วันที่ 28 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลการสั่งคดีที่พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ส่งสำนวนเอกสารหลักฐาน 9 ลัง 61 แฟ้ม 11,242 แผ่น พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ในคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ผู้ต้องหาที่ 1-2 ในข้อหา ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59,80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่ จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ระหว่างเดือน เม.ย. – พ.ค. 53 ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
นายนันทศักดิ์ แถลงว่า คดีนี้ทางดีเอสไอได้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ กรณีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยแต่งตั้งนายสุเทพ เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันออกคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ศอฉ.สกัดกั้นและขอคืนพื้นที่การชุมนุมโดยอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ดังกล่าวใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุม โดยเป็นการใช้อาวุธเกินกว่าความจำเป็น เป็นเหตุให้มีประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุม และประชาชนบริเวณใกล้เคียงถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายสาหัสตามสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาล และรายงานการชันสูตรศพหรือบาดแผลของแพทย์หลายราย อันเป็นการกระทำผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา59,80,83,84,288 เหตุเกิดในหลายท้องที่ในเขตกรุงเทพมหานครเกี่ยวพันกัน ระหว่างวันที่ 7 เมษายน -19 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน
นายนันทศักดิ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งอยู่ในอำนาจของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ที่เป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย ซึ่งนายอรรถพล อัยการสูงสุด พิจารณาแล้วจึงได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า
1.คดีนี้เป็นเรื่องการใช้หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่า หรือพยายามฆ่าไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะดำเนินการไต่สวนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66
2.การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองมีพยานหลักฐานในการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ. ดำเนินการปิดล้อมและสกัดกั้นการเข้าร่วมชุมนุม การเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้ชุมนุม และการขอคืนพื้นที่ชุมนุม โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่
สามารถใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนได้ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัสจากการใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ ศอฉ.ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บริหารทั้งสอง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากคำสั่งของผู้ต้องหาทั้งสอง พยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่าเป็นการก่อให้ ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าตามข้อกล่าวหา
3.การออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอฉ.ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหลายครั้งในเวลาต่างกันโดยให้ปฏิบัติในพื้นที่ต่างกัน แม้ผลจากการกระทำตามคำสั่งของผู้ต้องหาทั้งสองจะมีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บต่างเวลาและต่างสถานที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นการออกคำสั่งที่ต่อเนื่องกันขณะที่มีการชุมนุม ทั้งนี้มีเจตนาเดียวกันเพื่อสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83,84,90 และ 288
ขั้นตอนหลังจากนี้จะนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาล โดยอัยการได้นัดให้ดีเอสไอนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องต่อศาลอาญาในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด แต่เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในสมัยเปิดประชุมสภา ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองสามารถใช้เอกสิทธิ์ความเป็นส.ส.คุ้มครองได้ จึงต้องรอให้ปิดสมัยประชุมช่วงเดือนธ.ค.นี้ก่อน
หลังจากนี้หากดีเอสไอจะทำสำนวนเข้ามาเพิ่มอีกหลังจากที่ศาลมีคำสั่งการไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตรายอื่น อัยการก็จะนำมารวมเป็นสำนวนเดียวกันได้ เพราะถือว่าการเสียชีวิตเกิดจากการออกคำสั่งเพียงครั้งเดียว จึงเป็นความผิดกระทงเดียว
ทั้งนี้ หากผู้ต้องหาทั้งสองจะต่อสู้โดยนำประเด็นเรื่องการออกคำสั่งเกิดขึ้นระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งหากจะมีการกล่าวหาว่ากระทำผิดจะต้องอยู่ภายใต้การไต่สวนของป.ป.ช. หรือถ้าหากจะมีการกล่าวอ้างถึงการปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มชายชุดดำก็เป็นสิทธิ์ที่จะโต้แย้งได้ แต่ในสำนวนที่ดีเอสไอส่งมาไม่มีการกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงที่มีกลุ่มชายชุดดำอยู่ด้วยในครั้งนี้
