียง 50 รายเท่า ตัวเลขการตาย 2,500 ศพ เป็นตัวเลขการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และจากทุกอาชญากรรมในช่วงเวลาหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมีนโยบายยิงเพื่อสังหารผู้ค้ายา

3.เดือน ก.ย. 2549 มีการรัฐประหารเพื่อล้มพ.ต.ท.ทักษิณ และล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการลบล้างคะแนนเสียงของประชาชนชาวไทยกว่า 14 ล้านคน ได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แล้วร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มอื่นๆในกลุ่มชนชั้นอำมาตย์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉบับปี 2550 เป็นเรื่องน่าละอายที่พรรคประชาธิปัตย์จะพูดถึงการรัฐประหารในเดือนก.ย. 2549 ว่าเป็นเพียงการแทรกแซงโดยทหาร 4.ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนในปี 2550 แสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร ต่อมาในปี 2551 รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เผชิญกับแรงกดดันให้ลงจากอำนาจ ท่ามกลางการประท้วงและการก่อความวุ่นวายโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ส.ส.หลายคนจากพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมการประท้วง ท้ายที่สุดนายสมัคร ถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯ เนื่องจากการออกรายการทีวีทำกับข้าว

5.เดือน ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคเล็กอื่นๆ และได้ตัดสิทธิ์เลือกตั้งนักการเมือง 109 คน เป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากข้อหาที่ว่ากรรมการบริหารพรรค 1 คนได้จ่ายเงินประมาณ 20,000 บาท แก่ผู้นำท้องถิ่นก่อนวันเลือกตั้ง โดยที่กรรมการบริหารพรรครายอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย 6.ข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่านายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านโดยไม่มีความผิด จนก่อให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนนั้น เป็นความเท็จ เพราะทั้งสองท่านไม่เคยดำเนินการดังกล่าว 7.ในเดือน ธ.ค.51 หลังจากการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในประเทศในขณะนั้น แต่ถูกบังคับและเสียสิทธิ์ในการตั้งรัฐบาล เพราะได้มีการรัฐประหารเงียบเกิดขึ้น พรรคเล็กพรรคน้อยถูกบังคับให้ไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้เป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล

8.ประชาชนไม่อาจทนต่อระบบสองมาตรฐานและความอยุติธรรมได้ชุมนุมประท้วงเป็นเวลา 2-3 เดือน จนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้สั่งให้ทหารพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.53 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ศาลอาญาได้ตัดสินในหลายคดีว่าการเสียชีวิตเกิดจากกระสุนจริงที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 9.การตั้งข้อกล่าวหาคดีอาญาและคดีการก่อการร้ายต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร และถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร และสมาชิกประกอบไปด้วยบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองเป็นอย่างมากต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงขัดกับหลักนิติธรรม

10. ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนชนะการเลือกตั้งเป็นนายกฯ ทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และเป็นผู้ตัดสินใจในฐานะนายกฯ ไม่เคยมีเจตนาละเลยหน้าที่นี้ ไม่เคยมีความปรารถนาที่จะครอบงำ 3 อำนาจ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา ที่กล่าวหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส. และ ส.ว. เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คำสั่งนี้ถูกมองโดยนักกฎหมายชั้นนำในประเทศและคนไทยจำนวนหลายล้านคนว่าเป็นการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินเลย อาจละเมิดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ

“ปัญหาการเมืองในประเทศไทยจะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่เจตจำนงและการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับการเคารพ ไม่ควรมีพรรคการเมืองใดได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร หรือจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เฉพาะประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และความยุติธรรม เท่านั้น ที่จะสามารถประกันให้มี สันติภาพ และความมั่งคั่งของประเทศไทย และของโลกได้ ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ยุติการกระทำ” นายนพดล กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการฟ้องร้องนั้น อยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา.

ก.ศืกษาธิการออกกฎเข้มนักศืกษา ห้าม! "ดัด-ซอย-ทำสี-ไว้หนวดเครา"

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอร่างกฎกระทรวงความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. ... ให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนประกาศใช้แล้ว ซึ่งร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติฯ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด 1 ความประพฤติ กำหนดให้นักเรียน และนักศึกษาต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่สังกัดอยู่ และต้องไม่ประพฤติตนดังต่อไปนี้ หนีเรียน หรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน พกพาอาวุธ หรือวัตถุอันตราย แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น และโรงเรียน หรือสถานศึกษาอาจกำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียน และนักศึกษาได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย่งกับกฎกระทรวงนี้

นางพนิตากล่าวต่อว่า หมวด 2 การแต่งกาย นักเรียน และนักศึกษาต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับวัย และสภาพการเป็นนักเรียน และนักศึกษา นักเรียนต้องแต่งกาย หรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาต้องแต่งกาย หรือแต่งเครื่องแบบนักศึกษาตามข้อบังคับ หรือระเบียบของสถานศึกษานั้น และนักเรียน นักศึกษาห้ามใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อเสริมสวย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็น ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียน หรือสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป

นางพนิตากล่าวอีกว่า และหมวด 3 แบบทรงผม กำหนดให้นักเรียนต้องไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ ดังนี้ 1.นักเรียนชายให้ไว้ผมด้านข้าง และด้านหลังยาวไม่เลยตีนผม หรือผมรองทรงก็ได้ 2.นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย ห้ามนักเรียน ดัดผม ซอยผม ทำสีผม ไว้หนวดเครา หรือทำการอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน โดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้ ไม่ใช้บังคับกับนักเรียนในสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และนักศึกษา โดยให้ไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะตามข้อบังคับ หรือระเบียบของสถานศึกษา

"ในหมวด 3 ยังระบุว่า หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไว้ทรงผมแตกต่างจากที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีความจำเป็นทางศาสนา ประเพณี หรือความจำเป็นอื่นใด ก็ให้อยู่ในอำนาจของโรงเรียนเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ โรงเรียนอาจกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ โดยให้รับฟังความคิดเห็น หรือทำประชาพิจารณ์จากนักเรียน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา" นางพนิตากล่าว และว่า ทั้งนี้ คาดว่าร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะประกาศใช้ในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 นี้