6 มิ.ย.67 ที่ชั้น 2 True Space Asoke "เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา" และ "มิค บรมวุฒิ หิรัญยัษฐิติ" สองสามีภรรยา พร้อมทนาย ตั้งโต๊ะชี้แจงกรณีอาหารเสริม อิชช่า เอ็กซ์เอส (ตราอิชช่า) ปกป้องชื่อเสียงของตัวเอง และทวงความเป็นธรรม ยืนยันความบริสุทธิ์ หลังถูกเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ ITCHA(อิชช่า) ที่เจ้าตัวเป็นพรีเซ็นเตอร์ ถูกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ตรวจพบสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์นั้นเป็นของปลอม จนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายต่อตัวผลิตภัณฑ์และชื่อเสียงของตัวเอง
โดย “เบนซ์ พรชิตา” และ “มิค บรมวุฒิ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทาง อย.นำไปตรวจสอบนั้นเป็นของปลอม จนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายต่อตัวผลิตภัณฑ์และชื่อเสียงของตนเอง จึงขอชี้แจงกรณีที่มีข่าวอ้างอิงจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ตรวจพบสารอันตราย ในผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนยี่ห้อิชช่าว่า มีของปลอมกระจายจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งของปลอมจะราคาถูกกว่าของแท้ เพราะของปลอมใช้สารไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม ทำให้ต้นทุนถูกกว่า แต่ได้ผลใกล้เคียงกัน
สำหรับผลิตภัณฑ์นี้จำหน่ายมา 7 ปีแล้ว ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก อย. มีพรีเซนเตอร์มาแล้ว 2 คน ซึ่ง “เบนซ์ พรชิตา” มาเป็นพรีเซนเตอร์คนที่ 3 โดยผลิตภัณฑ์ที่ “เบนซ์ พรชิตา” เป็นพรีเซนเตอร์นั้น เริ่มผลิตตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลิตไปประมาณ 10,000 กว่ากล่อง ส่งให้ตัวแทนจำหน่าย ซึ่งก็ได้ขายหมดไปแล้ว สินค้าที่หลงเหลืออยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นของปลอมทั้งหมด
จนกระทั่งทางบริษัทพบว่า มีของปลอมขายอยู่ในท้องตลาด จนส่งผลให้ยอดขายลดลง ทั้งที่ลูกค้ามีความต้องการสูงมาก กลายเป็นว่าลูกค้ากลับไปซื้อของปลอมไปบริโภค จึงไปแจ้งความกับตำรวจ 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา
จากนั้นทางบริษัทจึงเรียกผลิตภัณฑ์คืนกับตัวแทนทั้งหมด แล้วเปลี่ยนแพคเกจให้บนหน้ากล่องผลิตภัณฑ์นั้น มีลายเซ็นของ “เบนซ์ พรชิตา” เพื่อให้เกิดความแตกต่างว่านี่คือผลิตภัณฑ์ของแท้ โดยเริ่มเปลี่ยนแพคเกจใหม่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความแตกต่างกับผลิตภัณฑ์ปลอม
อย่างไรก็ตาม ยังได้ขอบคุณทาง อย. ที่ตรวจพบว่ามีการผสมสารใส่บูทรามีนในผลิตภัณฑ์ของปลอม และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ที่ไปแจ้งความร้องทุกข์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากทำให้ประชาชนได้รู้ว่ามีผลิตภัณฑ์ปลอมแฝงอยู่ในตลาดจะซื้อมาบริโภคต้องระมัดระวัง และควรตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อผลิตภัณฑ์
ส่วนกรณีที่ทางพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. ได้ออกหมายเรียก “เบนซ์ พรชิตา” และ “มิค บรมวุฒิ” มาให้ปากคำในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ เวลา 10:00 น.นั้น ยังไม่ทราบเรื่องและยังไม่ได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนอย่างใด แต่ยินดีให้ความร่วมมือ หากพนักงานสอบสวนจะเรียกเข้าไปให้ปากคำ ส่วนจะมีการดำเนินคดีกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือไม่นั้น ตนเองไม่ทราบ เพราะเป็นเพียงพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ทางบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้แต่งตั้งทนายความขึ้นมาให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางคดีด้วย
ก่อนหน้านี้ทางบริษัทผู้ผลิตได้ออกหนังสือประกาศชี้แจงมาแล้ว เนื้อหามีดังนี้คือ
-เนื่องจากผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางบริษัททราบว่ามีการทำของเล่นเลียนแบบออกมาจำหน่ายปะปนในตลาด โดยได้เข้าแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานกับตำรวจแล้วแล้ว
-การที่มีของเลียนแบบปะปนในท้องตลาดทางบริษัทไม่ได้นิ่งน้องใจจึงมีการเปลี่ยนแพคเกจด้านหน้าให้มีลายเซ็นต์พรีเซนเตอร์ มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และเรียกคืนกล่องที่ไม่มีลายเซ็นต์คืน
-จุดสังเกตของแท้คือ คือ แพคเกจต้องมีลายเซ็นต์พรีเซนเตอร์เท่านั้น ซึ่งบริษัทได้ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่าง ๆ ให้ทราบโดยทั่วกัน
-ตามที่มีการตรวจสอบพบสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ในช่วงเดือนมิถุนายนนั้น ซึ่งเป็นล็อตการผลิตในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วในช่วงนั้นเป็นช่วงที่สินค้าขาดตลาด จึงเป็นไปได้ที่จะมี ผลิตภัณฑ์ล็อตดังกล่าวจำหน่ายในช่วงเดือนมิถุนายน
-เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พรีเซ็นเตอร์ได้มีการประชาสัมพันธ์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของจริงและของปลอม เผยแพร่ให้กับลูกค้าได้รับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มแล้ว
-หลังจากที่บริษัททราบว่ามีผบิตภัณฑ์ของปลอมระบาด ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกสูตรใหม่ออกมา โดยเปิดตัวที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา และเรียกคืนผลิตภัณฑ์ล็อตเก่าจากตัวแทนกลับ
จากกรณีที่เกิดขึ้นทางบริษัทขอยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์แบรนด์ อิชช่า ไม่ได้เพิ่งจำหน่ายในปีนี้แต่การตลาดมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ทางบริษัทยึดมั่นในคุณภาพมาตรฐาน ตามกฎกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด จึงมีความยินดีที่จะชี้แจงและให้ตรวจสอบถึงความบริสุทธิ์ สุจริต ในการดำเนินธุรกิจกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกประการ
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 6 มิ.ย.67 พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เดินทางมาที่ สภ.บ้านค่าย จ.ระยอง ร่วมประชุมกับ พล.ต.ต.พงศ์พันธ์ วงษ์มณีเทศ ผบก.ภ.จว.ระยอง พ.ต.อ.วรวุฒิ ชัยเจริญ รอง ผบก.ภ.จว.ระยอง พ.ต.อ.สราวุธ นุชนารถ ผกก.สภ.บ้านค่าย พ.ต.อ.ปัญญา ดำเล็ก ผกก.สภ.มาบตาพุด หัวหน้าพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวน เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีลักลอบเก็บกากสารเคมีบริษัทวินโพรเสส ซึ่งครอบคลุม 2 พื้นที่คือมาบตาพุด และบ้านค่าย
พล.ต.ท.สมประสงค์ บอกว่า วันนี้มาติดตามเร่งรัด ควบคุม การสอบสวนให้รอบคอบเสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งที่ สภ.บ้านค่าย ได้แจ้งข้อหา ครอบครองสารพิษโดยไม่ได้รับอนุญาติ สอบพยานไปแล้วจำนวน 39 ปาก สัปดาห์หน้าจะสรุปสำนวนส่งให้อัยการได้ ส่วนที่ สภ.มาบตาพุด ข้อหามีสารพิษไว้ในความครอบครองก็จะสรุปได้ในสัปดาห์หน้าเช่นกัน แต่ว่าที่ สภ.มาบตาพุด การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วทำให้พบหลักฐานที่อาจนำไปสู่ข้อหาอื่นเพิ่มเติม เช่น เราพบตรายางที่เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานอื่นมาเกี่ยวข้องในบริษัท จึงอาจเกี่ยวในเรื่องการปลอมแปลงเอกสารอยู่ระหว่างการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน หากพิสูจน์ทราบว่าเกิดการกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งหากเกิดการกระทำผิดก็จะแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ทำให้ยังต้องใช้เวลาและเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้การด้วย
ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่นในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 2 ยังไม่พบผู้เกี่ยวข้องรายอื่น นอกจากนายโอภาส แต่กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผล ตำรวจทำงานอย่างเต็มที่ สรุปขณะนี้คดีที่แจ้งเจ้าของโรงงานวินโพรเสส ที่ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย แจ้งข้อหาครอบครองสารพิษโดยไม่ได้รับอนุญาต สัปดาห์หน้าสรุปสำนวน ส่งอัยการได้ ส่วนโรงงานวินโพรเสส ที่มาบตาพุด แจ้งข้อหามีสารพิษไว้ในความครอบครองกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว เหลือข้อหาอื่นที่พบใหม่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน อาจต้องใช้เวลาแต่ก็ทันในเวลาที่กฎหมายกำหนด
6 มิ.ย.2567 เมื่อเวลา15.40น. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมในวันนี้ว่า มติที่ประชุมเห็นชอบเรื่องของกรอบเวลานิรโทษกรรม ช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน
ส่วนนิยาม คำว่า การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ได้ข้อสรุปว่า “หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลา ที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง” โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ควรมีเรื่องขอบเขตการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นความเห็นใหม่ที่เสนอเข้ามาในกมธ.
