ข่าว
หัวเว่ย" แซง "ซัมซุง" ขึ้นแท่นผู้ค้าสมาร์ทโฟนรายใหญ่สุดของโลก

บริษัท หัวเว่ย ของจีน กลายเป็นผู้ค้าสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นครั้งแรก หลังจากพวกเขามียอดขายโทรศัพท์อัจฉริยะแซงหน้าบริษัท ซัมซุง เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา

สำนักข่าว บีบีซี รายงานอ้างการวิเคราะห์ของบริษัท ‘Canalys’ ว่า เมื่อไตรมาส 2 ของปี 2563 บริษัท หัวเว่ย มียอดชิปปิ้ง (shipping) สมาร์ทโฟน หรือการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย รวม 55.8 ล้านเครื่อง แซงหน้าบริษัทที่มียอดขาย 53.7 ล้านเครื่อง

Canalys ระบุว่า นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ หัวเว่ย ประสบความสำเร็จคือการที่จีนหลุดพ้นจากการล็อกดาวน์ควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ก่อนประเทศอื่นๆ ทำให้ยอดชิปปิ้งของหัวเว่ยลดลงเพียง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่านั้น ขณะที่ซัมซุงลดลงถึง 30%

อย่างไรก็ตาม ยอดขายกว่า 70% ของหัวเว่ยอยู่ภายในประเทศจีนเท่านั้น เพราะพวกเขายังคงประสบปัญหาในการดึงดูดตลาดตะวันตก เนื่องจากไม่มีแอพพลิเคชั่นที่ผลิตโดยกูเกิล อันเป็นผลจากข้อจำกัดทางการค้าที่ออกโดยสหรัฐฯและที่จริงแล้ว พวกเขามียอดส่งสินค้าออกขายในต่างประเทศลดลงถึง 27% ด้วย

นักวิเคราะห์ของ Canalys กล่าวว่า หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 การขึ้นเป็นอันดับ 1 ของหัวเว่ยคงไม่เกิดขึ้น พวกเขาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน กระตุ้นธุรกิจสมาร์ทโฟนของพวกเขา แต่เรื่องนี้ก็เป็นก้าวสำคัญของหัวเว่ย เพื่อแสดงให้ผู้บริโภค, ซัพพลายเออร์ และผู้พัฒนาแอพพิลเคชั่นในประเทศ เห็นความเข้มแข็งในแบรนด์ของพวกเขา

สะพัด! นายกฯ ทูลเกล้า รายชื่อ ครม.บิ๊กตู่ 2/2 แล้ว 6 คน 7 ตำแหน่ง

สะพัด ! นายกฯ ทูลเกล้า รายชื่อ ครม.บิ๊กตู่ 2/2 เรียบร้อยแล้ว จำนวน 6 คน 7 ตำแหน่ง “ปรีดี” รองนายกฯ ควบ รมว.คลัง-“อนุชา” รมต.ประจำสำนักนายกฯ- “สุพัฒนพงษ์” รมว.พลังงาน ขณะ นฤมล รมช.แรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีใหม่แล้ว 6 คน 7 ตำแหน่ง คาดการณ์มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1.นายปรีดี ดาวฉาย ว่าที่ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

2.นายอนุชา นาคาศัย ว่าที่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

3.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

4.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

5.นายสุชาติ ชมกลิ่น ว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

และ 6.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวอีกด้วย ว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ยื่นใบลาออก จากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วเช่นกัน

ขณะที่ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง 6 รมต.ลาออก แล้วเช่นกัน


ประกาศฉบับเต็มขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุคนจำนวนมากละเลยมาตรการ-ไม่เว้นระยะ

“บิ๊กตู่” ลงนามประกาศ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึง 31 ส.ค. เนื้อความระบุ ประชาชนจำนวนมากละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ไม่เว้นระยะห่าง เสี่ยงเกิดโรคระบาดติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน

วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 4) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2653 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 3 ออกไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 นั้น

โดยที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้สถานที่ กิจการ และกิจกรรมต่างๆ สามารถเปิดดำเนินการได้มาเป็นลำดับ โดยคงเฉพาะมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 รวมทั้งส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตตามแนววิถี

“นิวนอร์มัล” แต่ประชาชนจำนวนมากละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค มีการรวมกลุ่มกันโดยไม่รักษาระยะห่าง (social distancing) อันเป็นมาตรการอันเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าได้ผลในการป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่สาธารณะ สถานบริการ และสถานบันเทิง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดและติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนที่สามารถพัฒนาเป็นการระบาดในวงกว้างต่อไป

นอกจากนี้ ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อมูลว่าในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีคนไทยแสดงความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยไว้ต่อทางราชการเป็นจำนวนนับหมื่นคน อีกทั้งคนต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรภายใต้การปฏิบัติตามพันธกรณี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อความต่อเนื่องในการประกอบธุรกิจ การค้าพาณิชย์ แรงงาน หรือการศึกษา

ดังนั้น เพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศ และป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ที่อาจมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง โดยลดข้อจำกัดการดำเนินการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน แต่เน้นการบูรณาการความรับผิดชอบและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

นอกเหนือไปจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นไปโดยมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ มุ่งรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563


โควิดทำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯ พังยับ หดตัว 32.9% หนักสุดรอบ 73 ปี

ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวถึง 32.9% เมื่อคิดแบบรายปี มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 2490 หรือ 73 ปีก่อน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) ของสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ก.ค. 2563 ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หดตัวถึง 32.9% หากคิดเป็นรายปี เมื่อไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา (เม.ย.-มิ.ย.) มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติในปี 2490 สูงกว่าช่วงวิกฤติการเงินปี 2551 ที่หดตัวสูงสุด 8.4% หลายเท่า

การระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลให้เศรษฐกิจ หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ยุติการเติบโตต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยไตรมาสที่ 1 จีดีพีของพวกเขาลดลง 5% เมื่อคิดแบบปีต่อปี ขณะที่การหดตัวในไตรมาสที่ 2 หักล้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแทบหมดสิ้น

การระบาดของไวรัสโคโรนายังทำให้มีชาวอเมริกันตกงานมากกว่า 20 ล้านคนในเดือนเมษายน เนื่องจากธุรกิจถูกปิดเพราะมาตรการล็อกดาวน์ แม้ตอนนี้ตลาดแรงงานจะดีดตัวกลับมาบ้างแล้วหลังรัฐต่างๆ เริ่มเปิดเมืองอีกครั้ง และคาดว่าในเดือนกรกฎาคมจะมีการจ้างงานเพิ่มอีก 2.3 ล้านตำแหน่ง และทำให้อัตราว่างงานลดลงไปอยู่ที่ 10.3% แต่ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าช่วงเลวร้ายที่สุดของวิกฤติการเงินปี 2551 มาก

ทั้งนี้ นักเศรษฐกิจคาดการไว้แล้วว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะร่วงอย่างหนักในไตรมาสที่ 2 แต่จะเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสถัดไป เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก คาดว่า จีดีพี จะโตขึ้น 13.3% เมื่อคิดแบบรายปี แต่การระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ เริ่มกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ในบางพื้นที่ของประเทศต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการจำกัดต่างๆ อีกรอบ

เมื่อสัปดาห์ก่อน ชาวสหรัฐฯ ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์คนว่างงานมากกว่า 1.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก สัปดาห์ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย และเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่ชี้ว่า การใช้จ่ายต่างๆ ลดลง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม ทำให้นาย เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เตือนเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรอบใหม่

เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนชาวอเมริกันและธุรกิจที่กำลังเผชิญวิกฤติ สะท้อนเสียงเรียกร้องจากผู้นำธุรกิจคนอื่นๆ


สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์มุ่งหน้าไปดาวอังคาร

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวด “แอตลาส-วี” บรรทุกยานสำรวจ “เพอร์เซเวียแรนซ์” มุ่งหน้าไปสำรวจดาวอังคาร

ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ ถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดแหลมคานาเวรัล ในรัฐฟลอริดาในเวลา 7.50 น. ของวันที่ 30 ก.ค. 63 ตามเวลาในท้องถิ่น พร้อมกับจรวดแอตลาส-วี เพื่อมุ่งหน้าไปยังดาวอังคารที่อยู่ห่างไป 300 ล้านไมล์ ในภารกิจสำรวจสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร โดยมีกำหนดจะเดินทางถึงจุดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า และจะลงจอดด้วยระบบ “สกาย เครน” บริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร ซึ่งเป็นจุดที่นักวิทยาศาสตร์ของนาซา คาดว่าเคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อน และเชื่อว่าน่าจะมีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่บนดาววอังคาร

ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ มูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 84,000 ล้านบาท เป็นยานสำรวจ 6 ล้อ น้ำหนัก 1 ตัน ที่ติดตั้งอุปกรณ์ล้ำสมัยทั้งกล้องถ่ายภาพและไมโครโฟน เพื่อภารกิจสำรวจสภาพอากาศ ตลอดจนพื้นผิวดาวอังคาร โดยเมื่อเดินทางไปถึง ยานสำรวจจะเก็บตัวอย่างหินและดิน ถ่ายภาพ บันทึกเสียง เพื่อส่งกลับมายังโลกต่อไป นับเป็นยานสำรวจลำที่ 3 ที่ถูกส่งไปสำรวจดาวอังคารในเดือนนี้ ต่อจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ส่งยาน “โฮป” ไปสำรวจดาวอังคารเมื่อวันที่ 21 ก.ค. และจีนที่ส่งยาน “เทียน เหวิน-1” ไปสำรวจดาวอังคารเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา

ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังคงเป็นชาติเดียวในโลกที่ประสบความสำเร็จในการนำยานไปลงจอดที่ดาวอังคาร ซึ่งหากภารกิจล่าสุดสำเร็จอีกครั้ง ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์จะกลายเป็นยานอวกาศลำที่ 9 ของสหรัฐฯ ที่ลงปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวของดาวอังคารได้สำเร็จ

อินเดียติดเชื้อโควิด-19 กระฉูดกว่า 50,000 รายในวันเดียว

ทางการอินเดียพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 50,000 รายในวันเดียว ทุบสถิติที่เคยมีมา หลังยอดติดเชื้อในพื้นที่ชนบทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ

อินเดียรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (30 ก.ค.63) จำนวน 52,123 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 1.6 ล้านรายแล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อยู่ที่ 775 ศพ ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมดเข้าใกล้ 35,000 ศพแล้ว

โดยในขณะที่เมืองใหญ่อย่างนิวเดลี และมุมไบเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่การติดเชื้อในพื้นที่ชนบทกลับพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลว่าระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอในพื้นที่ห่างไกลอาจจะไม่สามารถรับมือได้

อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามหลังสหรัฐฯ และบราซิล โดยมีผู้ติด เชื้อมากเกือบ 20 เท่าของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน

ก่อนหน้านี้ กรุงนิวเดลีเพิ่งประกาศผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เฟสที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกเลิกเคอร์ฟิวในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยอนุญาตให้โรงยิมสามารถเปิดให้บริการได้ ขณะที่โรงเรียน โรงภาพยนตร์ และบาร์ยังคงปิดต่อไป

โดยมาตรการคุมเข้ม ปิดเมืองนานเกือบ 3 เดือน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก โดยแม้จะยกเลิกมาตรการปิดเมืองและใกล้จะถึงช่วงเทศกาลสำคัญของอินเดียแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวมากนัก