เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้บริการรถ บขส. เดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่วันนี้ (28 ธ.ค.) ว่า บขส.คาดว่าจะเป็นวันที่มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการมากที่สุด เนื่องจากเป็นวันทำงานวันสุดท้ายก่อนเทศกาลหยุดยาว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ทำงานเสร็จแล้วก็จะเดินทางกลับบ้านทันที
“คาดว่าจะมีผู้โดยาสารเข้ามาใช้บริการตลอดทั้งวันที่ 28 ธ.ค. ประมาณ 2 แสนคน เดิม บขส.เตรียมจัดรถให้บริการไว้จำนวน 5,000 เที่ยว แต่พบว่าไม่เพียงพอจึงได้สั่งเพิ่มเที่ยววิ่งรถเพิ่มเติมอีก 2,000 เที่ยว เฉพาะในวันที่ 28 ธ.ค. เพื่อให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบปัญหาในการให้บริการ ไม่มีปัญหาผู้โดยสารตกค้าง ไม่มีการร้องเรียนเรื่องค่าตั๋วแพงแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการปีนี้กับปีก่อน ในวันที่มีผู้เข้ามาใช้บริการสูงสุดคือ วันที่ 28 ธ.ค. 2555 จะเห็นว่าจำนวนผู้ใช้บริการปีนี้ลดลงจากปีก่อนประมาณ 4 หมื่นคน เนื่องจากประชาชนบางส่วนใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางกลับมากขึ้น ส่วนการคาดการณ์การใช้บริการ บขส. ในวันที่ 29 ธ.ค. คาดว่าจะลดลงจากวันที่ 28 ธ.ค. เล็กน้อย โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการรวมประมาณ 2 แสนคน
ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในรอบปี 2555 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เล็งเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองของประเทศ พร้อมกันนี้ยืนยันว่าการตั้งฉายาดังกล่าวได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่าย และการพิจารณาทั้งหมดได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้
1. เหตุการณ์แห่งปี : “พิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง”ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่น่าจดจำ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สืบเนื่องมาจากการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 4 ฉบับ โดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และคณะส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 แต่ปรากฏว่าเกิดกระแสต่อต้านจากทั้งภายในและนอกสภา โดยในสภาฯพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงการคัดค้านในระหว่างการประชุมสภาฯวันที่ 30-31 พ.ค.2555 ถึงขั้นขว้างปาแฟ้มเอกสาร สิ่งของ หรือภาพการเข้าไปฉุดกระชากลากตัวประธานสภาฯลงจากบัลลังก์ เพื่อยับยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว สร้างความเสื่อมเสียให้กับรัฐสภาอย่างมาก และเป็นข่าวไปทั่วโลก
2. วาทะแห่งปี : “เต็มใจ...เป็นขี้ข้า”เป็นคำพูดของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2555 เพื่อตอบโต้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากอภิปรายพาดพิงว่าการละเว้นเพิกเฉยต่อการดำเนินการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เหมือนกับเป็นขี้ข้า ทำให้ร.ต.อ.เฉลิมลุกขึ้นชี้แจงว่า “ผมเป็นขี้ข้า แต่เสียใจหน่อยคุณสาทิตย์รู้ช้า ก็เป็นมานานแล้ว แต่ผมไม่เห็นเสียหายเลย ผมเต็มใจ" จากวิวาทะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของร.ต.อ.เฉลิม ได้อย่างมีนัยสำคัญทางการเมือง
3. ฉายา สภาผู้แทนราษฎร : “จองล้าง..... จ้องผลาญ .....”ภาพรวมการทำงานของสภาฯ ปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่าทั้งในวงประชุมสภาฯ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ถือเป็นคู่แค้นทางการเมือง ต่างเสนอญัตติหรือยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการ ที่เป็นพรรคพวกเดียวกันตรวจสอบฝ่ายตรงข้าม รวมถึงตั้งกระทู้ถามสด เพื่อโยงไปหาข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องของอีกฝ่าย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจ้องจะล้างแค้นซึ่งกันและกัน
ขณะที่ “จ้องผลาญ” คือการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ภาพที่เห็นชัดเจนคือ การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 55 และปี56 ที่ ส.ส.จ้องจัดสรรงบฯให้พวกตัวเอง และการจัดทริปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการชุดต่างๆ ซึ่งการไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการแต่ละชุด เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการไปท่องเที่ยวพักผ่อน มากกว่าที่จะไปดูงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