นายนิกร กล่าวต่อว่า ทางกมธ.ยังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับขอบเขตการนิรโทษกรรม รวมถึงผลของการนิรโทษกรรม ว่า "บรรดาการกระทำใด ๆ หากเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่า บุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด"
เมื่อถามว่าท้ายที่สุดการนิรโทษกรรมจะครอบคลุมถึงคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า อีกสัก2-3 ครั้งการประชุมกมธ.ฯคงจะพิจารณาได้ เพราะขณะนี้มีหลายคดีที่ต้องมาคิดกันว่าจะนิรโทษอะไรบ้างอย่างไร ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา ต้องดูกรอบอื่นมาก่อน แต่หากจะนิรโทษกรรมมาตรา112 จะต้องครอบคลุมทุกคดีใช่หรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่ว่าจะเจอมาอย่างไร เพราะตอนนี้รวมอยู่ในกรอบการศึกษาทั้งหมด
6 มิถุนายน 2567 นพ.สมยศ กิตติมั่นคง อาจารย์พิเศษด้านกัญชาเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และผู้เขียนหนังสือ “กัญชาคือยารักษามะเร็ง” ให้ความเห็นเรื่องมีความพยายามนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ว่า ถ้าทำลงไป เท่ากับตัดโอกาสชาวบ้านที่ไม่มีทางเลือก มันมีคนที่ต้องพึ่งตนเอง คนที่หมดความหวังจากวิธีอื่นแล้ว มันเหมือนกันตัดโอกาสจากการมีชีวิตรอด ซึ่งสารในกัญชา มี 400 – 500 ตัว เรามาสนใจกันแค่ 2 สาร แต่สารอีกเกือบ 500 เราไม่รู้จักเลย เราสนใจแค่ THC CBD บางสายพันธุ์ มันก็มีสาร ซึ่งมีคุณสมบัติ ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเราไม่ไปให้ความสนใจกับมัน แล้วตนมองว่า เราเข้าไปวุ่นวายกับชาวบ้านเกินไป เห็นชาวบ้านใช้ แล้วเป็นกังวล ทั้งที่เขาใช้มานานแล้ว เป็นยาสมุนไพร เราเห็นความเป็นห่วงเกินไป ทั้งที่ชาวบ้านเขาใช้พึ่งพาตนเอง ลำพังตัวสมุนไพร มันไม่ได้มีพิษมากมาย แล้วมันมีประโยชน์ มันรักษาอาการเจ็บป่วยได้
นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า ที่บอกว่า ใช้แล้วเป็นโรคจิต เพ้อ เพี้ยน เป็นจิตเภท มันมาจากกัญชาหรือ อันนี้ ต้องถามไปถึงการทำข้อมูลก่อน หรือเขาเป็นจิตเภท อยู่แล้ว พอเขามาใช้กัญชา แล้วไปเหมารวมว่ามาจากกัญชา ตนทำการรักษาคนไข้ ไม่เคยเจอ คนที่ใช้กัญชาแล้วเป็นจิตเภท ส่วนเรื่องง่วงหงาวหาวนอน ถ้าใช้กัญชาปริมาณสูง มันมีอาการอยู่แล้ว อันนี้ เรื่องธรรมชาติ แต่บางที คนที่ต้านกัญชาก็ไปบอกว่า กัญชาทำให้คลุ้มคลั่ง ทั้งที่ฤทธิ์ ตรงกันข้าม คุณไปเอาข้อมูลมาจากไหน ต้นกัญชา ก็ต้น กัญชา ยาบ้า ก็ยาบ้า ตอนนี้ ให้ข้อมูลสับสนกันไปหมด คนที่ต้านกัญชา บางคนบอก กัญชาทำให้ง่วง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ คนที่ต้านกัญชาบางกลุ่ม กลับบอกว่ากัญชาทำให้คลั่ง ตกลงที่ท่านพูดกัน อะไรคือความจริง
