เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 สมาคมต่างๆ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ของชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส ได้ร่วมกันจัดงานต้อนรับ Sheriff Robert Luna ผู้บัญชาการ Sheriff คนที่ 34 ของ Los Angeles County และ ภริยา Celines Luna โดยมีนายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส มาร่วมเป็นเกียรติกล่าวเปิดงาน ที่ไทยแลนด์พลาซ่า ไทยทาวน์ นครลอสแอนเจลิส (รายละเอียดในประมวลภาพ)
นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกคณะลูกขุนใหญ่ดำเนินคดีอาญา ในข้อหาปฏิเสธการส่งคืนเอกสารที่ถูกพบในบ้านพักของเขาให้กับทางราชการ และข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม
คดีอาญาที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ฟ้องร้อง นับเป็นความพ่ายแพ้ทางกฎหมายอีกครั้งสำหรับทรัมป์ ในขณะที่เขาพยายามที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับคดีอาญา และมีกำหนดขึ้นศาลในเดือนมีนาคม
ทรัมป์กล่าวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “ทรูธ โซเชียล” (Truth Social) ของเขาว่า เขาถูกเรียกตัวไปปรากฏตัวที่ศาลในเมืองไมอามีเมื่อวันอังคาร พร้อมระบุว่า “ผมเป็นผู้บริสุทธิ์”
แหล่งข่าวกล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อว่า ทรัมป์เผชิญกับคดีอาญา 7 กระทงในคดีของรัฐบาลกลาง โดยคำฟ้องยังคงอยู่ภายใต้การประทับตรา และแม้แต่ทรัมป์เองก็ยังไม่เห็นคำฟ้องดังกล่าว ขณะที่ทีมกฎหมายของเขาได้รับแจ้งเกี่ยวกับ 7 ข้อหา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมายเรียกที่สั่งให้ทรัมป์ปรากฏตัวในศาล
จิม ทรัสตี ทนายความของทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ข้อหาดังกล่าวรวมถึงการสมรู้ร่วมคิด แถลงการณ์เท็จ ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และเก็บรักษาเอกสารลับอย่างผิดกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติจารกรรม เขากล่าวว่า เขาคาดว่าจะได้อ่านคำฟ้องระหว่างวันนี้ถึงวันอังคาร
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าทรัมป์กำลังเผชิญข้อกล่าวหาใดเป็นพิเศษ โดยในแถลงการณ์สาบานตนต่อศาลรัฐบาลกลางเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่เอฟบีไอกล่าวว่า มีเหตุที่น่าจะเชื่อได้ว่ามีหลายข้อหา ที่รวมถึงการขัดขวางและการเก็บรักษาข้อมูลที่มีความอ่อนไหวอย่างผิดกฎหมาย ด้านกระทรวงยุติธรรมกำลังตรวจสอบว่าทรัมป์จัดการเอกสารลับที่เขาเก็บไว้หลังจากออกจากทำเนียบขาวในปี 2564 ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่
เจ้าหน้าที่สืบสวนยึดเอกสารประมาณ 13,000 ฉบับ จากรีสอร์ต “มาร์-อา-ลาโก” ของทรัมป์ ในเมืองปาล์มบีช รัฐฟลอริดา เมื่อเกือบปีที่แล้ว เอกสารกว่า 100 ฉบับถูกทำเครื่องหมายว่าเป็นความลับ แม้ว่าทนายความคนหนึ่งของทรัมป์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าเอกสารทั้งหมดที่มีเครื่องหมายว่าเป็นเอกสารลับถูกส่งกลับไปยังรัฐบาลแล้ว
ก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้กล่าวปกป้องการเก็บรักษาเอกสารของเขา โดยกล่าวว่า เขาทำให้เอกสารดังกล่าวไม่เป็นเอกสารลับอีกต่อไป ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และทนายความของเขาปฏิเสธที่จะโต้แย้งในเอกสารที่ยื่นต่อศาล
การถูกดำเนินคดีครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ถูกตั้งข้อหาทางอาญา โดยในครั้งแรกในเดือนเมษายน เขาสารภาพว่าไม่ได้กระทำความผิดต่อความผิดทางอาญา 34 กระทง จากการปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินที่จ่ายให้กับดาราหนังโป๊ ก่อนการเลือกตั้งในปี 2559
กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบว่าทรัมป์นำเอกสารลับออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อเขาออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม 2564 ส่วนหนึ่งของการสอบสวนยังพิจารณาว่าทรัมป์ หรือบุคคลอื่นๆ พยายามขัดขวางการสอบสวนของรัฐบาลหรือไม่
การสอบสวนเอกสารลับถูกส่งต่อไปยังอัยการเป็นครั้งแรกในปี 2565 หลังจากที่สำนักงานจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติของสหรัฐฯ ใช้ความพยายามนานกว่าหนึ่งปีเพื่อเรียกคืนเอกสารของประธานาธิบดีจากทรัมป์
ทรัมป์ส่งมอบกล่องบันทึก 15 กล่องในเดือนมกราคม 2565 หนึ่งปีหลังจากออกจากตำแหน่ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเชื่อว่าเขาไม่ได้ส่งคืนเอกสารของรัฐบาลทั้งหมดที่เขานำออกมา
กระทรวงยุติธรรมออกหมายเรียกทรัมป์จากคณะลูกขุนใหญ่ ในเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อขอให้เขาส่งคืนเอกสารใดๆ ก็ตามที่มีเครื่องหมายเอกสารลับ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เดินทางไปยังมาร์-อา-ลาโก เพื่อรับเอกสารดังกล่าว ด้านทนายความของทรัมป์เปิดเอกสาร 38 หน้า ที่ระบุว่าเป็นเอกสารลับสำหรับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและกระทรวงยุติธรรม และแสดงห้องเก็บของที่มาร์-อา-ลาโกให้พวกเขาดู แต่พวกเขาไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เปิดกล่องใดๆ
เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่เอฟบีไอเข้าค้นมาร์-อา-ลาโก และพบเอกสารประมาณ 13,000 ฉบับ โดย 100 ฉบับ ถูกระบุว่าเป็นเอกสารลับ ทนายความของทรัมป์พยายามขัดขวางกระทรวงยุติธรรมไม่ให้เข้าถึงเอกสารบางส่วน โดยอ้างว่าเอกสารอยู่ภายใต้หลักคำสอนทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของผู้บริหาร ซึ่งป้องกันมิให้การสื่อสารบางอย่างของทำเนียบขาวถูกเปิดเผย ต่อมาศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวในเดือนธันวาคม
10 ชาติสมาชิกอาเซียน เตรียมจัดการฝึกซ้อมร่วมทางทหารในทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนนี้ หลังท่าทีของจีนที่แข็งกร้าวมากขึ้นในภูมิภาค
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย. 66) ว่า ชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกลงที่จะจัดการซ้อมรบร่วมทางทหารครั้งแรกในทะเลจีนใต้ ในขณะที่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นจากท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีนในภูมิภาค
สำนักข่าวอันตารารายงานโดยอ้างคำกล่าวของ ยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย หลังการประชุมผู้บัญชาการกองทัพของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่เกาะบาหลีว่า "เราจะจัดการซ้อมรบร่วมทางทหารในทะเลนาทูนาเหนือ"
เขากล่าวว่า การซ้อมรบดังกล่าวจะมีขึ้นในเดือนกันยายน และมีสมาชิกทั้ง 10 ชาติเข้าร่วม รวมถึงติมอร์-เลสเต ในฐานะสมาชิกผู้สังเกตการณ์ และเมียนมาที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร เข้าร่วมด้วย
