ข่าว
'โดนัลด์ ทรัมป์'แต่งตั้ง'อีลอน มัสก์'นำทัพคุมกระทรวงใหม่ ดูแลตัดรายจ่ายสิ้นเปลืองรัฐบาล

13 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 'โดนัลด์ ทรัมป์' เตรียมจัดตั้งกระทรวงใหม่ โดยใช้ชื่อว่า "กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล" และให้ สองอภิมหาเศรษฐี 'อีลอน มัสก์' และ 'วิเวก รามสวามี' ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อลดความสิ้นเปลือง

ซึ่งระบุในแถลงว่า อีลอน มัสก์ และ วิเวก รามาสวามี ชาวอเมริกันที่สุดยอดคู่นี้ จะร่วมกันบริหาร "กระทรวงประสิทธิภาพ" โดยจะช่วยปูทางให้ฝ่ายบริหารของเขาสามารถรื้อระบบราชการ ลดทอนกฎระเบียบที่เกินความจำเป็น ตัดรายจ่ายสิ้นเปลือง และปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "แผนปกป้องอเมริกา" และจะสร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งต่อระบบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของรัฐบาล โดยทรัมป์ ระบุด้วยว่า งานของทั้งสองคนจะสิ้นสุดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2569 และรัฐบาลที่มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเป็นของขวัญให้กับประเทศในโอกาสครบรอบ 250 ปี ของการลงนามในคำประกาศอิสรภาพ

ต่อมา'อีลอน มัสก์' ได้โพสต์ในเอ็กซ์ส่วนตัวว่า "กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลจะโพสต์รายละเอียดการดำเนินงานทุกอย่างในออนไลน์เพื่อความโปร่งใส และเผยชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างโง่เขลาที่สุดด้วย"

โดยการแต่งตั้ง 2 อภิมหาเศรษฐีเข้ามาร่วมในรัฐบาลของทรัมป์ เป็นเหมือนการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้สนับสนุนในภาคเอกชน ซึ่งอีลอน มัสก์ นั่งตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เทสลา , เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X และบริษัทขนส่งทางอวกาศสเปซเอ็กซ์ ขณะที่ทาง'วิเวก รามสวามี' เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเภสัชกรรมบริษัทยารอยแวนต์ไซแอนซิส และเคยลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับ'โดนัลด์ ทรัมป์'ก่อนถอนตัวและหันมาสนับสนุนเขา

รสนิยมคนสะท้อนคุณภาพสื่อ! นักเขียนดังถาม แบน’แม่หยัว’แบบไหนให้เรตติ้งขึ้นที่1?

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ‘ปราย พันแสง’ นักเขียนชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เนื้อหาดังนี้ “แบน”แบบไหน ขึ้นอันดับ 1 ของ Netflix วันนี้ แสดงให้เห็นว่า "controversy sells" เรื่องอื้อฉาว ผิดจริยธรรม กลับสร้างความสนใจและดึงดูดคนดู เพิ่มเรตติ้งได้

กระแสต่อต้าน อาจกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ทางอ้อม ทำให้คนอยากดูเพื่อตัดสินด้วยตัวเอง อีกทั้งการที่ผู้ผลิตปัดความรับผิดชอบ ก็สะท้อนปัญหาด้านจริยธรรมในวงการบันเทิง แสดงให้เห็นว่าขาดมาตรฐานที่ชัดเจนในการกำกับดูแลเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ สะท้อนวัฒนธรรมการไม่ยอมรับผิดในองค์กรไทย การโยนความผิดให้กับ "โมเดลลิง" แสดงถึงการขาดความเป็นมืออาชีพในการจัดการวิกฤต

พฤติกรรมสังคมออนไลน์ของเรามีช่องว่างระหว่างการแสดงจุดยืนในโซเชียลมีเดียกับพฤติกรรมการบริโภคจริง คนอาจแสดงความไม่เห็นด้วยในโซเชียล แต่ยังคงเลือกที่จะรับชม บางคนทนไม่ได้กับความตอแห_ ความหน้าไหว้หลังหลอก เกลียดคนที่คิดอย่างพูดอย่างทำอย่าง ในสังคมโซเชียลมีเดียเรามักจะไม่ยอม ไม่ทน กับคนแบบนี้ จะมีการวิพากษ์และตัดสินกันอย่างรุนแรงเสมอ