4. ฉายาวุฒิสภา : “ตะแกรง...เลือกร่อน”ภาพรวมการทำหน้าที่ของวุฒิสภาตลอดปี 2555 ยังคงมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน แม้ว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันจะกำหนดบทบาทวุฒิสภา ให้ทำหน้าที่หลักๆ คือ การกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน การแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ แต่ปรากฏว่าการทำงานในรอบปีที่ผ่านมากลับไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.แม้บางครั้งจะทำงานมุ่งเน้นการตรวจสอบ แต่ก็ยังเป็นที่คลางแคลงใจว่ามีวาระซ่อนเร้นต่อฝ่ายการเมืองหรือไม่ เห็นได้จากการพฤติกรรมที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูน้ำท่วมปี 2554 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโครงการรับจำนำข้าว โดยส่อเจตนามุ่งโจมตีรัฐบาล ขณะที่ส.ว.อีกกลุ่มก็พยายามออกแรงช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ ถึงขนาดต้องแยกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 เป็น 2 ญัตติ จากส.ว. 2กลุ่ม ทั้งที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นหนึ่งเดียว จึงเปรียบเหมือนกับ “ตระแกรง”ที่เลือกร่อน เฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภาพจึงออกมาคือ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบฝ่ายการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะมากกว่า
5.ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร - สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ : “ค้อนน้อย..หมวกแดง”เจ้าของฉายา “ค้อนปลอม ตราดูไบ” เมื่อปี 2554 มาในปี 2555 ประธานสภาฯได้รับฉายา “ค้อนน้อยหมวกแดง”ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถแสดงผลงานให้เห็นว่าตัวเองเป็นขุนค้อนที่น่าเกรงขามได้เหมือนอดีต ในทางกลับกันมีข้อครหาเรื่องความเป็นกลางหลายครั้งเกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในสภาฯ ผนวกกับมีกรณีคลิปเสียงความยาวกว่า 20 นาทีสร้างความกระฉ่อนในทางการเมืองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยการใช้งบประมาณไปดูฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ยิ่งตอกย้ำว่าประธานสภาฯกลายเป็นขุนค้อนที่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นแค่ค้อนน้อยที่สวมหมวกแดง แทนการสวมหมวกของประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ
6. ฉายาประธานวุฒิสภา - นิคม ไวยรัชพานิช : “ผลัด...ไม้สุดท้าย”นับว่าได้ตำแหน่งประธานวุฒิสภามาอย่างเหลือเชื่อ เนื่องจากนิคม ไวยรัชพานิช เคยทำใจแล้วว่าคงไม่สามารถก้าวถึงตำแหน่งสูงสุดในสภาสูงได้ในวาระที่เหลืออีกประมาณ 2 ปี หลังจากเคยมีความพยายามหลายครั้ง แต่เมื่อพล.อ.ธีรเดช มีเพียร มีอันต้องตกจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภาในคดีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ตัวเอง สมัยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทำให้นายนิคมซึ่งทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภามานานเกือบ 4 ปี ขอลงท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสภาสูงเป็นครั้งที่ 2 โดยฝ่าย ส.ว.สรรหา เฟ้นหาตัวที่พอจะต่อกรด้วยไม่ทัน จึงสามารถเอาชนะคู่แข่งไปได้ขาดลอย วุฒิสภาจึงเกิดการผลัดขั้วการเมืองครั้งใหญ่จากสายสรรหามาเป็นสายเลือกตั้ง ก่อนที่ส.ว.เลือกตั้งจะหมดวาระลงในช่วงต้นปี 2557
7. ฉายาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : “หล่อ รับ เละ”ต้องยอมรับว่าบทบาทการทำหน้าที่ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในรอบปีที่ผ่านมาไม่ได้โดดเด่นเท่าที่ควร อาจเพราะตกอยู่ในสภาพต้องคดีทางการเมือง อาทิ คดี 91 ศพจากการชุมนุมทางการเมือง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สั่งฟ้องพร้อมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และถูกคำสั่งรมว.กลาโหมถอดยศว่าที่ร้อยตรี นอกจากนั้นยังมีปัญหาภายในพรรคมารุมเร้า ถือว่าทุกปัญหาต่างพุ่งเป้ามาที่ตัวนายอภิสิทธิ์ ขณะที่บทบาทการนำลูกพรรคในการทำหน้าที่ในสภาฯก็ไม่แสดงให้เห็น แม้ลูกพรรคจะสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐสภาเสื่อมเสีย ก็ยังออกมาแถลงข่าวสนับสนุน รวมถึงช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ยังมอบบทบาทการนำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านแทนทั้งหมด จึงเปรียบเหมือน นายอภิสิทธิ์ที่มีหน้าตาดูว่าหล่อเหลา แต่ช่วงปีที่ผ่านมาถูกมรสุมการเมืองรุมถล่มจนเละ
8. ดาวเด่น : “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ฐานะรองประธานสภาฯคนที่ 2”มีไม่บ่อยครั้งนัก ที่ผู้นำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครัฐบาลจะได้รับความชื่นชมถึงความเป็นกลางจากพรรคฝ่ายค้าน แต่วิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯกลับได้รับเกียรตินั้น ด้วยการทำหน้าที่ที่สามารถผ่อนหนักผ่อนเบา ช่วยให้บรรยากาศการประชุมที่กำลังดุเดือดผ่อนคลายลง ขณะเดียวกันได้กล่าวตักเตือน ตำหนิ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคเดียวกันที่แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมกลางสภาฯหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการอภิปรายไม่ไว้ วางใจเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่า รองประธานสภาฯวิสุทธิ์ มีความเหมาะสม กับ การรับรางวัลดาวเด่นในที่สุด
