ข่าว
อังกฤษอาจให้'คนหนุ่ม-สุขภาพดี'ใช้เครื่องช่วยหายใจก่อน เหตุหายป่วย'โควิด'ง่ายกว่า

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 เว็บไซต์ นสพ.The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว “Ventilators may be taken from stable patients for healthier ones, BMA says” ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในอังกฤษพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ว่าหากเครื่องช่วยหายใจขาดแคลน แพทย์อาจต้องเลือกให้ผู้ป่วยที่สุขภาพดีมีโอกาสได้ใช้ก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสรอดสูงกว่า

รายงานข่าวอ้างถึงคู่มือแนะนำแนวปฏิบัติจากสมาคมการแพทย์สหราชอาณาจักร (British Medical Association-BMA) ที่แนะนำว่าแพทย์ควรให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่อายุน้อยหรือที่มีสุขภาพดี ซึ่งอาจหมายความว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวจะไม่ได้รับการรักษาที่อาจช่วยชีวิตได้ โดยให้เหตุผลว่าหากการระบาดไปถึงจุดที่เกินกว่าระบบสาธารณสุขรับไหวและมีการตัดสินใจที่ยากลำบากในการแจกจ่ายทรัพยากรเพื่อช่วยชีวิต คู่มือนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อให้คำแนะนำกับแพทย์ในการจัดการเรื่องดังกล่าว

คู่มือฉบับนี้ไมได้ระบุชัดถึงโรคใดบ้างที่มีแนวโน้มถูกปฏิเสธการรักษา แต่คาดว่าน่าจะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต รวมถึงโรคปอดที่เป็นอยู่แล้วเช่นภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งชาวอังกฤษราว 1 ใน 4 มีโรคประจำตัวอยู่แล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโอกาสตายสูงหรือต้องได้รับการรักษาอย่างเข้มข้นเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจำไม่ได้รับการพิจารณา แม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะยังได้รับการดูแลในรูปแบบอื่นก็ตาม

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า อังกฤษได้เร่งเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนัก (ICU) ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้รับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เครื่องช่วยหายใจก็ยังมีไม่มากพอ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำอื่นๆ ที่เป็นข้อถกเถียง เช่น ผู้ป่วยที่เข้าห้อง ICU แล้วยังทรงตัวหรือแย่ลงอาจต้องแทนที่ให้ผู้ป่วยรายอื่นที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่า หรือผู้ป่วยที่ทำงานในบางสาขาอาชีพที่สำคัญ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภคและระบบโทรคมนาคมอาจได้สิทธิ์ใช้เครื่องช่วยหายใจหรือห้อง ICU ก่อน เป็นต้น

ทำเนียบผวาซ้ำ! พบจนท.‘ดีเอสไอ’ติดโควิด ร่วมประชุม‘ศบค.’

1 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ยังศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล มีอาการและตรวจพบติดโควิด-19 จนนำมาสู่มาตรการเข้มข้นของทำเนียบรัฐบาลในการตรวจสอบบุคคลผ่านเข้าออก เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ระบาดในทำเนียบรัฐบาลและ ศบค.

ล่าสุดมีรายงานว่าพบเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ประสานงานกับ ศบค. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีอาการไอ มีไข้ต่ำๆ และอ่อนเพลีย จึงทำการกักตัวเอง พร้อมเดินทางไปตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ที่รพ.รามาธิบดี วันที่ 31 มีนาคม 2563 ผลปรากฏว่าติดโรคโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นรายที่ 2 ที่พบติดเชื้อ และเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับตัวแทนจากดีเอสไอ ที่มาทำหน้าที่ประสานงานใน ศบค.ทำเนียบรัฐบาล ได้เข้าปฏิบัติงานช่วงเวลา 08.00 -17.00 น. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ซึ่งได้มีการประชุมและคลุกคลีกับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขและติดเชื้อก่อนหน้านี้

เบื้องต้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้กลุ่มบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ทำการกักตัวเอง เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด


วุฒิสภาหนุนรัฐเกลี่ยงบ10%เข้างบกลาง เสนอเรียนออนไลน์ ลดค่าเทอมช่วงโควิด

1 เมษายน 2563 นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานอนุกรรมาธิการการปฏิรูปการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้ทำการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรก ผ่านทาง LINE กลุ่ม ในประเด็นหัวข้อ ”อุดมศึกษาจะช่วยอะไรให้ประเทศดีขึ้นในสถานการณ์โรคระบาดโควิด19” มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ดังนี้