แต่เวลาตัวเองทำซะเอง อาจจะไม่นับ

ความตระหนักเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ของสังคมเรามีแค่ไหน อันดับ 1 ใน Netflix วันนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแม้จะมีกระแสต่อต้านแรง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อความนิยมของละคร อาจสะท้อนว่าสังคมเรายังให้น้ำหนักกับความบันเทิงมากกว่าประเด็นจริยธรรม อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ขณะนี้ เราจึงควรต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนในการผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ผู้ผลิตเองก็ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ที่สำคัญ ผู้บริโภคควรแสดงจุดยืน ผ่านการเลือกบริโภคจริง ไม่ใช่แค่การแสดงความเห็นในโซเชียล

เรื่องนี้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยเราหลายอย่าง อย่างแรกเลยคือปัญหาการเลือกบริโภคสื่อ ผู้บริโภคยังติดกับดักเสพความบันเทิง แบบไม่คำนึงถึงผลกระทบ แม้จะรู้ว่าไม่ถูกต้องแต่ความอยากรู้อยากเห็น มักชนะจริยธรรมตลอด พฤติกรรมแบบนี้ส่งเสริมวงจรอุบาทว์ในวงการบันเทิง เมื่อผู้ชมยังดู ผู้ผลิตก็ยังทำแบบเดิม ไม่มีแรงกดดันพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรตติ้งและยอดวิว กลายเป็นตัวชี้วัดเดียวที่สำคัญ

การ“แบน”ในโซเชียลมีเดีย อาจกลายเป็นเพียงการระบายอารมณ์ชั่วครู่ ไม่เกิดผลกระทบจริงต่อพฤติกรรมการบริโภค ต่อไปนี้จะ“แบน”หรือผลักดันอะไร อาจจะไม่มีผลเลย อาจต้องหาวิธีสร้างแรงกดดันที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

แต่ก็ยังมีความหวังอยู่นะ การที่มีคนจำนวนมากออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย แสดงว่าสังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหา อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ

เราควรต้องสนับสนุนสื่อที่มีคุณภาพและมีจริยธรรมให้มากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีกว่า


สลด! ถังแก๊สระเบิดในห้องครัว ไฟครอกอาม่าวัย 93 ปีเสียชีวิต

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 น. พ.ต.ท.รักเกียรติ ปทุมวัลย์ สว.สอบสวน สน.สุทธิสาร รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ภายในซอยอุดมสุข แยก 5 แขวงเขตห้วยข้วง จึงประสานรถดับเพลิงจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยกรุงเทพ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ตร. แพทย์เวร รพ.รามาธิบดี อาสากู้ภัยมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เดินทางตรวจสอบที่เกิดเหตุ

ที่เกิดเหตุ เป็นทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น ที่ชั้น1 ภายในห้องครัวหลังบ้าน เกิดเพลิงลุกไหม้เสียหายบริเวณเตาแก๊ส และถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม ที่บริเวณพื้นครัวพบศพผู้เสียชีวิต 1 ราย เพศหญิง ทราบชื่อเวลาต่อมาคือ นางเกษร (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 93 ปี เสื้อผ้าถูกเพลิงเผาไหม้ ส่วนสภาพศพ มีรองรอยถูกเพลิงไหม้ทั่วร่าง นอกจากนี้ จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุเบื้องต้น พบมีอาหารวางอยู่บนเตา ส่วนบริเวณโดยรอบมีความเสียหายจากเพลิงไหม้เล็กน้อย

จากการสอบถามเพื่อนบ้าน กล่าวว่า ผู้ตายพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว เพียงลำพัง ช่วงเวลาเกิดเหตุ ได้ยินเสียงระเบิดขึ้น ดังสนั่นเมื่อออกมาดูจึงพบกลุ่มควันลอยคลุ้งออกมาจากในบ้านที่เกิดเหตุ จึงโทรแจ้งตำรวจและกู้ภัย ระหว่างนั้นเพื่อนบ้านหลายคน ช่วยกัน ใช้ถังเคมีดับเพลิงเข้าดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้ ก่อนจะช่วยกันปิดหัวแก็ซ และเคลื่อนย้ายถังแก็สออกมา จากนั้นจึงได้แจ้ง ให้ญาติของผู้ตายที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุเข้าตรวจสอบ