9.ดาวดับ : “จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ - น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์”บทบาทการทำหน้าที่ของ ส.ส. ควรจะมีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เพราะสภาฯถือเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่า จะเป็นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็พูดว่า ควรใช้รัฐสภาแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ แต่ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ประกอบด้วย “จ.ส.ต.ประสิทธิ์ – นพ.วรงค์ – น.ส.รังสิมา ที่แสดงพฤติกรรมกลางที่ประชุมสภาฯ ให้เห็นถึงความหยาบคาย ทั้งทางวาจาและพฤติกรรมที่แสดงออกมา อาทิ การกล่าว ผรุสวาท รวมไปถึงการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ถ่อย เถื่อน รวมถึงการขว้างปาสิ่งของ และลากเก้าอี้ประธานสภาฯ ทำให้ภาพพจน์ของสภาฯเสื่อมเสียอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนักข่าวรัฐสภาต้องการสะท้อนมุมมองให้เห็นว่าพฤติกรรม ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้
10. คู่กัดแห่งปี : “นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ vs ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง”ในอดีตเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่หลังจากที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยและได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้เข้าสภาฯอีกสมัยในนาม “หัวหน้าพรรครักประเทศไทย” และประกาศตัวชัดเจนยืนยันจะทำหน้าที่ในบทบาทพรรคฝ่ายค้าน ทำให้บทบาทของทั้งคู่ที่แสดงออกในสภาในรอบปีที่ผ่านมา กลายมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน โดยนายชูวิทย์ได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีร.ต.อ.เฉลิมคอยกำกับดูแลอยู่ ได้มีการนำคลิปภาพมาแฉในห้องประชุมสภาฯหลายครั้ง ทั้งการเปิดบ่อนการพนัน แหล่งอบายมุขที่ผิดกฎหมาย ทำให้ทั้งคู่เกิดการโต้เถียงกันกลางสภาฯอย่างดุเดือดหลายครั้ง จึงได้รับฉายาคู่กัดแห่งปี
11. คนดีศรีสภา: งดการเสนอชื่อบุคคลตำแหน่งคนดีศรีสภาประจำปี 2555 สื่อมวลชนประจำรัฐสภามีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ถึงแม้จะมี ส.ส. ส.ว.หลายคนแสดงบทบาทการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนสะท้อนผ่านเวทีรัฐสภา โดยเฉพาะกับเหตุการณ์น้ำท่วม แต่นั่นถือเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งนิยามคำว่าคนดีศรีสภา ควรเป็นการแสดงบทบาทของคนดีให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเห็นได้ชัด แต่ในรอบปีนี้สื่อมวลชนประจำรัฐสภายังไม่เห็นมีใครเหมาะสม จึงมีความเห็นร่วมกันของดการมอบตำแหน่งคนศรีสภาประจำปี2555
"พานทองแท้ ชินวัตร" นัดเพื่อไทยประชุมเฉพาะกิจหารือปมแก้รัฐธรรมนูญ "ทักษิณ" สไกป์ร่วมถกด้วย เคาะเดินหน้าทำประชามติต่อ ก่อนให้ไปหาความเห็นนักวิชาการด้านกฎหมายมาประกอบ...
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2555 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีนายกรัฐมนตรี ได้เชิญแกนนำของพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. อาทิ นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรค นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค เข้าร่วมหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ชั้น 33 ตึกชินวัตร 3 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ สไกป์เข้ามาร่วมหารือด้วย ในประเด็นโหวตวาระ 3 หรือต้องทำประชามติสอบถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนถึงโหวตวาระ 3 หรือแก้ไขรายมาตรา
โดยที่ประชุมได้ถกกันอย่างกว้างขวางถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ยังจะเดินหน้าทำประชามติก่อน แม้อาจถูกฝ่ายไม่เห็นด้วยยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 291 ที่กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ไม่ได้กำหนดให้ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อผิดมาตรานี้แล้วจะเข้าข่ายขัดมาตรา 165 ด้วย ซึ่งกำหนดห้ามทำประชามติในเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงสรุปว่าในระหว่างนี้ให้ไปสอบถามสำรวจความคิดเห็นอาจารย์ด้านกฎหายจากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันกฎหมายต่างๆ ว่าการลงประชามติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ด้านนายคณวัฒน์ วศินสังวร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่แกนนำของพรรคเพื่อไทยเริ่มเป็นห่วงการทำ ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดมาตรา 291 และทำให้ขัดต่อมาตรา 165 ด้วยว่า เรื่องนี้ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำ นปช. เคยแสดงความเป็นห่วงไว้แล้ว ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ขณะนี้ความขัดแย้งในข้อกฎหมายการทำประชามติแล้วรัฐบาลซึ่งรับผิดชอบการทำประชามติน่าจะยื่นให้กฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลและยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐบาลทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291, 165 หรือไม่เพื่อให้เรื่องนี้เดินหน้าไปได้
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012