1.เห็นด้วยกับการเกลี่ยหรือโยกงบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 10% จากทุกกระทรวงทบวงกรม มาเป็นงบกลางเพื่อใช้ในการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3.2 แสนล้านบาท

2.สนับสนุนมาตรการอยู่กับบ้าน (Stay Home) ลดการแพร่เชื้อ โดยเห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งหยุดสอนแบบปกติ และทำการสอนออนไลน์

3.เสนอให้มีการประเมินผลปลายภาคการศึกษาตามกรอบเวลาเดิม ไม่ยืดเวลาออกไป ซึ่งจะมีผลกระทบกับการจบการศึกษา แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสม เช่น นักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพปีสุดท้าย ให้ร่วมปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามตามเกณฑ์ที่กำหนด แล้วให้ผ่านการประเมินในภาคการศึกษานั้นๆได้

4.เสนอให้ลดผลกระทบต่อนักศึกษาและผู้ปกครอง ทั้งเรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษา สวัสดิการต่างๆ และการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตที่จะให้เรียนแบบออนไลน์

5.ให้แต่ละมหาวิทยาลัยร่วมสนับสนุนกับทางจังหวัดที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในการรองรับสถานการณ์ COVID-19 ทั้งเรื่องทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

6.เสนอให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่มีอำนาจเต็มภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับข้อมูล ความรู้ทางด้านการวิจัย และสร้างนวัตกรรม ที่มาช่วยสนับสนุนการควบคุมโรค COVID-19

7.ให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

8.ให้มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านใช้องค์ความรู้สนับสนุนหน่วยงานของรัฐเพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้อนุกรรมาธิการชุดดังกล่าวจะประชุมออนไลน์ทุกวันพุธ


สุดช็อค! เผยคลิปนาที'ลุงติดเชื้อโควิด'ไอใส่หนุ่มวัยรุ่น ก่อนตายบนรถไฟ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 จากกรณีที่มีข่าวผู้โดยสารเสียชีวิตบนขบวนรถพิเศษทักษิณที่ 37 (กรุงเทพ - หาดใหญ่) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ระหว่างขบวนรถจอดที่สถานีทับสะแก เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยท้องถิ่นทำการช่วยเหลือ และปรากฏว่าผู้โดยสารได้เสียชีวิต และวันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มีหนังสือแจ้งว่า ผู้โดยสารคนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น (อ่านข่าวประกอบ : รฟท.เร่งตามหาผู้ร่วมขบวน15คน-กักตัวพนักงาน หลังผู้โดยสารตายบนรถไฟติดโควิด)

ล่าสุด นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิดที่สถานีรถไฟบางซื่อ ขณะลุงคนที่เสียชีวิตบนขบวนรถไฟกำลังเดินไปที่ห้องขายตั๋ว ลักษณะเดินกะเผลก มีไม้ค้ำ ปรากฏว่า ลุงคนดังกล่าวได้ไอใส่วัยรุ่นชายคนหนึ่ง ซึ่งยืนรอคิวอยู่ ก่อนยืนอยู่สักพักแล้วถึงเดินไปอีกช่อง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ขอให้สื่อมวลชนเผยแพร่คลิปนี้ เพราะการรถไฟฯ ต้องการติดตามชายหนุ่มที่ปรากฏในคลิป ที่โดนลุงผู้เสียชีวิตไอใส่มาพบเจ้าหน้าที่โดยด่วน เพื่อทำการตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 จากลุงคนที่ไอใส่หรือไม่ และขอให้หนุ่มคนนี้กักตัวเอง รอดูอาการ 14 วันด้วย


'เวียดนาม'ปิดประเทศ ประกาศ'โควิด-19'ระบาดทั่วประเทศแล้ว

1 เม.ย.63 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามในกฤษฎีกาวันนี้ เพื่อประกาศว่าไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดทั่วประเทศเวียดนามแล้วในขณะนี้

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ระบุว่า โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดทั่วประเทศ และกระจายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก ถือเป็นโรคติดเชื้อที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็วมาก มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง และก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตสูง

อย่างไรก็ตาม ในวานนี้ทางการเวียดนามได้ประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทั่วประเทศเป็นเวลา 15 วัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ พร้อมกับกำหนดให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเกิน 2 คน

'โควิด'ทำศก.นานาชาติป่วน กิจการเจ๊ง-ตกงานพุ่ง-ความเชื่อมั่นดิ่งเหว

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ “Japan's business mood hits seven-year low as virus revives deflation specter” ระบุว่า ธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่น สำรวจพบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจรายใหญ่ในญี่ปุ่นลดต่ำสุดในรอบ 7 ปี ตั้งแต่ผู้ประกอบการโรงแรมไปจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์

เช่น ในภาคบริการและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากแนวคิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และห้ามการเดินทาง โดยเฉพาะกำลังใจในการดำรงอยู่ของธุรกิจโรงแรมลดต่ำสุดในรอบ 16 ปี เพราะการระบาดของโรคทำให้การเดินทางทั้งในและต่างประเทศลดลง ส่วนความเชื่อมั่นของภาคการผลิตที่ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่อยู่ที่ติดลบ 8 จากเดิมอยู่ที่บวก 20 ในเดือน ธ.ค. 2563 ผู้ประกอบการไม่ว่ารายใหญ่หรือรายเล็กไม่ได้คาดคิดว่าทุกอย่างจะเลวร้ายลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ข่าว “U.S. consumer confidence approaches three-year low” ระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำสุดในรอบ 3 ปี อยู่ที่ 120.0 นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2560 ทั้งที่ในเดือน ก.พ. 2563 ยังเป็นขาขึ้นโดยอยู่ที่ 132.6 ขณะที่ผู้ขอขึ้นทะเบียนรับสิทธิประโยชน์คนว่างงานเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 3.28 ล้านคน ส่วนกิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงักกะทันหันในเดือน มี.ค. 2563 หลังภาครัฐใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่กระจายของโรค

รวมถึงมีการคาดการณ์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังคงลดต่ำลงต่อไปเนื่องจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น และการลดลงในเดือน มี.ค. 2563 สะท้อนภาพการหดตัวอย่างรุนแรงมากกว่าความตกใจชั่วคราว ไม่ต่างจากดัชนีความเชื่อมั่นในการหางานทำ การสำรวจในเดือน ก.พ. 2563 ยังอยู่ที่ 32.6 แต่เมื่อถึงเดือน มี.ค. 2563 ก็ลดลงมาอยู่ที่ 31.0 ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค. 2563 สอดคล้องกับการปิดกิจการที่เพิ่มสูงขึ้น

ข่าว “Italy's economy minister sees 6% fall in 2020 GDP as 'realistic' estimate - paper” ระบุว่า โรแบร์โต กอลทิเอรี (Roberto Gualtieri) รัฐมนตรีเศรษฐกิจอิตาลี ยอมรับผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ของอิตาลีในเดือน มี.ค. 2563 จะลดลงร้อยละ 6 ที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้กลายเป็นเรื่องจริงหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอิตาลีสามารถตั้งเป้าหมายที่จะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งได้ นอกจากนี้ยังย้ำถึงความสำคัญของกลไกร่วมกันระดับประชาคมยุโรปในการต่อสู้กับวิกฤติครั้งนี้

ข่าว “Taiwan to spend $35 billion fighting virus, to donate 10 million masks” ว่าด้วยไต้หวันที่แม้จะได้รับเสียงชื่นชมในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวัน ประกาศจะใช้งบประมาณถึง 1.05 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 34.65 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 นอกจากนี้ ไต้หวันจะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก ตลอดจนการพัฒนาวิธีการรักษาและการผลิตวัคซีน

ข่าว “'Very material' contraction likely in Australia due to coronavirus: central bank minutes” อ้างความเห็นของธนาคารกลางออสเตรเลีย ตอนหนึ่งระบุว่า การหดตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียอาจยาวนานกว่าเดือน มิ.ย. 2563 ปัจจัยมาจากการกำหนดมาตรการระยะห่างทางสังคมรวมถึงการปิดบ้าน-ปิดเมืองเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้า แม้จะขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของแต่ละบริษัทในการรักษาพนักงานไว้ก็ตาม