ความคืบหน้าภายหลัง ซาเลห์ อัล-อารูรี รองผู้นำฮามาส วัย 57 ปี ถูกลอบสังหารด้วยการใช้โดรนโจมตี ในกรุงเบรุตของเลบานอนเมื่อวันอังคาร ส่งผลให้เขาเป็นแกนนำการเมืองอาวุโสคนแรกของฮามาสที่ถูกสังหาร นับจากอิสราเอลใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินถล่มกาซา ตอบโต้ที่ฮามาสข้ามพรมแดนเข้าไปก่อเหตุครั้งใหญ่ในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
ที่ผ่านมา ฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฮามาสมีการยิงปะทะรายวันกับอิสราเอลบริเวณพรมแดนทางใต้ของเลบานอนนับตั้งแต่เกิดสงครามในกาซา แต่หลายฝ่ายคาดว่า การเสียชีวิตของอัล-อารูรีจะยิ่งทำให้สงครามในกาซาอาจบานปลาย เนื่องจาก ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์เคยเตือนอิสราเอลว่า จะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงหากลอบสังหารคนในแผ่นดินเลบานอน และเมื่อวานนี้ ฮิซบอลเลาะห์เผยว่าได้ยิงขีปนาวุธมุ่งเป้าหมายที่กลุ่มทหารอิสราเอล หลังจาก อัล-อารูรี ถูกสังหาร ด้านอิหร่านแถลงว่า การสังหาร อัล-อารูรี จะจุดกระแสต่อต้านและต่อสู้กับอิสราเอลครั้งใหม่อย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่ในปาเลสไตน์ แต่จะแผ่ไปถึงภูมิภาคอื่นทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอลมาครง ผู้นำฝรั่งเศส ออกมาเรียกร้องให้อิสราเอลหลีกเลี่ยงการจุดชนวนความรุนแรงในเลบานอน เช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศเลบานอน บอกว่าได้ร้องขอไปยังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ไม่ให้ดำเนินการใดๆ เพื่อตอบโต้หรือเอาคืนการลอบสังหาร อัล-อารูรี
จนถึงขณะนี้ อิสราเอลยังไม่ยืนยันหรือปฏิเสธว่าสังหารรองผู้นำฮามาสในเลบานอนหรือไม่ โฆษกกองทัพอิสราเอลเผยว่า กองทัพได้เตรียมพร้อมในระดับสูงเพื่อรับมือกับทุกกรณี อีกทั้งยังมีการเผยแพร่คลิปขณะโจมตีเป้าหมายในเลบานอนจนสามารถสังหาร อัล-อารูรีได้ โดยก่อนหน้านี้อิสราเอลกล่าวหา อัล-อารูรี ว่าสั่งการให้โจมตีพลเรือนอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์มาตลอดหลายปี ขณะที่สมาชิกฮามาสเผยว่า เขาเป็นคนสำคัญในการเจรจากับกาตาร์และอียิปต์เรื่องสงครามกาซาและการปล่อยตัวประกันที่ฮามาสจับตัวไปจากอิสราเอล
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ประกาศจะกำจัดแกนนำฮามาส ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด
เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “สิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตที่มีความสุขในอนาคต คือ การสร้างนิสัยที่ดีตั้งแต่ตอนนี้ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิต ทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย จะเปลี่ยนชีวิตในอนาคต ชีวิตเราออกแบบเองได้ เพื่อเป้าหมายที่เป็นของเราทุกคนครับ”
นอกจากนั้นยังโพสต์ภาพที่ระบุว่า “เปลี่ยนนิสัยเดิม เริ่มนิสัยใหม่ ชีวิตออกแบบได้ สู่เป้าหมายที่เป็นของเรา คำขวัญวันเด็ก โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”
3 มกราคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุการณ์รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ล้อหลุดหล่นลงมาใส่รถแท็กซี่ที่วิ่งสัญจรอยู่บนถนนเทพารักษ์ กม.3 ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ทันทีที่ทราบข่าว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปถึงพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบสาเหตุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จากการสอบถามบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง เปิดเผยถึงสาเหตุในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืนล้อแตก ทำให้ล้อหลุดหล่นลงมา โดยขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้เข้าศูนย์ซ่อมบำรุงแล้ว และในส่วนของรถไฟฟ้าไม่ได้เป็นอะไร สามารถวิ่งให้บริการได้ตามปกติ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (3 ม.ค.67) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเรียกบริษัท อีสเทิร์นฯ ผู้รับสัมปทาน เข้ามาชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมหารือบทลงโทษกับบริษัทผู้รับสัมปทาน กรณีเกิดเหตุการณ์หรือเกิดอุบัติเหตุต่อการเดินรถไฟฟ้า เตรียมออกกฎคาดโทษตัดสิทธิ์การสัมปทานครั้งต่อไป
“ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยต่อการเดินทางของประชาชนบนรถไฟฟ้า ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ล้อรถไฟฟ้าหลุด ยืนยันว่าระบบเทคโนโลยีของรถไฟฟ้าได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ขอให้ประชาชนมั่นใจ รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม จะได้ตรวจสอบพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุ” นายชัย กล่าวย้ำ
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 น.ส.อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าล่าสุดหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่ภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเร่งช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งเพื่อให้เกษตรกรกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยเร็ว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในครั้งนี้เป็นภัยพิบัติที่เหนือความคาดหมาย ในรอบ 50 ปี ที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างวงกว้าง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้บินด่วนไปตรวจเยี่ยมพร้อมให้กำลังใจราษฎรผู้เดือดร้อน พร้อมให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเบื้องต้น สนับสนุนอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่มให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.66 - 3 ม.ค.67 จำนวน 27,560 ชุด ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่ภาคการเกษตรทุกด้าน พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และหามาตรการในการเยียวยาเป็นการเร่งด่วนต่อไป
ทั้งนี้ ผลกระทบด้านการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ม.ค. 67) ด้านพืช พื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา 22,766 ราย พื้นที่ 39,673 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 10,914 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 3,414 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 25,345 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ด้านประมง พื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดยะลา เกษตรกร 1,548 ราย พื้นที่ (บ่อปลา) 634 ไร่ กระชัง 6,262 ตร.ม. อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ด้านปศุสัตว์ พื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดสตูล เกษตรกร 34,641 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 574,006 ตัว แบ่งเป็น โค 53,972 ตัว, กระบือ 2,217 ตัว, สุกร 5,574 ตัว, แพะ/แกะ 30,331 ตัว, สัตว์ปีก 481,912 ตัว และแปลงหญ้า 1,183 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
ทางการญี่ปุ่น เปิดเผยผลการสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ชนกับเครื่องบินหน่วยยามฝั่ง อ้างอิงบันทึกหอควบคุมการบิน อนุญาตให้เครื่องบินโดยสารลงจอด ขณะที่เครื่องบินหน่วยยามฝั่งยังไม่พร้อมขึ้นบิน ด้านเจแปนแอร์ไลน์คาด อุบัติเหตุครั้งนี้จะทำให้เกิดค่าเสียหายในการดำเนินงานประมาณ 15,000 ล้านเยน (ราว 3,600 ล้านบาท)
เจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานการบินพลเรือนญี่ปุ่น และกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น เปิดเผยผลการถอดเทปบทสนทนาผ่านวิทยุสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินของสนามบินฮาเนดะ กับนักบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ และนักบินหน่วยยามฝั่งในช่วงก่อนจะเกิดเหตุเครื่องบินชนกันเมื่อช่วงเย็นวันอังคารที่ผ่านมา (2 ม.ค.) พบว่า หอบังคับการบินอนุญาตให้เครื่องบินโดยสารลงจอดได้ และขอให้เครื่องบินของหน่วยยามฝั่งจอดรออยู่ในรันเวย์ใกล้กัน ซึ่งทางนักบินเจแปนแอร์ไลน์ก็บอกเช่นกันว่าได้รับอนุญาตให้นำเครื่องบินลงจอดได้ และบอกด้วยว่าในขณะที่เครื่องบินกำลังจะแตะรันเวย์ไม่เห็นว่ามีเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งอยู่บนรันเวย์ และคาดว่าทางหอควบคุมการบินก็ไม่เห็นเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งด้วยเช่นกัน
ขณะที่คำให้การของนักบินหน่วยยามฝั่งที่รอดชีวิตมาได้กลับขัดแย้งกัน โดยนักบินระบุว่าได้รับอนุญาตจากหอควบคุมการบินให้นำเครื่องขึ้นบินได้ แต่ในบทสนทนานั้นพบว่าเครื่องบินหน่วยยามฝั่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในรันเวย์และดูเหมือนว่านักบินก็รับทราบคำสั่งนั้นแล้ว