“ถ้าเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด คนติดคุกเป็นล้านแน่นอน เพราะตอนที่ปลดล็อก ชาวบ้านดีใจขอปลูกกัน แล้วก็ปลูกเต็มไปหมด ใช้เป็นสมุนไพร ขายเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ถ้ากลับเป็นยาเสพติด คนที่เขาปลูกอยู่จะทำอย่างไร มันจะกลายเป็นล็อกกฎหมาย ซึ่งผมเชื่อว่า ชาวบ้านไม่เลิกปลูก แล้วมันจะสร้างความโกลาหลทั้งประเทศ อันนี้ คือสถานการณ์ภายใน และมันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลกด้วย นโยบายชักเข้า ชักออก ใครเขาอยากมาลงทุน เขาจะมองว่า กัญชา คุณปลดล็อกมายิ่งใหญ่ เรียกให้นักลงทุน มาลงทุน แล้วอยู่ดีๆ ก็ดึงกลับไปเป็นยาเสพติด เขาจะมองอย่างไร เชื่อว่าเขาไม่มองเรื่องกัญชา แต่เขาจะมองเรื่องอื่นๆ ในอนาคต ทุกนโยบายของประเทศนี้ มันไม่มีความแน่นอน รัฐบาลพลิกไป พลิกมา ใครอยากจะมาลงทุน อย่าลืมว่า นักลงทุน เขาไม่ได้มาแค่ 2-3 ปี แต่เขามองการไกลนะ นักลงทุนไทย ตอนนี้ ก็งงกับสิ่งที่รัฐบาลทำเหมือนกัน” นพ.สมยศ ระบุ
นพ.สมยศ กล่าวด้วยว่า ถึงเอากลับไปเป็นยาเสพติด ยังใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ผมถามว่า จะนิยามการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างไร การใช้ทางการแพทย์ต้องรอหมอสั่งใหม่ ถ้าใช่ มันก็กระทบกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยบางคน ชอบใช้ธรรมชาติบำบัด อันนั้นเรียกว่าใช้เพื่อสุขภาพ ใช้เป็นยาสมุนไพร ชงเป็นชา ทำยาหม่อง แต่คุณหมอไม่จ่ายยา เพราะหมอเองก็ไม่ถนัดเรื่องนี้ ไม่เชื่อมั่น ไม่มีข้อมูล โอกาสของคนไข้ ก็หายไป ซึ่งหมอไม่ผิด แต่ชาวบ้าน เขามีภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมา บางทีมันไม่ควรต้องให้หมอมากำกับ คือ กัญชา มันเป็นสมุนไพร มันต้องให้ประชาชนใช้ได้ รักษา เยียวยาตัวเอง การใช้ทางการแพทย์ อาจจะไปนิยามเรื่องใช้สารสกัด มีความเข้มข้น แต่ชาวบ้านเขาใช้เพื่อสุขภาพ แล้วถ้าเหมาไปทางการแพทย์หมด ก็เท่ากับชาวบ้าน ใช้เองไม่ได้แล้ว
“ผมคิดว่าท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ท่านต้องใช้วิจารณญาณแล้วนะ เพราะมันมีข้อมูล 2 ฝั่ง อะไรที่มันเป็นความจริง อะไรที่เป็นคาดการณ์ อะไรที่คาดเดา หรือข้อมูลไหน มันล้าสมัยไปแล้ว บางท่าน เอาข้อมูลเก่า มาตีฟู เพราะเชื่อแบบนั้น มีอคติแบบนั้น มันถึงต้องมาเปิดเวทีให้ทั้ง 2 ฝ่าย เอาข้อมูลมากางกันเลย แล้วเราจะบอกได้ว่า ข้อมูลไหน มันเชื่อถือได้ ถือไม่ได้ อะไรมันเก่า ก็เลิก อันไหนใหม่ ก็อัพเดท หรือท่านชะลอ แล้วไปทำข้อมูล ไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน จะได้เห็นพัฒนาการการใช้กัญชาเพื่อสุขภาพ คนที่เขาใช้เป็นมีเยอะมาก มันคือสมุนไพร มันคือมรดกด้านการสาธารณสุขของคนไทย แล้วเอาเข้าจริง ทางกระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลอยู่ในมือมากพอแล้ว คุณหมอหลายท่านมีประสบการณ์ มากมาย การที่มันปลดล็อกมาได้ข้อมูลมันต้องชัวร์ เป็นวิทยาศาสตร์ และเข้าใจ หมดแล้วว่าความจริงคืออะไร แต่ตอนนี้ มันเป็นเรื่องการเมืองรึเปล่า เลยไม่ได้เอาความจริงมาพูด” นพ.สมยศ กล่าว