โฆษกสำนักงานอัยการ กล่าวอีกว่า อัยการมีความมั่นใจในการสั่งคดี เพราะมีพยานหลักฐานในการลงนามคำสั่งตั้งศอฉ.และนายสุเทพเป็นผอ.ศอฉ. รวมทั้งการออกประกาศให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจริงในการปฏิบัติได้ ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการสลายการชุมนุมตามหลักสากล ต่างจากกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเมื่อประชาธิปไตย หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการให้เจ้าหน้าที่ดูแลควบคุมการชุมนุม แต่ในการสั่งดังกล่าวไม่ได้มีการระบุเป็นคำสั่งที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเหมือนประกาศของศอฉ. ดังนั้น เมื่อมีการตั้งเรื่องเป็นคดีจึงมีการกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา157 ที่จะต้องส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่กรณีของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้มีการตั้งเรื่องตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวนของดีเอสไอว่าก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่า โดยการออกคำสั่งจึงเป็นการกล่าวหาคดีลักษณะวิสามัญฆาตกรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ขณะที่การพิจารณาสำนวนอัยการสูงสุดได้พิจารณาถึงข้อกำหนดของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่แม้จะให้อำนาจในการออกคำสั่ง แต่คำสั่งของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการให้ใช้อาวุธเกินความจำเป็นจนมีผู้เสียชีวิต ส่วนที่ไม่ได้กล่าวหาผบ.ตร. รวมทั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่อื่นๆฐานร่วมกันกระทำผิด เพราะตามสำนวนไม่ได้พบว่าร่วมกันออกคำสั่ง ขณะที่เมื่อออกคำสั่งแล้วเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงผู้ปฏิบัติการไม่ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมด แต่ทั้งนี้หากภายหลังมีการสอบสวนไปจนระบุได้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นผู้ใช้อาวุธยิงก็ถือว่าเป็นคดีการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน แต่การตั้งเรื่องคดีจะต้องพิจารณาว่าจะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบผิดด้วยหรือไม่
เมื่อถามว่า สำนวนนี้อัยการได้พิจารณาด้วยหรือไม่ว่าการกระทำดังกล่าว จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา 157 ในการใช้อำนาจออกคำสั่ง โฆษกสำนักงานอัยการ กล่าวว่า คดีนี้ได้มีการตั้งเรื่องว่าเป็นการออกคำสั่งที่ก่อให้มีการฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิตอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกล่าวหาในมาตรา 157 ด้วย
อย่างไรก็ดี คำสั่งของอัยการสูงสุดไม่ใช่บรรทัดฐานในอนาคตว่าหากจะมีการออกคำสั่งดังกล่าวจะเกิดเป็นความผิดมาตราใด โดยต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งอัยการก็หวังว่าจะไม่ให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนที่จะมีการกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งสองกระทำผิด 157 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจการไต่สวนของป.ป.ช.นั้น ที่จริงเมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ป.ป.ช.ก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อมูลเหตุเป็นเรื่องเดียวกันแล้วถ้าอัยการสั่งฟ้องก็ควรจะระงับการพิจารณาไว้ เพราะถ้าทำคดีแล้วจะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่อีกก็จะเป็นการฟ้องซ้ำ และทางผู้ต้องหาก็สามารถโย้แย้งได้ว่าอัยการทำคดีนี้แล้ว
เมื่อถามว่ามีแรงกดดันจากทางการเมืองในช่วงที่จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือไม่ นันทศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาสำนวนคดีนี้เป็นลำดับขั้นตอนและมีคณะทำงานของอัยการร่วมพิจารณา โดยทางสำนักงานคดีอัยการสูงสุดได้เริ่มพิจารณาคดีนี้ก่อนที่ฝ่ายการเมืองจะพิจารณาเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และส่งเรื่องถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนกระทั่งถึงอัยการสูงสุด จึงเป็นการพิจารณาคดีก่อนที่จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ด้านนายวัชรินทร์ รองโฆษกกล่าวยืนยันว่า ไม่ห่วงเรื่องกระแสวิจารณ์ เพราะเชื่อว่าการสั่งคดีจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดก็เคยระบุอยู่แล้วว่าหลังกลับจากต่างประเทศจะแถลงคดีนี้ ซึ่งจะมีทั้งคนที่เกลียดและคนชอบเพิ่มขึ้น และไม่กังวลหากผู้ต้องหาฟ้องกลับ เพราะการพิจารณาของอัยการสูงสุดเป็นไปตามพยานหลักฐาน ไม่มีการเมืองแทรกแซง 100 เปอร์เซ็นต์ และลักษณะของคดีวิสามัญฆาตกรรมก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1337/2517 ที่วางไว้แล้ว ในเรื่องการกระทำใดเป็นลักษณะการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม
ซึ่งในคำพิพากษาก็มีแนวทางเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012