เหตุการณ์เครื่องบินชนกันเกิดขึ้นเมื่อเวลา 17.47 น. เย็นวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น เครื่องบินโดยสารของเจแปนแอร์ไลน์เดินทางมาจากสนามบินชิโตเสะ จังหวัดฮอกไกโด ในขณะที่เครื่องบินหน่วยยามฝั่งก็เตรียมออกเดินทางเพื่อนำสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่จังหวัดนีอิงาตะ หลังเครื่องบินชนกันก็เกิดไฟลุกท่วมเครื่องบินทั้งสองลำ ทำให้เจ้าหน้าที่ยามฝั่งเสียชีวิตไป 5 นาย ส่วนนักบินหนีออกมาได้แต่ก็บาดเจ็บสาหัส ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือ 379 คนสามารถอพยพออกมาได้อย่างปลอดภัยทุกคน แม้จะมีผู้บาดเจ็บ 17 คนแต่อาการไม่สาหัส
ทั้งนี้ หลายฝ่ายต่างชื่นชมการอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่องบินซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ล่าสุด สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ได้เปิดเผยรายละเอียดของการอพยพว่า หลังเครื่องบินชนกัน ตัวเครื่องบินเกิดลื่นไถลไปบนรันเวย์ราว 1 กิโลเมตร นักบินยังไม่สังเกตเห็นว่าเครื่องบินเกิดไฟไหม้ แต่ลูกเรือและผู้โดยสารสังเกตเห็น จากนั้นควันไฟก็เริ่มทะลักเข้ามาในห้องโดยสาร ลูกเรือจึงสื่อสารผ่านอินเทอร์คอมเข้าไปยังห้องนักบินเพื่อขออนุญาตเปิดประตูฉุกเฉินเพื่ออพยพผู้โดยสาร โดยเริ่มอพยพออกจากประตูฉุกเฉิน 2 ช่องทางด้านหน้าของตัวเครื่อง จากที่มีทางออกทั้งหมด 8 ทาง ส่วนทางออกด้านหลังนั้นมีเพียงประตูด้านซ้ายเพียงช่องเดียวที่ปลอดภัยจากเปลวไฟ แต่ขณะนั้น ระบบอินเทอร์คอมไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ลูกเรือจึงตัดสินใจเปิดประตูฉุกเฉินบานดังกล่าวเอง ซึ่งก็เป็นไปตามขั้นตอนของการอพยพ ขณะที่กัปตันเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากเครื่องบิน โดยใช้เวลาอพยพทั้งหมดเพียง 18 นาทีเท่านั้นหลังจากเครื่องลงจอด
ทั้งนี้ สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ประเมินความเสียหายจากเหตุเครื่องบินโดยสารชนกับเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งบนทางวิ่งว่า จะทำให้เกิดค่าเสียหายในการดำเนินงานประมาณ 15,000 ล้านเยน (ราว 3,600 ล้านบาท) ทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครองโดยบริษัทประกันภัย
ความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.6 นอกชายฝั่งทางตอนกลางของญี่ปุ่นเมื่อวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 62 ศพแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอิชิกาวะ ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัด แต่การค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่ประสบภัยพิบัติต้องเผชิญปัญหามากมาย เพราะสภาพความเสียหายของถนนหนทาง อีกทั้งหลายพื้นที่ยังเกิดไฟไหม้ด้วย โดยเฉพาะในจังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักสุดเพลิงไหม้ยังทำให้บ้านเรือนประชาชนในเมืองวาจิมะเสียหายอีกราว 200 หลัง ประชาชนหลายหมื่นคนไม่มีไฟฟ้าใช้และขาดแคลนน้ำดื่ม ขณะที่เมืองซูซุที่อยู่ใกล้เคียงตั้งอยู่บนชายฝั่งเป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายหนักมาก บ้านเรือนเกือบร้อยละ 90 พังถล่มหรือเสียหายหนัก ประชาชนเรียกร้องให้เร่งส่งความช่วยเหลือไปให้
ด้านนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นกล่าวว่า ขณะนี้ผ่านไปแล้วมากกว่า 40 ชั่วโมง จึงเป็นช่วงที่สำคัญมากในการต่อสู้เพื่อแข่งกับเวลา โดยมีการระดมเจ้าหน้าที่ราว 3,000 นาย เร่งค้นหาพื้นที่ในคาบสมุทรโนโตะ มีบางเมือง เช่น วาจิมะที่ถูกตัดขาดไปเพราะถนนพังเสียหายเขายังยืนยันด้วยว่า อุบัติเหตุเครื่องบินที่สนามบินฮาเนดะ ไม่มีผลกระทบกับการช่วยเหลือ ส่วนในด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ รัฐบาลได้นำอาหารและสิ่งของลำเลียงเข้าไปสำหรับผู้ประสบภัยหลายแสนคน พร้อมกับต้องจัดที่พักชั่วคราวให้กับประชาชนอย่างน้อย 60,000 คน ที่ต้องสูญเสียบ้านเรือนหรืออพยพออกมา
อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงขึ้นอีก โดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ได้ออกคำเตือนให้ประชาชนระวังอาฟเตอร์ช็อกที่อาจมีขนาดความรุนแรงถึงระดับ 7 ได้ในช่วงสัปดาห์นี้
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012