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2567 สถานีโทรทัศน์ NDTV ของอินเดีย รายงานข่าว Starlink Brings Internet To Remote Tribe. They Get Hooked To Porn ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ป่าอเมซอน กำลังประสบกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้า-คายไม่ออก เมื่อเทคโนโลยี “สตาร์ลิงก์ (Starlink)” ระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ได้รับมอบจาก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีนักลงทุนด้านเทคโนโลยี แม้จะทำให้พวกเขาสะดวกสบายด้านการติดต่อสื่อสารมากขึ้น แต่ก็ทำให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้นด้วย
ชนเผ่า “มารุโบ (Marubo)” ในบราซิล ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 2,000 คน ได้รับมอบระบบสตาร์ลิงก์ เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ซึ่งผู้อาวุโสของเผ่า ไซนามะ มารุโบ (Tsainama Marubo) หญิงชราวัย 73 ปี เล่าว่า ด้านหนึ่งอินเทอร์เน็ตทำให้คนในเผ่าสามารถพูดคุยกับคนรักที่อยู่ห่างไกล และขอความช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินได้ แต่อีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนมันจะทำให้คนหนุ่ม-สาว มีนิสัยเกียจคร้าน รวมถึงทำให้เด็กและเยาวชนเสพติดการพูดคุยและใช้ชีวิตกับหน้าจอ ไปจนถึงการรับข้อมูลสื่อลามกอนาจารและข้อมูลที่ผิดต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่เห็นด้วยหากจะรื้อถอนระบบออกไป
อัลเฟรโด มารุโบ (Alfredo Marubo) หัวหน้าสมาคมชุมชนหมู่บ้านมารุโบ กล่าวว่า ตนไม่สบายใจกับเรื่องสื่อลามกอนาจารมากที่สุด มีการแชร์คลิปเนื้อหาด้านเพศกันในกลุ่มแชทของบรรดาชายหนุ่ม และผู้นำชุมชนบางคนบอกกับตนว่า พวกเขาสังเกตเห็นหนุ่มๆ ในเผ่า มีพฤติกรรมทางเพศที่ดูก้าวร้าวขึ้น ทั้งนี้ เสาอากาศรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตระบบสตาร์ลิงก์ ได้รับบริจาคจาก อัลลิสัน เรโน (Allyson Reneau) นักธุรกิจชาวอเมริกัน
สมาชิกรายหนึ่งในเผ่า กล่าวถึงประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ว่า ในอดีตการถูกงูพิษกัด ถือเป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่คนในเผ่าอาจเสียชีวิตได้ ในอดีตการขอความช่วยเหลือต้องใช้วิทยุสื่อสาร ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รีบนำเฮลิคอปเตอร์มารับ แต่อินเทอร์เน็ตทำให้ทุกอย่างรวดเร็วขึ้น จึงเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้มากขึ้น ขณะที่สมาชิกอีกราย กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตสามารถให้อิสระแก่ปัจเจกบุคคลได้ ด้วยสิ่งนี้ พวกเขาสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น ในการให้ข้อมูลและบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง