สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ว่า ผู้บริหารระดับสูงสุด 40 คนของบริษัทโซนี่ ประกาศไม่ขอรับเงินโบนัสประจำปีนี้ หลังบริษัทประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องจากแผนกอิเล็คทรอนิกส์ ถือเป็นการสละเงินค่าตอบแทน ของผู้บริหารโซนี่จำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
โฆษกหญิงบริษัทโซนี่ เผยที่กรุงโตเกียว ในวันนี้ว่า นายคาซูโอะ ฮิราอิ ผู้บริหารสูงสุด (ซีอีโอ) เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารระดับสูง 40 คนของโซนี่ ที่ประกาศไม่ขอรับเงินโบนัส ซึ่งจากการประเมินมีมูลค่าหลายร้อยล้านเยน เนื่องจากสภาพการณ์ทางธุรกิจของบริษัทย่ำแย่หนัก รวมถึงผลประกอบการที่ซบเซาในภาคอิเล็คทรอนิกส์ การตัดสินใจมีขึ้นขณะที่ผู้ผลิต เพลย์สเตชั่น กำลังมองหากำไร หลังจากผลประกอบการติดลบมา 4 ปี
หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน นิคเคอิ ของญี่ปุ่น รายงานว่า จำนวนเงินโบนัสของผู้บริหารโซนี่ 40 คนที่ยอมสละ รวมกันประมาณ 1.0 พันล้านเยน (ประมาณ 290 ล้านบาท) ปีที่แล้ว มีผู้บริหารระดับสูงของโซนี่สละเงินโบนัส 7 รายด้วยกัน
บริษัทโซนี่พยายามยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการปรับลดพนักงานหลายพันคน และขายทรัพย์สินจำนวนมาก รวมถึงอาคารสำนักงานในย่านแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก สหรัฐ และที่กรุงโตเกียว สัปดาห์ที่แล้ว โซนี่เพิ่มคาดการณ์ผลกำไรสุทธิเป็น 2 เท่า สำหรับผลประกอบการในรอบปีที่แล้ว สิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ 40 พันล้านเยน โดยได้ปัจจัยหนุนจากค่าเงินเยนอ่อน และการขายสินทรัพย์ของบริษัท ส่วนผลประกอบการปีก่อน สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2555 โซนี่ขาดทุน 456.66 พันล้านเยน ถือเป็นการขาดทุน 4 ปีติดต่อกัน บริษัทกำหนดเผยผลประกอบการเต็มปี ในวันที่ 9 พ.ค.
เรื่องราวชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายของ ‘จอห์น โรเบิร์ตสัน’ วัย 76 ปี ทหารอเมริกันที่ร่วมรบในสงครามเวียดนาม และถูกแทงบัญชีว่าเสียชีวิตที่ลาวเมื่อปี 2511 หรือ 44 ปีที่แล้ว เริ่มเปิดเผยต่อชาวโลก เมื่อ ‘ทอม ฟอนซ์’ อดีตทหารผู้เคยผ่านสงครามเวียดนาม พบเขาในแถบชนบทของเวียดนามเมื่อปี 2551 โดยเขาไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษ ลืมวันเกิดของตัวเอง และลืมแม้กระทั่งชื่อของลูกที่อยู่ในอเมริกา
แต่สิ่งเดียวที่เขาไม่เคยลืมคือ ‘ความเป็นพ่อ’ และปรารถนาจะพบหน้าครอบครัวที่อเมริกาสักครั้งก่อนตาย
เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าทำไมทหารนายนี้ถึงถูกลืม เพราะนโยบายของอเมริกา ให้ความสำคัญกับการนำทหารทั้งหมดกลับบ้าน ′ไม่ว่าเป็นหรือตาย′
‘โรเบิร์ตสัน’ เล่าว่าเมื่อ 44 ปีก่อน เขาถูกขังในกรงไม้ไผ่ในป่าทางตอนเหนือของเวียดนามและถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับซีไอเอ หลังรอดชีวิตเขาได้แต่งงานกับพยาบาลชาวเวียดนามซึ่งดูแลเขาและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนลืมภาษาแม่ของตัวเอง และพูดได้เพียงภาษาเวียดนาม
หลังพบ ′ทหารที่ถูกลืม′ ทอม ฟอนซ์ ได้ติดต่อครอบครัวของโรเบิร์ตสันที่อเมริกา เมื่อพี่สาววัย 80 ปี ได้เห็นหน้าเขาในวิดีโอที่ส่งไป ก็รู้ทันทีว่านี่คือน้องชายของเธอ โดยไม่ต้องการตรวจดีเอ็นเอและยิ่งแน่ใจเมื่อได้พบหน้า แม้จะน่าเหลือเชื่อว่าเขายังมีชีวิตอยู่ก็ตาม นอกจากนี้นายทหารที่เขาเคยฝึกให้เมื่อปี 2503 ก็จำเขาได้แม่นยำเช่นกัน
ขณะที่ครอบครัวของเขาไม่ว่าจะเป็นภรรยาและลูกชาวอเมริกัน เริ่มแรกพวกเขาก็ต้องการตรวจดีเอ็นเอ แต่แล้วกลับเปลี่ยนใจภายหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีบางคนบอกเขาว่า นั่นเป็นเพราะลูกสาวของเขาไม่ต้องการรับรู้ว่าเขาเป็นพ่อแท้ๆ ของเธอหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สำหรับนายทหารผู้ถูกลืม นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะความปรารถนาของเขาที่จะได้พบครอบครัวสักครั้งก่อนตายได้บรรลุแล้ว
และปัจจุบันโรเบิร์ตสันได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เวียดนามโดยไม่ต้องการจากไปไหนอีก
‘ทอม ฟอนซ์’ ติดต่อ ‘ไมเคิล จอร์เจนสัน’ ผู้สร้างหนังรายหนึ่ง ให้สร้างชีวิตของ ‘นายทหารผู้ถูกลืม’ เป็นภาพยนตร์ หลังผู้สร้างหนังรายนี้ได้พบกับโรเบิร์ตสัน เขาก็ตกลงสร้างภาพยนตร์สารคดีจากชีวิตจริง แต่ต้องพบกับการต่อต้านจากกองทัพสหรัฐฯ จอร์เจนสันเล่าว่ามีแหล่งข่าวระดับสูงจากรัฐบาลสหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวว่า ‘ไม่ใช่เวียดนามที่ไม่ปล่อยตัวนายทหารผู้นี้ แต่เป็นรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างหากที่ไม่ต้องการตัวเขา’
แต่ในที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถ่ายทำสำเร็จและจะเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์จีไอ ที่วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองโยฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ว่า กองทัพแอฟริกาใต้กำลังถูกสังคมตั้งคำถาม เหตุใดตระกูลมหาเศรษฐีเชื้อสายอินเดีย ที่มีความสนิทสนมกับ ประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา ผู้นำประเทศ จึงสามารถใช้สนามบินกองทัพ ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ต้อนรับเที่ยวบินแขกวีไอพีจากอินเดีย ที่เดินทางไปร่วมงานแต่งงานได้
ทั้งนี้ เครื่องบินโดยสารแบบแอร์บัสเช่าเหมาลำโดยตระกูลกุปตา ลงจอดที่สนามบินกองทัพอากาศวอเตอร์คลูฟ ชานกรุงพริทอเรีย เมืองหลวงแอฟริกาใต้เมื่อวันอังคาร (30 เม.ย.) โดยมีญาติพี่น้องและแขกเหรื่อระดับวีไอพีจากอินเดียประมาณ 200 คน ซึ่งรวมถึงดารานักร้องและนักแสดงของวงการบันเทิงบอลลีวู้ด และแขกผู้มีเกียรติชาวต่างชาติหลายคน
