ข่าว
ต่างหน้าที่ “แม่ลูกพบหน้า” หลังแก๊สน้ำตาสงบ

วันที่ 4 ธ.ค. 56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “Jatuporn Wisitchotiaungkoon” ได้โพสต์ภาพสุดประทับใจระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลและหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองเป็นแม่ลูกกัน โดยลูกต้องเดินทางออกจากบ้านที่ต่างจังหวัด เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามคำสั่ง ส่วนแม่มาร่วมชุมนุม เพื่อท้วงหาความถูกต้องตามอุดมการณ์


โดยผู้โพสต์ได้บรรยายใต้ภาพดังนี้
โพสไปน้ำตาคลอไป
"เจ้าลูกชายของเเม่"
...................
เมื่อลูกชายที่เป็นตำรวจจากต่างจังหวัดต้องมาปฏิบัติภารกิจเพื่อปกป้องตามคำสั่งของนาย
เเละแม่ก็มาทำหน้าที่คนไทยคนหนึ่งที่มาทวงถามความถูกต้อง ตามอุดมการณ์
คนละฝั่ง คนละภารกิจ...
เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลงไป ...ควันจากแก้สน้ำตาจางลง
ทั้งสองฝ่ายก็ได้พบกันในบรรยากาศแห่งสันติ
ทั้งสองได้เจอกันโดยบังเอิญ
ผู้เป็นเเม่นำอาหารให้ลูกชายได้กินให้อิ่มหนำ
ลูกชายของเเม่...
“วรเจตน์-ประจักษ์” มอง “สภาประชาชน” เป็นไปได้หรือไม่ ? - "ทางออกประเทศไทย"อยู่ตรงไหน ?

ภายหลังกลุ่มนักวิชาการผู้ไม่เห็นด้วยกับการประกาศหยุดเรียนหยุดสอนของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมกิจกรรม"ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ:ห้องเรียนประชาธิปไตย" เมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2556 ณ ลานอาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ (SC) ในบรรยากาศคึกคักนักศึกษาให้ความสนใจจำนวนมาก

จบห้องเรียนในช่วงเช้า แต่บทสนทนากับนักกฎหมายแห่งกลุ่มนิติราษฎร์และนักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาความเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปด้วยโจทย์คำถามถึง"สภาประชาชน" จะเป็นไปได้จริงหรือไม่และทางออกสถานการณ์ขณะนี้ควรจะเป็นอย่างไร ?

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ และ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เป็นแง่คิดจากนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ ไว้อย่างน่าสนใจ


ดร.วรเจตน์ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์

@ความเป็นไปได้ที่จะมี “สภาประชาชน” ตามข้อเสนอ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)

การจะทำสภาประชาชนตอนนี้ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็อ้างบทบัญญัติอะไรไปเรื่อยเปื่อย เช่น อ้างมาตรา 3 การอ้างแบบนี้ คือ การ repeat สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2549 เนื้อแท้คือการปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถามว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ สมมุติเรียกร้องให้ รัฐบาลยุบสภา ก็ต้องมี ครม.รักษาการ เพื่อที่ ครม.รักษาการ ทำหน้าที่จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ คือ ต้องไปเลือกตั้ง และตั้ง ครม.ชุดใหม่

ตอนนี้ ก็มีคนเสนอให้ ครม.รักษาการลาออก เพื่อให้เกิดสุญญากาศ เช่น อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ก็เสนอ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ ทำให้องค์กรของรัฐไม่ทำงานตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น คือ เป็นการเสนอเพื่อให้เกิดทางตัน ให้เกิดสุญญากาศ แต่ถามว่า หาก ครม.หยุดปฏิบัติหน้าที่จริง มันเกิดความชอบธรรมไหม ในกรณีของวุฒิสภาจะมาหาคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพราะเหตุว่า เวลายุบไปแล้วรัฐธรรมนูญบังคับให้มีการเลือกตั้ง โดยในพระราชกฤษฎีกายุบสภา ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายในกี่วัน มันต้องไปสู่การเลือกตั้ง แต่ข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ ไม่ได้บอกเลยว่า เมื่อเอานายกรัฐมนตรีมาจากที่อื่น แล้วจะเลือกตั้งยังไง

ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็เท่ากับว่านี่คือ"การฉีกรัฐธรรมนูญ"นั่นเอง ฉะนั้น ข้อเสนออันนี้มันคือข้อเสนอในการฉีกรัฐธรรมนูญในที่สุด เพราะ ไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเลือกตั้งยังไง ถ้ายุบสภา โดยยุบเฉยๆ มันไม่ได้ เมื่อยุบแล้วต้องกำหนดวันเลือกตั้ง ทั่วไป