พลเรือเอก มาร์โกโน ระบุว่าการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันจะเป็นการแสดงออกถึงความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน โดยเน้นไปที่การดูแลความมั่นคงทางทะเลและการช่วยเหลือ แต่จะไม่มีการฝึกซ้อมสำหรับการสู้รบแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ไม่เคยจัดการฝึกซ้อมทางทหารในพื้นที่ทะเลจีนใต้ร่วมกันมาก่อน แต่มีกองทัพบางประเทศที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมทางทะเลร่วมกับสหรัฐฯ เช่น ฟิลิปปินส์
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนหยุดพฤติกรรม "ยั่วยุ" ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาท หลังเรือของหน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์เกือบชนเข้ากับเรือของหน่วยยามฝั่งจีนเมื่อวันที่ 23 เมษายน และจากเหตุการณ์ที่เครื่องบินเจ็ตขับไล่ของจีนบินโฉบตัดหน้าเครื่องบินลาดตระเวนสหรัฐฯ ที่กำลังบินอยู่เหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้
นอกจากนั้น เรือของจีนยังได้รุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำทะเลนาทูนาเหนือของอินโดนีเซียเป็นครั้งคราว ทำให้เกิดการประท้วงในกรุงจาการ์ตา
ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย ต่างอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่ต่างๆ ของทะเลจีนใต้ เช่นเดียวกับจีนที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เหล่านั้นในทะเลจีนใต้ รวมถึงพื้นที่บางส่วนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย
เรือของจีนมักออกตรวจตราในบริเวณดังกล่าว และเมื่อเกิดการเผชิญหน้า จีนก็จะอ้างถึง "เส้นประเก้าเส้น" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนอ้างสิทธิแต่ถูกประเทศต่างๆ โต้แย้ง เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ในน่านน้ำดังกล่าว
ในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายแรงในทะเลจีนใต้ และการเจรจาอย่างต่อเนื่องสำหรับแนวทางปฏิบัติที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ด้านนักวิจารณ์กล่าวว่า หลักการฉันทามติและการไม่แทรกแซงของอาเซียนได้เป็นอุปสรรคในการดำเนินการดังกล่าว โดยอาเซียนจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งต่อไปที่กรุงจาการ์ตาในเดือนกันยายน.
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย. 2566 นับเป็นครั้งที่ 50 ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนตั้งแต่ปี 2524 จนได้รับพระสมัญญานามจากจีนให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” จากการที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนมาอย่างแน่นแฟ้น
ในโอกาสนี้ พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษแก่ China Media Group ภาคภาษาไทย สื่อหลักของจีน จึงขอนำบทสัมภาษณ์พิเศษนำมาเผยแพร่ครั้งนี้
ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า : ในปี 2544 พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับยังมหาวิทยาลัยปักกิ่งเพื่อศึกษาหลักสูตรพิเศษ และทางมหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างปลาบปลื้มในพระวิริยะอุตสาหะและได้มีโอกาสถวายงานใกล้ชิด พระองค์ทรงมองว่าความสำเร็จของการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งคืออะไร และควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนจีน-ไทยอย่างไร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า : ตอนที่ไปปักกิ่งตอนนั้นก็มีหลายคนช่วย มีท่านทูตจีนตอนนั้นก็พยายามหาทางให้ได้ไป แล้วก็รู้สึกดีใจมากที่ได้ไป เพราะอย่างน้อยก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติม แล้วครูอาจารย์ทุกท่านก็พยายามสอน เพราะว่ามีเวลาสั้นมากแต่ก็มากันทุกวัน วันนี้ (5 มิถุนายน 2566) ตั้งแต่เช้าครูเหล่านั้นก็ ได้มาคุยด้วย และก็ได้ร่วมงาน (พิธีฉลองการเสด็จฯ เยือนจีน ครั้งที่ 50) ที่ทางรัฐบาลจีนจัดก็ดีใจ เพราะว่าไม่ได้พบกันตั้ง 3 ปีแล้ว ปีนี้ได้พบกันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี คิดว่าปีหน้าจะได้มาอีก