สมาพันธ์แรงงานชั้นนำ โคซาตู และพรรค เอเอ็นซี พรรครัฐบาลแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ต้องการคำตอบจากกองบัญชาการทหารสูงสุดแอฟริกาใต้ เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของรัฐบาลอย่างไม่ถูกต้อง “ถือเป็นการดูถูกประชาชนชาวแอฟริกาใต้แบบสุดๆ ที่เอกชนสามารถใช้สถานที่ของรัฐเพื่อกิจกรรมทางสังคมส่วนตัว แถมยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐคอยต้อนรับ ให้การดูแลเป็นอย่างดี” นายแพททริค คราเวน โฆษกโคซาตู กล่าว และว่า โคซาตูได้ยื่นเรื่องขอให้มีการสอบสวนโดยรีบด่วน ใครเป็นผู้อนุมัติให้ใช้สนามบินของกองทัพอากาศ เพื่อกิจกรรมส่วนตัวของเอกชน พร้อมกับเตือนว่า เรื่องนี้อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ผู้เข้าข่ายต้องรับผิดชอบสมควรถูกลงโทษทางวินัย
ตระกูลกุปตา ซึ่งอพยพไปจากอินเดีย เป็นหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของแอฟริกาใต้ 3 พี่น้องกุปตาควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่หลายแขนง รวมถึง ซาฮารา คอมพิวเตอร์ และหนังสือพิมพ์นิว เอจ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสื่อกระบอกเสียงให้พรรค เอเอ็นซี เที่ยวบินเช่าเหมาลำขนแขกเหรื่อจากอินเดีย เพื่อไปร่วมงานสมรสของ เวก้า กุปตา วัย 26 ปี หลานสาวของ 3 พี่น้องมหาเศรษฐีกุปตา ที่รีสอร์ต ซันซิตี โดยงานพิธีหลายวันที่สื่อแอฟริกาใต้เรียกขานว่า “งานสมรสแห่งปี” จะเริ่มในวันนี้
ทางด้าน นายซิปิเว ดีลามินิ โฆษกกองบัญชาการทหารสูงสุดแอฟริกาใต้ กล่าวว่า เท่าที่ทราบไม่มีการอนุญาตให้เอกชนใช้สนามบินดังกล่าว แต่นายแกรี่ ไนดู โฆษกตระกูลกุปตา กล่าวว่า กองทัพอากาศเป็นผู้อนุมัติการใช้สนามบินวอเตอร์คลูฟ สำหรับเที่ยวบินดังกล่าว ซึ่งบรรทุก “คณะรัฐมนตรีต่างชาติ และแขกผู้มีเกียรติอื่นๆ”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ว่า สำนักงานตำรวจบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ แถลงผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันพุธ ว่า ตำรวจบุกจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก 3 ราย ฐานต้องสงสัยเกี่ยวพันกับการลอบวางระเบิด บริเวณใกล้จุดเข้าเส้นชัย การแข่งขันวิ่งทางไกล บอสตัน มาราธอน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 260 คน โดย 3 คนที่ถูกจับกุม 2 คนเป็นชาวคาซัคสถาน ส่วนอีกคนเป็นชาวอเมริกัน
หลังเกิดเหตุตำรวจติดตามไล่ล่า ชาย 2 คนพี่น้องผู้ต้องสงสัย นายทาเมอร์ลัน ซาร์นาเยฟ วัย 26 ปี และนายโชการ์ ซาร์นาเยฟ วัย 19 ปี ชาวรัสเซียในแคว้นเชชเนีย ซึ่งได้สิทธิอยู่อาศัยถาวรในสหรัฐ โดยนายทาเมอร์ลันถูกเจ้าที่ยิงเสียชีวิต ส่วนโชการ์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 เม.ย. โดยได้รับบาดเจ็บการการยิงต่อสู้กับตำรวจ ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำเมืองบอสตัน รายงานข่าวระบุว่า ผู้ต้องสงสัย 2 คนชาวคาซัคสถาน เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนในมหาวิทยาลัยของโชการ์ ทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐควบคุมตัวไว้ก่อนหน้านี้ ในฐานะผู้ต้องสงสัยละเมิดเงื่อนไขวีซ่า ตำรวจสงสัยว่าทั้งสองคนนี้อาจเป็นผู้นำโยนเป้าสะพายหลังบรรจุระเบิดทิ้ง ตามคำร้องขอของโชการ์.
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012