@ถ้าเกิดขึ้นไม่ได้ในทางกฎหมายแล้ว อาจารย์คิดว่า ข้อเสนอแบบนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

คือในทางกฎหมาย มันเกิดได้ โดยไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสิครับ ไม่เห็นจะยากเลย ถ้าอยากให้มีสภาประชาชนปฏิรูปประเทศ ก็ไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาแบบนี้ แต่ต้องทำให้คนเห็นพ้องต้องกัน โดยรณรงค์ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หรือทำประชามติ ซึ่งคนที่เสนอเองก็ไม่เอาแบบนี้ เขาจะเอาแต่ของตัวเอง เสนอมาเองแล้วยืนยันว่าแทนประชาชน ซึ่งจริงๆ มันไม่มีหรอก

เพราะฉะนั้นในทางกฎหมาย เกิดขึ้นไม่ได้(ถ้าคนไม่เห็นพ้องด้วย) ถ้าเกิดขึ้นก็กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ จะเอาแบบนี้ ต้องทำแบบนี้ให้ได้ พอทำตามกฎหมายตรงๆ ไม่ได้ก็อ้างบทบัญญัติอะไรมั่วซั่ว เรื่อยเปื่อย ผิดหลักการใช้การตีความกฎหมาย ผิดหลักวิชาชีพกฎหมายหมดเลย

@ถ้าเกิดขึ้นได้จริงตามข้อเสนอคุณสุเทพ จะแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่แล้วอย่างไร

ผมไม่รู้ คือ ถ้ามีสภาแบบนี้เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็น “สภาอภิชน” ไม่ใช่สภาประชาชน มันเรียกว่า “สภาประชาชน” ไม่ได้ แค่เรียกชื่อยังเรียกผิดแล้ว ต้องไปบอกให้เขาเรียกชื่อใหม่ให้ถูก ว่าสภานี้ อย่าไปเรียกว่าสภาประชาชน เพราะมันคือสภาอภิชน ไม่ได้มาจากประชาชน อาจจะมาจากประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายมันจะมาจาก “ผู้มีความรู้ความสามารถ” ตำแหน่งอธิการบดีบ้าง มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) บ้าง มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เห็นๆ กันอยู่ ซึ่งอันนี้คือเรื่องการเมืองแท้ๆ มันไม่มีเรื่องบทบัญญัติทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวเลย ตอนนี้ก็อ้างอะไรกันไป

ฉะนั้น ลองดูกลุ่มคนที่อ้างอันนี้ คือ กลุ่มคนที่หลายปีก่อนขอนายกฯพระราชทาง มาตรา7 ทั้งนั้นแหละ วันนี้เปลี่ยนไปไม่กล้าเรียกว่ามาตรา7 ไปพูดอย่างอื่นๆไป

@ประเทศยังมีทางออกอยู่หรือไม่

มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ข้างหน้าคือทางออกอันหนึ่งก็คือการยุบสภาแต่ต้องยุบหลังจากที่มันเกิด consensus ว่า พรรคการเมืองจะลงเลือกตั้ง แต่ผมเกรงว่า เวลายุบสภาแล้ว มันจะยิ่งเปิดโอกาสให้ไปสู่ทางตัน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง

ปัญหาตอนนี้คือ ข้อเสนอของคนที่บอกว่าให้มีสภาประชาชน เขาปฏิเสธการเลือกตั้งหมดเลย เขาไม่ต้องการการเลือกตั้งเลยไงครับ ซึ่ง มันทำไม่ได้ในทางรัฐธรรมนูญ เพราะ ถ้ายุบสภา ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาก็ต้องกำหนดวันเลือกตั้ง ยุบเฉยๆ โดยไม่กำหนดวันเลือกตั้ง ทำไม่ได้

ผมถามว่า เมื่อยุบสภา กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว จะไม่เลือกตั้งเหรอ มันเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย นี่เป็นการเสนอ โดยไม่ดูข้อกฎหมายให้รอบคอบ

@อาจารย์มองว่าฝ่ายคุณสุเทพ จะมีทางลงอย่างไรได้บ้าง

ผมไม่ทราบ ถ้าจะลงตอนนี้ ก็เลิกชุมนุม ก็ว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมายถ้าพูดในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองเขาก็คงไม่ยอมลงง่ายๆหรอก ไม่งั้น เขาอาจจะทำให้เกิดสภาสุญญากาศให้ได้ เหมือนช่วงหลายปีก่อนที่ล้มรัฐบาลคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีการยึดสนามบิน หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค

เที่ยวนี้ อาจจะมาอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป หรือว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ ลาออกหมดทั้งสภาทั้งหมด ก็อาจจะค่อยๆ ขยับไปสู่จุดนั้น

ปัญหาตอนนี้คือ ฝ่ายหนึ่งกำลังรักษาระบบให้มันเดิน แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ทำลายระบบไม่ให้ระบบมันเดิน ประเด็นเป็นแบบนี้ ทีนี้ ฝ่ายที่รักษากับฝ่ายที่ทำลาย คนที่ทำลาย มีโอกาสเยอะกว่า ยิ่งถ้าฝ่ายรักษาระบบไม่แข็งแกร่งพอ


ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

@ข้อเสนอตั้งสภาประชาชนซึ่งเป็นไปไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญชุดนี้ อาจารย์มองว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มันสะท้อนความอึดอัดคับข้องใจของประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยากจะก้าวข้ามพ้นประชาธิปไตยแบบตัวแทนอยากจะมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงมากขึ้นอยากจะมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ผมคิดว่ามันมาจากความรู้สึกแบบนี้ โดยผู้ชุมนุมอาจจะไม่ได้สนใจว่าทำได้หรือไม่ในทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งความอึดอัดคับข้องใจแบบนี้ ถามว่ามีความชอบธรรมไหม คำตอบคือมีความชอบธรรม

ในต่างประเทศตอนนี้ก็มีกระแสทั่วโลกต้องการระบอบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นแต่บทเรียนจากทั่วโลกคือประชาธิปไตยทางตรงที่เกิดขึ้นจะต้องไปเสริมประชาธิปไตยตัวแทนมิใช่ทำลายประชาธิปไตยแบบตัวแทน คือยังไงประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ต้องมีอยู่ เพราะยังต้องมีคนทำหน้าที่ในสภา ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ผ่านการเลือกตั้ง เพื่อเป็นกติกาสากล ส่วนประชาชนจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างกลไกต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีเสียงในระบบการเมืองมากขึ้นเช่น การทำประชามติ สภาพลเมือง หรือประชาพิจารณ์แบบปรึกษาหารือ ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง มีรูปแบบมากมาย เพียงแต่ ประชาธิปไตยทางตรง หรือ “สภาประชาชน”ที่เราเรียกกันอยู่นี้ มันต้องไปเสริมไม่ใช่ไปแทนที่รัฐสภาแบบเดิมที่มีอยู่

@ถ้าสภาประชาชนเกิดขึ้นจริงจะมาแทนหรือเสริมได้อย่างไร

ตรงนี้สังคมจะต้องถกเถียงกันเพราะไม่สามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีมาตราไหนในรัฐธรรมนูญที่รองรับไว้ถ้าจะทำจริงศาลรัฐธรรมนูญก็จะต้องตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองเพราะเป็นการนำเอาอำนาจไปให้บุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มีบทบัญญัติรองรับในรัฐธรรมนูญฉะนั้นขัดรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าจะให้เกิดขึ้นจริงจะต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะจะกระทบกับอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการที่มีอยู่เดิมอย่างมาก และถ้าจะเกิดขึ้นจริงจะต้องให้สังคมทั้งหมดมาถกเถียงว่าสภาประชาชนหน้าตาเเป็นอย่างไร สัมพันธ์กับรัฐสภาแบบเดิมอย่างไร อำนาจหน้าที่อยู่ตรงไหน อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ สุดท้ายอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ปัจจุบันถือเป็นความพยายาม ตั้งสภาประชาชนที่ 1. ไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ 2.ใช้กำลังไปบังคับหักหาญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ได้ถามสังคมที่เหลือว่าเห็นด้วยหรือไม่

@ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทางออกควรเป็นอย่างไร

ผมคิดว่า ถ้าดีที่สุด คือข้อเสนอเดิมที่เคยเสนอไปพร้อมกับกลุ่มนักวิชาการ คือ 1.ยุบสภาและทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งผู้ชุมนุมน่าจะเห็นด้วย เพื่อจะปฏิรูปการเมืองตามที่ตัวเองต้องการก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การยุบสภาอย่างเดียวจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา และอาจนำไปสู่ทางตันได้ ถ้าเกิดสุญญากาศ และ 2. ถ้ายุบสภาแล้วผู้ชุมนุมไม่ยุติก็ไม่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหา 3. ถ้ายุบสภาแล้วฝ่ายค้านหรือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง หรือบอยคอตผลการเลือกตั้ง ก็จะนำไปสู่ทางตันอีกระลอก ฉะนั้นควรมีข้อเสนออีก 2 ทาง พ่วงเข้าไปด้วย คือถ้ารัฐบาลยอมยุบสภาจริง ฝ่ายผู้ชุมนุมจะต้องยอมยุติการชุมนุม และพรรคการเมืองทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์จะต้องแสดงเจตนารมย์ชัดเจนว่าจะไม่บอยคอตการเลือกตั้ง และจะยอมรับการเลือกตั้ง ต้องมีการทำสัญญาประชาคมตรงนี้ก่อน