ด้านความสำเร็จของการศึกษา คือ ถ้าเราได้เรียน แล้วเราต้องสนุก เราต้องชอบ ต้องมีความสุข และได้รับความรู้เพิ่มเติม แล้วเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ เรียกว่าเป็นความสำเร็จของการศึกษา ต้องได้เห็นคุณค่าของผู้อื่นและคุณค่าของตัวเอง
เพราะฉะนั้นเยาวชนจีน-ไทย ถ้าได้ศึกษาร่วมกัน ทั้งในห้องเรียนและอยู่นอกห้องเรียน อาจจะคุยแลกเปลี่ยนความรู้ แม้แต่ไปเที่ยวด้วยกัน เล่นกีฬาด้วยกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่มีค่า เมื่อโตขึ้นหรือสำเร็จการศึกษาคิดว่า น่าจะติดต่อกันไว้แล้วจะได้ช่วยเหลือกันต่อไปในอนาคต ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความสำเร็จของการศึกษา ไม่เฉพาะที่เรียนความรู้ทางวิชาการ แต่การที่ได้เพื่อน มีความรู้สึกอบอุ่นใจที่มีคนอื่นสนิทด้วย ก็ถือเป็นความสำเร็จ
ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า : ปี 2566 เป็นปีครบรอบ 10 ปีข้อริเริ่มการร่วมกันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี 2565 จีนและไทยได้ลงนามในแผนส่งเสริมความร่วมมือหลายโครงการ เช่น การเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างประเทศในภูมิภาค พระองค์ทรงมองว่าจะมีบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างไร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า คิดว่าเรื่องนี้มีบทบาทใหญ่ เพราะว่าเจอคนไทยหลายคนที่รู้จักกันที่เขาขายผลไม้ เขาบอกว่า ตั้งแต่ที่มีรถผ่านทางลาวขึ้นไป เขาขายผลไม้ได้มากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น คนจีนก็ได้รับประทานผลไม้จากเมืองไทย
เศรษฐกิจเงินทองหมุนเวียน คนไทยคนจีนได้ร่วมมือกันลงทุนหลายโครงการได้มากขึ้น แต่เสียดายเล็กน้อยที่ทางรถไฟของไทยแคบแต่ทางรถไฟจีนสร้างที่ลาวกว้างกว่า แต่ก็ไม่เป็นไรเราก็เปลี่ยนรถไฟเมื่อเดินทางถึงชายแดนแล้วเราข้ามไปลาว อาจจะไปถึงท้องที่ต่างๆ เท่าที่ถามรถไฟเส้นนี้จะไปทั่วในประเทศจีน แล้วจะออกไปทางตะวันตก ไปยุโรปต่อไปในอนาคต ซึ่งก็มีอีกสายจะเชื่อมกัน
คิดว่าไม่เฉพาะเศรษฐกิจไทย-จีน แต่ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะดีขึ้นจากข้อริเริ่มนี้ คนไทย คนจีน แม้แต่คนชาติอื่น ก็อาจจะได้ร่วมมือกัน หวังว่าจะมีโครงการลงทุนในประเทศไทย คนจีนมาลงทุน และคนไทยก็ได้ไปลงทุนในประเทศจีน ไม่เฉพาะด้านค้าขาย แต่ยังได้การเดินทาง ท่องเที่ยว ล้วนแต่เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้น
ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า : แล้วพระองค์ทรงมีแผนจะโดยสารรถไฟสายนี้ในอนาคตไหม
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า อยากลอง ก่อนหน้านี้เคยไปหลายสาย อย่างที่เซี่ยงไฮ้เส้นทางไปสนามบินตอนนั้นยังเป็นตอนเริ่มต้น แต่ถ้าทางไกลก็ยังไม่เคยไปทางรถไฟความเร็วสูง คิดว่าจะหาทางเดินทางให้ไกลกว่านั้น
ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า : ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา พระองค์เสด็จฯ เยือนจีน 50 ครั้งแล้ว เสด็จฯ ไปเกือบทุกพื้นที่ของจีน พื้นที่ใดบ้างที่พระองค์ทรงประทับใจ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า ก็มีหลายๆ ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจไปหมด รู้สึกว่ายังมีอีกหลายๆ ที่ยังไม่มีโอกาสไป แม้ไปครบมณฑลต่างๆ แล้ว แต่ว่าแต่ละมณฑลมีขนาดใหญ่มาก ก็ต้องพยายามเจาะแต่ละพื้นที่ให้ลึกลงไปอีก จะพยายามหาโอกาสไปแต่ละพื้นที่ ยังมีอีกเยอะที่ควรจะไป
ผู้สื่อข่าว China Media Group ถามว่า : ในสายพระเนตรของพระองค์ ทรงมองว่า จีนมีภาพลักษณ์อย่างไรเพคะ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตอบว่า คนจีนเป็นคนขยันขันแข็ง มีความเป็นมิตร และเป็นเพื่อนที่ดี
พระราชทานสัมภาษณ์ ณ วันที่ 5 มิ.ย. 2566 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
ดำเนินการสัมภาษณ์โดย คุณ หลี่ ฏันฏัน พิธีกร-ผู้สื่อข่าว China Media Group ภาคภาษาไทย... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/2420711/
นักวิทยาศาสตร์ของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “การปะทุที่เป็นอันตราย” ของภูเขาไฟบนหมู่เกาะ อาจเกิดภายในอีกไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ และเรียกร้องให้มีการอพยพผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ว่า ครอบครัวหลายร้อยครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่รอบภูเขาไฟมายอน ในจังหวัดอัลไบ บนเกาะลูซอน ได้รับการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย หลังสถาบันภูเขาไฟวิทยาและแผ่นดินไหววิทยาของฟิลิปปินส์ ประกาศเตือนภัยการปะทุที่อาจเกิดขึ้น
ภูเขาไฟมายอน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลา ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 330 กิโลเมตร ถือเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น และเกิดการปะทุบ่อยที่สุด ในบรรดาภูเขาไฟยังทรงพลังทั้ง 24 ลูกของประเทศ
ขณะที่หน่วยงานด้านแผ่นดินไหววิทยา สังเกตเห็นการไหลของของไพโรคลาสติก (พีดีซี) หรือเหตุการณ์ที่เถ้าภูเขาไฟ, เศษหิน และกลุ่มก๊าซ ถูกปล่อยออกมาจากการระเบิด และเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วราวกับหิมะถล่ม บนเนินเขาของภูเขาไฟมายอน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ทางการฟิลิปปินส์อพยพประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับภูเขาไฟมายอน บนเกาะลูซอน
“มันมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะเกิดการไหลของลาวา และพีดีซี ตลอดจนการระเบิดที่อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่วันข้างหน้านี้” หน่วยงานระบุเสริม และยกระดับการแจ้งเตือนจากระดับ 2 เป็นระดับ 3 ส่วนทางหน่วยงานจัดการภัยพิบัติประจำจังหวัดอัลไบ กล่าวว่า กำลังดำเนินการเตรียมการที่จำเป็นทั้งหมด
อีกด้านหนึ่ง ภูเขาไฟตาอัล ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา ราว 50 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบมีหมอกควันปกคลุม จนทางการต้องประกาศเตือนให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน
ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด ไม่ใช่เรื่องแปลกในฟิลิปปินส์ เนื่องจากตำแหน่งของประเทศตั้งอยู่บริเวณ “วงแหวนแห่งไฟ” ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแผ่นเปลือกโลกมักจะเคลื่อนตัวชนกันลึกลงไปใต้พื้นผิวโลก