เบื้องต้นสาเหตุเพลิงไหม้คาดว่าผู้ตายกำลังจะอุ่นอาหาร แต่แก๊สหุงต้มรั่วไหลที่บริเวณสาย หรือหัวแก๊ส และเกิดประกายไฟขึ้นขณะติดเตาแก๊ส จึงทำให้เกิดการระเบิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ สพฐ.อยู่ระหว่างตรวจสอบที่เกิดเหตุ ตำรวจ ได้ส่งร่างไปยัง รพ.รามาธิบดี เพื่อตรวจสอบสาเหตุของการเสียชีวิตต่อไป


ภูเขาไฟปะทุหนัก! สายการบินแห่ยกเลิกเที่ยวบินขาเข้า-ออก'เกาะบาหลี'

13 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สายการบินระหว่างประเทศหลายสายต้องพากันยกเลิกเที่ยวบินไปและกลับจากเกาะบาหลี ของประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากกังวลอันตรายจากเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ยังปะทุอย่างต่อเนื่อง

โดยสายการบินหลายสายในเอเชียและออสเตรเลีย ทั้งเจตสตาร์และควอนตัส ต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินที่จะไปยังสนามบินเดนปาซาร์บนเกาะบาหลี ยด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดอันตรายจากเถ้าถ่านจากภูเขาไฟเวโลโตบิ โลกิ-โลกิ บนเกาะฟลอเรสในจังหวัดนูซา เตงการา ตะวันตกซึ่งอยู่ห่างจากเกาะบาหลีราว 800 กิโลเมตร ทำให้วันนี้มีผู้โดยสารบางส่วนต้องตกค้างอยู่ที่สนามบินบนเกาะบาหลี เป็นการผลจากยกเลิกเที่ยวบินเข้า-ออกรวม 45 เที่ยว

สายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบิน ประกอบด้วยสายการบินควอนตัส ,สายการบินเวอร์จิน ,เจ็ทสตาร์ของออสเตรเลีย ,สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ การยกเลิกเที่ยวบินมีทั้งเที่ยวบินไปและกลับ ซึ่งยังรวมถึงยกเลิกเที่ยวบินที่สนามบินลอมบ็อก และลาบวน บาโจอีกด้วย

ขณะที่แอร์เชียออกแถลงการณ์วันนี้ว่ามีการปรับตารางบินสำหรับเที่ยวบินบางส่วนสำหรับแอร์เอเชียมาเลเซีย ไทยแอร์เอเชีย แอร์เอเชียอินโดนีเซีย และแอร์เอเชียเอ็กซ์ของมาเลเซียมาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน ซึ่งครอบคลุมเที่ยวบินไปกลับสนามบินเกาะบาหลี สนามบินลอมบ็อก และลาบวนบาโจ นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินจากอินเดีย กาต้าร์ ฮ่องกง และจีนที่ถูกยกเลิกไปด้วย

ผลสำรวจใน‘สหรัฐฯ’พบ‘คนเจ็นซี’ 1 ใน 7 ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เว็บไซต์สถานีวิทยุ KRLD ในเครือ Audacy สื่อท้องถิ่นในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว 1 in 7 Gen Z members is maxed out on credit cards, half rely on family to pay bills ระบุว่า ผลสำรวจของธนาคารกลางแห่งรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ (Federal Reserve Bank of New York) พบประชากรกลุ่มเจ็นซี (Gen Z) ร้อยละ 15.3 ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของวงเงินที่สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตาม เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนวัยนี้วงเงินสินเชื่อยังค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,500 เหรียญสหรัฐ (ราว 157,500 บาท)

ผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากประวัติเครดิตที่สั้นกว่า ส่งผลให้คะแนนเครดิตต่ำกว่า และรายได้ที่ต่ำลง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว คนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial หรือเจ็นวาย – Gen Y) มีวงเงินสินเชื่อเฉลี่ย 16,300 เหรียญสหรัฐ (ราว 5.7 แสนบาท) และร้อยละ 12.1 ใช้วงเงินจนเต็ม ส่วนคนเจ็นเอ็กซ์ (Gen X) มีวงเงินเฉลี่ย 21,800 เหรียญสหรัฐ (ราว 763,000 บาท) และร้อยละ 9.6 ใช้วงเงินจนเต็ม ส่วนคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) มีวงเงินเฉลี่ย 22,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 7.7 แสนบาท) และร้อยละ 4.8 ใช้วงเงินจนเต็ม

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจโดยทีมศึกษาด้านพฤติกรรมทางการเงิน (Money Habits) ของธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Bank of America แสดงให้เห็นว่าคนเจ็นซี Z ที่มีอายุระหว่าง 18-27 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 54) ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้มีเงินพอใช้จ่าย ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 46) พึ่งพาพ่อแม่หรือครอบครัว ในขณะที่อีกร้อยละ 9 พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล และร้อยละ 3 พึ่งพาเพื่อน

เมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 32) ได้รับเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 35,000 บาท) ต่อเดือนหรือมากกว่านั้น เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 44) ได้รับเงินน้อยกว่า 500 เหรียญสหรัฐ (ราว 17,500 บาท) ต่อเดือน คนเจ็นซีที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินใช้เงินจำนวนนี้เพื่อช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ของชำและของใช้ในห้องน้ำ (ร้อยละ 57) ค่าเช่าที่พัก ค่าน้ำประปาและไฟฟ้า (ร้อยละ 53) ค่าโทรศัพท์ (ร้อยละ 53) และค่าประกันชีวิตหรือค่าผ่อนชำระด้านสุขภาพ (ร้อยละ 49)

นอกจากนั้น คนเจ็นซีเกือบ 1 ใน 4 (ร้อยละ 24 ) บอกว่ารายได้ของพวกตนเพียงพอสำหรับสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ และของชำ แต่ก็ไม่ได้มากกว่านั้นมากนัก การสำรวจยังพบอีกว่าคนเจ็นซี ร้อยละ 52 บอกว่าพวกตนไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตตามที่ต้องการ และค่าครองชีพที่สูงเป็นหนึ่งในความท้าทายทางการเงินหลักที่คนรุ่นนี้ต้องเผชิญ

กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 57) กล่าวว่า การเป็น “ผู้มีรายได้ดี (making good money)” ดูเหมือนว่าจะสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นส่วนใหญ่ที่ต้องการได้ อย่างไรก็ตาม มากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 37) กล่าวว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้มีรายได้ดี และเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 32) ระบุว่า หากเทียบกับคนรุ่นพ่อแม่ของตนเองในช่วงวัยที่เท่ากัน คนเจ็นซีรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จทางการเงินได้ช้ากว่า

รายงานของ Bank of America ยังชี้ให้เห็นว่า คนเจ็นซีจำนวนไม่น้อยบอกว่ากำลังชะลอเป้าหมายและไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่จะซื้อบ้าน (ร้อยละ 50) เก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ (ร้อยละ 46) หรือเริ่มลงทุน (ร้อยละ 40) ภายใน 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าพวกเขาจะกำลังทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นอยู่ก็ตาม โดยมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 2 ใน 3 (ร้อยละ 67) กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น ลดการออกไปกินอาหารนอกบ้าน (ร้อยละ 43) เลี่ยงกิจกรรมกับเพื่อนฝูง (ร้อยละ 27) และเลือกซื้อของที่ร้านขายของชำที่ราคาไม่แพง (ร้อยละ 24)

แม้ว่าคนเจ็นซี จำนวนมากรายงานว่าพวกเขาไม่มีอิสระทางการเงิน แต่ร้อยละ 70 กล่าวว่า พวกตนรู้สึกว่าพร้อมที่จะจัดการค่าใช้จ่ายประจำวันและปฏิบัติตามงบประมาณ ในขณะที่ร้อยละ 66 กล่าวว่า พวกตนรู้สึกว่าพร้อมที่จะสร้างและจัดการเครดิต คนเจ็นซีส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82) มีเป้าหมายทางการเงิน และมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51) ให้ความสำคัญกับเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คนเจ็นซียังคงใช้รายได้ที่เหลือไปกับการใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ เช่น กินอาหารนอกบ้าน (ร้อยละ 36) ช้อปปิ้ง (ร้อยละ 30) และความบันเทิง (ร้อยละ 24) ซึ่งสูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากบทความ “ก้าวข้ามความต่าง Generation เพื่อทำงานร่วมกัน” โดยกรมการจัดหางานของประเทศไทย ได้แบ่งคนตามช่วงวัยไว้ดังนี้ 1.เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2489-2507 2.เจ็นเอ็กซ์ (Gen X) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2508-2519 3.เจ็นวาย (Gen Y) หรือบ้างก็เรียกว่า มิลเล็นเนียล (Millennial) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2520-2537 4.เจ็นซี (Gen Z) หรือเจ็นแซด หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2538-2552 และ 5.เจ็นอัลฟา (Gen Alpha) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2553-2567)