@ในส่วนแกนนำอย่างคุณสุเทพ ประกาศว่าไม่เจรจา ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา และถ้ารัฐบาลยุบสภาจะหมายถึงการยอมแพ้หรือไม่

คือผมคิดว่า ก็ต้องลดทิฐิทั้งคู่ รัฐบาลต้องให้เหตุผลในการยุบสภาให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้ยอมแพ้หรือยอมจำนน แต่ทำเพื่อรักษาชีวิตของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐบาล ถึงที่สุดชีวิตคนสำคัญที่สุด มากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ที่เป็นนามธรรม หรืออำนาจในมือของนักการเมือง ถ้าทำอะไรได้เพื่อยุติการนองเลือดและรักษาชีวิตคนได้ รัฐบาลจะได้รับการยกย่อง มันไม่ใช่การยอมแพ้ ทั่วโลกรัฐบาลก็ยุบสภา บางครั้งยุบเพราะเสนอกฎหมายไม่ผ่าน ออกนโยบายที่ผิดพลาด

ในขณะเดียวกันทางฝั่งผู้ชุมนุม แกนนำก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่เสนอข้อเสนออะไรที่ทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ข้อเสนอต้องเป็นข้อเสนอที่เป็นจริง เช่น ให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออก นั้นเป็นข้อเสนอที่สามารถทำได้ แต่ถ้าถึงขั้น ยุบสภาก็ไม่เลิก ลาออกก็ไม่เลิก ต้องตั้งสภาประชาชน อันนี้ แสดงว่าคุณสุเทพไม่ได้มีความตั้งใจที่อยากให้สังคมคืนสู่ปกติสุข เพราะข้อเสนอทำไม่ได้ และถึงจุดนั้นถ้ารัฐบาลยอมยุบสภา ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอาจจะยุติการชุมนุมก็ได้ และถ้าคุณสุเทพ ในฐานะแกนนำผู้ชุมนุมยังไม่ยอมยุติ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ชุมนุมและสาธารณชนที่จะต้องโดดเดียวคุณสุเทพ เพราะถือว่าคุณสุเทพเป็นแกนนำแบบสุดโต่งไปแล้ว

คอร์รัปชั่นไทยรั้งอันดับ102จาก177ปท. ตกลง14อันดับ ระบุ"เมียนมาร์"มีพัฒนาการดีที่สุดหลังเปลี่ยนแปลงปท

องค์กรเพื่อความโปร่งใสเผยดัชนีคอรัปชั่นปี2556 ไทยตก14อันดับ ประเทศกว่า2ใน3ได้คะแนนไม่ถึง50จาก100คะแนนเต็ม

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดเผย ดัชนีชี้วัดการคอรัปชั่นประจำปี2556 ระบุคอรัปชั่นยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยกว่า 70% ของ 177 ประเทศทั่วโลกยังคงมีปัญหาคอรัปชั่นร้ายแรงในภาครัฐ เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ครองอันดับ 1 ของประเทศที่มีการคอรัปชั่นน้อยที่สุดร่วมกัน ส่วนประเทศที่การคอรัปชั่นเลวร้ายที่สุดคือได้คะแนนเพียง 8 คะแนนมีอยู่ 3 ประเทศคืออัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย

สำหรับประเทศไทยปีนี้ได้คะแนน 35 จาก 100 และอยู่ในลำดับที่ 102 จากเดิมในปีก่อนซึ่งไทยได้คะแนน 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 88 หรือตกลงมา 14 อันดับ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน สิงคโปร์อยู่ในอันดับสูงสุดคือ 5 โดยมีคะแนน 86 ตามด้วยบรูไน 38 มี 60 คะแนน มาเลเซียที่ 53 มี 50 คะแนน ฟิลิปปินส์อันดับ 94 มี 36 คะแนน อินโดนีเซีย 114 มี 32 คะแนน เวียดนาม 116 ได้ 31 คะแนน ลาว 140 มี 26 คะแนน และกัมพูชาที่ 160 ได้ 20 คะแนน

ประเทศที่ถือว่ามีพัฒนาการดีที่สุดในปีนี้คือพม่า หรือเมียนมาร์ ซึ่งได้คะแนนเพิ่มขึ้นถึง6 คะแนนจนปรับขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 157 หลังจากที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเผด็จการทหารมาเป็นประชาธิปไตย ทำให้การประกอบธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วมีการปรับตัวให้เกิดความโปร่งใสและปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อให้ประเทศมีความน่าเชื่อถือ